Advance search

ตลาดโบราณริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงอายุกว่า 100 ปี เป็นชุมชนริมน้ำที่เคยมีการค้าขายอย่างคึกคักในสมัยอดีต ปัจจุบันชุมชนตลาดบ้านใหม่จึงเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิตริมแม่น้ำบางปะกงที่ยังคงความดั้งเดิมและความคลาสสิกไว้ ทั้งยังมีการจำหน่ายอาหาร ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว กาแฟโบราณ เครื่องดื่มโบราณ สมุนไพร ขนมทั้งไทยและจีน ของเล่นโบราณ เป็นต้น 

ถนนศุภกิจ
หน้าเมือง
เมืองฉะเชิงเทรา
ฉะเชิงเทรา
Facebook: ตลาดบ้านใหม่เมืองแปดริ้ว, ตลาดบ้านใหม่ 100 ปี เมืองแปดริ้ว เบอร์ติดต่อ 097 259 6438
จตุพร คุณเจริญ
15 พ.ค. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 พ.ค. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
15 พ.ค. 2024
ตลาดบ้านใหม่


ตลาดโบราณริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงอายุกว่า 100 ปี เป็นชุมชนริมน้ำที่เคยมีการค้าขายอย่างคึกคักในสมัยอดีต ปัจจุบันชุมชนตลาดบ้านใหม่จึงเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิตริมแม่น้ำบางปะกงที่ยังคงความดั้งเดิมและความคลาสสิกไว้ ทั้งยังมีการจำหน่ายอาหาร ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว กาแฟโบราณ เครื่องดื่มโบราณ สมุนไพร ขนมทั้งไทยและจีน ของเล่นโบราณ เป็นต้น 

ถนนศุภกิจ
หน้าเมือง
เมืองฉะเชิงเทรา
ฉะเชิงเทรา
24000
13.697143037824086
101.09071266951625
เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา

ประวัติศาสตร์ของชุมชนตลาดบ้านใหม่นั้นถือเป็นย่านเศรษฐกิจที่มีความเก่าแก่ของเมืองแปดริ้ว มีอายุมากกว่า 100 ปี เดิมเรียกตลาดนี้ว่า ตลาดริมน้ำ เป็นตลาดที่คับคั่งไปด้วยพ่อค้าแม่ค้า และผู้ที่ต้องการหาซื้อสิ่งของ และยังเป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตของชาวจีนสยามริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงที่มีเอกลักษณ์ทางสังคมอย่างเด่นชัด โดยมีการจำแนกความสำคัญของพื้นที่นี้ไว้ 3 ช่วง ประกอบด้วย สมัยกรุงธนบุรีเป็นต้นมา สมัยรัชกาลที่ 5 และสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ดังนี้

สมัยกรุงธนบุรี มีชาวจีนแต้จิ๋วเดินทางเข้ามาในสยามเพื่อประกอบอาชีพตามหัวเมืองฝั่งอ่าวไทยตะวันออก เช่น เมืองฉะเชิงเทรา เมืองตราด เมืองจันทบุรี และเมืองบางปลาสร้อย ซึ่งมีการปรากฏการณ์กล่าวถึง “เหล่าเจ๊ก” ในนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ ว่า ชาวจีนได้เข้ามาใช้แรงงานทำมาหากินในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระยากรุงธนบุรี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2353 มีการทำอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายขึ้นในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการทำไร่อ้อยและตั้งโรงหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายตามหัวเมือง เช่น เมืองนครชัยศรี เมืองสาครบุรี เมืองบางปลาสร้อย เป็นต้น ทำให้ชาวจีนแต้จิ๋วได้ริเริ่มเข้ามาบุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลในเมืองฉะเชิงเทรา ต่อมามีความต้องการน้ำตาลเพิ่มขึ้นจึงเกิดการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยในตำบลต่าง ๆ ของเมือง โดยเฉพาะเขตตำบลบ้านใหม่ ที่แต่เดิมเป็นท้องนา มีแม่น้ำบางปะกงและคลองบ้านใหม่ไหลผ่าน และยังเป็นเส้นทางคมนาคมที่สะดวกต่อการติดต่อเมืองอื่น ๆ จึงมีการตั้งโรงหีบอ้อยทำน้ำตาลขึ้นในเขตพื้นที่ตำบลบ้านใหม่ อีกทั้งในช่วงรัชกาลที่ 3-4 มีชาวจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังที่การปลูกอ้อยลดน้อยลงเนื่องจากเกิดการแข่งขันทั่วโลก ทำให้ชาวจีนหันไปรับจ้างทำงานที่โรงสีข้าง และอาชีพอื่น ๆ

สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทำสนธิสัญญาเบาวริ่งในปี พ.ศ. 2398 ทำให้โอกาสการดำเนินการทางการค้าเป็นไปได้อย่างเสรี ด้วยความที่ชาวจีนมีความขยันขันแข็งมองเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจการค้าในเขตพื้นที่ตลาดบ้านใหม่ในปัจจุบัน โดยมีการเข้ามาทำร้านรวงขายสินค้าต่าง ๆ ซึ่งในระยะแรกมีอาคาร ร้านค้า ตลาดสด ตลอดจนบ้านเรือนปลูกสร้างด้วยไม้แบบเรือนเครื่องผูกมุงจาก มีการอยู่กันอย่างหนาแน่น เบียดเสียด ทำให้ในเวลาต่อมาเกิดเพลิงไหม้ในตลาดบ้านใหม่ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2447 จนกระทั่งในปีต่อมา มีการฟื้นฟู ปรับปรุง และสร้างตลาดขึ้นมา มีการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ตลาดบนและตลาดล่าง โดยที่ตลาดบน มีขุนอินทรนรกิจเป็นผู้ก่อตั้ง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือข้างวัดเทพนิมิตจนไปวัดจีนประชาสโมสร ส่วนตลาดล่าง มีขุนอัษฎาริวานุวัตรกับขุนพิพิธพาณิชยกรรมเป็นผู้ก่อตั้ง มีลักษณะเป็นห้องแถวต่อไปจนถึงหัวตลาดต่อเนื่องมาจนถึงวัดอุภัยภาติการาม และในปี พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดเส้นทางรถไฟสายตะวันออกและได้ทอดพระเนตรย่านตลาดบ้านใหม่ ซึ่งปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จ.ศ. 1269

สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การสัญจรทางน้ำมีความสะดวกมากขึ้น ทำให้ตลาดบ้านใหม่มีการพัฒนาขึ้น มีการขยายพื้นที่ของตลาดในบริเวณริมคลองบ้านใหม่ทางใต้ เรียกว่า ตลาดกลาง โดยมีการเชื่อมต่อกับตลาดบนด้วยสะพานไม้ ตัวตลาดกลางจะยาวต่อเนื่องไปจนถึงหัวตลาด ซึ่งส่งผลให้ย่านตลาดบ้านใหม่มีความคึกคัก มีร้านเปิดขายสินค้าต่าง ๆ มากมาย เช่น เสื้อผ้า อาหาร ขายขนม ของเล่นเด็ก เป็นต้น ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากผู้คนอพยพหนีภัยสงครามมาอยู่ที่ฉะเชิงเทราจำนวนมาก จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และมีการสร้างสะพานปูนข้ามคลองบ้านใหม่เชื่อมต่อกับถนนในปี พ.ศ. 2500 ทำให้รถยนต์สามารถเดินทางไปมาได้สะดวก ทำให้การสัญจรทางน้ำลดบทบาทลง วิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป ร้านต่าง ๆ ได้มีการย้ายออกไปยังตลาดในตัวเมืองที่เจริญขึ้นมาทดแทน ส่งผลให้ตลาดบ้านใหม่มีสภาพเงียบเหงา ชำรุด ทรุดโทรม แต่ภายหลังมีผู้นำชุมชนได้ใช้ความพยายามในการรวมกลุ่มเพื่อพลิกฟื้นชีวิตที่รุ่งเรืองของตลาดบ้านใหม่กลับมาอีกครั้ง ด้วยความสนับสนุนจากเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลางเขต 8 ทำให้ตลาดบ้านใหม่ได้ฟื้นคืนกลับมา

ตลาดบ้านใหม่ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ เขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ตลาดทั้งหมด 9,400 ตารางเมตร หรือประมาณ 5.82 ไร่ โดยมีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลบางขวัญ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ชุมชนวรรณยิ่ง 1-2
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แม่น้ำบางปะกง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าไข่

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลหน้าเมือง มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 22,836 ครัวเรือน จำนวนประชากร 36,617 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 17,336 คน และประชากรหญิง 19,281 คน (ข้อมูลเดือนเมษายน 2567)

ตลาดบ้านใหม่เป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่นับถือศาสนาพุทธ มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวจีนที่สะท้อนได้จากประเพณีของชุมชนที่มีสืบเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ประเพณีแจกข้าวสาร, ประเพณีงานงิ้ว, ประเพณีไหว้เจ้า-บรรพบุรุษ ในวันตรุษจีน สารทจีน เชงเม้ง เป็นต้น นอกจากนี้ทั้ง 2 ชุมชนยังมีความเชื่อศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจําชุมชน และมีตํานานเล่าขานกันมาช้านาน คือ ศาลเจ้าพ่อโกมินทร์หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ศาลเจ้านาจา และ ศาลเจ้าแม่ทับทิมหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ศาลเจ้าอาม้า

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

ความมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมด้านความดั้งเดิมเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ยังโดดเด่น ลักษณะของโครงสร้างบ้านเรือนที่ยังคงอยู่ในสภาพดั้งเดิม เป็นห้องแถวเรือนไม้เรียงราย รูปแบบที่คล้ายคลึงของเดิมในอดีตวัฒนธรรมชุมชนชาวไทย-จีน การรวมตัวกันของคนหลากหลายศาสนา ไทย พุทธ อิสลาม บรรยากาศของความเป็นตลาดเก่าแก่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเห็นได้ถึงความสวยงามด้านวัฒนธรรมของชุมชนตลาด ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจต้องการที่จะมาสัมผัสความเป็นวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ชัดเจนนี้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การมีส่วนร่วมและความสามัคคีของคนในชุมชนในการมีส่วนร่วมต่อการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่าง ๆ ในการร่วมมือกันพัฒนาชุมชนของตนเอง ตลาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เมื่อพิจารณาจะเห็นว่า ความเข็มแข็งของผู้นำชุมชนในการเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงต่อการพัฒนาชุมชนจะไม่สามารถดำเนินการไปด้วยดี หากปราศจากความร่วมมือร่วมใจและความสามัคคีของคนในชุมชนตลาดบ้านใหม่ มีคณะกรรมการในการบริหารตลาด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการระดมความคิดเห็นของคนในชุมชน พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว การมีคณะทำงานในการบริหารงานจัดกิจกรรม ต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาท้องที่ของตนให้สามารถรองรับต่อจำนวนนักท่องเที่ยว


การจัดการสภาพแวดล้อมของตลาดบ้านใหม่ พบว่า ช่วงแรกที่มีการเปิดตลาดเพื่อการท่องเที่ยวได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนในการจัดการสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย ต่อมาเมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มเพิ่มมากขึ้นคนในชุมชนต่างพากันหันมาดูแลรักษาปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น เช่น การทําความสะอาดอาคารบ้านเรือน ลางโล่ง ศาลเจ้า ให้สะอาดอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงร่วมกันในการจัดการเรื่องขยะมูลฝอย โดยยึดหลักเจ้าของบ้านต้องเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบในส่วนของตนเองและช่วยกันดูแลในที่ส่วนรวม หมายถึงขยะที่เกิดจากการนักท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ทางชมรมรักษ์ตลาดบ้านใหม่ได้จัดจ้างผู้จัดเก็บขยะและทําความสะอาดตลาด จํานวน 2 คน ๆ ซึ่งเป็นคนในชุมชนที่มีรายได้น้อยถือเป็นการช่วยเหลือคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง โดยจะจัดเก็บขยะตามร้านค้าและขยะตามจุดทิ้งต่าง ๆ วัน ละ 1-2 เที่ยวต่อวัน ผู้จัดเก็บนอกจากจะมีรายได้จากการจ้างงานและยังสามารถนําขยะไปคัดแยกเพื่อเพิ่มรายได้ในส่วนนี้ได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปาณิภัส ติปะวรรณา. (2556). ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของตลาดเก่าในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : กรณีศึกษาตลาดบ้านใหม่และตลาดคลองสวน 100 ปี จังหวัดฉะเชิงเทรา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อทิตยา แก้วพิลา. (2553). การจัดการท่องเที่ยวของชุมชนตลาดบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาการวางแผนภาคและเมือง. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา. (ม.ป.ป.). ตลาดบ้านใหม่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567. จาก https://www.tbmccs.go.th/

เอิงเอย. (2563). ตลาดบ้านใหม่ ร้อยปี ที่เที่ยวฉะเชิงเทรา ตลาดโบราณที่เก๋ามาตั้งแต่รุ่นอาม่า อากง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567. จาก https://travel.trueid.net/

Facebook: ตลาดบ้านใหม่เมืองแปดริ้ว, ตลาดบ้านใหม่ 100 ปี เมืองแปดริ้ว เบอร์ติดต่อ 097 259 6438