ชุมชนบ้านนายาวเป็นชุมชนที่มีกลุ่มแม่บ้านเกษตรนายาวสามัคคี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แล้วมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนจนได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่นต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เต้าเจี้ยว แชมพู ครีมนวด การทอผ้าไทย
ชุมชนบ้านนายาวเป็นชุมชนที่มีกลุ่มแม่บ้านเกษตรนายาวสามัคคี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แล้วมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนจนได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่นต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เต้าเจี้ยว แชมพู ครีมนวด การทอผ้าไทย
บ้านนายาวเป็นหมู่บ้านที่มีความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เกิดเป็นหมู่บ้านขึ้นเพราะมีประชากรที่ย้ายถิ่นฐานมาจากทางภาคอีสาน โดยเฉพาะนายนา มีแสง พร้อมครอบครัวได้ย้ายเข้ามาตั้งรกรากเป็นครอบครัวแรกเพื่อมาหาพื้นที่ทำกิน จากนั้นได้มีประชากรชาวอีสานอพยพเข้ามาโดยอาศัยเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตร จึงทำให้มีการชักชวนญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในภาคอีสานให้ย้ายถิ่นฐานเพื่อมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้ชุมชนเกิดการขยายตัวมากยิ่งขึ้น
ชุมชนบ้านนายาวตั้งอยู่พื้นที่ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านนางาม หมู่ที่ 19 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านคลองเตย หมู่ที่ 21 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านทุ่งส่อหงษา หมู่ที่ 11 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านนาอีสาน หมู่ที่ 16 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลท่ากระดาน หมู่ที่ 15 บ้านคีรีวง มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 1,243 ครัวเรือน จำนวนประชากร 4,232 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 2,140 คน และประชากรหญิง 2,103 คน (ข้อมูลเดือนเมษายน 2567)
กลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านนายาว
กลุ่มอาชีพในโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้คำแนะนำจัดตั้ง “กลุ่มสตรีตัดเย็บฯ บ้านนายาว” ในพื้นที่บ้านนางาม ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2541
วัฒนธรรมและประเพณีของบ้านนายาว
ส่วนใหญ่สืบทอดมาจากท้องถิ่นทางภาคอีสาน เช่น ประเพณีสู่ขวัญแขกผู้มาเยือน (บายศรีสู่ขวัญ) ประเพณีบุญบั้งไฟ และชุมชนมีผู้นำด้านภูมิปัญญาที่หลากหลาย ทั้งด้านศิลปะการแสดงหมอลำ ดนตรีพื้นบ้านอีสาน หมอยาสมุนไพร การแกะและสลักลาย การถนอมอาหาร การหาปลา การประดิษฐ์เครื่องมือการเกษตร การประดิษฐ์เครื่องใช้ภายในครัวเรือน
ประเพณีสู่ขวัญแขกผู้มาเยือน (บายศรีสู่ขวัญ)
เป็นวัฒนธรรมอันดีของชาวอีสานและชาวเหนือที่สืบทอดต่อกันมาซึ่งสามารถพบเห็นได้บ่อย จัดขึ้นเพื่อเป็นการรับขวัญ และเรียกขวัญของผู้ที่จากบ้านไปไกลด้วยเวลาอัน ยาวนาน หรือผู้ที่เพิ่งหายป่วยไข้ ตลอดจนเป็นการแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในทางราชการ และเป็นการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนในภาคอีสานนั้น เมื่อมีการจัดงานอะไรก็ตาม ก็จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญควบคู่ไปด้วยการจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญก็เพื่อต้อนรับแขกนั้นมักจะทำกันอย่างสวยงามใหญ่โต
ประเพณีบุญบั้งไฟ
ชาวชุมชนบ้านนายาวร่วมกันจัดประเพณีบุญบั้งไฟขึ้นเป็นประจำทุกปี ภายในงานมีการจัดประกวดขบวนบั้งไฟสวยงาม การประกวดบั้งไฟสวยงาม การประกวดรำเซิ้งและการละเล่นในขบวนบั้งไฟ และการแข่งขันจุดบั้งไฟขึ้นสูง ซึ่งประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีสำคัญของภาคอีสานบ้านเราที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถือเป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสานที่ทำกันในช่วง เดือน 6 ช่วงเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูทำนา จะมีการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาเทพยดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า พญาแถน หรือ เทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่งมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
นฤมล บรรจงจิตร์. (2547). ศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแก้ปัญหาชุมชน : รายงานฉบับสมบูรณ์. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
โครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นการท้อผ้าไทยชุมชนบ้านนายาวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนในท้องถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทราฯ. (ม.ป.ป.). บ้านนายาว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567. จาก https://nayaoloincloth.com/