ชุมชนบ้านเกาะสวาดมีการตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกบ้านเกาะสวาด โดยมีผลิตภัณฑ์ที่จักสานจากหญ้าแฝกออกมาจำหน่าย และเป็นหมู่บ้านตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
บ้านเกาะสวาดมีที่มาจากสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นป่าทึบ และมีต้นไม้ที่ชื่อว่า ต้นสวาด ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และมีการสันนิษฐานว่าพื้นที่นี้เคยเป็นเกาะ จนเมื่อมีการตั้งชุมชนขึ้นจึงนำชื่อต้นไม้และเกาะดังกล่าวมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน
ชุมชนบ้านเกาะสวาดมีการตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกบ้านเกาะสวาด โดยมีผลิตภัณฑ์ที่จักสานจากหญ้าแฝกออกมาจำหน่าย และเป็นหมู่บ้านตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
ประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านเกาะสวาดนั้นมีที่มาจากชาวไทยพุทธและชาวไทยมลายูมุสลิม ได้อพยพมาจากพื้นที่บ้านคลองไหลซึ่งมีพื้นที่ติดกัน โดยมีการสันนิษฐานว่าเดิมพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นเกาะ จากหลักฐานที่มีผู้ขุดบ่อน้ำแล้วพบเชือกสมอเรือและเปลือกหอย อีกทั้งยังมีการสันนิษฐานว่ามีชาวจีนได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัย โดยมีหลักฐานเป็นสุสานว่าเคยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้แล้วอพยพย้ายเข้าไปในตัวอำเภอตากใบแทน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2530 ชาวไทยมลายูมุสลิมได้มีการอพยพย้ายออกจากพื้นที่แห่งนี้ไปตั้งรกรากในพื้นที่ใกล้เคียง บางรายยังคงกลับมาทำการเกษตรในพื้นที่บ้านเกาะสวาดอยู่
บ้านเกาะสวาดตั้งอยู่ในตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และมีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ 6 บ้านกูบู และหมู่ 10 บ้านบึงฉลาม ตำบลไพรวัน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 3 บ้านตอหลัง ตำบลไพรวัน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ 2 บ้านทรายขาว หมู่ 4 บ้านคลองไหล ตำบลไพรวัน และหมู่ 3 บ้านศาลาใหม่ ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ 7 บ้านโคกยามู ตำบลไพรวัน
สภาพภูมิประเทศ
พื้นที่ของหมู่บ้านเกาะสวาดมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีบึง คลองเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติในหมู่บ้าน เหมาะแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา การปลูกสวนผลไม้ และการทำสวนปาล์ม ยางพารา
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบล หมู่ที่ 5 บ้านเกาะสวาด มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 239 ครัวเรือน จำนวนประชากร 579 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 262 คน และประชากรหญิง 317 คน (ข้อมูลเดือนเมษายน 2567)
ทุนวัฒนธรรม
วัดเกาะสวาด
วัดเกาะสวาด ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นวัดโบราณที่มีตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) ซึ่งเป็นเจ้า อาวาสวัดบางเตยในขณะนั้น (ภายหลังท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดชลธาราสิงเห หรือ วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส) ได้รวบรวมศรัทธา ของราษฎรบ้านเกาะสวาดสร้างวัดนี้ขึ้น เรียกตามชื่อหมู่บ้านว่า “วัดเกาะสวาด” ในเวลาต่อมา เจ้าอธิการพุด ร่วมกับเจ้าอธิการวัดต่าง ๆ ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาผ่านเจ้าเมืองกลันตัน (ตุวันสนิปากแดง) และ รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ในเดือนสิงหาคม รัตนโกสินทรศก 117 (ตรงกับ พ.ศ. 2441) จากนั้นจึงมีการสร้างอาคารเส การเสนาสนะต่าง ๆ ภายในวัดเรื่อยมา และแบ่งพื้นที่บริเวณ ด้านทิศเหนือใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดเกาะสวาด
อุโบสถวัดเกาะสวาด สร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 2462-2482 ดำเนินการสร้างโดยพระวินัยธรรม (จุ้ย) ซึ่งเป็นพระภิกษุผู้มีความชำนาญด้านช่างไม้และงาน ศิลปกรรมต่าง ๆ ของพื้นที่อำเภอตากใบ มีลักษณะเป็นอุโบสถแบบไทยประเพณี หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเฉลียงล้อมรอบ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ฉาบปูนสีดิน เหลือง ช่องประตูประดับซุ้มเรือนแก้วและยอดเจดีย์ ช่องหน้าต่างประดับซุ้มทรงมณฑป ส่วนหลังคาเป็นทรงโรงแบบหลังคาลด หน้าบันเป็นแบบเรียบ มีเครื่องลำยองเป็นปูนปั้น ส่วนหลังคาปีกนกรองรับด้วยเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมและมีบัวหัวเสา รั้วระเบียงพาไล ประดับช่องปรุเซรามิกสีเขียวแบบจีน
ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานซึ่งราษฎร เลื่อมใสในความศักดิ์สิทธิ์ โดยเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองประทับนั่งปางสมาธิ ขนาบด้วย พระพุทธรูปขนาดเล็กประทับนั่งปางมารวิชัย 2 ด้าน ทั้งสามองค์ประทับนั่งบนฐานชุกชีสูง ประดับกระจกสี และเขียนลวดลายประจำยาม เบื้องหลังเขียน จิตรกรรมรูปซุ้มเรือนแก้วประดับกอไม้เขียว ด้านนอกอุโบสถมีซุ้มใบเสมาทรงมณฑป ทำจากซีเมนต์ ประดับกระจก บริเวณที่ฐานซุ้มใบเสมามีจารึกราย นามของราษฎรผู้อุทิศให้และปีที่สร้าง คือ พ.ศ. 2496
อับดุลคอเล็ด เจะแต. (2557). กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาชุมชนบ้านเกาะสวาด ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
สำนักงานศิลปากรที่ 11 สงขลา. (2561). วัดเกาะสวาด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567. จาก https://www.facebook.com/