ชุมชนหลังสวนเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงสภาพบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมโบราณอันแสดงถึงการเป็นศูนย์กลางเมืองหลังสวนมาตั้งแต่อดีตให้กับผู้มาท่องเที่ยว
หลังสวนสามารถสันนิษฐานที่มาของชื่อได้ 2 แบบ คือ หลังสวนเป็นเมืองเก่าแก่แห่งหนึ่งของชุมพร และด้วยความที่หลังสวนเป็นท้องที่ที่มีผลไม้มากแห่งหนึ่ง กระทรวงคมนาคมจึงสันนิษฐานว่า คำว่า “หลังสวน” เพี้ยนมาจากคำว่า “รังสวน” หรือ “คลังสวน” และหลังสวนมาจากสภาพภูมิประเทศที่ใช้แม่น้ำหลังสวนเป็นเส้นทางสัญจรหลัก ซึ่งสองฝั่งของแม่น้ำจะเต็มไปด้วยสวนผลไม้หนาแน่น และบ้านเรือนประชาชนจะตั้งอยู่หลังสวนผลไม้ จึงเรียกกันว่า “หลังสวน”
ชุมชนหลังสวนเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงสภาพบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมโบราณอันแสดงถึงการเป็นศูนย์กลางเมืองหลังสวนมาตั้งแต่อดีตให้กับผู้มาท่องเที่ยว
หลังสวนเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งที่ขึ้นตรงต่อเมืองชุมพร โดยมีการปรากฤชื่อเมืองหลังสวนในจารึกวัดโพธิ์ในรัชกาลที่ 1 และปรากฏในรัชกาลที่ 5 โดยมีความสัมพันธ์กับเมืองระนอง เนื่องจากมีอาณาเขตติดต่อกัน และเมื่อเจ้าเมืองระนองได้ขยายกำลังของห้างโกวบำรุงการค้าเข้ามาในเขตแดนของเมืองหลังสวน ส่งผลให้เมืองหลังสวนเจริญขึ้น จนกระทั่งรัชกาลที่ 5 ได้มีการแต่งตั้งพระจรูญโภคากรเป็นผู้ว่าราชการ
ในปีพ.ศ. 2421 และในปีพ.ศ. 2437 ได้แต่งตั้งเมืองหลังสวนขึ้นเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ จนกระทั่งมีการตั้งมณฑลชุมพรขึ้นในปีพ.ศ. 2439 เมืองหลังสวนจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในมณฑลชุมพร และในปีพ.ศ. 2459 ได้มีการเปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นเขตการปกครองของจังหวัด เมืองหลังสวนจึงกลายเป็นจังหวัดหลังสวน ดังนั้นตำบลบางขันเงินจึงมีชื่อเป็นตำบลหลังสวน อำเภอเมือง จังหวัดหลังสวน ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองจึงเปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตามไปด้วย
ในปีพ.ศ.2460 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองเป็นอำเภอขันเงิน ดังนั้น ตำบลหลังสวนจึงตั้งอยู่ในอำเภอขันเงิน จังหวัดหลังสวน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2475 ได้ยุบจังหวัดหลังสวนลงเป็นอำเภอขันเงินขึ้นต่อจังหวัดชุมพร ครั้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เปลี่ยนนามอำเภอขันเงินเป็นอำเภอหลังสวน เหตุผลที่เปลี่ยนชื่อใหม่นี้ ก็เพราะประชาชมนิยมเรียกกันเป็นส่วนมาก และเพื่อรักษาประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นเมืองมาแต่โบราณไว้ และในปีพ.ศ. 2483 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลหลังสวน โดยอาศัยขอบเขตตำบลหลังสวนเป็นเขตของเทศบาล โดยให้อยู่ภายใต้การปกครองของเทศบาลตำบลหลังสวนเป็นต้นมา
ชุมชนหลังสวนตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ แม่น้ำหลังสวน ตำบลแหลมทราย และตำบลวังตะกอ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลพ้อแดง และตำบลขันเงิน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แม่น้ำหลังสวน ตำบลแหลมทราย และตำบลพ้อแดง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลท่ามะพลา
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบมีแม่น้ำหลังสวนไหลผ่านด้านทิศเหนือพื้นที่เหมาะแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวน
สภาพภูมิอากาศ
มีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นมีฝนตกเกือบตลอดปี มีฤดูฝนยาวนาน คือ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ธันวาคม ฤดูร้อนตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม ส่วนฤดูหนาวมีในช่วงสั้น ๆ ปริมาณ น้ำฝนเฉลี่ย 1,880.9 มิลลิเมตร/ ปี อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส
ลักษณะของดิน
พื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตเทศบาลใช้เพื่อการเกษตร การพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย พื้นที่ให้เช่า
ลักษณะของแหล่งน้ำ
มีแม่น้ำหลังสวนยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งเกิดจากเทือกเขาทางทิศตะวันตกในเขตตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ไหลผ่านตำบลต่าง ๆ ของอำเภอหลังสวน คือ ตำบลหาดยาย ตำบลท่ามะพลา ตำบลวังตะกอ ตำบลแหลมทราย ตำบลหลังสวน ตำบลพ้อแดง ตำบลบางมะพร้าว และไหลลงสู่อ่าวไทยที่ตำบลปากน้ำหลังสวน
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลหลัง มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 2,298 ครัวเรือน จำนวนประชากร 2,855 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,303 คน และประชากรหญิง 1,552 คน (ข้อมูลเดือนเมษายน 2567)
เมืองหลังสวน มีงานประเพณีท้องถิ่น ได้แก่ งานประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธงมีมานานนับร้อยปี มีการแข่งขันเรือยาว บริเวณแม่น้ำหลังสวนหลังสำนักงานเทศบาลเมืองหลังสวน เริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำ เดือน 11 ของทุกปี งานมีประมาณ 5 วัน กิจกรรม เช่น ตักบาตรเทโว ขบวนแห่รถพระจากวัดต่าง ๆ ในอำเภอหลังสวน ขบวนแห่ถ้วยพระราชทาน ขบวนแห่เรือทางน้ำ เปรียบเสมือนการเคารพแม่น้ำก่อนทำการแข่งขันมีชุมชนประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งใกล้และไกลมาเที่ยวชมงาน
ทุนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่
- ถ้ำเขาเงิน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหลังสวน ตำบลท่ามะพลา ห่างจากตัวเมืองหลังสวนประมาณ 3 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร. รศ.108 ที่ผนังถ้ำ เมื่อ ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นฯ ผ่านเมืองหลังสวน และทรงให้ สร้างเจดีย์ไว้ด้านหน้าถ้ำเพื่อเป็นอนุสรณ์ สถานที่แห่งนี้จึงมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมือง หลังสวน
- สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์จังหวัดชุมพร เป็นสวนภูเขาธรรมชาติที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 1 ใน 12 แห่งทั่วประเทศ มีพื้นที่ 75 ไร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองหลังสวน 3 กิโลเมตร อยู่ใกล้กับถ้ำเขาเงิน ภายในสวนพันธุ์ไม้ต่าง ๆ จัดเป็นสวนสวยงามเหมาะแก่การพักผ่อน
- อาคารเรือนแถวไม้โบราณริมถนนหลังสวน เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองที่ยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม ได้แก่
- วัดต่างๆในพื้นที่ชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีมากมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าแต่ละวัดนั้นอยู่ไม่ห่างกัน แต่เนื่องจากในสมัยก่อน การคมนาคมไม่สะดวก และไม่นิยมเดินทางไกล จึงมีการสร้างวัดในชุมชนหรือกลุ่มบ้านของตน โดยวัดที่มีความสำคัญ ได้แก่ วัดขันเงิน วัดด่านประชากร วัดโตนด วัดประสาทนิกร วัดพิชัยธาราราม วัดวาลุการาม วัดดอนชัย และวัดราษฎร์บูรณาราม เป็นต้น
สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เนื่องจากพื้นที่เมืองหลังสวนมีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มน้ำใกล้ชายฝั่งทะเล และล้อมรอบด้วยภูเขา ดังนั้นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในพื้นที่นี้จึงเป็นถ้ำต่าง ๆ และชายทะเล เป็นหลัก โดยสถานที่ที่น่าสนใจ ได้แก่
- ถ้ำเขาเกรียบ อยู่ในตำบลบ้านควน ห่างจากเมืองหลังสวน 10 กิโลเมตร เชิงเขามีวัด เขาเกรียบตั้งอยู่เชิงบันไดทางขึ้นถ้ำ 370 ขั้น ภายในถ้ำกว้างขวาง มีหินงอกหินย้อยสวยงาม
- ถ้ำภูเขาทอง อยู่ในตำบลขันเงิน เป็นถ้ำที่ไม่สูงมากนัก มีหินงอกหินย้อยงดงาม
- น้ำตกห้วยเหมือง เป็นน้ำตกที่สวยงามและมีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในตำบลนาชา ต้องใช้การเดินเท้าเพื่อเข้าถึงตัวน้ำตก
- ชายทะเลปากน้ำหลังสวน เป็นชายหาดที่มีความยาวและขาวสะอาด รวมทั้งมีเรือหลวงจักรีนฤเบศร์จำลองขนาด 1 ใน 3 เท่าจริงตั้งอยู่ริมชายหาด และมีพระรูปเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ไว้เป็นที่สักการะ
- เกาะพิทักษ์ เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลบางน้ำจืด มีระยะห่างจากชายฝั่ง 1 กิโลเมตร มีชายหาดเป็นสันทรายที่สามารถเดินผ่านจากชายฝั่งไปถึงเกาะได้ตอนน้ำทะเลลด ในช่วงเดือนเมษายน-กันยายนของทุกปี และมีการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ เป็นการสัมผัสชีวิตชาวประมง โดยการจับปลาหมึกในทะเล เป็นต้น
การเกษตร
เทศบาลเมืองหลังสวน มีบางพื้นที่ที่ทำการเกษตร ไม้ผล เช่น มังคุด ทุเรียน เงาะ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ผล มีการปลูกกันมานาน เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ปาล์มน้ำมัน(เป็นพันธุ์ผสมซึ่งเป็นพันธุ์ดี) และยางพารา
การประมง
- การทำประมงน้ำจืด มีปลาน้ำจืดในแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่เป็นปลาพื้นเมือง เช่น ปลาดุก ปลามัด (ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว) ปลาช่อน ฯลฯ แหล่งน้ำธรรมชาติที่ใหญ่และมีปลาชุกชุมที่สุดที่สำรวจพบ การ เลี้ยงหอย คือหอยแมลงภู่
- การเพาะเลี้ยงสัตว์ในกระชัง มีการเลี้ยงปลากระพงขาว
การปศุสัตว์
ในเขตเทศบาลเมืองหลังสวนมีบริษัทขนาดใหญ่ที่เลี้ยงสัตว์เป็นอาหารของประชาชนในเขตพื้นที่หลังสวน คือ บริษัทซีพี ตั้งอยู่ที่ตำบลพ้อแดง ซึ่งมีการเลี้ยงไก่เนื้อ ผลผลิตจากไข่ ส่งขายในตลาดหลังสวน และในพื้นที่ใกล้เคียง
การคมนาคมขนส่ง
การคมนาคมของอำเภอหลังสวนสามารถติดต่อกับจังหวัด และอำเภอใกล้เคียงได้ 2 ทาง คือ
ทางรถยนต์
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 (สายเอเชีย) จากภาคกลางลงสู่ภาคใต้ผ่านอำเภอหลังสวน
- ทางหลวงจังหวัดสาย 4006 แยกจากทางหลวง 41 ที่ตำบลวังตะกอผ่านตำบลหาดยายไปอำเภอพะโต๊ะและจังหวัดระนอง
- ทางหลวงจังหวัดสาย 4134 แยกจากทางหลวงสาย 4002 ที่ตำบลหลังสวนผ่านตำบลขันเงิน ตำบลพ้อแดง ตำบลบ้านควน และตำบลนาพญาไปอำเภอละแม และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทางรถไฟ
- เป็นเส้นทางหลักจากกรุงเทพฯ ผ่านอำเภอหลังสวนไปทางใต้ ถนนภายในเขตเทศบาลที่เทศบาลเมืองหลังสวนรับผิดชอบมี จำนวน 57 สาย ความยาวทั้งหมดประมาณ 42,095 เมตร
การไฟฟ้า
ประชาชนในเขตเทศบาลใช้บริการไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 2,730 ครัวเรือน มีการใช้ไฟฟ้าสาธารณะบริเวณจุดต่างๆ จำนวน 1,650 จุด
การประปา
ประชาชนส่วนใหญ่มีน้ำประปาใช้ แต่มีบางครัวเรือนยังไม่มีน้ำประปาใช้ ยังคงใช้น้ำบ่อ น้ำคลอง โดยสภาพน้ำในแม่น้ำหลังสวนอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ดี
อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร. (2563). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567. เข้าถึงได้จาก https://hs.pbru.ac.th/royalcoast/?p=1202.
เทศบาลหลังสวน. (2564). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567. เข้าถึงได้จาก http://www.langsuancity.go.th/detail.php?id=778
ปนัดดา ทองภูเบศร์. (2546). พัฒนาการและรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเก่าตำบลหลังสวน จังหวัดชุมพร. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาการวางแผนภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.