Advance search

ไซ่เพิ้ง, ซ่องเพิ่ง

มีธรรมชาติริมลำภาชี มีลานกางเต็นท์ มีต้นผึ้งใหญ่อายุกว่า 100 ปี  มีภูมิปัญญาจักสานไม้ไผ่ มีการแสดงรำกะเหรี่ยงของเยาวชนโรงเรียนบ้านสวนผึ้ง และมี อบต. ตั้งอยู่ในพื้นที่

หมู่ที่ 1
สวนผึ้ง
ตะนาวศรี
สวนผึ้ง
ราชบุรี
อบต.ตะนาวศรี โทร. 0-3239-5426
พิชามญชุ์ ธูปหอม
20 มิ.ย. 2023
กิตติพัศ แก่นไร่
26 ก.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
15 พ.ค. 2024
บ้านสวนผึ้ง
ไซ่เพิ้ง, ซ่องเพิ่ง

หมู่บ้านสวนผึ้งเริ่มก่อตั้งมาได้ประมาณ 200 กว่าปีแล้ว ในสมัยที่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน ในหมู่บ้านมีผึ้งทำรังบนต้นไม้เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "หมู่บ้านสวนผึ้ง"


มีธรรมชาติริมลำภาชี มีลานกางเต็นท์ มีต้นผึ้งใหญ่อายุกว่า 100 ปี  มีภูมิปัญญาจักสานไม้ไผ่ มีการแสดงรำกะเหรี่ยงของเยาวชนโรงเรียนบ้านสวนผึ้ง และมี อบต. ตั้งอยู่ในพื้นที่

สวนผึ้ง
หมู่ที่ 1
ตะนาวศรี
สวนผึ้ง
ราชบุรี
70180
13.51871393
99.34449434
องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี

หมู่บ้านสวนผึ้งเริ่มก่อตั้งมาได้ประมาณ 200 กว่าปีแล้ว ในสมัยที่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน ในหมู่บ้านมีผึ้งทำรังบนต้นไม้เป็นจำนวนมาก และมีต้นผึ้งใหญ่ขึ้นอยู่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “หมู่บ้านสวนผึ้ง” ประชาชนที่เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มแรก คือ กลุ่มชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ หรือ โพล่ง ผู้นำหมู่บ้านได้รับพระราชทานนามเป็นหลวงพิทักษ์คีรีมาศ และภายหลังมีกลุ่มชนอื่น ๆ ได้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านอีกได้แก่ กลุ่มมาจากอำเภอปากท่อ อำเภอเมืองราชบุรี และมาจากจังหวัดเพชรบุรี บ้านสวนผึ้ง หมู่ที่ 1 มีพื้นที่อาณาเขตกว้างใหญ่ ซึ่งได้รวมหลายกลุ่มบ้านเข้ากันจนกลายเป็นหมู่ที่ 1 ได้แก่

  • บ่อเก่าล่าง เป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยง อยู่ห่างจากบ้านสวนผึ้งประมาณ 1.5 กิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณหน้าค่ายทัพพระยาเสือ ถนนเข้าหมู่บ้านเป็นทางลูกรัง ประชากรส่วนใหญ่จะมีอาชีพปลูกผักส่งขายตลาดศรีเมืองและอาชีพรับจ้าง โดยอาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำบ้านสวนผึ้ง (บ่อเก่า) ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่ประชากรอยู่อาศัยน้อยที่สุด
  • บ่อเก่ากลาง ส่วนใหญ่พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีลำห้วยตัดผ่านหมู่บ้าน ลักษณะดินจะเป็นดินร่วนปนทราย มีการปลูกป่ายูคาลิปตัส ปลูกแตงโม ปลูกส้มโอ อ้อย และผักหลายชนิด ถนนจะเป็นทางลูกรังตัดเข้าในพื้นที่ที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร 
  • บ้านเขาลูกช้าง จะเป็นภูเขามีลักษณะคล้ายช้างนอนหมอบหน้าหิน บนภูเขามีก้อนใหญ่หมอบเกาะภูเขาเป็นหินอัคนีที่แข็งทนทาน ชุมชนบ้านเขาลูกช้างเกิดมาเมื่อประมาณ 70 ปี จากการบอกเล่าของชาวบ้านชื่อ ลุงไหม บุญทิน เมื่อสมัยก่อนนี้พ่อของลุงไหม ชื่อลุงดังและญาติ ๆ ได้เข้าไปทำไร่ข้าวแถบตีนเขา ภายหลังได้มีลูกหลานอยู่จำนวนมากเพราะมีเหมืองแร่ดีบุกของคุณนายแดง ไม่ทราบนามสกุล สมัยก่อนพื้นที่นี้จะมีเสือที่ดุมาก ชอบลงมาจากเขากินวัวของชาวบ้าน ชาวบ้านเมื่อตายก็จะนำศพไปเผาบริเวณตีนเขา สภาพแวดล้อมสมัยก่อนเป็นพื้นที่ป่าไม้ รกทึบ พื้นที่เป็นภูเขา เป็นที่ราบหุบเขาเหมาะแก่การเพาะปลูก อาชีพแรกของคนในหมู่บ้านคือ การทำข้าวไร่ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ปัจจุบันมีอาชีพทำสวนพุทรา ไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด ไร่ผัก สภาพถนนในหมู่บ้านเมื่อก่อนเป็นถนนดินการเดินทางลำบาก ได้พัฒนาเป็นถนนลูกรัง ใน พ.ศ. 2508 ความยาว 2.5 กิโลเมตร มีไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้านเมื่อ พ.ศ. 2528 ประปาหมู่บ้านสร้างเมื่อ พ.ศ. 2532 ปัจจุบันมีการใช้น้ำประปาจากอ่างเก็บน้ำบ้านสวนผึ้ง (อ่างน้ำบ่อเก่า) แต่น้ำยังไม่เพียงพอทุกหลังคาเรือนและไม่สามารถใช้ดื่มได้ เป็นกลุ่มบ้านที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น

ปัจจุบันบ้านสวนผึ้งมีผู้ใหญ่บ้าน คือ นายกล้า บัวงาม และยังเป็นกำนันตำบลตะนาวศรีอีกด้วย

หมู่บ้านสวนผึ้ง มีเนื้อที่ของหมู่บ้าน มีจำนวน 23.08 กิโลเมตร หรือ 14,425 ไร่ ห่างจากอำเภอสวนผึ้งประมาณ 3 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดราชบุรี 63 กิโลเมตร สภาพเส้นทางคมนาคม มีถนนลาดยางจากอำเภอสวนผึ้งถึงบ้านสวนผึ้งตลอดสาย การเดินทางมีรถโดยสารประจำทางผ่านหน้าอำเภอสวนผึ้ง และสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลได้ตลอด

ลักษณะภูมิประเทศทั่วไปของบ้านสวนผึ้ง ส่วนใหญ่เป็นที่ราบหุบเขาและภูเขา มีป่าชุมชนที่มีต้นไม้ต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เช่น ไม้รวก ไม่สะเรียง ไม้แดง ไม้เต็งรัง และพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็น ภบท. 5 สปก. และนส. 3 อาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลสวนผึ้ง และตำบลท่าเคย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่บ้านท่ามะขาม หมู่ที่ 2 ตำบลตะนาวศรี และอำเภอบ้านคา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลท่าเคย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านห้วยแห้ง และบ้านท่ามะขาม ตำบลตะนาวศรี
สถานที่สำคัญในชุมชน
  • องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2531 โดยประกอบด้วยหมู่บ้านต่าง ๆ 5 หมู่บ้าน ดังนี้ หมู่ที่ 1 บ้านสวนผึ้ง หมู่ที่ 2 บ้านท่ามะขาม หมู่ที่ 3 บ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 4 บ้านบ่อหวี หมู่ที่ 5 บ้านห้วยแห้ง และได้จัดตั้งเป็นสภาตำบลตะนาวศรี เมื่อ พ.ศ.2538 และต่อมาได้ประกาศยกเลิกสภาตำบลฯ เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งต่อมาบ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลตะนาวศรี ก็ได้ขอแยกหมู่บ้านเป็นบ้านห้วยน้ำหนัก หมู่ที่ 6 ตำบลตะนาวศรี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2542 และบ้านท่ามะขามหมู่ที่ 2 ขอแยกหมู่บ้านเป็นหมู่ที่ 7 บ้านบ่อเก่าบน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 ปัจจุบันจึงมีหมู่บ้านในความรับผิดชอบดูแลจำนวน 7 หมู่บ้าน เป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดชุมชนมากที่สุด
  • วัดสวนผึ้ง เป็นวัดเดียวในหมู่ 1 บ้านสวนผึ้ง เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาพุทธของชุมชน เช่น วันสำคัญทางศาสนา วันเข้าพรรษา ออกพรรษา วันมาฆบูชา บุญกฐิน เป็นต้น 
  • หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ เป็นหน่วยงานทหาร ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามองค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ตามเเนวชายเเดน 2 จังหวัด 4 อำเภอ คือ อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคา ของจังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี อำเภอหนองหญ้าปล้อง และอำเภอแก่งกระจาน มีความยาวตลอดแนวชายแดนทั้งสิ้น 193 กิโลเมตร และมีจุดตรวจทั้งสิ้น จำนวน 5 จุดตรวจ/จุดสกัด เพื่อเฝ้าตรวจการณ์และป้องกันชายแดน ไทย-เมียนมา จัดระเบียบและแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ตามแนวชายแดน ไทย-เมียนมา พร้อมประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และที่สำคัญอีกประการคือ การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนในทุกโอกาส รวมถึงบูรณาการร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ชายแดน สกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว
  • สาบ้าน เสาหงส์เก่า เป็นเสาไม้เก่าและกองดิน มีอยู่ 2 ต้น อยู่บริเวณวัดสวนผึ้ง ทางเข้าหมู่บ้านและฝั่งตรงข้ามกัน ตรงสามแยก หน้าบ้านของนายทรัพย์ เกิดพร้อมพันธุ์ ไม่ได้มีการประกอบพิธีกรรมใดแล้ว แต่ยังตั้งไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนกะเหรี่ยง
  • โรงเรียนบ้านสวนผึ้ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชุรี เปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรก เป็นสาขาของโรงเรียนชุมชนบ้านบ่อ (กรป.กลางอุปถัมภ์) โดยนายประกิต ใจบำเพ็ญ, กำนันจิ๊บ จะนุ และชาวบ้านในท้องที่หมู่บ้านสวนผึ้ง ได้ร่วมกันบริจาคอุปกรณ์ในการก่อสร้างพร้อมทั้งเสียสละกำลังแรงงานก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว ทำด้วยไม้นานาชนิด มุงหลังคาด้วยหญ้าแฝก จำนวน 1 หลัง ห่างจากที่ว่าการอำเภอสวนผึ้ง ประมาณ 3.5 กิโลเมตร เปิดสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2522 เปิดสอน 2 ระดับชั้น คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีนักเรียนทั้งหมด 38 คน ครูผู้สอน 2 คน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2522 ทางราชการได้อนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียน อาคารอเนกประสงค์ พร้อมห้องสุขา ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2526 และต่อมาก็มีการสร้างอาคาร พร้อมทั้งปรับปรุงสถานที่เรื่อยมา ปัจจุบันโรงเรียนบ้านสวนผึ้ง เปิดทำการสอนตั้งแต่อนุบาลปีที่ 1 - ระดับชั้นประถมศึกษาที่ 6 มีนักเรียนประมาณ 300 คน 
  • สถานประกาศคริสเตียนเขาลูกช้าง ในชุมชนบ้านสวนผึ้ง มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ จึงมีสถานประกาศคริสเตียนเขาลูกช้าง เป็นสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนา หรือกิจกรรมต่าง ๆ ตามเทศกาล ประเพณีของชาวคริสต์
  • รีสอร์ท/ลานกางเต้นท์/โฮมสเตย์ ในพื้นที่หมู่ 1 บ้านสวนผึ้ง ด้วยมีธรรมชาติริมน้ำภาชีที่สวยงาม จึงเกิดมีสถานที่พักค้างแรมรูปแบบต่าง ๆ ให้บริการนักท่องเที่ยวที่อยากเข้ามาสัมผัสบรรยากาศป่าเขา หรือสนุกกับกิจกรรมผจญภัยต่าง ๆ เช่น บ้านรุ้งเคียงดาว เดอะแคนวาส บ้านสวนปองทอง ลานกางเต้นท์ตองสอง เดอะแค้มป์ตะนาวศรี

บ้านสวนผึ้ง มีประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สืบเชื้อสายกะเหรี่ยงโพล่ง หรือโปว์ที่อาศัยอยู่กันมาแต่ดั้งเดิมและกะเหรี่ยงที่เข้ามาในช่วงหลัง บางส่วนเป็นคนไทยที่อพยพมาจากจังหวัดทางภาคใต้ เข้ามาเฝ้าสวนยางพาราในพื้นที่ โดยเป็นคนที่มีเชื้อสายกะเหรี่ยงประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มคนไทยประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างสามัคคีปรองดองกัน และประชากรบางส่วนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย หรือไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือบุคคลพื้นที่สูง

ข้อมูลประชากร บ้านสวนผึ้ง หมู่ 1 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีจำนวนครัวเรือน 814 ครัวเรือน ประชากรรวม 3,258 คน

  • สัญชาติไทย ชาย 790 คน หญิง 759 คน รวม 1,549 คน 
  • มิใช่สัญชาติไทย หรือบุคคลพื้นที่สูง ชาย 976 คน หญิง 733 คน รวม 1,709 คน (ข้อมูลสำนักงานสถิติจังหวัดราชบุรี ณ กรกฎาคม 2566)

การปกครองจำแนกออกเป็นกลุ่มหมู่บ้าน คือ 1.บ้านสวนผึ้ง 2.ซอยใจบำเพ็ญ 3.บ่อเก่ากลาง 4.บ่อเก่าล่าง 5.เขาลูกช้าง 6.บ้านพุหิน

การนับถือศาสนา

  • ศาสนาพุทธ ประชากรส่วนใหญ่ประมาณ ร้อยละ 90 นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง (โพล่งหรือโปว์) ที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมในชุมชน โดยมีวัดสวนผึ้งเป็นสถานที่ทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา
  • ศาสนาคริสต์ ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ (นิกายโปรเตสแตนต์) ประมาณร้อยละ 10 ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงใหม่ในพื้นที่ และมีสถานประกาศคริสเตียนเขาลูกช้าง เป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทางศาสนาคริสต์
โพล่ง

ประชากรบ้านสวนผึ้ง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์และอาชีพรับจ้างทั่วไป ประชากรอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข สามัคคีปรองดองกัน ชุมชนมีการรวมกลุ่มแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้

  • กลุ่มแบบเป็นทางการ ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กลุ่ม อสม. กลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน กลุ่มดูแลความสงบหมู่บ้าน ชรบ. กลุ่มอาชีพนิรันพร กลุ่มจักสานบ้านสวนผึ้ง และคณะกรรมการป่าชุมชน
  • กลุ่มไม่เป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มดับไฟป่า กลุ่มการแสดงรำกะเหรี่ยงโรงเรียนบ้านสวนผึ้ง

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม 

  • วันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านสวนผึ้งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี เช่นเดียวกับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ในวันปีใหม่ก็จะไปเข้าวัดทำบุญตักบาตรที่วัดสวนผึ้ง มีงานรื่นเริงสังสรรค์กันในหมู่ญาติมิตรในชุมชน
  • วันสงกรานต์ ช่วงวันที่ 12-15 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านผู้นับถือพุทธศาสนาจะถือปฏิบัติตามประเพณีสงกรานต์อย่างไทย ซึ่งจะไปวัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับของตนที่วัดสวนผึ้ง มีการจัดกิจกรรมสรงน้ำพระ และที่สำคัญคือ ชาวกะเหรี่ยงจะไปร่วมงานประเพณีพระสงฆ์เหยียบหลังกะเหรี่ยง นมัสการหลวงพ่อนวม และอดีตเจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ที่จัดขึ้นในช่วงเดือน 5 ขึ้น 14, 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำของทุกปี ตามความเชื่อของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ที่จะมาร่วมงาน ร่วมทำบุญที่วัดเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เกิดความสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว 
  • ประเพณีผูกแขนเรียกขวัญ กินข้าวห่อ เป็นพิธีกรรมการเรียกขวัญตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยจัดขึ้นในช่วงเดือน 9 ของทุกปี ในช่วงราว ๆ เดือนสิงหาคม-กันยายน และมีอาหารที่ใช้ในงานคือ ข้าวห่อ บางพื้นที่จึงเรียกว่า "งานกินข้าวห่อ" ซึ่งแต่ละหมู่บ้านที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ จะกำหนดวันจัดงานประเพณีเวียนกันไปตามหมู่บ้าน และแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวก็จะทำพิธีในครอบครัวด้วย เพื่อเรียกขวัญให้กลับมาสู่ตัวลูกหลาน ให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุข ความเจริญ มีอายุมั่นขวัญยืน มีความรักสามัคคี ซึ่งผู้ทำพิธีกรรมเรียกขวัญจะเป็นผู้สูงอายุในครอบครัว หรือถ้าจัดเป็นการจัดงานรวมของหมู่บ้านก็จะให้ผู้สูงอายุที่ชุมชนให้การเคารพนับถือมาเป็นผู้ทำพิธีผูกแขนเรียกขวัญให้กับผู้ร่วมพิธี เป็นช่วงโอกาสเยี่ยมเยือนญาติต่างหมู่บ้าน เพื่อนฝูงก็จะมาหาสู่กันในแต่ละบ้าน มาร่วมกินข้าวห่อที่ทำไว้ไหว้และต้อนรับแขก ถือเป็นประเพณีที่ช่วยสร้างความสามัคคี รักใคร่ปรองดอง
  • ทำบุญกลางบ้าน จะทำในช่วงเดือน 3 ของทุกปี โดยชาวบ้านจะทำพิธีทำบุญกันที่ศาลเจ้าที่ประจำหมู่บ้าน คล้ายการไหว้เจ้าพ่อ จะนำของไหว้ต่าง ๆ ของแต่ละบ้านมาร่วมกันทำพิธี ของที่นำมาไหว้จะมีทั้งหัวหมู ไก่ เหล้าขาว กับข้าวและขนมต่าง ๆ ทำกันสืบทอดมานานแล้ว โดยจะมีผู้สูงอายุที่คนในชุมชนเคารพนับถือ เป็นผู้นำทำพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล และขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปจากชุมชน

วิถีทางเศรษฐกิจ ประชากรบ้านสวนผึ้ง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ปลูกฝรั่ง ถั่วฝักยาว แตง เลี้ยงสัตว์ วัว แพะ และอาชีพรับจ้างทั่วไป และในชุมชนเริ่มมีการปลูกทุเรียนกันบ้างตามสวนต่าง ๆ และบางส่วน ประกอบอาชีพจักสานไม้ไผ่ โดยกลุ่มจะนำผลิตภัณฑ์ตะกร้า กระจาด พัด กระบุงต่าง ๆ ที่ได้ไปจำหน่ายที่ตลาดโอ๊ะป่อยในทุกวันเสาร์ อาทิตย์

ภัยทางธรรมชาติ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นชุมชนบ้านสวนผึ้งในแต่ละปี ได้แก่

  • ไฟป่า เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน เดือน มกราคม-เมษายน ของทุกปี จากความแห้งแล้งของใบไม้ ต้นไม้ และบางส่วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ ชุมชนมีกลุ่มจิตอาสาช่วยกันเฝ้าระวัง ดับไฟป่า มีการทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลาม
  • ภัยแล้ง เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน เดือน มกราคม-เมษายน ของทุกปี แม้ว่าชุมชนจะมีลำภาชีไหลผ่าน แต่ในช่วงหน้าแล้งชาวบ้านก็ขาดน้ำกินน้ำใช้ บางครั้งแต่ละครัวเรือนต้องซื้อน้ำจากภายนอกชุมชนมาใช้สำหรับกิจวัตรประจำวัน

1.นายจิ๊บ จะนุ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2493 อายุ 73 ปี สัญชาติไทย เป็นอดีตกำนันตำบลตะนาวศรี และผู้นำของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงอำเภอสวนผึ้ง นายจิ๊บ เป็นนักปกครองที่มีเชื้อสายกะเหรี่ยง เรียนรู้สืบทอดความเป็นผู้นำมาจากพรรพบุรุษ ตั้งแต่รุ่นตาซึ่งเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้าน และปู่ที่เป็นอดีตกำนัน และท่านเป็นผู้รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชุมชน และเรื่องราวของวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่ เป็นผู้นำในการก่อตั้งโรงเรียนบ้านสวนผึ้ง เพื่อให้เด็ก ๆ ในชุมชนได้มีสถานศึกษาใกล้บ้านและยังเป็นผู้บุกเบิกพัฒนาตำบล นำความเจริญต่าง ๆ เข้ามาสู่พื้นที่ตำบลตะนาวศรี เป็นบุคคลที่ชาวอำเภอสวนผึ้งให้ความเคารพนับถือกันเรื่อยมาจนปัจจุบัน

2.นางจำนวน โพธิ์ศรี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2501 อายุ 65 ปี สัญชาติไทย ประธานกลุ่มจักสานบ้านสวนผึ้ง มีความรู้ ภูมิปัญญาด้านการจักสานไม้ไผ่ จักสานทำเป็นของใช้ต่าง ๆ มากมาย โดยเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้วตนเริ่มจากสานเข่งใส่ผักก่อน แล้วมีหน่วยงานภาครัฐได้ให้แนวคิดในการพัฒนารูปแบบงานจักสาน และมีการจัดตั้งกลุ่มขึ้น ปัจจุบันมีการสานเป็นชะลอม ตะกร้า กระด้ง พัด ที่ใส่แก้ว ที่ใส่ขวดน้ำผึ้ง และอื่น ๆ โดยนำไปขายที่ตลาดโอ๊ะป่อย

  • การแสดงรำกะเหรี่ยง เป็นการแสดงของนักเรียนโรงเรียนบ้านสวนผึ้ง ซึ่งมักจะมีการนำไปแสดงตามที่ต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง และนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นการสืบทอดศิลปะการแสดงโดยเยาวชนจากรุ่นสู่รุ่นในสถานศึกษา
  • การจักสานไม้ไผ่ เนื่องด้วยในชุมชนมีป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ไผ่ ไม้รวกขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่จำนวนมาก ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงตัดนำมาจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สร้างรายได้มาสู่ครัวเรือน และยังมีการสืบทอดภูมิปัญญาการจักสานไม้ไผ่ มีการรวมกลุ่มอาชีพเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้มากขึ้น

ภาษาที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง และจะสื่อสารเป็นภาษากะเหรี่ยง ในครอบครัว เครือญาติในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเหมือนกัน โดยมักจะเป็นรุ่นกลางคน ผู้สูงอายุที่พูดคุยด้วยภาษากะเหรี่ยง เด็กและวัยรุ่นรู้ภาษากะเหรี่ยงเป็นบางคำ เป็นคำง่าย ๆ ที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน จะไม่อยากพูดภาษากะเหรี่ยงกับบุคคลภายนอกครอบครัว ทำให้คนที่พูดภาษากะเหรี่ยงได้ในชุมชนมีจำนวนน้อยลง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). ตนราชบุรี. ราชบุรี : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี.

องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566 – 2570). https://www.tanaosri.go.th/homepage

องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี. (2566). แผนการดำเนินงาน. https://www.tanaosri.go.th/homepage

นายจิ๊บ จะนุ, การสื่อสารส่วนบุคคล, 14 ก.ค. 2566

นายธีรวุฒิ วังซอ, การสื่อสารส่วนบุคคล, 14 ก.ค. 2566

นางสาวจันทรา เร่งรบ, การสื่อสารส่วนบุคคล, 14 ก.ค. 2566

อบต.ตะนาวศรี โทร. 0-3239-5426