บ้านท่ามะขาม ชุมชนชาวไทยเชื้อสายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีอัตลักษณ์วิถีชาติพันธุ์มาอย่างยาวนาน พื้นที่บริเวณหมู่บ้านมีลำภาชีไหลผ่าน มีภูเขา ป่าชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรม วิถีธรรมชาติ และชุมชนได้พัฒนาตนเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอสวนผึ้ง เกิดเป็นตลาดริมธารยามเช้าทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ชื่อว่า "ตลาดโอ๊ะป่อย" สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
"ท่ามะขาม" มีที่มาจากผู้ใหญ่บ้านคนแรก ปู่เขียว คงติด ได้ปลูกต้นมะขามใหญ่ไว้บริเวณลุ่มน้ำภาชี พื้นที่บริเวณหมู่บ้านจึงมีต้นมะขามขึ้นอยู่มาก ตามความเชื่อของตนเองว่าจะทำให้เป็นที่เคารพนับถือ น่าเกรงขาม
บ้านท่ามะขาม ชุมชนชาวไทยเชื้อสายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีอัตลักษณ์วิถีชาติพันธุ์มาอย่างยาวนาน พื้นที่บริเวณหมู่บ้านมีลำภาชีไหลผ่าน มีภูเขา ป่าชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรม วิถีธรรมชาติ และชุมชนได้พัฒนาตนเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอสวนผึ้ง เกิดเป็นตลาดริมธารยามเช้าทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ชื่อว่า "ตลาดโอ๊ะป่อย" สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
เดิมบ้านท่ามะขาม ตั้งอยู่ที่หมู่ 11 ตำบลสวนผึ้ง กิ่งอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 หมู่บ้าน บ้านท่ามะขามเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2460 โดยมีคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน คือ นายเขียว คงติ๊ด (ปู่เขียว) และครอบครัว ซึ่งปู่เขียวเป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงโปว์
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2434 นั้น กลุ่มชาวกะเหรี่ยงโดยนายเขียว คงติ๊ด เป็นคนหมู่บ้านทุ่งแฝก (ปัจจุบันคือหมู่ที่ 2 ตำบลสวนผึ้ง) เขาได้เลี้ยงวัวควายในหมู่บ้านทุ่งแฝก วัวควายไปกินพืชผักของชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน จึงเป็นเหตุให้ต้องหาแหล่งอาหารที่เลี้ยงวัวควายในพื้นที่ใหม่ ปู่เขียวนำสัตว์มาเลี้ยงปล่อยหาอาหารกินตามลุ่มน้ำภาชี จนมาถึงลุ่มน้ำภาชีบริเวณบ้านท่ามะขามปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้พืชพรรณต่าง ๆ สัตว์ป่า มีน้ำไหลผ่านตลอดปี เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ดังนั้น ปู่เขียวพร้อมครอบครัวจึงได้ย้ายออกมาจากบ้านทุ่งแฝก มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่ามะขามเป็นครอบครัวแรก และมีญาติพี่น้องติดตามออกมาด้วยประมาณ 5 ครอบครัว ในขณะนั้นปู่เขียวได้ประกอบอาชีพทำไร่ข้าวโพด ปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ และได้ปลูกต้นมะขามไว้บริเวณนี้ เนื่องจากมีความเชื่อว่าการปลูกต้นมะขามไว้จะทำให้เป็นที่เคารพนับถือ และน่าเกรงขามของสรรพสิ่งทั้งหลาย (ต้นมะขามต้นนี้ได้ตายไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือต้นจำปาอยู่ต้นหนึ่งที่มีอายุใกล้เคียงกับต้นมะขาม ปลูกโดยภรรยาคนที่ 2) และนายเขียวมีภรรยาทั้งหมด 3 คน คนแรกชื่อปาจือ คนที่สองชื่อ จิงโจ้ คนที่สามชื่อหลั่งหวัง โดยปู่เขียวมีบุตรกับภรรยาคนแรกเท่านั้น จำนวน 4 คน และภรรยาคนที่ 2 ได้ปลูกต้นลีลาวดี หรือต้นจำปาไว้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นไม้มงคล ปลูกไว้เพื่อสักการะพระและส่งกลิ่นหอมมาก (ปัจจุบันต้นลีลาวดีอยู่หลังบ้านนายนาวี ช่อกง หรือบริเวณหน้าบ้านนายช่วย ชวนช่อสุวรรณ
ในเวลาต่อมาได้มีผู้คนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันจำนวนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตั้งผู้นำปกครอง ชาวบ้านจึงเห็นตรงกันว่าปู่เขียวมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำ จึงได้แต่งตั้งให้นายเขียว คงติ๊ด เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ใน พ.ศ. 2464 และได้ปรึกษากันกับชาวบ้านถึงชื่อของหมู่บ้าน ซึ่งช่วงเวลานั้นมีในหมู่บ้านได้ปลูกต้นมะขามไว้จำนวนมาก จึงตกลงกันตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านท่ามะขาม" หรือ "ตะหวั้งทึ้ยหมั่งคล๋อง" ภาษากะเหรี่ยง ผู้ใหญ่เขียวเป็นผู้ใหญ่ ใน พ.ศ. 2464-2494 เขาได้เสียชีวิตลงเมื่อเขาอายุได้ 80 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2496-2519 ได้แต่งตั้งนายเค้ง คงติ๊ด (ลูกชาย) เป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาผู้ใหญ่เค้งอายุมากขึ้นทำงานไม่ค่อยไหวใน พ.ศ. 2519-2526 ได้แต่งตั้งนายเฉลิม คงติ๊ด (ลูกชายนายเค้ง) เป็นผู้ใหญ่บ้าน ในช่วงเวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครอง หมู่บ้านท่ามะขามแยกเป็นหมู่ 5 ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง (เขตการปกครองมีอาณาเขตตั้งแต่บ้านท่ามะขาม บ้านบ่อเก่าบน บ้านบ่อหวี บ้านห้วยม่วง บ้านห้วยน้ำหนัก และบ้านพุระกำ) ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 ได้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ คือ นายนาวี ช่อกง
ภายหลังมีการแบ่งเขตปกครองใหม่ได้แยกออกมาเป็นตำบลตะนาวศรี และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้แบ่งเป็น 7 หมู่บ้าน ซึ่งบ้านท่ามะขาม เป็นหมู่ที่ 2 ของตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ต่อมาได้แต่งตั้งนายสุรเดช เทิดสกุลธรรม เป็นผู้ใหญ่บ้าน และในปี พ.ศ. 2561 ได้แต่งตั้งให้นายภัทรพงศ์ วงศ์กิจเกษม เป็นผู้ใหญ่บ้านจนถึงปัจจุบัน
หมู่บ้านท่ามะขาม ห่างจากอำเภอสวนผึ้งประมาณ 6 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัด 69 กิโลเมตร สภาพเส้นทางคมนาคมมีถนนลาดยางจากอำเภอสวนผึ้งถึงหมู่บ้านท่ามะขามตลอดสาย และถนนในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตเสริมไม้ พื้นที่ของหมู่บ้านท่ามะขาม มีจำนวน 15.16 ตารางกิโลเมตร หรือ 9,475 ไร่ มีโดยรถสารประจำทางผ่านหน้าอำเภอสวนผึ้ง และสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลได้ตลอด
การเดินทาง
1.เส้นทางถนนราชบุรี-ผาปก จากจังหวัดราชบุรี ถึงที่ว่าการอำเภอสวนผึ้ง ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร มีรถตู้โดยสารประจำทางผ่านหน้าอำเภอสวนผึ้งในช่วงกลางวันเป็นรอบ ๆ และจากอำเภอสวนผึ้งต้องต่อรถท้องถิ่นเข้าไปยังหมู่บ้าน
2.เส้นทางถนนสายห้วยไผ่-ป่าหวาย จากจังหวัดราชบุรี ถึงที่ว่าการอำเภอสวนผึ้ง ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร และจากอำเภอสวนผึ้งต้องต่อรถท้องถิ่นเข้าไปยังหมู่บ้าน
อาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
- ทิศใต้ ติดกับ หมู่บ้านบ่อเก่าบน ตำบลตะนาวศรี และอำเภอบ้านคา
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลห้วยแห้ง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านบ่อหวี ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
หมู่บ้านท่ามะขาม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขาและเป็นภูเขา มีภูเขาขนาบด้านซ้าย มีแม่น้ำลำภาชีไหลผ่าน สภาพแวดล้อมเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และมีต้นไผ่ขึ้นในป่าของชุมชน จึงมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ เช่น แม่น้ำลำภาชีไหลผ่านชุมชน และบริเวณตลาดโอ๊ะป่อย จุดชมวิวยอดเขาผ้าลาย
จุดชมวิวยอดเขาเด่นกระต่าย ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม ของทุกปี ฤดูหนาวอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 13-36 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนมีอากาศร้อนชื้นและพายุฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
บ้านท่ามะขามมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 485 หลังคาเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 2,283 คน แบ่งเป็น เพศชาย 1,200 คน เพศหญิง 1,083 คน ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายกะเหรี่ยง และมีคนไทย เข้ามาอาศัยทำกินในชุมชนหรือมาแต่งงานกับคนในชุมชนที่เป็นชาวกะเหรี่ยง ทำให้ปัจจุบันมีประชากรที่หลากหลาย ประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ร้อยละ 70 และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ร้อยละ 30 ส่วนใหญ่ชาวกะเหรี่ยงมีทั้งที่มีสัญชาติไทย และไม่มีสัญชาติ เป็นบุคคลพื้นที่สูง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- สัญชาติไทย จำนวน 830 คน ประชากรชาย 425 คน หญิง 405 คน
- มิใช่สัญชาติไทย หรือบุคคลพื้นที่สูง จำนวน 1,453 คน ประชากรชาย 775 คน หญิง 678 คน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติจังหวัดราชบุรี ณ กรกฎาคม 2566)
การปกครองจำแนกออกเป็นกลุ่มหมู่บ้าน จำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ประชาธิปไตย 2.ตะนาวศรี 3.สตรีพัฒนา 4.เชิงดอย 5.วังจรเข้ 6.ท่ากุลา
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มีความเชื่อตามวิถีชาติพันธุ์ของตนเอง ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และรับจ้างทั่วไป
โพล่งผู้คนในชุมชนบ้านท่ามะขามส่วนใหญ่มีเชื้อสายกะเหรี่ยง มีการรวมกลุ่มกันทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
กลุ่มไม่เป็นทางการ
- กลุ่มผู้ประกอบการ รถเอทีวี ท่องเที่ยว กลุ่มผู้ประกอบการบ้านพัก รีสอร์ท โฮมสเตย์ เช่น ลำภาชี เลคฮีลล์ ติดใจโฮมสเตย์ แคมปิ้งผาสุข
- กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยง
- กลุ่มผู้ประกอบการในตลาดโอ๊ะป่อย
- กลุ่มร้านอาหาร เช่น ร้านกาแฟ Tham.ma.chart coffee และ Sloth coffee
- กลุ่มจักสาน
- กลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธ
- กลุ่มผู้นับถือคริสต์เตียน
- กลุ่มเป็นทางการ
- กลุ่มเลี้ยงโคเพื่อขยายพันธุ์
- กลุ่มเลี้ยงไข่ไก่ประชารัฐ
- กลุ่มอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.)
- กลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน
ในพื้นที่บ้านท่ามะขาม มีสถานศึกษา 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านท่ามะขาม สอนระดับอนุบาล-ป.6 มีวัด 1 วัด คือ วัดป่าท่ามะขาม มีสถานประกาศคริสต์เตียน จำนวน 2 แห่ง คือ คริสเตียนท่ามะขาม และคริสเตียนท่ากุเลา
วิถีวัฒนธรรม
1.ประเพณีผูกแขน เรียกขวัญ กินข้าวห่อ หรือเรียกว่า "อั้งหมี่ถ่อง" จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี เจ้าของบ้านจะทำข้าวห่อไว้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน เมื่อเปิดบ้านให้ผู้มาเยือน ญาติ เพื่อนบ้านนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้าน ก็จะให้ผู้อาวุโสในบ้านทำพิธีผูกแขนเรียกขวัญ โดยใช้ด้ายแดงผูกที่ข้อมือของผู้มาเยือนพร้อมกับอวยพร เพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วนำข้าวห่อที่เตรียมไว้มาให้รับประทานร่วมกัน พิธีนี้จะทำกันในบ้านของแต่ละคนก่อน จากนั้นก็จะไปรวมตัวกันที่กลางหมู่บ้านเพื่อกินข้าวห่อร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ประเพณีนี้เป็นการฉลองพืชผลที่เพาะปลูกในการบริโภคของสมาชิกในครัวเรือนและในหมู่บ้าน
2.ประเพณีพระเหยียบหลังกะเหรี่ยง ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ชุมชนจะร่วมกันจัดกิจกรรมสรงน้ำพระ เมื่อสรงน้ำพระเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะไม่ให้เท้าพระสงฆ์เหยียบพื้นดิน ชาวบ้านนอนเรียงต่อกันให้พระสงฆ์เหยียบหลังขึ้นกุฏิ ชาวบ้านเชื่อว่าเพื่อปัดเป่าความชั่วร้ายออกจากตัวและเริ่มชีวิตใหม่ด้วยความเป็นสิริมงคล
3.ผู้นับถือศาสนาพุทธ ชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ จะมีศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่วัดป่าท่ามะขาม มีการเข้าวัดทำบุญในวันพระ และวันสำคัญทางศาสนา
4.ผู้นับถือศาสนาคริสต์ จะมีการรวมตัวทำกิจกรรมทางศาสนาในวันอาทิตย์ ณ สถานประกาศ
1.นายกลึง ชอบกล เศรษฐกิจพอเพียงบ้านลุงกลึง เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ภูมิปัญญาด้านสมุนไพร มีความสามารถด้านการขยายพันธุ์พืช และนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ "เบญจชาไทยดีปลาช่อน" ซึ่งมีสรรพคุณเพื่อสุขภาพหลายอย่าง มีจำหน่ายที่ตลาดโอ๊ะป่อยในวันเสาร์ อาทิตย์ และที่บ้านของลุงกลึง ถือเป็นบุคคลต้นแบบของบ้านท่ามะขามในการทำเศรษฐกิจพอเพียง
2.นางตาแอ อยู่ตะ มีเชื้อสายกะเหรี่ยง ที่ยังสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้ากะเหรี่ยง ทอผ้าจะมีลวดลาย เรื่องราว ความเชื่อ และวิถีชีวิตที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ อยู่ดีมีสุข มีโรงผ้าทอกะเหรี่ยงเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เป็นสถานที่จำหน่ายให้แก่ผู้สนใจ ทั้งแบบผืนและแบบที่แปรรูปเป็นเสื้อ เป็นกระเป๋า ย่ามต่าง ๆ นางตาแอ เป็นครูภูมิปัญญาที่บอกเล่าเรื่องราวของผ้าทอกะเหรี่ยง ให้ความรู้แก่นักเรียนและผู้สนใจทั่วไป
ชุมชนบ้านท่ามะขาม ประชากรส่วนใหญ่มีสัญชาติไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ประมาณร้อยละ 80 ผู้ที่ถือสัญชาติไทยส่วนใหญ่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงแต่เกิดในแผ่นดินไทยจึงได้สัญชาติไทยคนในชุมชนยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม เช่น ประเพณีกินข้าวห่อ ประเพณีเหยียบหลังกะเหรี่ยง สรงน้ำพระ มีภาษาพูด มีการแต่งกายด้วยชุดทอผ้ากะเหรี่ยง อีกทั้งยังมีธรรมชาติที่สวยงาม
ทุนวัฒนธรรม
1.วัดป่าท่ามะขาม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นที่ประดิษฐานของพระมิ่งมงคลในโบสถ์มหาอุตม์ โบสถ์มีสีแดงสะดุดตา ลายไทย บันไดพญานาค ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ แกะสลักสวยงาม และรอยพระพุทธบาทจำลอง อยู่ติดตลาดโอ๊ะป่อย โบสถ์ตั้งอยู่บนเนินเขาทำให้มองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ บรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ
2.อาหารชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในชุมชนบ้านท่ามะขาม ยังมีการสืบทอดการทำอาหารท้องถิ่นของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และนำอาหารพื้นถิ่นมาจำหน่ายในตลาดโอ๊ะป่อยในวันเสาร์ อาทิตย์ เช่น ข้าวแดกงา ข้าวห่อกะเหรี่ยง ข้าวแกงต่าง ๆ
3.การแต่งกาย ปัจจุบันการแต่งกายแบบวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง จะมีให้เห็นเฉพาะในเทศกาล หรืองานพิธีสำคัญ ซึ่งผู้นำชุมชนได้รณรงค์ส่งเสริมให้คนในชุมชนแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในกิจกรรมของการท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ตลาดเช้าริมธาร “ตลาดโอ๊ะป่อย”
4.การทอผ้า การทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงเป็นภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น สมัยก่อนผู้หญิงจะทอผ้าเพื่อใช้นุ่งห่มในชีวิตประจำวัน แต่ในปัจจุบันจะใส่เนื่องในวันสำคัญ วันพิเศษ เท่านั้น ซึ่งที่บ้านท่ามะขามจะพบว่ามีการแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงที่ตลาดโอ๊ะป่อย
5.งานจักสานไม้ไผ่ ในพื้นที่บ้านท่ามะขามมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีป่าไม้ ป่าชุมชนที่ปลูกต้นไผ่ไว้จำนวนมาก จึงมีการนำมาใช้ประโยชน์ จักสาน เป็นกระจาด ตะกร้า ของใช้ต่าง ๆ งานจักสานไม้ไผ่เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ยังสืบทอดกันมาในชุมชน
ชุมชนบ้านท่ามะขาม ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงยังมีการสื่อสาร พูดคุยด้วยภาษากะเหรี่ยง เฉพาะกลุ่มและในครอบครัว ปัจจุบันใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางและภาษาเขียนในการสื่อสาร เด็กและวัยรุ่น จะสื่อสารได้บ้างเป็นคำง่าย ๆ จะไม่อยากพูดภาษากะเหรี่ยงกับบุคลภายนอกครอบครัว ทำให้คนที่พูด ภาษากะเหรี่ยงได้ในชุมชนมีจำนวนน้อยลง
ในปัจจุบันลักษณะที่โดดเด่นของชุมชนบ้านท่ามะขาม คือ เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ที่มีวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ มีพื้นที่ชุมชนเป็นที่ราบลุ่มสลับภูเขา มีแม่น้ำลำภาชีไหลผ่าน มีธรรมชาติที่สวยงาม จึงมีผู้ประกอบการ ชุมชน วัด โรงเรียนรวมถึงภาครัฐท้องถิ่น เห็นจุดเด่นทางวัฒนธรรมของชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม อีกทั้งต้องการสร้างรายได้ให้ชุมชน และช่วยเหลือชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงร่วมกันจัดตั้งตลาดขึ้นชื่อ "ตลาดโอ๊ะป่อย" เพื่อให้คนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงนำสินค้ามาจำหน่าย เช่น อาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น งานจักสาน งานประดิษฐ์ เครื่องแต่งกาย พืชผลทางการเกษตร เป็นต้น
การพัฒนาชุมชนบ้านท่ามะขาม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่หลาย ๆ ภาคส่วนต้องเข้ามาแนะนำ ช่วยส่งเสริมสนับสนุน ช่วยวางแผนและต่อยอดสร้างสรรค์ให้เกิดกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยใช้ทุนวิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และทุนทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย
1.ตลาดโอ๊ะป่อย เป็นตลาดเช้าอยู่ติดริมลำน้ำภาชี อยู่ฝั่งตรงข้ามวัดท่ามะขาม เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2561 โดยตลาดโอ๊ะป่อยเกิดจากความร่วมมือร่วมใจ ด้วยคำว่า บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) โดยการสนับสนุนของสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวสวนผึ้ง "โอ๊ะป่อย" เป็นภาษากะเหรี่ยง หมายถึง พักผ่อน ตลาดอยู่ติดลำธารมีน้ำไหลผ่านตลอดปี บรรยากาศร่มรื่นปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่เหมาะแก่การพักผ่อน ตลาดแห่งนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน มีการตกแต่งสถานที่ให้มีสีสันสวยงามตามแบบฉบับของวิถีพื้นบ้าน ให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อน สัมผัสความสุข ได้ความอิ่มเอมใจกลับไป ตลาดแห่งนี้เปิดให้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดตั้งแต่ 07.00-14.00 โดยช่วงเช้าจะมีกิจกรรมใส่บาตรพระสงฆ์ที่ล่องแพไม้ไผ่ มาตามลำน้ำภาชี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้มาเยือน ในตลาดจะมีชุดอาหารสำหรับตักบาตรจำหน่าย ภายในตลาดจะมีซุ้มโมบายคังด้งที่ประดับไปทั่วทั้งตลาดสีสันสดใสสวยงาม เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบการถ่ายรูป มีสินค้าท้องถิ่นและอาหารพื้นบ้านจำหน่าย เช่น ข้าวแดกงา ข้าวห่อกะเหรี่ยง ข้าวแกงพื้นบ้าน เสื้อผ้าแบบกะเหรี่ยง ตะกร้าไม้ไผ่สาน เป็นต้น
2.ร้านกาแฟ Tham.ma.chart coffee ธรรมชาติ คาเฟ่ เป็นร้านกาแฟในพื้นที่ หมู่ 2 บ้านท่ามะขาม ร้านใกล้ชิดธรรมชาติ ร่มรื่นด้วยต้นไผ่ และลำธาร มีที่นั่งทั้งด้านนอก และด้านในห้องให้เลือกนั่งได้ มีการตกแต่งมุมต่าง ๆ ให้สวยงามเหมาะแก่การถ่ายภาพ การเดินทางเข้าถึงง่าย ร้านเปิดให้บริการทุกวัน
3.ร้านกาแฟ Sloth coffee เป็นร้านกาแฟธรรมชาติริมลำธาร เป็นร้านกาแฟในพื้นที่ หมู่ 2 บ้านท่ามะขาม ทางเข้าร้านซุ้มอุโมงค์ไม้ไผ่ ภายในร้านตกแต่งด้วยไม้ไผ่เป็นหลักทั้งโต๊ะ เก้าอี้ บาร์ บรรยากาศร่มรื่น มีมุมนั่งห้อยขาลงในลำธาร และมุมใต้ต้นไผ่ที่เย็นสบาย มีกิจกรรมพายเรือคายัค การเดินทางเข้าถึงง่าย
องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570) องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี (แผนการดำเนินงาน). ราชบุรี : องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี
โอ๊ะป่อย ตลาดเช้าริมธาร. https://www.facebook.com/ohpoimarket/
ธรรมชาติ คาเฟ่ Tham•ma•chart Cafe. https://www.facebook.com/thammachartcafe
Sloth coffee. https://www.facebook.com/Nuttapong0615109111/
ภัทรพงศ์ วงศ์กิจเกษม, สื่อสารส่วนบุคคล, 9 พฤษภาคม 2566
กลึง ชอบกล, สื่อสารส่วนบุคคล, 9 พฤษภาคม 2566