หมู่บ้านติดชายแดนไทย-เมียนมา ติดเทือกเขาตะนาวศรี มีสถานที่ท่องเที่ยวแก่งส้มแมว ศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มีพรรณไม้หลากหลายชนิด ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
สมัยก่อนมีต้นมะม่วงป่าจำนวนมากขึ้นอยู่บริเวณใกล้ลำห้วย ชาวบ้านจึงเรียกว่า ห้วยม่วง
หมู่บ้านติดชายแดนไทย-เมียนมา ติดเทือกเขาตะนาวศรี มีสถานที่ท่องเที่ยวแก่งส้มแมว ศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มีพรรณไม้หลากหลายชนิด ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
บ้านห้วยม่วง เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดชายแดนที่มีเทือกเขาตะนาวศรี เป็นเส้นกั้นพรมแดนของประเทศไทยกับประเทศสหภาพเมียนมาร์ ระยะทางจากชุมชนถึงชายแดนช่องโป่งแห้ง ประมาณ 7 กิโลเมตร
บ้านห้วยม่วงมีลุ่มน้ำภาชีตอนบนเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลมาจากตอนใต้ตามพื้นที่หุบเขาสู่พื้นที่ทางทิศเหนือ ผ่านเทือกเขาตะนาวศรีเข้ามายังฝั่งไทยและผ่านมายังหมู่ที่ 3 บ้านห้วยม่วง จากความเป็นธรรมชาติของพื้นที่ที่มีดิน น้ำ ป่า พื้นที่แห่งนั้นย่อมมีความอุดมสมบูรณ์ และสายน้ำยังเป็นตัวหลักที่นำความอุดมสมบูรณ์มายังบริเวณที่น้ำท่วมถึงหรือไหลผ่าน บ้านห้วยม่วง เช่นกัน พื้นที่ที่น้ำไหลผ่านจะมีลำห้วยเป็นตัวแยกของสายน้ำภาชีเข้าไปยังบริเวณชุมชนของบ้านห้วยม่วง ในอดีตพื้นที่แห่งนี้จะมีต้นมะม่วงขึ้นอยู่มากมายบริเวณลำห้วย จึงได้มีการตั้งชื่อตามสภาพของพื้นที่ว่า "บ้านห้วยม่วง" มาจนทุกวันนี้
พื้นที่บ้านห้วยม่วง ยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ และมีกะเหรี่ยงกลุ่มปกาเกอะญออยู่ที่บ้านโป่งแห้ง ในอดีตบ้านห้วยม่วงมีประชากรอยู่ประมาณ 30 คน ใน พ.ศ. 2507 ได้มีพรานเที่ยวหาสัตว์ป่าเข้ามาในพื้นที่บ้านห้วยม่วงพบพื้นดินเป็นทรายสีดำ จึงได้นำทรายสีดำกลับไปยังกรุงเทพฯ เพื่อตรวจสอบปรากฏว่าทรายดำนั้นเป็นแร่ดีบุก ทำให้มีนายทุนเข้ามาสำรวจและเริ่มทำเหมืองแร่เล็ก ๆ ที่บริเวณห้วยม่วง ในปีนั้นเหมืองแร่ได้ขยายกิจการเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีผลกำไร จึงทำการระดมหาคนงานที่มีความสามารถในการทำเหมืองแร่จากหลายจังหวัด เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ทำให้ชุมชนบริเวณนี้กลายเป็นชุมชนใหญ่
ใน พ.ศ. 2509 มีการจัดตั้งการทำเหมืองแร่เป็นรูปบริษัทภายใต้ชื่อบริษัทราชบุรีพัฒนาการจำกัด เจ้าของ คือ พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ มีผู้จัดการเหมืองคือ นายประหยัด เนียมสกุล เป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการหาแหล่งทรัพยากรอันมีค่ามากมายที่อยู่ในพื้นที่และใต้ภูเขาแห่งห้วยม่วง คือ แร่ดีบุก ในการระดม คนงานและนำเครื่องจักรมาขุดพื้นที่บ้านห้วยม่วงที่เคยมีความสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณตามธรรมชาติก็ถูกทำลายจากการทำแร่ แร่ดีบุก แต่สร้างความร่ำรวยให้นายทุนเป็นอย่างมาก กรรมกรทำแร่ได้ค่าตอบแทน ค่าแรงในการทำงานวันละ 15-25 บาท ส่วนหัวหน้าคนงานเหมืองจะได้ค่าแรงวันละ 40 บาท คนงานเหมืองจะมีประมาณ 200 คน มีทั้งชายและหญิง ทั้งชาวไทยและชาวกะเหรี่ยงทำให้กำเนิดบุตรหลานเพิ่มมากขึ้น เจ้าของกิจการเหมืองแร่จึงได้จัดตั้งโรงเรียนเล็ก ๆ ขึ้นในเหมือง เพื่อให้บุตรหลานของคนงานได้เรียนหนังสือ นักเรียนชุดแรกมีประมาณ 30 คน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 บริษัทราชบุรีพัฒนาการจำกัด ได้จัดหาพยาบาลที่จบจากโรงพยาบาลศิริราชมาประจำที่เหมือง เพื่อรักษาคนงานที่เจ็บป่วย เนื่องจากระยะทางเหมืองไปยังจังหวัดราชบุรีไกลมากและทุรกันดารคนงานเหมืองป่วยกันด้วยโรคประจำถิ่นก็คือ ไข้มาลาเรีย และอุบัติเหตุจากการทำงานจนกระทั่งใน พ.ศ. 2514 เหมืองแร่เริ่มผลิตได้น้อยลง และมีบุคคลอื่นมาทำต่อ คนงานก็เริ่มกลับภูมิลำเนาเดิมบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงประกอบอาชีพร่อนแร่ หาของป่า และยึดอาชีพทำไร่ มากขึ้นใน พ.ศ. 2519 กิจการเหมืองแร่เลิกทำโดยสิ้นเชิง เจ้าของเหมืองแร่ท่านเดิม จึงได้ยกโรงเรียนให้กับทางราชการเพื่อนำไปใช้เพื่อการศึกษาต่อไป พร้อมทั้งยกอาคารที่ใช้เป็นสถานที่รักษาพยาบาลให้กับคนงานในเหมืองให้กับทางราชการจัดทำเป็นสถานีอนามัยให้กับคนในชุมชน และจัดหาคนที่มีการศึกษาสูง มีความรู้ดีไปศึกษาที่โรงพยาบาลศิริราช คือ นายผล ร่มโพธิ์ ไปเรียนเกี่ยวกับการแพทย์ เพื่อให้มาทำงานรักษาคนไข้ในเขตบ้านห้วยม่วง
ใน พ.ศ. 2519 เจ้าของเหมืองคนเดิมได้ก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่ เนื่องจากจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น พร้อมตั้งชื่อโรงเรียนว่า "รุจิรพัฒน์" ช่วงนั้นมีนักเรียนเพิ่มขึ้น 100 กว่าคน เปิดสอนตั้งแต่ประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-4 มีการจ้างครูให้มาสอนเพิ่มขึ้นด้วย เงินเดือน ๆ ละ 600 บาท เงินค่าจ้างครูที่สอนนั้นเจ้าของเหมืองได้จ่ายให้อยู่หลายปี จนกระทั่งโอนโรงเรียนมาเป็นของรัฐและเปิดทำการสอนตั้งแต่ประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยจะมีนักเรียนที่อยู่ห่างไกล เช่น บ้านห้วยน้ำหนักมาพักค้างที่โรงเรียน
การปกครองของชุมชนห้วยม่วง เคยอยู่ภายใต้การดูแลของหมู่บ้านท่ามะขาม หมู่ที่ 5 ตำบลตะนาวศรี มาก่อนจนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 ชุมชนห้วยม่วงมีประชากรเพิ่มขึ้นจากเดิม จึงแยกชุมชนห้วยม่วง ออกมาเป็นหมู่ที่ 8 ของตำบลสวนผึ้ง เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2525
ใน พ.ศ. 2527 ทางราชการเห็นความสำคัญของบ้านห้วยม่วง ซึ่งอยู่ห่างไกลและอยู่ติดแนวชายแดนและมีชาวไทยตะนาวศรีอาศัยอยู่เป็นหมู่บ้านใหญ่ และอยู่ในถิ่นทุรกันดาร จึงได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง ตามแนวชายแดน
ใน พ.ศ. 2528 ช่วงเดือนตุลาคม เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ทำให้ราษฎรเสียชีวิต ถูกกระแสน้ำป่าพัดไปจำนวน 12 คน ทำให้ทางราชการมองเห็นเป็นความเดือดร้อนของประชาชนบ้านห้วยม่วง จึงระดมเจ้าหน้าที่ ทุกกระทรวงเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งสมัยนั้น ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเยี่ยมด้วยตนเองถึงหมู่บ้าน ตั้งแต่นั้นมาบ้านห้วยม่วงจึงได้ปรับปรุงอาคารเรียนโรงเรียนรุจิรพัฒน์ สร้างสถานีอนามัย สำนักสงฆ์ห้วยม่วง ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวัดห้วยม่วง มีพระจำพรรษาอยู่เป็นประจำ
ใน พ.ศ. 2540 ได้แยกตำบลตะนาวศรีออกจากสวนผึ้ง บ้านห้วยม่วงจึงเป็นหมู่ที่ 3 ของตำบลตะนาวศรี โดยมีผู้นำหมู่บ้าน คือ ผู้ใหญ่เสริม นวลเขียว เป็นผู้ดูแลหมู่บ้านมาจนถึงปี พ.ศ. 2548 ได้เกษียณอายุแล้วจึงได้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นนางทัศนีย์ ชุ่มนาค
พ.ศ. 2542 เมื่อบ้านห้วยม่วง มีประชากรมากเกินกำลังที่จะดูแลอย่างทั่วถึง คือมีจำนวนครัวเรือน ถึง 362 ครัวเรือน รัฐจึงได้มีการแยกหมู่บ้านห้วยน้ำหนัก หมู่ที่ 6 ออกจากบ้านห้วยม่วงเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง
บ้านห้วยม่วง มีเนื้อที่ของหมู่บ้าน จำนวน 42.06 กิโลเมตร หรือ 26,287.5 ไร่ ห่างจากอำเภอสวนผึ้งประมาณ 28 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดราชบุรี 88 กิโลเมตร สภาพเส้นทางคมนาคมมีถนนลาดยาง จากอำเภอสวนผึ้งถึงบ้านห้วยม่วงตลอดสาย การเดินทางมีรถโดยสารประจำทางผ่านหน้าอำเภอสวนผึ้งและสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลได้ตลอด
ลักษณะพื้นที่ของบ้านห้วยม่วง เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา และมีบางส่วนเป็นพื้นที่บนภูเขาสูง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณ อาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านบ่อหวี หมู่ที่ 4 ตำบลตะนาวศรี
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านห้วยน้ำหนัก หมู่ที่ 6 ตำบลตะนาวศรี และอำเภอบ้านคา
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา และบ้านบ่อเก่าบน ตำบลตะนาวศรี
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านห้วยแห้ง บ้านท่ามะขาม ตำบลตะนาวศรี
มีพื้นที่มีอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบ้านห้วยม่วง อ่างเก็บน้ำผาชลแดน อ่างเก็บน้ำห้วยจันทร์มาก อ่างเก็บน้ำบ้านโป่งแห้ง และฝ่ายทดน้ำบ้านห้วยม่วง
สถานที่สำคัญในชุมชน
1.วัดห้วยม่วง
วัดห้วยม่วง เป็นศาสนสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เดิมเมื่อ พ.ศ. 2522 เป็นสำนักสงฆ์ ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 14 ไร่ วัดได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ว่าด้วยการป่าไม้ สร้างวัดเมื่อปี 2545 โดยมีผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ร่วมมือกันสร้างวัดห้วยม่วงขึ้นมา สภาพพื้นที่ของวัดอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ กลางหมู่บ้านซึ่งวัดมีประชาชนให้ความอุปถัมภ์ และเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2536 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จประทับทรงงานบนศาลาการเปรียญวัดห้วยม่วง ในคราวเสด็จเยี่ยมราษฎร ชาวอำเภอสวนผึ้ง วัดห้วยม่วง ได้รับการพัฒนาสร้างถาวรวัตถุด้วยศรัทธาของชาวบ้านมาตลอด มีการแสดงพระธรรมเทศนาทุกวันพระในพรรษา ปัจจุบันมีพระสุรเดช ฐิตธมฺโม เป็นเจ้าอาวาส
2.โรงเรียนรุจิรพัฒน์
โรงเรียนตั้งอยู่หมู่บ้านพัฒนาตนเองชายแดนไทย-พม่า บ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลตะนาวศรีอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เดิมชื่อว่า โรงเรียนห้วยม่วง เปิดทำการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 โดยคุณประหยัด เนียมสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทเหมืองแร่ราชบุรีจำกัด ได้สร้างอาคารเรียนชั่วคราวเพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลานของคนงานเหมืองแร่และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งเป็นประธานบริษัท เหมืองแร่ราชบุรี จำกัด ได้มอบงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบถาวร และเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายอาคารเรียนและส่งมอบให้กับรัฐบาลด้วยตนเอง
ปีการศึกษา 2535 โรงเรียนได้เข้าโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เปิดทำการสอนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันโรงเรียนรุจิรพัฒน์ เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
3.สถานประกาศคริสเตียนโป่งแห้ง
ในชุมชนบ้านห้วยน้ำหนัก มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ จึงมีสถานประกาศคริสเตียนโป่งแห้ง เป็นสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนา หรือกิจกรรมต่าง ๆ ตามเทศกาล ประเพณีของชาวคริสต์
4.แก่งส้มแมว
แก่งส้มแมว ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บริเวณบ้านห้วยม่วง บนเทือกเขาตะนาวศรี ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีลักษณะจะเป็นโขดหินเล็กใหญ่วางตัวสลับซ้อนขวางแม่น้ำลำภาชีไว้ เลยทำให้แนวโขดหินมีรูปร่างแปลกตา แต่ถึงจะแปลกก็นับว่าเป็นแก่งที่สวยงามมาก ๆ ในบางบริเวณของแก่งส้มแมว น้ำจะไม่เชี่ยวและไม่แรงมากแต่อาจจะมีโขดหินขนาดใหญ่เป็นแอ่งกว้าง น้ำไม่ลึก เลยทำให้สามารถลงเล่นน้ำได้
5.ศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
เป็นศูนย์ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ เป็นศูนย์รวมพันธุ์ไม้นานาชนิดอันมีค่าทางเศรษฐกิจและเป็นแหล่งศึกษาทางธรรมชาติ ในการเรียนรู้ผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ได้รวบรวมพรรณไม้ป่านานาชนิด ท่ามกลางป่าเขา และมี "แก่งส้มแมว" เป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่ภายในศูนย์ แก่งหินขนาดใหญ่ที่คอยสร้างความชุ่มฉ่ำ ให้กับพื้นที่ โดยภายในสวนป่าแห่งนี้ มีทั้งเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สวนป่า สวนหย่อม และศูนย์จำหน่ายเซรามิกของชาวบ้าน โดยนับเป็นสถานที่ที่รวมพันธุ์ไม้อันมีค่าทางเศรษฐกิจนานาชนิด และเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติที่ดีเยี่ยมสำหรับคนที่สนใจ เดิมทีนั้นมีพื้นที่เพียง 3,000 ไร่ ต่อมาได้ขยายพื้นที่ โครงการฯ ออกไปครอบคลุมผืนป่าอีก 465,000 ไร่ และได้ผนวกอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 136,000 ไร่ รวมเป็น 601,000 ไร่ในท้ายที่สุด สามารถเข้าชุมชนได้ทุกวัน
นอกจากนี้ ในพื้นที่บ้านห้วยม่วง ยังมีส่วนราชการต่าง ๆ เข้ามาตั้งอยู่หลายภาคส่วน เช่น สถานีอนามัยตำบลตะนาวศรี กองร้อยทหารพรานจู่โจมที่ 1403 สถานีควบคุมไฟป่าราชบุรี ศูนย์โรคเมืองร้อนนานาชาติราชนครินทร์ และหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยม่วง
บ้านห้วยม่วง มีประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สืบเชื้อสายกะเหรี่ยง กับคนไทยจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่เข้ามาตั้งแต่สมัยมีการทำเมืองแร่ในพื้นที่ โดยเป็นคนที่มีเชื้อสายกะเหรี่ยง ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และคนไทย ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างสามัคคีปรองดองกัน และประชากรบางส่วนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย หรือไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือบุคคลพื้นที่สูง
ข้อมูลประชากร บ้านห้วยม่วง หมู่ 3 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีจำนวนครัวเรือน 759 ครัวเรือน ประชากรรวม 2,651 คน
- สัญชาติไทย ชาย 784 คน หญิง 708 คน รวม 1,492 คน
- มิใช่สัญชาติไทย หรือบุคคลพื้นที่สูง ชาย 620 คน หญิง 539 คน รวม 1,159 คน (ข้อมูลสำนักงานสถิติจังหวัดราชบุรี ณ กรกฎาคม 2566)
การปกครองจำแนกออกเป็นกลุ่มหมู่บ้าน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ บ้านตะเคียน บ้านไทรงาม บ้านโป่งแห้ง และบ้านห้วยม่วง
การนับถือศาสนา
- ศาสนาพุทธ ประชากรส่วนใหญ่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมในชุมชน โดยมีวัดห้วยม่วงเป็นสถานที่ทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา
- ศาสนาคริสต์ ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ (นิกายโปรเตสแตนต์) ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยง และมีสถานประกาศคริสเตียนโป่งแห้ง เป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทางศาสนาคริสต์
ประชากรบ้านห้วยม่วง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และอาชีพรับจ้างทั่วไป และหาหน่อไม้ป่าไปขายโดยจะมีหน่อไม้มากประมาณปลายเดือนกันยายน เมื่อหาได้แล้วจะนำหน่อไม้ไปต้ม และอัดใส่ปี๊บส่งให้พ่อค้าคนกลางไปจำหน่ายต่อไป ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ที่ดีของคนในชุมชน ประชากรอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข สามัคคีปรองดองกัน และชุมชนมีการรวมกลุ่มแบบเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ คือ
- กลุ่มแบบเป็นทางการ ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กลุ่ม อสม. กลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน กลุ่มหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ และกลุ่มหมู่บ้านป้องกันตนเองตามแนวชายแดน
- กลุ่มไม่เป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มดับไฟป่า กลุ่มแปรรูปหนอไม้ปี๊บ
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- วันสงกรานต์ ช่วงวันที่ 12-15 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านผู้นับถือพุทธศาสนาจะถือปฏิบัติตามประเพณีสงกรานต์อย่างไทย ซึ่งจะไปวัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับของตนที่วัดสวนผึ้ง มีการจัดกิจกรรมสรงน้ำพระ และที่สำคัญคือ ชาวกะเหรี่ยงจะไปร่วมงานประเพณีพระสงฆ์เหยียบหลังกะเหรี่ยง นมัสการหลวงพ่อนวม และอดีตเจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ที่จัดขึ้นในช่วงเดือน 5 ขึ้น 14, 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำของทุกปี ตามความเชื่อของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ที่จะมาร่วมงาน ร่วมทำบุญที่วัดเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เกิดความสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
- ประเพณีผูกแขนเรียกขวัญ กินข้าวห่อ เป็นพิธีกรรมการเรียกขวัญตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยจัดขึ้นในช่วงเดือน 9 ของทุกปี ในช่วงราว ๆ เดือนสิงหาคม-กันยายน และมีอาหารที่ใช้ในงานคือ ข้าวห่อ บางพื้นที่จึงเรียกว่า "งานกินข้าวห่อ" ซึ่งแต่ละหมู่บ้านที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ จะกำหนดวันจัดงานประเพณีเวียนกันไปตามหมู่บ้าน และแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวก็จะทำพิธีในครอบครัวด้วย เพื่อเรียกขวัญให้กลับมาสู่ตัวลูกหลาน ให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุข ความเจริญ มีอายุมั่นขวัญยืน มีความรักสามัคคี ซึ่งผู้ทำพิธีกรรมเรียกขวัญจะเป็นผู้สูงอายุในครอบครัว หรือถ้าจัดเป็นการจัดงานรวมของหมู่บ้านก็จะให้ผู้สูงอายุที่ชุมชนให้การเคารพนับถือมาเป็นผู้ทำพิธีผูกแขนเรียกขวัญให้กับผู้ร่วมพิธี เป็นช่วงโอกาสเยี่ยมเยือนญาติต่างหมู่บ้าน เพื่อนฝูงก็จะมาหาสู่กันในแต่ละบ้าน มาร่วมกินข้าวห่อที่ทำไว้ไหว้และต้อนรับแขก ถือเป็นประเพณีที่ช่วยสร้างความสามัคคี รักใคร่ปรองดอง
- วันคริสต์มาส ชาวกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์ จะมีการรวมตัวจัดงานวันคริสต์มาส ที่โบสถ์ในพื้นที่ จะทำพิธีกันในวันที่ 25 ธันวาคม ของทุกปีเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาตามความเชื่อและร่วมเฉลิมฉลองในช่วงวันขึ้นปีใหม่
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
ประชากรบ้านห้วยแห้ง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกแตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือ พริก เลี้ยงสัตว์หมู เป็ด ไก่ และอาชีพรับจ้างทั่วไป และหาหน่อไม้ ไปขายโดยจะมีหน่อไม้มากประมาณปลายเดือนกันยายน เมื่อหาได้แล้วจะนำหน่อไม้ไปต้ม และอัดใส่ปี๊บ ส่งให้พ่อค้าคนกลางไปจำหน่ายต่อไป ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ที่ดีของคนในชุมชน
ภัยทางธรรมชาติ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นชุมชนบ้านห้วยแห้งในแต่ละปี ได้แก่
- ไฟป่า เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน เดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี จากความแห้งแล้งของใบไม้ ต้นไม้ และบางส่วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ ชุมชนมีกลุ่มจิตอาสาช่วยกันเฝ้าระวัง ดับไฟป่า มีการทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลาม
- ภัยแล้ง เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน เดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี แม้ว่าชุมชนจะมีลำภาชีไหลผ่าน แต่ในช่วงหน้าแล้งชาวบ้านก็ขาดน้ำกินน้ำใช้ บางครั้งแต่ละครัวเรือนต้องซื้อน้ำจากภายนอกชุมชนมาใช้สำหรับกิจวัตรประจำวัน
1.นายพรหมา งามเถื่อน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2472 สัญชาติไทย อยู่ที่ หมู่ 3 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้สูงอายุที่ชาวชุมชนเคารพนับถือ เคยเป็นมัคทายกวัดห้วยม่วง เป็นอดีตคนงานในเหมืองแร่ เป็นผู้รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน ปัจจุบันยังมีความจำที่ดีสามารถเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตให้คนที่สนใจฟังได้ และมีความสมารถในด้านงานจักสาน แม้อายุจะมากแต่ก็ยังทำไม้กวาดทางมะพร้าวไว้จำหน่ายเป็นรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ
2.นายทิลี่ มัวยม เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2517 สัญชาติไทย อยู่ที่ หมู่ 3 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มีความรู้ภูมิปัญญาเรื่องการตีผึ้ง เรียนรู้มาจากคนในครอบครัว การตีผึ้งจะตีช่วงข้างแรม ต้องหาต้นที่จะตีก่อน แล้วเตรียมของ จะมีคนไปช่วยในการตีครั้งละ 4-5 คน มีการเตรียมลูกทอย ค้อน ไม้ ถัง เชือก เทียน ไฟ โดยเริ่มแรกจะต้องจุดเทียนเพื่อขอขมาเจ้าที่เจ้าทางก่อน แล้วจะตอกทอยขึ้นไปบนต้นไม้เพื่อทำการตีผึ้ง
- ทุนวัฒนธรรม การตีผึ้งเป็นภูมิปัญญาที่ชาวกะเหรี่ยงสั่งสมสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น พื้นที่ไหนมีการตีผึ้งอยู่ก็จะบ่งบอกได้ว่ามีผืนป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์และมีความเชื่อประเพณีพิธีกรรมของชาวกะเกรี่ยงที่ยังสืบทอดกันมาจนปัจจุบัน เช่น ประเพณีผู้แขนเรียกขวัญ ในเดือน 9
- ทุนทางธรรมชาติ มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีพรรณไม้ป่าที่หลากหลาย มีศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นแหล่งให้ได้ศึกษาเรียนรู้พรรณไม้ แหล่งศึกษาธรรมชาติที่สำคัญ ซึ่งการที่มีป่าไม้ ลำธาร อุดมสมบูรณ์ทำให้ในพื้นที่มีรีสอร์ท ที่พัก ลานกางเต้นท์อยู่จำนวนมากประมาณ 20 ราย ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่
- พ.ศ. 2508 มีโรงเรียนห้วยม่วง เปิดทำการในเหมืองแร่
- พ.ศ. 2509 มีการทำเหมืองแร่ในรูปบริษัท ชื่อบริษัทราชบุรีพัฒนาการ จำกัด
- พ.ศ. 2519 กิจการเหมืองแร่เลิกโดยสิ้นเชิง เจ้าของเหมืองแร่ จึงได้ยกโรงเรียนให้กับทางราชการ
- พ.ศ. 2525 แยกชุมชนห้วยม่วง ออกมาเป็นหมู่ที่ 8 ของตำบลสวนผึ้ง
- พ.ศ. 2540 ได้แยกตำบลตะนาวศรีออกจากสวนผึ้ง บ้านห้วยม่วงจึงเป็นหมู่ที่ 3 ของตำบลตะนาวศรี
วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). ตนราชบุรี. จังหวัดราชบุรี : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี.
องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570) องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี (แผนการดำเนินงาน). ราชบุรี : องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี
เที่ยวราชบุรี.com. (ม.ป.ป.). แก่งส้มแมว. https://เที่ยวราชบุรี.com
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). ศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์. https://thailandtourismdirectory.go.th/
นายบุญทิ้ง ลาเทศ, การสื่อสารส่วนบุคคล, 29 มิ.ย. 2566
นายทิลี่ มัวยม, การสื่อสารส่วนบุคคล, 29 มิ.ย. 2566
นายผจญ อินต๊ะมูล, การสื่อสารส่วนบุคคล, 29 มิ.ย. 2566
นายพรหมา งามเถื่อน, การสื่อสารส่วนบุคคล, 29 มิ.ย. 2566
นายอรุณ กุหลา, การสื่อสารส่วนบุคคล, 29 มิ.ย. 2566