
ชุมชนมีการอนุรักษ์สืบทอดวิถีการแสดงดนตรีกะเหรี่ยง มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติน้ำตกบ่อหวี จุดชมวิวห้วยคอกหมู ชายแดนไทย-เมียนมา และเป็นที่ตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริบ้านบ่อหวี แหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัด
สมัยก่อนในพื้นที่มีการทำเหมืองแร่มาก "บ่อ" มาจากบ่อแร่ และ "หวี" มาจากมีการเจอหวีในบ่อแร่ตอนที่ล้างบ่อ จึงเป็นที่มาของชื่อ "บ่อหวี" และอีกที่มาหนึ่ง คือ ชาวบ้านในพื้นที่มีความลำบากและยากจนมาก ไม่มีแม้กระทั่งหวีสำหรับหวีผม
ชุมชนมีการอนุรักษ์สืบทอดวิถีการแสดงดนตรีกะเหรี่ยง มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติน้ำตกบ่อหวี จุดชมวิวห้วยคอกหมู ชายแดนไทย-เมียนมา และเป็นที่ตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริบ้านบ่อหวี แหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัด
เมื่อ พ.ศ. 2501 มีชาวกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งจำนวน 5 ครัวเรือน ได้อพยพจากประเทศพม่า (เมียนมาร์) มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ห้วยบ่อหวีเป็นกลุ่มแรก ที่มาของชื่อบ้านบ่อหวี คือ แต่ก่อนมีเหมืองแร่มาก คำว่า "บ่อ" จึงมาจากบ่อแร่ และคำว่า "หวี" มาจากสาเหตุของความยากจนของชาวบ้านที่จนกระทั่งไม่มีหวีจะหวีผม และอีกที่มาคือมีการเจอหวีในบ่อแร่ตอนล้างบ่อ
แต่เดิมบ้านบ่อหวีขึ้นอยู่กับบ้านท่ามะขาม หมู่ที่ 11 ตำบลสวนผึ้ง ต่อมาใน พ.ศ. 2517 ได้ยกฐานะตำบลสวนผึ้ง เป็นกิ่งอำเภอสวนผึ้ง และปี พ.ศ. 2526 ได้แยกชุมชนบ่อหวีเป็นหมู่บ้าน หมู่ที่ 9 และเปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 4 บ้านบ่อหวี โดยมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อนายเค้ง ช่อกง
พ.ศ. 2514 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จมาบ้านบ่อหวี ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นหนึ่งหลังโดยมีพระประสงค์ให้เด็กชาวกะเหรี่ยง ได้เรียนภาษาไทย โดยมีครู ตชด. เป็นผู้สอน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบ่อหวี จึงก่อตั้งขึ้น
พ.ศ. 2517 ได้ยกฐานะจากตำบลสวนผึ้งเป็นกิ่งอำเภอสวนผึ้ง ในขณะนั้นบ้านบ่อหวี มีครัวเรือนจำนวน 24 หลังคาเรือน ประชากร 150 คน
พ.ศ. 2526 ได้แยกหมู่บ้านบ่อหวี เป็นหมู่ที่ 9 โดยมีนายจี่ คังพุ เป็นผู้ใหญ่บ้าน และจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ปชด. และ พ.ศ. 2528 จัดตั้งเป็นหมู่บ้าน อพป.
พ.ศ. 2530 นายณัฏพล วงศ์ทอง ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน มีประชากร 402 คน และได้แยกบ้านบ่อหวีเป็น หมู่ที่ 4 ตำบลตะนาวศรี
พ.ศ. 2557 นางกนกพร มั่งมีผล ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน จนถึงปัจจุบัน
หมู่บ้านบ่อหวี มีพื้นที่ของหมู่บ้าน มีจำนวน 39,312.5 ไร่ ห่างจากอำเภอสวนผึ้งประมาณ 15 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดราชบุรี 78 กิโลเมตร สภาพเส้นทางคมนาคม มีถนนลาดยางจากอำเภอสวนผึ้งถึงบ้านบ่อหวีตลอดสาย การเดินทางมีรถโดยสารประจำทางผ่านหน้าอำเภอสวนผึ้ง และสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลได้ตลอด
สภาพภูมิประเทศ
บ้านบ่อหวี มีภูเขาล้อมรอบหมู่บ้าน ลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขาที่ส่วนใหญ่เป็นป่า ลักษณะดินเป็นดินปนทรายและดินลูกรัง มีลำห้วยบ่อหวี ลำห้วยคอกหมูไหลลงสู่ลำภาชี สภาพทางภูมิศาสตร์และอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านห้วยผาก หมู่ที่ 7 ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านท่ามะขาม หมู่ที่ 2 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
- ทิศตะวันตก ติดกับ สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพเมียนมา/เทือกเขาตะนาวศรี
สถานที่สำคัญในชุมชน
1.ศูนย์วัฒนธรรมบ้านบ่อหวี
สร้างขึ้นในสมัยผู้ใหญ่ณัฏพล วงศ์ทอง เป็นสถานที่จัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมประเพณีในชุมชน เช่น ประเพณีผูกแขนเรียกขวัญ กินข้าวห่อ สงกรานต์ ปีใหม่ และมีการเก็บรักษาเครื่องดนตรีกะเหรี่ยงไว้ที่นี่ด้วย ลักษณะการสร้างบ้านเป็นบ้านกะเหรี่ยงยกพื้นสูง มีใต้ทุนโล่ง ฝาผนังบ้านทำด้วยไม้ไผ่ บริเวณด้านล่างของบ้านมีหลุมหลบภัยเก่า ที่ทำไว้ให้ชาวบ้านมาหลบอันตรายจากการสู้รบ มีเหตุการณ์ไม่สงบในเขตชายแดน ด้วยหมู่บ้านบ่อหวีเป็นหมู่บ้านติดชายแดนไทย พม่า
2.วัดบ่อหวี
วัดบ่อหวี เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ตั้งวัด เมื่อ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552 รับวิสุงคามสีมา เมื่อ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557 โดยมีพระอธิการวรธรรม ฐิตธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสวัด ปัจจุบันมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ 6 รูป วัดบ่อหวี เป็นศูนย์ร่วมจิตรวมใจของชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบ่อหวีที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางศาสนาในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันเข้าพรรษา วันพระ กฐิน ผ้าป่า ถือศีลปฏิบัติธรรม เป็นต้น และทางวัดยังสงเคราะห์ช่วยเหลือชุมชนในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ อีกด้วย
3.โรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 (บ้านบ่อหวี)
ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งเสด็จมาบ้านบ่อหวี เดิมเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน อยู่ในความรับผิดชอบของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ตั้งขึ้นโดยความร่วมมือจากราษฎรที่เห็นความสำคัญของการศึกษา ต้องการให้บุตรหลานได้มีความรู้ความสามารถอ่านออกเขียนได้ ด้วยนักเรียนบ้านบ่อหวีจะต้องเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนบ้านห้วยผาก ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งระยะทางห่างจากหมู่บ้านประมาณ 4 กิโลเมตร การเดินทางมีความลำบากมากในฤดูฝนเพราะมีห้วยบ่อคลึงกั้นระหว่างหมู่บ้านราษฎรจึงขอร้องครูไปยังกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 7 (กก. ตชด.13) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ พลฯ ประเทือง อินทร์นวล มาเริ่มเปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2514 โดยใช้สำนักสงฆ์บ้านบ่อหวี เป็นสถานที่สอนชั่วคราว
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2517 สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างอาคารเรียนถาวร โดยมีกลุ่มนักข่าวหญิง ทูลเกล้าถวาย ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2518 สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดป้ายอาคารเรียน และทรงพระราชทานนามโรงเรียนหลังนี้ว่า โรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 (บ้านบ่อหวี)
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการตามพระราชดำริ
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ทางกองกำกับตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 ได้มอบโอนโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และได้ทำพิธีมอบ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 ในปีเดียวกัน สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอสวนผึ้ง ได้แต่งตั้งให้นายสุพัต อ่อนน้อม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุจิรพัฒน์มารักษาการในตำแหน่งครูใหญ่
วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมงานตามโครงการพระราชดำริ
พ.ศ. 2546 คณะกรรมการประถมศึกษาจังหวัดราชบุรี ได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากโรงเรียนบ้านบ่อหวี (กลุ่มนักข่าวหญิง2) เป็นโรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 (บ้านบ่อหวี) จนถึงปัจจุบัน และได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนเด็กนักเรียนประมาณ 270 คน
4. โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ
โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ นอกจากเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่ประชาชนที่เข้ามาทํางานเพื่อสร้างโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริบ้านบ่อหวี ได้จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริที่พระราชทานเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2545 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับการจัดตั้งฟาร์มตัวอย่างเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางเกษตรกรรม แหล่งผลิตอาหาร และคลังอาหาร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
เริ่มดําเนินการ เมื่อ พ.ศ. 2546 มีหน่วยงานร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่ประกอบด้วย กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กองทัพบก และสำนักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในฟาร์ม ในลักษณะของการ "Learning by Doing" แล้ว ยังส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำการเกษตรอื่น ๆ พร้อมกับการจ้างแรงงานในท้องถิ่นเข้ามาทำงานในฟาร์ม เพื่อชาวบ้านบ่อหวีและหมู่บ้านใกล้เคียงได้มีงานทำ มีรายได้ และนำความรู้ด้านการเกษตรที่ได้รับการถ่ายทอด จากฝึกปฏิบัติจริงในฟาร์มไปใช้ในการประกอบอาชีพของตนเอง โดยมุ่งเน้นการปลูกพืชปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ และเกษตรผสมผสาน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน
นอกจากนี้ในฟาร์มยังมีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น พริกกะเหรี่ยง และกล้วยฉาบ ซึ่งพืชผลที่ได้จากฟาร์มตัวอย่างยังจะนำไปจำหน่ายให้กับประชาชนในตัวเมือง อีกส่วนหนึ่งจะวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่ประชาชนในละแวกใกล้เคียง
5.จุดชมวิวห้วยคอกหมู
ตั้งอยู่ที่ บ้านบ่อหวี ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง บนทิวเขาตะนาวศรี สูงกว่าระดับน้ำทะเล 867 เมตร บริเวณรอยต่อพรมแดนไทยติดกับจังหวัดมะริด ของสหภาพเมียนมา บริเวณจุดชมวิวห้วยคอกหมู เป็นพื้นที่ป่าเขาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ป่าไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งมีพรรณไม้นานาชนิด และเป็นที่ตั้งฐานปฏิบัติการของตำรวจตระเวนชายแดน 137 ในการเฝ้าตรวจและควบคุมภูมิประเทศที่สำคัญ ปัจจุบันได้พัฒนาภูมิทัศน์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งสามารถชมทัศนียภาพสวยงามของอาณาเขตประเทศไทยและสหภาพเมียนมา สภาพพื้นที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบผจญภัย และการเดินทางด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อ บนจุดชมวิวอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเช้าจะได้เห็นกลุ่มหมอกแบบใกล้ชิด สามารถทำกิจกรรมกางเต็นท์ แคมป์ปิ้ง ได้
6.น้ำตกบ่อหวี
น้ำตกบ่อหวี เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีจำนวน 7 ชั้น โดยแต่เดิมน้ำตกแห่งนี้ไม่เป็นที่รู้จัก ต่อมามีการค้นพบและได้ทำการปรับแต่งภูมิทัศน์ของน้ำตก และบริเวณรอบ ๆ ให้เป็นแหล่งที่สามารถท่องเที่ยว
ในช่วงหน้าแล้งน้ำตกจะแห้งไม่มีน้ำ การเดินทางไปน้ำตกต้องผ่านเข้ามาทางหมู่บ้านบ่อหวี เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร มีถนนลาดยางตลอดเส้นทาง และเดินเท้าเข้าไปที่น้ำตกอีกประมาณ 150 เมตร ก็จะถึงน้ำตกชั้นที่ 1 และหากจะขึ้นไปถึงน้ำตกชั้นที่ 7 ก็ต้องใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง
บ้านบ่อหวี เป็นหมู่บ้านติดชายแดนไทย-พม่า ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สืบเชื้อสายกะเหรี่ยง ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มคนอื่น ๆ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างสามัคคีปรองดองกันและประชากรบางส่วนยังไม่ใช่สัญชาติไทย หรือไม่มีสถานะทางทะเบียน
ข้อมูลประชากร บ้านบ่อหวี หมู่ 4 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีจำนวนครัวเรือน 731 ครัวเรือน ประชากรรวม 2,068 คน
- สัญชาติไทย ชาย 579 คน หญิง 500 คน รวม 1,079 คน
- มิใช่สัญชาติไทย หรือบุคคลพื้นที่สูง ชาย 520 คน หญิง 469 คน รวม 989 คน (ข้อมูลสำนักงานสถิติจังหวัดราชบุรี ณ กรกฎาคม 2566)
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดในหมู่บ้าน 1 วัด คือ วัดบ่อหวี
การปกครองแบ่งออกเป็น กลุ่มหมู่บ้าน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.เฟื่องฟ้า 2.ทานตะวัน 3.เบญจมาศ 4.ดาวเรือง 5.พุทธรักษา
โพล่งผู้คนในชุมชนบ้านบ่อหวี ส่วนใหญ่มีเชื้อสายกะเหรี่ยง ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนไทยและ เชื้อสายอื่นๆ อย่างสงบสุข สามัคคีปรองดองกัน ประชากรโดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รับจ้างทำงานในฟาร์มตัวอย่าง ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ และมีการรวมกลุ่มกันทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
กลุ่มที่เป็นทางการ ได้แก่
- อาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)
- กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
- กองทุนแม่ของแผ่นดิน
- หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.)
- อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มแสดงดนตรีกะเหรี่ยงบ้านบ่อหวี
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- วันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านบ่อหวีส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี เช่นเดียวกับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ในวันปีใหม่ก็จะไปเข้าวัดทำบุญตักบาตร ที่วัดบ่อหวี มีงานรื่นเริงสังสรรค์กันในหมู่ญาติมิตร ในชุมชน
- วันสงกรานต์ ช่วงวันที่ 12-15 เมษายนของทุกปี ชาวบ้านผู้นับถือพุทธศาสนาจะถือปฏิบัติตามประเพณีสงกรานต์อย่างไทย ซึ่งจะไปวัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับของตนที่วัดป่าท่ามะขาม มีการจัดกิจกรรมสรงน้ำพระ และที่สำคัญคือ ชาวกะเหรี่ยงจะไปร่วมงานประเพณีพระสงฆ์เหยียบหลังกะเหรี่ยง นมัสการหลวงพ่อนวม และอดีตเจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ที่จัดขึ้นในช่วงเดือน 5 ขึ้น 14, 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ ของทุกปี ตามความเชื่อของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ที่จะมาร่วมงาน ร่วมทำบุญที่วัดเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เกิดความสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
- ประเพณีผูกแขนเรียกขวัญ กินข้าวห่อ เป็นพิธีกรรมการเรียกขวัญตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยจัดขึ้นในช่วงเดือน 9 ของทุกปี ในช่วงราว ๆ เดือนสิงหาคม-กันยายน และมีอาหารที่ใช้ในงานคือ ข้าวห่อ บางพื้นที่จึงเรียกว่า "งานกินข้าวห่อ" ซึ่งแต่ละหมู่บ้านที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ จะกำหนดวันจัดงานประเพณีเวียนกันไปตามหมู่บ้าน และแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวก็จะทำพิธีในครอบครัวด้วย เพื่อเรียกขวัญให้กลับมาสู่ตัวลูกหลาน ให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุข ความเจริญ มีอายุมั่นขวัญยืน มีความรักสามัคคี ซึ่งผู้ทำพิธีกรรมเรียกขวัญจะเป็นผู้สูงอายุในครอบครัว หรือถ้าจัด เป็นการจัดงานรวมของหมู่บ้านก็จะให้ผู้สูงอายุที่ชุมชนให้การเคารพนับถือมาเป็นผู้ทำพิธีผูกแขนเรียกขวัญให้กับผู้ร่วมพิธี เป็นช่วงโอกาสเยี่ยมเยือนญาติต่างหมู่บ้าน เพื่อนฝูงก็จะมาหาสู่กันในแต่ละบ้าน มาร่วมกินข้าวห่อที่ทำไว้ไหว้และต้อนรับแขก ถือเป็นประเพณีที่ช่วยสร้างความสามัคคี รักใคร่ปรองดอง
วิถีทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก อาชีพรับจ้างทั่วไป รับจ้างทำงานในฟาร์มตัวอย่าง พืชที่ปลูกกันมากคือ ผักกาดหรือหัวไช้เท้า ถั่ว แตงกวาและพืชสมุนไพร เช่น พิมเสน ฟ้าทะลายโจร ลูกใต้ใบ หางหนูราชสีห์ มีการเลี้ยงสัตว์คือ แพะ วัว และบางบ้านสานเข่ง สานตะกร้า และชาวบ้านยังมีรายได้จากการหาเห็ดโคน และหน่อไม้จากป่าไปขายอีกด้วย
ภัยทางธรรมชาติ
ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นชุมชนบ้านบ่อหวีในแต่ละปี ได้แก่
- ไฟป่า เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน เดือน มกราคม-เมษายน ของทุกปี จากความแห้งแล้งของใบไม้ ต้นไม้ และบางส่วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ ชุมชนมีกลุ่มจิตอาสาช่วยกันเฝ้าระวัง ดับไฟป่า มีการทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลาม
- ภัยแล้ง เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน เดือน มกราคม-เมษายน ของทุกปี แม้ว่าชุมชนจะมีลำภาชีไหลผ่าน แต่ในช่วงหน้าแล้งชาวบ้านก็ขาดน้ำกินน้ำใช้ บางครั้งแต่ละครัวเรือนต้องซื้อน้ำจากภายนอกชุมชนมาใช้สำหรับกิจวัตรประจำวัน
1.นายลมชิ ทองจี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2498 เป็นบุคคลพื้นที่สูง อาศัยอยู่ หมู่ที่ 4 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เข้ามาอยู่ในบ้านบ่อหวีเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว เป็นผู้มีความรู้เรื่องเครื่องดนตรีกะเหรี่ยง เล่นเครื่องดนตรีได้ทุกชนิด เช่น ระนาด (ปัดตะลา) กลอง (โด่) ขลุ่ย (ปะล่อย) เรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรีมาจากตอนยังอาศัยอยู่พม่า
2.นายชัย ทองยุ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2510 เป็นบุคคลพื้นที่สูง อาศัยอยู่ หมู่ที่ 4 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้มีความรู้เรื่องเครื่องดนตรีกะเหรี่ยง เล่นเครื่องดนตรีกีต้าร์ (เมนเดอเลย์ หรือ พิณ 6 สาย) กลอง (โด่) ได้รับการถ่ายทอด เรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรีมาจากครอบครัว เนื่องจากพ่อเป็นนักดนตรี
3.นางแสง บุญมี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2515 อาศัยอยู่ หมู่ที่ 4 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีความรู้ความสามารถในเรื่องการรำกะเหรี่ยง ร้องเพลงกะเหรี่ยง ได้รับการถ่ายทอด เรียนรู้การร้อง การรำมาจากครอบครัว เนื่องจากพ่อเป็นนักดนตรีและแม่เป็นนางรำ เป็นน้องสาวของนายชัย
4.นางกะยู พะยะ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2516 เป็นบุคคลพื้นที่สูง อาศัยอยู่ หมู่ที่ 4 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีความรู้ความสามารถในเรื่องการรำกะเหรี่ยง ร้องเพลงกะเหรี่ยง ได้รับการถ่ายทอดตอนที่อยู่พม่า ตนเองเกิดที่ประเทศไทย แต่ไปอยู่ในพม่าช่วงหนึ่ง และจึงกลับมาอยู่ที่บ้านบ่อหวี
5.นายชาญ บุญมา อาศัยอยู่ หมู่ที่ 4 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นเกษตรกรผู้มีความรู้ในเรื่องการปลูกพืชสมุนไพรต่าง ๆ เช่น ต้นพิมเสน ต้นลูกใต้ใบ ต้นฟ้าทะลายโจร โดยอาศัยประสบการณ์และเรียนรู้ด้วยตนเอง
6.นายชาญ เทพสวัสดิ์ อาศัยอยู่ หมู่ที่ 4 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้มีความรู้ในเรื่องการสานเข่ง เป็นคนพื้นที่อื่นแต่ได้มาอยู่กับภรรยาที่บ้านบ่อหวี ประกอบอาชีพสานเข่งมานานกว่า 30 ปี เนื่องจากในพื้นที่มีไม้ไผ่มาก มีทั้งเข่งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จะมีคนมารับซื้อที่บ้านในชุมชนบ้านบ่อหวีจะเหลือบ้านที่สานเข่งอยู่ 2-3 บ้านเท่านั้น
ดนตรีกะเหรี่ยง ดนตรีเป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ ท่วงทำนองจากการบรรเลงดนตรี ท่าร่ายรำ และเนื้อร้อง จะบ่งบอกได้ถึงความเป็นอยู่ ความคิดความเชื่อของชุมชน ในหมู่บ้านบ่อหวียังมีกลุ่มชาวบ้านที่สืบทอดการเล่นเครื่องดนตรี การแสดงรำ ร้องเพลง ในแบบของชาวกะเหรี่ยง มีผู้รู้เรื่องรำกะเหรี่ยง ร้องเพลงกะเหรี่ยง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงที่ยังคงรักษาสืบสานศิลปะการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ให้คงอยู่ ซึ่งในพื้นที่ตำบลตะนาวศรี จะมีเพียงกลุ่มบ้านบ่อหวีแห่งเดียวที่มีการแสดงดนตรีกะเหรี่ยง โดยจะเก็บรักษาเครื่องดนตรีของหมู่บ้านไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมบ้านบ่อหวี
ภาษาที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน ก็ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง และจะสื่อสารเป็นภาษากะเหรี่ยงในครอบครัว เครือญาติในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเหมือนกัน โดยมักจะเป็นรุ่นกลางคน ผู้สูงอายุที่พูดคุยด้วยภาษากะเหรี่ยง เด็กและวัยรุ่นรู้ภาษากะเหรี่ยงเป็นบางคำ เป็นคำง่าย ๆ ที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน จะไม่อยากพูดภาษากะเหรี่ยงกับบุคคลภายนอกครอบครัว ทำให้คนที่พูดภาษากะเหรี่ยงได้ในชุมชนมีจำนวนน้อยลง
- พ.ศ. 2501 มีชาวกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งจำนวน 5 ครัวเรือน ได้อพยพจากประเทศพม่า (เมียนมาร์) มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ห้วยบ่อหวีเป็นกลุ่มแรก
- พ.ศ. 2514 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จมาบ้านบ่อหวี ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนภาษาไทยโดยมีครู ตชด. เป็นผู้สอน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบ่อหวี จึงก่อตั้งขึ้น
- พ.ศ. 2545 เกิดโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริ บ้านบ่อหวี ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางเกษตรกรรม แหล่งผลิตอาหาร และคลังอาหาร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยมีสํานักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบโครงการฯ ทำให้ชาวบ้านบ่อหวีมีงานทำ มีรายได้ มีความรู้ในการทำเกษตรกรรม
โรงแรมที่พัก รีสอร์ท ลานกางเต้นท์ในพื้นที่บ้านบ่อหวี ได้แก่ ตะนาวศรีคอฟฟี่ บ่อหวีรีสอร์ท บ้านไร่ไทรงาม โฮมสเตย์ และลา โปรวองซ์
วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). ตนราชบุรี. จังหวัดราชบุรี : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี.
องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570) องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี (แผนการดำเนินงาน). จังหวัดราชบุรี : องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). จุดชมวิวห้วยคอกหมู. https://thai.tourismthailand.org/
ห้วยคอกหมูสุดเขตแดนสยาม สวนผึ้ง ราชบุรี. (ม.ป.ป.). จุดชมวิวห้วยคอกหมู ข้อมูลจาก. Facebook ห้วยคอกหมูสุดเขตแดนสยาม สวนผึ้ง ราชบุรี
นางแสง บุญมี, การสื่อสารส่วนบุคคล, 30 มิ.ย. 2566
นายชัย ทองยุ, การสื่อสารส่วนบุคคล, 30 มิ.ย. 2566
นายลมชิ ทองจี, การสื่อสารส่วนบุคคล, 30 มิ.ย. 2566
นายสมชาย ทัดถิ่น, การสื่อสารส่วนบุคคล, 30 มิ.ย. 2566
นางกะยู มะตะ, การสื่อสารส่วนบุคคล, 30 มิ.ย. 2566
นายชาญ บุญมา, การสื่อสารส่วนบุคคล, 30 มิ.ย. 2566
นายชาญ เทพสวัสดิ์, การสื่อสารส่วนบุคคล, 30 มิ.ย. 2566