Advance search

บ้านอะนะถ่า

ชุมชนติดเขตแดนพม่า ธรรมชาติสวยงาม มีแม่น้ำลำภาชีไหลผ่านตลอดปี มีศูนย์ศิลปาชีพฯ ส่งเสริมอาชีพประชาชน สืบทอดเพลงร้องกะเหรี่ยง มีภูมิปัญญาตีเม็ดเงิน

หมู่ที่ 6
ห้วยน้ำหนัก
ตะนาวศรี
สวนผึ้ง
ราชบุรี
อบต.ตะนาวศรี โทร. 0-3239-5426
พิชามญชุ์ ธูปหอม
10 ก.ย. 2023
กิตติพัศ แก่นไร่
28 ก.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
16 พ.ค. 2024
บ้านห้วยน้ำหนัก
บ้านอะนะถ่า

ชื่อบ้านห้วยน้ำหนัก ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "อะนะถ่า" แปลว่า  วังปลามาก มีที่มาจากสมัยก่อนในลำห้วยมีปลาอยู่มาก จึงเรียกว่าลำห้วยอะนะ แล้วเพี้ยนเสียงมาเป็น "ห้วยน้ำหนัก"


ชุมชนติดเขตแดนพม่า ธรรมชาติสวยงาม มีแม่น้ำลำภาชีไหลผ่านตลอดปี มีศูนย์ศิลปาชีพฯ ส่งเสริมอาชีพประชาชน สืบทอดเพลงร้องกะเหรี่ยง มีภูมิปัญญาตีเม็ดเงิน

ห้วยน้ำหนัก
หมู่ที่ 6
ตะนาวศรี
สวนผึ้ง
ราชบุรี
70180
13.38007458
99.2736505
องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี

บ้านห้วยน้ำหนัก หมู่ 6 แต่เดิมขึ้นอยู่กับหมู่ที่ 3 บ้านห้วยม่วง ตำบลตะนาวศรี ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาด้านต่าง ๆ มีความเจริญขึ้น และมีการเพิ่มขึ้นของประชากรจนถึงเกณฑ์การตั้งหมู่บ้านขึ้นในปี พ.ศ. 2542 จึงได้แยกออกจากหมู่ที่ 3 บ้านห้วยม่วงเป็นหมู่ที่ 6 โดยใช้ชื่อว่า "บ้านห้วยน้ำหนัก" ซึ่งภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "อะนะถ่า" แปลว่า วังปลามาก ส่วนชื่อบ้านห้วยน้ำหนักเป็นชื่อที่ได้มาจากลำห้วยอะนะ มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายสมบัติ วริทธิกรกุล เมื่อครบวาระมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่ คนที่ 2 คือ นายพุด แย้มพรหม และคนปัจจุบัน นายปิยะ ดำรงจิตประสงค์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน

การปกครองจำแนกออกเป็นกลุ่มบ้าน

  1. บ้านห้วยน้ำหนัก
  2. บ้านห้วยผาก
  3. บ้านห้วยวังโค
  4. บ้านห้วยกะวาน
  5. บ้านหนองตาดั้ง
  6. บ้านพุระกำ

บ้านห้วยน้ำหนัก ห่างจากอำเภอสวนผึ้งประมาณ 30 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัด 100 กิโลเมตร สภาพเส้นทางคมนาคมจากอำเภอสวนผึ้งมีถนนลาดยาง สลับกับถนนคอนกรีต ถนนลูกรัง ถึงหมู่บ้าน พื้นที่ของหมู่บ้านห้วยน้ำหนัก มีจำนวน 21,906.25 ไร่ หรือ 35.05 ตารางกิโลเมตร มีรถโดยสารประจำทางผ่านหน้าอำเภอสวนผึ้ง และเดินทางต่อด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลได้ตลอดลักษณะพื้นที่ของบ้านห้วยน้ำหนัก เป็นที่ราบเชิงเขา สลับภูเขาสูง ดินเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ พันธุ์พืช และมีอาณาเขตติดต่อกัน ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลตะนาวศรี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอบ้านคา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอบ้านคา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ประเทศพม่า

สถานที่สำคัญในชุมชน

1.ศาลประจำหมู่บ้านห้วยน้ำหนัก ศาลเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านห้วยน้ำหนัก ศาลเจ้าแห่งนี้ชาวบ้านให้เคารพนับถือสืบต่อกันมานาน โดยชาวบ้านจะมาร่วมกันทำพิธีทำบุญศาลเจ้า ในช่วงเดือน 6 ของทุกปี (ทำบุญหมู่บ้าน ไหว้ต้นไม้) แต่ละบ้านจะเตรียมของไหว้ คือ เหล้าขาว ไก่ต้ม ไข่ต้ม ผลไม้ ดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวาน มาร่วมพิธีบริเวณศาลเจ้าพ่อ ซึ่งจะมีผู้สูงอายุชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านเป็นผู้นำทำพิธี

2.ศาลพ่อปู่เขาแดนตะนาวศรี เป็นศาลประจำหมู่บ้านพุระกำ จะมีการจัดพิธีบูชา ขอพร และขอขมาต่อพ่อปู่ ทุกปี ในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 3 โดยจะเริ่มพิธีกรรมเวลา 07.00 น. ชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวาน เหล้าขาวมาร่วมทำพิธีกัน

3.โบสถ์คริสตจักรบ้านห้วยน้ำหนัก เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ในพื้นที่หมู่ 6 บ้านห้วยน้ำหนัก ใช้เป็นสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มชาวคริสต์ในชุมชน เช่น งานปีใหม่ คริสต์มาส และวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ เป็นต้น

4.สถานประกาศคริสเตียนห้วยกะวาน ในชุมชนบ้านห้วยกะวาน มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ จึงมีสถานประกาศคริสเตียนห้วยกะวาน เป็นสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนา หรือกิจกรรมต่าง ๆ ตามเทศกาล ประเพณีของชาวคริสต์

5.สถานประกาศคริสเตียนพุระกำ ในชุมชนบ้านพุระกำ มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ จึงมีสถานประกาศคริสเตียนห้วยกะวาน เป็นสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนา หรือกิจกรรมต่าง ๆ ตามเทศกาล ประเพณีของชาวคริสต์

6.สำนักสงฆ์ห้วยน้ำหนัก ในพื้นที่บ้านห้วยน้ำหนัก ไม่มีวัดตั้งอยู่ มีสำนักสงฆ์ 1 แห่งในพื้นที่ คือสำนักสงฆ์ห้วยน้ำหนัก ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานวันสำคัญทางศาสนา จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชาวบ้าน เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่

7.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยน้ำหนัก และศูนย์พัฒนาเด็กบ้านห้วยผาก ในพื้นที่บ้านห้วยน้ำหนักจะมีเพียงศูนย์เด็กเล็กในความรับผิดชอบของ อบต.ตะนาวศรี เป็นสถานที่อบรมสั่งสอนให้ความรู้แก่เด็กก่อนวัยเรียน เมื่อถึงวัยเข้าเรียนระดับประถมศึกษา ชาวบ้านต้องส่งบุตรหลานไปเรียนนอกพื้นที่ ไม่มีสถานศึกษาระดับประถมศึกษาในพื้นที่ 

8.ศูนย์ศิลปาชีพ โครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นศูนย์ฝึกอาชีพ โดยมูลนิธิศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ 9) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองทัพบก จังหวัดราชบุรี และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ทำโครงการศิลปาชีพขึ้นในพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง เพื่อให้ราษฎรมีอาชีพเสริม หลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่และเพื่อลดการล่าสัตว์ การบุกรุกพื้นที่ป่า โดยมีจุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2536 ครั้งเสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยม่วง ได้ทรงมีพระราชเสาวนีย์ว่า พื้นที่แถบนี้น่าจะมีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าเพิ่มขึ้นเพื่อหาอาชีพเสริมให้กับราษฎรในพื้นที่หลังเก็บเกี่ยวพืชไร่

ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2540 จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหม บ้านหนองตาดั้ง ขึ้นเป็นหมู่บ้านแรก และต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมบ้านพุระกำขึ้น หลังจากนั้นจึงได้มีการจัดตั้งโรงทอผ้าขึ้นในศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่บ้านห้วยม่วง หมู่ 6 ขึ้นอีก เพื่อให้สมาชิกจากบ้านห้วยน้ำหนักและบ้านห้วยม่วง เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย โดยศูนย์ศิลปาชีพเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่มีพื้นที่ดำเนินงาน 524,816 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอของจังหวัดราชบุรี คือ อำเภอปากท่อ บ้านคา และสวนผึ้ง

ปัจจุบันมีสมาชิกศิลปาชีพในโครงการฯ ประมาณ 116 คน โดยมีกลุ่มงานศิลปาชีพที่สำคัญ คือ การทอผ้า การปักผ้า การจักสาน และการทำเครื่องปั้นดินเผา ผลของโครงการฯ กว่า 22 ปีที่ผ่านมาได้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรที่เข้าร่วมโครงการฯ จาก 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้วยม่วง หมู่ 3 บ้านห้วยน้ำหนัก บ้านหนองตาดั้ง และบ้านพุระกำ หมู่ 6 ทั้งนี้ราษฎรในกลุ่มนี้จะมีรายได้รวมเฉลี่ยเดือนละ 300,000 กว่าบาท โดยจะเป็นค่าแรง ขึ้นกับฝีมือและความยากง่ายของผลผลิต สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับราษฎรด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานงานศิลปาชีพ

9.โรงเรียนควายบ้านหนองตาดั้ง ชุมชนบ้านหนองตาดั้ง ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา มีประชากร 42 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นภูเขาสลับซับซ้อนของเทือกเขาตะนาวศรี ส่งผลทำให้การปลูกข้าวและพืชไร่ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร

หลังจากปี พ.ศ. 2539 ได้มีการจัดทำโครงการแหล่งผลิตอาหารและวนเกษตร เพื่อส่งเสริมอาชีพและเป็นแหล่งผลิตอาหาร ทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชาวบ้าน พร้อมกับการสร้างความสมดุลตามธรรมชาติ นอกจากนั้นยังได้ต่อยอดขยายโครงการจัดตั้งธนาคารควายและโรงเรียนควายขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ให้เป็นแหล่งเรียนรู้การทำนาบนพื้นที่ราบในหุบเขาและฝึกควายให้รู้จักทำงานและเพื่อให้เกิดความยั่งยืน หน่วยงานจังหวัดราชบุรีจึงได้บูรณาการร่วมกัน ในการส่งเสริมให้บ้านหนองตาดั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจได้เข้ามาสัมผัสธรรมชาติ สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าไปเที่ยวชม ร่วมกิจกรรมโรงเรียนควาย และวิถีชาวกะเหรี่ยง สามารถติดต่อได้ที่ นายสมบัติ วฤทธิกรกุล ผู้นำกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนวิถีธรรมชาติบ้านหนองตาดั้ง โทร. 09-0793-8307 หรือติดต่อสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี

ปัจจุบันมีควายทั้งหมด 119 ตัว (พ.ศ. 2561) เลี้ยงไว้เพื่อขยายพันธุ์ในโครงการจำนวน 51 ตัว ที่เหลืออีก 68 ตัว นำเข้าโครงการธนาคารควาย แบ่งให้ชาวบ้านจำนวน 42 ครัวเรือน โดยมีกติกาว่าจะต้องมาฝึกใช้ควายให้เป็น และหากเลี้ยงแล้วได้ลูกตัวเมีย ให้ส่งคืนเพื่อนำกลับมาต่อยอดโครงการ ส่วนถ้าเลี้ยงได้ "ลูกตัวผู้" ก็จะมอบให้กับผู้เลี้ยงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

บ้านห้วยน้ำหนักมีประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สืบเชื้อสายกะเหรี่ยงประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างสามัคคีปรองดองกัน และประชากรบางส่วนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย หรือไม่มีสถานะทางทะเบียน

ข้อมูลประชากรบ้านห้วยน้ำหนักหมู่ 6 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีจำนวนครัวเรือน 703 ครัวเรือน ประชากรรวม 3,808 คน  

สัญชาติไทย เพศชายจำนวน 1,026 คน และเพศหญิงจำนวน 989 คน รวมจำนวนประชากร 2,015 คน 

มิใช่สัญชาติไทย หรือบุคคลพื้นที่สูง เพศชายจำนวน 931 คน หญิง 862 คน รวม 1,793 คน (ข้อมูลสำนักงานสถิติจังหวัดราชบุรี ณ กรกฎาคม 2566)   

การนับถือศาสนา

ประชากรเชื้อสายกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ และนับถือศาสนาคริสต์ (นิกายโปรเตสแตนต์) และเป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงโพล่ง ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และนับถือศาสนาพุทธ

โพล่ง

ประชากรบ้านห้วยน้ำหนัก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ ปลูกพืชผักต่าง ๆ เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วแขก มะเขือ พริก มันสำปะหลัง ไม้ผล กล้วย พุทรา ทุเรียน มังคุด เงาะ และอาชีพรับจ้างทั่วไป ประชากรอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข สามัคคีปรองดองกันและชุมชนมีการรวมกลุ่มแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ คือ

  • กลุ่มแบบเป็นทางการ ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กลุ่ม อสม. กลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน กลุ่มหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) และกลุ่มหมู่บ้านป้องกันตนเองตามแนวชายแดน กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยน้ำหนัก กลุ่มศิลปาชีพ
  • กลุ่มไม่เป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มดับไฟป่า กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ

วิถีวัฒนธรรม

1.ประเพณีผูกแขนเรียกขวัญ กินข้าวห่อ วิถีชีวิตชาวบ้านห้วยน้ำหนัก จะมีประเพณีกินข้าวห่อจะจัดในเดือน 9 ของทุกปี แต่ละหมู่บ้านจะจัดขึ้นไม่ตรงกันทำให้ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงสามารถไปมาหาสู่ร่วมกิจกรรมกันได้ ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่า เดือน 9 หรือ "หล่าคอก" เป็นเดือนที่ไม่ดี เพราะบรรดาวิญญาณชั่วจะกิน "ขวัญ" ของคนที่เร่ร่อนไม่อยู่กับเนื้อกับตัวทำให้เจ้าของขวัญเจ็บป่วยได้ก่อนถึงวันงาน 3 วัน ชาวกะเหรี่ยงจะต้องเตรียมอุปกรณ์ เช่น ใบผาก ใบตอง และข้าวเหนียวและเริ่มห่อข้าวเหนียวห่อด้วยใบผากหรือใบตองแล้ว แช่น้ำทิ้งไว้ ในวันสุกดิบจะมีการต้มข้าวทั้งหมดให้เสร็จ พร้อมทั้งเคี่ยวน้ำกะทิและเตรียมอุปกรณ์เซ่นไหว้ในตอนหัวค่ำของวันนี้ จะมีการยิงปืน จุดประทัด เคาะแม่บันได ให้เกิดเสียงดังเพื่อเป็นขวัญที่อยู่ไกล ๆ ได้รับรู้และจะได้เดินทางกลับมาในคืนนี้ประตูหน้าต่างของทุกบ้านจะเปิดเอาไว้ เพื่อให้ขวัญที่เดินทางกลับมาเข้าบ้านได้ก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่จะมีการยิงปืน จุดประทัด เคาะแม่บันไดอีกครั้ง เพื่อเรียกขวัญที่อยู่ไกลบ้านยังเดินทางมาไม่ถึงให้รีบมา

จากนั้นผู้เฒ่าประจำบ้านจำนำเครื่องรับขวัญที่ประกอบด้วย ข้าวห่อครูหรือข้าวห่อพวง กล้วยน้ำว้า อ้อย ยอดดาวเรือง เทียน สร้อยเงิน กำไลเงินและด้ายแดง มาทำพิธีเรียกขวัญ โดยจะไล่ผู้อาวุโสสูงสุดและรองไปตามลำดับในครอบครัว ซึ่งช่วงนี้ลูกหลานที่ไปอยู่ที่อื่นจะได้รู้จักกันว่าใครคือ พี่ ป้า น้า อา หรือน้อง ทำให้เกิดความรักความเกรงใจและความสามัคคีในกลุ่ม

2.ประเพณีเกี่ยวกับการปลูกข้าวไร่ ที่บ้านห้วยน้ำหนัก หมู่ 6 ยังมีการทำพิธีปลูกข้าวไร่ ตามแบบชาวกะเหรี่ยง และที่กลุ่มบ้านพุระกำ ยังมีการจัดพิธีการนำข้าวใหม่ขึ้นยุ้ง (วี้เถาะบื้อ) เป็นหนึ่งในพิธีตามวงจรวิถีการปลูกข้าวไร่ของชาวกะเหรี่ยง

วิถีทางเศรษฐกิจ ประชากรบ้านห้วยน้ำหนัก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และรับจ้างทั่วไป โดยบางส่วนมีรายได้จากการเข้าไปทำงานในโครงการศิลปาชีพฯ โดยจะมีรายได้ประจำจากงานหัตถกรรมที่แต่ละคนได้เรียนรู้ฝึกฝนจากวิทยากรที่ทางศูนย์จัดหามาสอน ฝึกอาชีพการทอผ้า การปักผ้า การจักสาน และนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ส่งไปขายในโครงการศิลปาชีพฯ ต่อไป

ภัยทางธรรมชาติ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นชุมชนบ้านห้วยแห้ง ในแต่ละปี ได้แก่

  • ไฟป่า เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน เดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี จากความแห้งแล้งของใบไม้ ต้นไม้ และบางส่วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ ชุมชนมีกลุ่มจิตอาสาช่วยกันเฝ้าระวัง ดับไฟป่า มีการทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลาม
  • ภัยแล้ง เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน เดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี แม้ว่าชุมชนจะมีลำภาชีไหลผ่าน แต่ในช่วงหน้าแล้งชาวบ้านก็ขาดน้ำกินน้ำใช้ บางครั้งแต่ละครัวเรือนต้องซื้อน้ำจากภายนอกชุมชนมาใช้สำหรับกิจวัตรประจำวัน

1.นายจะริ๊ง ชัยวัฒน์พิศาล เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2482 อาศัยอยู่ หมู่ที่ 6 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้มีภูมิปัญญาด้านการตีเม็ดเงิน เครื่องประดับที่ชาวกะเหรี่ยงนิยมสวมใส่กัน เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงโพล่ง เดิมอาศัยอยู่บ้านบ่อ อำเภอสวนผึ้ง และเห็นการตีเม็ดเงินจากที่บ้านโป่งกระทิง อำเภอบ้านคา จึงซื้อเครื่องมือมาลองทำและทำเป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันยังคงตีเม็ดเงิน และมีการประยุกต์ทำเครื่องประดับต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วยังมีความรู้เรื่องงานจักสาน มีการถ่ายทอดให้ลูกหลาน และนายจะริ๊ง ยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน เป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชน

2.นางเกสร เณยา เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2487 อาศัยอยู่ หมู่ที่ 6 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้มีภูมิปัญญาด้านหมอตำแย ทำคลอดให้แก่คนในชุมชน เนื่องด้วยในพื้นที่มีความห่างไกลสถานพยาบาล ในอดีตชาวบ้านจึงมักทำการคลอดลูกกันเอง

3.นางสุดทอง คำพุฒ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2499 สัญชาติไทย อาศัยอยู่ หมู่ที่ 6 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงโพล่ง มีความรู้ภูมิปัญญาด้านเพลงร้องกะเหรี่ยง โดยจะร้องควบคู่กับการเป่าแคน เรียนรู้มาจากพี่น้อง เพื่อนฝูง

4.นางดาวัล จ่าป่วย เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2513 อายุ 53 ปี สัญชาติไทย อาศัยอยู่ หมู่ที่ 6 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงโพล่ง มีความรู้ภูมิปัญญาด้านการทอผ้ากะเหรี่ยง ทำเสื้อ ผ้าถุง ทำย่าม เรียนรู้มาจากบรรพบุรุษ และถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจ เช่น กลุ่มทอผ้าที่บ้านห้วยแห้ง ก็เป็นผู้ไปถ่ายทอดการทอผ้าให้ และยังเป็นผู้มีความรู้ด้านงานจักสานไม้ไผ่อีกด้วย

ในพื้นที่บ้านห้วยน้ำหนัก ยังมีผู้รู้ ผู้นำ และภูมิปัญญาอีกหลากหลายด้าน ดังนี้

ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น แพทย์แผนไทย/สมุนไพร/หมอพื้นบ้าน 

1.นางน้ำอ้อย ทองหยด มีความสามารถด้านหมอตำแย

2.นางเกสร เณยา มีความสามารถด้านหมอตำแย

3.นายทิบะ ยาเส็ง มีความสามารถด้านหมอเป่ารักษาโรค

4.นายกระเท่ ซวยอู มีความสามารถด้านหมองู (สัตว์มีพิษต่าง ๆ ) 

ผู้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม/ประเพณีท้องถิ่น

1.นางสาวพรรัมภา กำเนิดเนตร มีความสามารถด้านรำถักเชือกกะเหรี่ยง/รำพม่า

2.นายกะมิ ทุบะ มีความสามารถด้าน รำถักเชือกกะเหรี่ยง/รำพม่า

3.นายสมัย พุเบาะ มีความสามารถด้านดนตรีพื้นเมือง

4.นายกีโด้ อีอื้อ มีความสามารถด้านดนตรีพื้นเมือง

5.นายจะริ๊ง ชัยวัฒน์พิศาล มีความสามารถด้านประเพณีกินข้าวห่อ

6.นางเกสร เณยา มีความสามารถด้านประเพณีกินข้าวห่อ

งานฝีมือต่าง ๆ เช่น ช่างไม้ ช่างปั้น ช่างแกะ หัตถกรรม จักสาน ทอผ้ากะเหรี่ยง

1.นายจะริ๊ง ชัยวัฒน์พิศาล มีความสามารถด้านเม็ดเงินกะเหรี่ยง

2.นายประเสริฐ จ่าโท มีความสามารถด้านเม็ดเงินกะเหรี่ยง

3.นางลัดดาวัล จ่าป่วย มีความสามารถด้านทอผ้า/จักสาน

4.นางกัลยา จ่าป่วย มีความสามารถด้านจักสาน

ผู้มีความรู้ด้านการเกษตร เช่น การเพาะปลูก ขยายพันธุ์ การปรับใช้เทคโนโลยี เป็นต้น

1.นางสายพิณ ประคองวงษ์ มีความสามารถด้านการเพาะปลูก/ผักสวนครัว

  • ทุนวัฒนธรรม ในพื้นที่บ้านห้วยน้ำหนัก มีการดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงสั่งสมสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่น การทอผ้า การไหว้ต้นไม้  ผูกแขนเรียกขวัญ กินข้าวห่อ ตีเม็ดเงิน การตีผึ้ง การละเล่นสะบ้า การร้องเพลงกะเหรี่ยง เป็นต้น 
  • ทุนทางธรรมชาติ มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีพรรณไม้ป่าที่หลากหลาย เป็นแหล่งให้ได้ศึกษาเรียนรู้พรรณไม้หลากหลาย แหล่งศึกษาธรรมชาติที่สำคัญ แต่ด้วยในพื้นที่การเดินทางยังไม่สะดวก ถนนบางช่วงยังเป็นดินลูกรังต้องเดินทางขึ้นลงเขา ยานพาหนะที่จะเข้าพื้นที่ต้องมีความพร้อม จึงมีการทำที่พักลานกางเต้นท์ในพื้นที่น้อยกว่าในพื้นที่อื่นของตำบลตะนาวศรี 

ภาษาที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน ก็ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง และจะสื่อสารเป็นภาษากะเหรี่ยงในครอบครัวในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเหมือนกัน จะไม่อยากพูดภาษากะเหรี่ยงกับบุคคลภายนอกครอบครัว ทำให้คนที่พูดภาษากะเหรี่ยงได้ในชุมชนมีจำนวนน้อยลง


  • พ.ศ. 2536 ครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยม่วง ได้ทรงมีพระราชเสาวนีย์ว่า จัดตั้งกลุ่มทอผ้าเพิ่มขึ้นเพื่อหาอาชีพเสริมให้กับราษฎรในพื้นที่หลังเก็บเกี่ยวพืชไร่
  • พ.ศ. 2539 ได้มีการจัดทำโครงการแหล่งผลิตอาหารและวนเกษตร ณ บ้านหนองตาดั้ง เพื่อส่งเสริมอาชีพและเป็นแหล่งผลิตอาหาร ทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชาวบ้าน พร้อมกับการสร้างความสมดุลตามธรรมชาติ
  • พ.ศ. 2540 จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหม บ้านหนองตาดั้ง ขึ้นเป็นหมู่บ้านแรก และต่อมามีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมบ้านพุระกำขึ้น
  • พ.ศ. 2542 จึงได้แยกออกจากหมู่ที่ 3 บ้านห้วยม่วงเป็นหมู่ที่ 6 โดยใช้ชื่อว่าบ้านห้วยน้ำหนัก
  • พ.ศ. 2548 จัดตั้งธนาคารควายและโรงเรียนควายขึ้นให้เป็นแหล่งเรียนรู้การทำนาบนพื้นที่ราบในหุบเขาและฝึกควายให้รู้จักทำงานและเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และการส่งเสริมให้บ้านหนองตาดั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ในพื้นที่หมู่ 6 จะมีกลุ่มกะเหรี่ยงที่เรียกตัวเองว่า "ปกากะญอ" อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมากทั้งที่ได้สัญชาติไทย และเป็นบุคคลพื้นที่สูง ซึ่งมากกว่ากะเหรี่ยงโพล่ง ที่เป็นกลุ่มดั้งเดิม และที่กลุ่มบ้านห้วยน้ำหนัก กลุ่มบ้านพุระกำ และกลุ่มบ้านหนองตาดั้ง จะมีโรงฝึกของศูนย์ศิลปาชีพ เป็นสถานที่ให้ความรู้เรื่องอาชีพแก่ชาวบ้าน และให้ชาวบ้านที่ร่วมเป็นสมาชิกมีรายได้จากการมารับจ้างทอผ้า ปักผ้า หรือจักสาน ซึ่งจะมีการจ่ายเงินเป็นรายวัน ๆ ละ 150 บาท ให้คนที่มาทำงานและเมื่อมีทำเสร็จเป็นชิ้นผลิตภัณฑ์แล้ว ศูนย์จะส่งไปจำหน่าย ผู้ทำก็จะได้รับส่วนแบ่งอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ในการดำรงชีพ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าโครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นั้นเป็นโครงการที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ เป็นโครงการที่ช่วยให้อาชีพแก่ประชาชน และช่วยพัฒนาชุมชนในอีกหลาย ๆ ด้าน ชาวบ้านจึงมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ รักและเทิดทูลสถาบันเป็นอย่างมาก

วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). ตนราชบุรี. จังหวัดราชบุรี : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี.

องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570) องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี (แผนการดำเนินงาน). ราชบุรี : องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี

มติชนออนไลน์. (2562, สิงหาคม 12). โครงการศูนย์ศิลปาชีพ. มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/

มติชนออนไลน์. (2561, กันยายน 7). โรงเรียนควาย. มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/

บ้านพุระกำ. (2567). ไหว้ศาลพ่อปู่เขาแดนตะนาวศรี. Facebook. https://www.facebook.com/PHURAKAM

นางดาวัล จ่าป่วย, การสื่อสารส่วนบุคคล, 27 มิ.ย. 2566

นายจะริ๊ง ชัยวัฒน์พิศาล, การสื่อสารส่วนบุคคล, 27 มิ.ย. 2566

นางเกสร เณยา, การสื่อสารส่วนบุคคล, 27 มิ.ย. 2566

นางสุดทอง คำพุฒ, การสื่อสารส่วนบุคคล, 27 มิ.ย. 2566

นางนงนุช มีประยุ, การสื่อสารส่วนบุคคล, 27 มิ.ย. 2566

นางสาววันพุธ กัวฟู่, การสื่อสารส่วนบุคคล, 27 มิ.ย. 2566

นายแบฟ้อ จอกาย, การสื่อสารส่วนบุคคล, 27 มิ.ย. 2566

นายวงศกร ธีรกามะ, การสื่อสารส่วนบุคคล, 27 มิ.ย. 2566

นางสาววิลาวรรณ ศักดิ์ชัย, การสื่อสารส่วนบุคคล, 27 มิ.ย. 2566

นางสาวสิริวิมล ศิรินิติกานต์, การสื่อสารส่วนบุคคล, 27 มิ.ย. 2566

นางสาวน้ำอ้อย พุท้อแท้, การสื่อสารส่วนบุคคล, 27 มิ.ย. 2566

อบต.ตะนาวศรี โทร. 0-3239-5426