ตามรอยพ่อ พอเพียง ลดเสี่ยง ลดโรค สร้างชุมชนน่าอยู่
ในอดีตวัดโรงวัวนั้น มิได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของหมู่บ้านในปัจจุบัน แต่อยู่ในบริเวณบ้านต้นแก้ว หมู่ที่ 4 ตำบลสันกลาง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2509-2511 ทางราชการได้มีการริเริ่มโครงการสร้างคลองชลประทานขึ้น ประกอบกับสภาพพื้นที่เดิมของหมู่บ้านเป็นที่ลุ่ม จึงทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง ท่านพระครูชุม อุตมปัญโญ (ในสมัยนั้น) จึงได้ย้ายวัดโรงวัวขึ้นมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันหรือชาวบ้านเรียกว่า “บ้านห้วยกู่” ทำให้บ้านห้วยกู่นี้เองต่อมากลายเป็นตำแหน่งของบ้านโรงวัว หมู่ที่ 1
ในปี พ.ศ. 2525 ในสมัยของกำนันสุทัศน์ หน่อตุ่น เนื่องจากความเจริญเข้ามามากขึ้น มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชาชนในตำบลสันกลาง ทำให้บริหารจัดการได้ไม่ทั่วถึง จึงได้มีการแยกตำบลใหม่ออกจากตำบลสันกลาง กลายเป็นตำบลน้ำบ่อหลวง ซึ่งบ้านโรงวัว หมู่ที่ 1 ก็ถูกจัดให้อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลน้ำบ่อหลวงด้วยเช่นกัน
ลักษณะภูมิประเทศ
หมู่บ้านโรงวัว หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีอาณาเขตกว้างขวางมาก มีเนื้อที่ 2,632 ไร่ เป็นที่ราบเชิงเขาตั้งอยู่สองฝั่งคลองชลประทานแม่แตง ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมด้านล่างคลองทำนาปลูกข้าว ส่วนฝั่งด้านบนทำสวนลำไย นอกจากนี้ก็ยังมีอาชีพรับจ้าง อาชีพแกะสลักไม้ และเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม
- ทิศเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับ เขตป่าสงวนแห่งชาติ
- ทิศใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับ บ้านต้นแก้วและบ้านหนองหวาย
- ทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับ บ้านห้วยส้ม
- ทิศตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับ บ้านน้ำบ่อหลวง
ข้อมูลจากการเดินสำรวจชุมชน
บ้านโรงวัว หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มจากทางเข้าหมู่บ้านโรงวัว หมู่ที่ 1 พื้นที่ทางทิศเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ จากถนนเลี่ยงเมืองสันป่าตอง-หางดง หมายเลข 3035 พบวัดโรงวัวอยู่ทางซ้ายมือเข้าไปในซอยด้านขวาจะเป็นศาลาอเนกประสงค์ตรงไปประมาณ 100 เมตร พบบ้านชั้นเดียวติดต่อกัน 3 หลัง ซึ่งเป็นเครือญาติเดียวกัน ถัดมาทางขวาเป็นซอย 8 บ้านโรงวัว ถนนเป็นทางลูกรัง ออกมาจากซอย 8 ตรงไปประมาณ 50 เมตรด้านซ้ายมือจะพบ หจก.โจ้ 39 ช็อป (2561) ตรงข้ามจะเป็นซอย 10 เข้าไปในซอยประมาณ 20 เมตร เป็นถนนลูกรัง จะพบบ้านหลังแรก และบ้านหลังถัดไป ออกมาจากซอย 10 ทางด้านขวามือจะเป็นร้านขายของชำ บ้านหลังถัดไปเป็นเครือญาติเดียวกัน ออกจากซอยมาจะพบบ้านเลขที่ 66/4 มีสมาชิกทั้งหมด 4 คน ตรงด้านซ้ายมือด้านตรงข้ามจะเป็นสวนมะขาม ออกจากซอยมากลับมาถนนเส้นหลักประมาณ 50 เมตรพบบ้านเลขที่ 211/1 มีสมาชิกทั้งหมด 3 คน อยู่ด้านซ้ายมือเยื้องไปด้านขวาพบบ้านเลขที่ 216/1 มีสมาชิกทั้งหมด 2 คน
ถัดไปอีกหลังจะพบบ้านเลขที่ 216 มีสมาชิกทั้งหมด 4 คน เข้าไปประมาณ 100 เมตร จะพบสี่แยกวัดอุทิศก่อนถึงแยกวัดอุทิศจะพบบ้านเลขที่ 221 มีสมาชิกทั้งหมด 3 คน ออกจากซอยพบทางแยกให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 100 เมตร ให้เลี้ยวซ้าย เข้ามาสุดซอยจะพบบ้านเลขที่ 253/3 มีสมาชิกทั้งหมด 2 คน ด้านขวามือกลับออกจากซอยจะเจอแยกให้ตรงไปประมาณ 150 เมตร เลี้ยวขวาเข้ามาพบบ้านเลขที่ 221/1 อยู่ด้านซ้ายมือ มีสมาชิกทั้งหมด 5 คน ถัดไปจะพบบ่อน้ำกลางถนน ถัดไปอีก 2 หลัง จะเจอบ้านเลขที่ 222 มีสมาชิกทั้งหมด 4 คน ด้านซ้ายมือ บ้านเลขที่ 222/3 มีสมาชิกทั้งหมด 5 คน
หมู่ที่ 1 บ้านโรงวัว ถูกตัดแบ่งด้วยจากถนนเลี่ยงเมืองสันป่าตอง-หางดง หมายเลข 3035 และซอยที่ 1 จะอยู่ทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับ บ้านห้วยส้ม เริ่มต้นจากศาลา SML เดินมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก 50 เมตร เลี้ยวขวาเข้าซอย 1 ทางด้านซ้ายมือ จะเจอร้านแกะดำฉำฉ่า เดินมุ่งหน้าตรงเข้าไปทางทิศเหนือประมาณ 30 เมตร จะเจอบ้านเลขที่ 73/3 อยู่ทางด้านซ้ายมือ ซึ่งเป็น อสม. เดินมุ่งหน้าตรงต่อไป อีกประมาณ 50 เมตร จะเจอสี่เเยก ซึ่งเป็นถนนคอนกรีต-ถนนลูกรัง ซึ่งทางซ้ายมือสามารถมาทะลุกับซอย 2 ได้จากนั้นเลี้ยวขวาทางถนนลูกรังมุ่งตรงไปทางทิศตะวันออกประมาณ 50 เมตร จะเจอบ้านเลขที่ 77 อยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งเป็นบ้านของ อสม. เดินมาทางทิศตะวันตกประมาณ 20 เมตรเลี้ยวเข้าซอยด้านซ้ายมือจะเจอบ้านร้างทางด้านซ้ายมือเดินตรงเข้ามาประมาณ 20 เมตร จะเจอบ้านเลขที่ 60/1อยู่ทางขวามือ ซึ่งเป็นบ้านของ อสม. ทางหน้าของบ้านตรงกับบ้านเลขที่ 73 ซึ่งเป็นบ้านของ อสม. จากนั้นเดินทะลุผ่านสวนลำไย ทางด้านขวาของบ้านประมาณ 20 เมตร ปากซอย 2 มีร้านก๋วยเตี๋ยวตรงข้ามกับซอย เป็นบ้านเลขที่ 54 จากนั้นเดินข้ามถนนเยื้องไปทางทิศตะวันออก 20 เมตร เป็นบ้านเลขที่ 79/1 เดินกลับมาทางทิศตะวันตก บ้านหลังแรกขวามือของซอย 2 ชื่อร้านค้าแม่ลองบ้านเลขที่ 61/2
จากนั้นเดินเข้าซอย 2 ผ่านสวนผสมด้านซ้ายมือตรงไปประมาณ 80 เมตร เจอซอยถนนลูกรังส่วนบุคคลเล็ก ๆ อยู่ทางด้านขวามือ เดินเข้าซอยผ่านบ้านสองหลังแรกเจอบ้านเลขที่ 62/1 ซึ่งอยู่ติดกับสวนลำไย ตรงกันข้ามเยื้องไปทางทิศเหนือของบ้านจะเป็นบ้านเลขที่ 62 ซึ่งอยู่ในซอยถนนลูกรังที่เชื่อมทะลุกับซอย 1 ได้ จากนั้นเดินย้อนกลับมาทางทิศตะวันตก ประมาณ 20 เมตร จะเจอสี่เเยก ให้เดินข้ามสี่แยกตรงไปทางถนนลูกรัง 20 เมตร เจอบ้านเลขที่ 58 เป็นบ้านผู้สูงอายุและบ้านถัดไปทางด้านขวามือเป็นบ้านเลขที่ 52/4 และบ้านฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านเลขที่ 52 ซึ่งเป็นผู้สูงอายุอาศัยอยู่ (มารดา อสม.)
จากนั้นเดินย้อนกลับออกจากซอย 2 และเลี้ยวขวาเดินตรงไปผ่านร้านรับซื้อของเก่าอยู่ด้านขวามือ เดินไปประมาณ 500 เมตร เจอบ้านเลขที่ 24/1 อยู่ทางด้านขวามือและด้านหลังของบ้านในรั้วเดียวกันเป็นบ้านเลขที่ 274 ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับซอย 6 มุ่งหน้าเดินต่อไปทางทิศตะวันตก ถัดมาจะเป็นซอย 3 เริ่มต้นจาก บ้านเลขที่ 17/4 มีสมาชิกทั้งหมด 3 คน ออกจากบ้านมาเลี้ยวขวา ประมาณ 50 เมตร ด้านซ้ายมือจะเจอบ้านเลขที่ 230 มีสมาชิกจำนวน 1 คน บ้านหลังถัดไปด้านในบ้านเลขที่ 23/4 มีสมาชิกจำนวน 2 คน ออกจากบ้านเลี้ยวขวาเข้าซอย 3 ไปประมาณ 150 เมตร จะเจอซอยเล็ก ๆ ด้านซ้ายมือเลี้ยวเข้าซอยเดินไปประมาณ 100 เมตร ด้านขวาจะเจอบ้านเลขที่ 92 มีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 5 คน ปฏิเสธโรคประจำตัว เดินต่อไปบนถนนเส้นเดียวกันไปอีก 50 เมตร ด้านขวาจะเจอบ้านเลขที่ 21/1 มีสมาชิกจำนวน 3 คน เดินทะลุเข้าไปเป็นลานพื้นที่บ้านข้าง ๆ จะเจอบ้านเลขที่ 29 มีสมาชิกจำนวน 4 คน เดินทะลุต่อไปอีก 10 เมตร ในบริเวณพื้นที่บ้านเดียวกันจะเจอบ้านเลขที่ 26 เป็นบ้านปูนชั้นเดียว มีสมาชิกจำนวน 3 คน
จากนั้นเดินย้อนกลับออกมาทางถนนออกจากซอยแล้วให้เลี้ยวซ้ายเดินต่อไปอีก 50 เมตร ให้เลี้ยวขวาเป็นทางเดินเท้าเล็ก ๆ จะสามารถเข้าบ้านเลขที่ 34 มีสมาชิกจำนวน 3 คน แล้วเดินไปยังถนนเส้นหลักเดินเรียบทางถนนเส้นหลักประมาณ 30 เมตร ให้เลี้ยวซ้ายเข้าบ้านเลขที่ 59/2 มีสมาชิกจำนวน 2 คน มี 1 คน ในบริเวณลานบ้านเดียวกันพบบ้านเลขที่ 59 มีสมาชิกจำนวน 2 คน ละแวกบ้านเป็นญาติ ๆ อาศัยอยู่ใกล้กัน เดินเลียบทางถนนไปเรื่อย ๆ ประมาณ 50 เมตร จะเจอบ้านเลขที่ 59/1 มีสมาชิกจำนวน 2 คน หลังจากนั้นเดินย้อนขึ้นบนถนนเส้นหลักเลียบทางเดินมาเรื่อย ๆ จนถึงซอย 3 เลี้ยวขวาเข้าซอย 3 เดินไปจนสุดซอยให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 100 เมตร เจอบ้านเลขที่ 192 มีสมาชิกจำนวน 3 คน ถัดมาจะเป็นซอย 4 ทางเข้าซอยจะมีป้ายซอย 4 มีคูน้ำตัดผ่านบริเวณหน้าซอยหันหน้าเข้าไปในซอยซ้ายมือจะเป็นสวนลำไย ด้านขวามือจะเป็นบ้านเลขที่ 85 ซึ่งเป็นร้านอาหาร ถัดมาจะเป็นบ้านเลขที่ 85/1
ถัดจากนั้นจะเป็นบ้านเลขที่ 155 ซึ่งตรงข้ามกับบ้านเลขที่ 155 จะมีบ้านร้างอยู่จากนั้นถัดไป เป็นบ้านเลขที่ 152 ถัดจากบ้าน 152 เป็นร้านค้าคือ บ้านเลขที่ 81/1 ตรงข้ามกับบ้านเลขที่ 81/1 เป็นบ้านเลขที่ 6 และถัดจากบ้านเลขที่ 56 ขึ้นไปเป็นบ้านเลขที่ 201/1 ถัดจากบ้านเลขที่ 201/1 เป็นบ้านเลขที่ 201 บริเวณหน้าบ้านเป็นซุ้มขายกาแฟ ซึ่งในซอย 4 มีบ้านที่มีคนอาศัยอยู่ทั้งหมด 8 หลังคาเรือน ลึกเข้าไปในซอยจนสุดซอยจะทะลุถนนเลี่ยงเมืองสันป่าตอง-หางดง หมายเลข 3035 เดินเลี้ยวซ้ายประมาณ 100 เมตร ตามถนนหมายเลข 3035 ด้านซ้ายมือจะเป็นซอย 5 ปากซอยติดถนน ขวามือจะเป็นห้องแถวมีร้านอาหารตามสั่ง ร้านขายของชำ ซ้ายมือเป็นบ้านเลขที่ 181/3 เป็นบ้านปูนชั้นเดียว อาศัยอยู่ด้วยกัน 3 คน หน้าบ้านเคยเปิดเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว หลังจากที่มีการพัฒนาถนน ก็ไม่ได้เปิดขาย เนื่องจากมีฝุ่นมาก ทำให้ไม่สามารถเปิดร้านได้
เดินลงมาตามซอย ถัดมาเป็นบ้านเลขที่ 181/2 ลักษณะบ้านเป็นบ้านปูนชั้นเดียว อาศัยอยู่ด้วยกัน 5 คน เดินถัดมาเป็นบ้านเลขที่ 236 เป็นบ้านปูนชั้นเดียว 2 หลัง อยู่ในบริเวณบ้านเดียวกัน อาศัยอยู่ร่วมกัน 4 คน ตรงข้ามขวามือเป็นพื้นที่ว่างเปล่า เดินตามซอยลงมา ซ้ายมือจะพบร้านค้าขายของชำเป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ ซึ่งเป็นบ้านประธาน อสม. ซึ่งอาศัยอยู่ด้วยกัน 3 คน เยื้องไปขวามือของบ้านประธาน อสม. เป็นทางเดินเล็ก ๆ ป่ารก เข้าไปประมาณ 10 เมตร พบบ้านเลขที่ 11/2 บ้านปูนชั้นเดียวเล็ก ๆ อาศัยอยู่ด้วยกัน 2 คน สามีภรรยา ลูกไปทำงานต่างจังหวัด เดินถัดมาอีก 10 เมตร พบบ้านเลขที่ 248 อาศัยอยู่ด้วยกัน 3 คน จากนั้นเดินย้อนกลับออกมาทางถนนเส้นเดิมในซอย 20 เมตร ด้านซ้ายมือพบบ้านเดี่ยวสองชั้น หลังบ้านติดทุ่งนา อาศัยอยู่ 2 คน
ผู้คนในชุมชนโดยส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ มีอัธยาศัยดี เป็นกันเอง เข้มแข็ง และสมัครสมานสามัคคีภายใต้การดูแลของผู้นำชุมชน ผู้คนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ประชาชนในชุมชนมีการอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ และแตกออกเป็นบ้านเล็ก ๆ 2-3 หลัง อยู่ในรั้วเดียวกัน ประชาชนในชุมชนมีการไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันโดยเฉพาะคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นญาติ คนรู้จัก คนสนิทกัน สังเกตได้จากการที่ไปสำรวจจะพบว่ามีกลุ่มคนมาพูดคุยกัน ชุมชนมีลักษณะเงียบสงบและร่มรื่น มีวัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนและเป็นสถานที่ทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชน เช่น การประชุมสหกรณ์ ชมรมผู้สูงอายุ และการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ด้านอุปโภคบริโภคของชุมชนจะใช้น้ำประปาของหมู่บ้าน เพื่ออุปโภคบริโภค และ มีการกำจัดขยะ โดยมีรถเทศบาลมาเก็บ ถ้าเป็นใบไม้แห้งก็จะเผาบ้าง รวมถึงมีศาลาอเนกประสงค์ของหมู่บ้านในการประชุม ซึ่งจะจัดขึ้นทุกอาทิตย์ของต้นเดือน เพื่อปรึกษาหารือร่วมกันภายในชุมชนบ้านโรงวัว เมื่อผู้คนในชุมชนมีปัญหาจะมีที่พึ่ง คือ ผู้ใหญ่บ้าน
โดยภาพรวมของหมู่บ้านโรงวัว หมู่ที่ 1 เป็นชุมชนที่มีขนาดกว้างใหญ่พอสมควร เป็นลักษณะของชุมชนกึ่งชนบท ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มีทั้งคนในถิ่นและต่างถิ่นผสมผสานกันไป แต่ทุกคนก็มีความเป็นชุมชนเดียวกันภายใต้การปกครองดูแลของผู้ใหญ่ กำนัน บนวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่ร่วมกันอย่างสงบ และช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามสมควร รวมทั้งคนในชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนโดยรวมในระดับดี
ข้อมูลประชากร
จำนวนครัวเรือน จำนวน 539 หลังคาเรือน ประชากรทั้งสิ้น จำนวน 997 คน แบ่งเป็นประชากรชาย จำนวน 482 คน และประชากรหญิง จำนวน 515 คน
โดยภายในชุมชนประกอบด้วยเก่าแก่ ดังนี้
- ตระกูล “สุรินทร์” เป็นตระกูลที่เก่าแก่และเป็นตระกูลใหญ่ที่มีมาแต่เดิม โดยนายเสาร์และนางป้อได้สมรสกันอาศัยอยู่บ้านโรงวัว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ มีอาชีพทำนา ปัจจุบันทั้งสองท่านได้เสียชีวิตแล้ว ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 2 คน
- ตระกูล “ ชื่นรินทร์ ” เป็นต้นตระกูลดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลน้ำบ่อหลวง พ่ออุ้ยดำ ชื่นรินทร์ ได้สมรสกับแม่อุ้ยทา ชื่นรินทร์ มีบุตรชายด้วยกัน 2 คน คือ นายจม ชื่นรินทร์ และนายเขียว ชื่นรินทร์ ปัจจุบันพ่ออุ้ยดำ และแม่อุ้ยทา ชื่นรินทร์ ทั้งคู่ได้เสียชีวิตแล้วด้วยโรคชรา
- ตระกูล “คำไชยเทพ” ต้นตระกูลมาจากจังหวัดลำพูน นามสกุลเดิม เป็น “ไชยเทพ” แต่มีคนมาเติมให้เป็นคำไชยเทพตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่บ้านน้ำบ่อหลวง ซึ่งต้นตระกูลคือ หม่อนใจ คำไชยเทพ แต่งงานกับหม่อนนำ มีเครือญาติขยายใหญ่ เนื่องจากหม่อนใจในสมัยนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้านและต่อมาเป็นกำนัน ทำให้เป็นที่รู้จักและผู้คนในหมู่บ้านต่างเคารพนับถือ หม่อนใจ คำไชยเทพ แต่งงานกับหม่อนนำ มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ อุ้ยเป็ง คำไชยเทพ อุ้ยผัด คำไชยเทพ อุ้ยสุข คำไชยเทพ และอุ้ยคำ คำไชยเทพ
อาชีพหลักของประชากรในหมู่บ้านโรงวัว คือ เกษตรกรรม ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป อาชีพเสริม ได้แก่ การแกะสลัก เลี้ยงสัตว์ และเย็บผ้า
บ้านโรงวัว มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ หรือ ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งมีทั้งลักษณะการรวมกลุ่มทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
- คณะกรรมการหมู่บ้าน
- กองทุนเงินล้าน
- ชมรมผู้สูงอายุ
- กลุ่ม อสม.
- กองทุนประปาหมู่บ้าน
- กองทุนกลุ่มแกะสลัก
- สมาคมฌาปนกิจ
- กลุ่มสตรีแม่บ้าน
- ชมรมปั่นจักยาน
ด้านการเมืองการปกครอง บ้านโรงวัว หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นอยู่กับตำบลน้ำบ่อหลวง โดยมี นางพรทิพย์ ตาสาย เป็นกำนันตำบลน้ำบ่อหลวง ส่วนบ้านโรงวัวมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำชุมชน และมีคณะกรรมการ
จากการลงศึกษาชุมชนพบว่า ชาวบ้านโรงวัวส่วนใหญ่มีกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การปลูกถั่วเหลือง ซึ่งจะปลูกในเดือนมกราคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม การปลูกข้าวจะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ข้าวนาปลังจะปลูกกัน 2 ช่วง ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายนในช่วงแรก และช่วงที่ 2 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนตุลาคม และชนิดที่ 2 คือ ข้าวนาปีจะปลูกในเดือนสิงหาคมสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวในเดือนในเดือนธันวาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยนอกฤดูในเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันใกล้เคียงกัน กิจกรรมบางอย่างเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี เช่น รับจ้างทั่วไป การแกะสลักไม้ เป็นต้น ซึ่งการทำอาชีพเหล่านี้เป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมของชาวบ้านโรงวัว
ส่วนทางด้านวัฒนธรรมชาวบ้านจะนิยมทำกิจกรรมในช่วงเวลาที่เว้นว่างจากการทำงานต่าง ๆ เช่น ประเพณีตากข้าวใหม่ ยี่เป็ง จะจัดขึ้นในเดือนมกราคม ประเพณีปอยหลวงจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม และประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์, สรงน้ำพระ และประเพณีสืบชะตาหมู่บ้านจะทำในช่วงของเดือนเมษายน ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าที่จะทำในช่วงเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม ประเพณีตานก๋วยฉลากจัดขึ้นในเดือนกันยายน, ประเพณีประกวดบั้งไฟดอกจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนและมีประเพณีที่สามารถทำได้ตลอดทั้งปีในช่วงเวลาที่ว่างจากการทำงานต่าง ๆ เช่น สืบชะตาและทรงเจ้าเข้าทรงจะทำได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่ทาง รพ.สต. น้ำบ่อหลวงได้จัดขึ้น เช่น การรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกจะทำในช่วงของเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงต่อสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป จะทำในเดือนธันวาคม, การคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่คัดกรองตลอดทั้งปี แต่ต้องเดินทางมาที่ รพ.สต.น้ำบ่อหลวงแต่ทาง รพ.สต.น้ำบ่อหลวงจะออกหน่วยคัดกรองในทุกสัปดาห์ที่สองของทุกเดือน
1. นายสุเมธ กิ่วคำ ผู้ใหญ่บ้าน
ผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ได้ให้ความช่วยเหลือชุมชนต่าง ๆ เช่น ได้ให้การสนับสนุนโรงทานในพิธีทำบุญฉลองครบรอบ 32 ปี โรงพยาบาลสันป่าตอง ให้การสนับสนุนให้ความร่วมมือโครงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานประจำปีการศึกษา 2559 สนับสนุนร่วมทำฝายชะลอน้ำ ในโครงการ 70 ฝาย ถวายพ่อหลวง ในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ และได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านจัดทำโครงการ สร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี
วิสัยทัศน์ ประชาชนในหมู่บ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสามัคคี ปลอดสิ่งเสพติดและอบายมุข ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พันธกิจ ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในการประกอบอาชีพของประชาชนยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมมือในการพัฒนาหมู่บ้าน ส่งเสริมงานด้านสุขภาพเพื่อสุขภาวะที่ดีของคนในหมู่บ้าน ส่งเสริมการออกกำลังกาย การเล่นกีฬาของกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย เพื่อให้มีความปรองดองสมานฉันท์ รู้ให้อภัย เสียสละ สามัคคี มีวินัย สนับสนุนช่วยเหลือสอดส่องป้องกันปราบปรามยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย และอบายมุขต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน ให้เป็นหมู่บ้านสีขาว สนับสนุนส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนวัตกรรม
บ้านโรงวัว หมู่ที่ 1 เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่กว้างมาก มีคลองชลประทานและถนนกั้นสองฝั่ง ทำให้การคมนาคมไม่สะดวกและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ผู้ใหญ่บ้านเห็นความสำคัญในการใช้รถใช้ถนนของประชาชนในหมู่บ้าน จึงอำนวยความสะดวกจัดให้มีรถรับส่งโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชนช่วยรับส่งประชาชนในกรณีที่ภายในชุมชนมีงานบุญต่าง ๆ งานประเพณีงานประจำปีของหมู่บ้านและงานอื่น ๆ ดูแลพัฒนาสถานที่สาธารณประโยชน์ภายในหมู่บ้าน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างเป็นระบบพัฒนาหมู่บ้านให้เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติในเขตป่าชุมชน ร่วมมือกันสร้างฝายชะลอน้ำ ทั้งฝายขนาดเล็กและฝายขนาดใหญ่ และยังใส่ใจปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน โดยให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกกับทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพน้ำบ่อหลวงในการอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพและการตรวจสุขภาพของประชาชนในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ
2. นายรุจิสมบัติ เงาคำ ตำแหน่งปัจจุบัน ปราชญ์ชุมชนของหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
อาจารย์รุจิสมบัติใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอสารภี ได้เรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย และได้ออกมาทำงานรับจ้างทั่วไป เนื่องจากที่บ้านมีอาชีพเป็นเกษตรกร อาจารย์รุจิสมบัติจึงได้มีโอกาสเรียนน้อยประกอบกับที่บ้านฐานะไม่ค่อยดี แต่อาจารย์รุจิสมบัติเป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ ได้ออกมาทำงานรับจ้างทำงานก่อสร้างมีความสนใจเรื่องการออกแบบ แต่ตนเองเป็นคนอ่านหนังสือไม่ค่อยเก่งแต่จะคอยถามผู้ที่มีความรู้เมื่อตนเองสงสัยเรียนรู้การทำงานไปเรื่อย ๆ จนตนเองได้รับผิดชอบจากลูกจ้างให้เป็นผู้ดูแลควบคุมงานการสร้างตึกหลาย ๆ แห่ง ตนเองจึงมีความภาคภูมิใจมาก
เมื่ออายุ 21 ปี ได้ศึกษาเรียนรู้งานจากการทำงานและเก็บเงินได้พอประมาณจึงคิดอยากเปิดร้านรับเหมาก่อสร้างเป็นของตนเอง เมื่ออายุ 28 ปี ได้แต่งงานกับภรรยาและได้มาเปิดร้านวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และผันตนเองมาเป็นคนขับรถพานักท่องเที่ยวพาเที่ยวชมป่าเขาเนื่องจากตนเองชอบธรรมชาติและรักษ์ป่า จึงได้ทำงานอยู่ประมาณ 7 ปี
อาจารย์รุจิสมบัติได้เล่าว่าตนเองมีความสนใจ เรื่องศิลปะ การดนตรี และสื่อต่าง ๆ ได้มีเจ้าของสถานีวิทยุมาเชิญตนเองไปเป็นดีเจ จัดรายการวิทยุชุมชนในหลาย ๆ แห่ง ได้พูดถึงหัวข้อการทำเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดการทำรายการวิทยุ ซึ่งตนเองอยากจะพัฒนาเด็ก ๆ รุ่นใหม่ให้มีความกล้าที่แสดงออกจึงพาเด็กที่สนใจมาจัดรายการ เพื่อฝึกประสบการณ์ แต่เนื่องด้วยเจ้าของสถานีไม่เห็นด้วย อาจารย์รุจิสมบัติจึงตัดสินลงทุนทำสถานีวิทยุเป็นของตนเอง ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงทำอยู่โดยการลิงค์สัญญาณ อาจารย์รุจิสมบัติมีความคิดว่าเมื่อตนเองชราลงในชีวิตบั้นปลายตนเองจะต้องมีงานที่ตนเองสามารถทำและใช้ชีวิตอยู่ด้วยได้ทุกวัน อยากทำบ้านที่ถูกที่สุดและมีสวนเป็นของตนเอง ต้องได้ศึกษาในสื่อออนไลน์ของต่างประเทศแต่แปลด้วยคนไทย พบว่าการทำบ้านดินเป็นการลงทุนที่ง่ายและถูกมีอายุอยู่ได้นานประมาณ 3,000 ปี และได้เข้าไปศึกษาแนวคิดต่าง ๆ ของโจน จันได และอาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ตนเองอยากลงมือทำบ้านดิน 1 ไร่ ใบคำในปัจจุบัน โดยเนื้อที่ของบ้านดินมีประมาณ 1 ไร่ ภายในไร่ได้ก่อสร้างบ้านดิน ซึ่งตนเองเป็นผู้ลงมือสร้างด้วยตนเองใช้เวลานานในการสร้าง พร้อมกับตนเองมีความสนใจศาสตร์พระราชาเศรษฐกิจตามแนวคิดพอเพียง จึงได้เดินตามรอยพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ในการทำสวนพอเพียงในบ้านดินเพียงเนื้อที่ 1 ไร่ ภายในสวนจะปลูกผัก ผลไม้นานาชนิด และมีบ่อปลา บ่อพักน้ำ ได้พัฒนาบ้านดินและสวนพอเพียงจนประสบผลสำเร็จ จัดทำฝายมีชีวิต โรงเพาะเห็ด เลี้ยงหมูในหลุม เลี้ยงไก่ดำ และเป็นแหล่งเรียนรู้ จัดทำฐานการเรียนรู้ (การลงมือปฏิบัติจริงในกิจกรรมในบ้านดิน) มีหน่วยงานต่าง ๆ มาศึกษาดูงานมากมาย จึงได้ถูกขนานนามเป็นปราชญ์ของหมู่บ้านในปัจจุบัน
ประชาชนในหมู่บ้านเป็นคนพื้นเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษาพื้นเมือง, ภาษาเหนือ) ใน การติดต่อสื่อสารเป็นภาษาหลักภายในชุมชน สำหรับการติดต่อสื่อสารทางราชการ และบุคคลภายนอก จะใช้ภาษาไทยกลาง และภาษาถิ่นในการติดต่อสื่อสาร
การเมืองการปกครองของบ้านโรงวัว แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค และการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยแต่ละระบบการปกครองมีคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ดังนี้
การปกครองส่วนภูมิภาค การเมืองการปกครองของบ้านโรงวัว หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นอยู่กับตำบล น้ำบ่อหลวง โดยมี นางพรทิพย์ ตาลาย เป็นกำนันตำบลน้ำบ่อหลวง ส่วนบ้านโรงวัวมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำชุมชน และคณะกรรมการการประกอบด้วย
- นายสุเมธ กิ่วคำ : ปฏิบัติหน้าที่ ผู้ใหญ่บ้าน
- นายฉลองศักดิ์ ปั๋นเขียว : ปฏิบัติหน้าที่ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
- นายเอกลักษณ์ คำสุภา : ปฏิบัติหน้าที่ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง มีเขตพื้นที่รับผิดชอบตำบลน้ำบ่อหลวง ซึ่งประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน ได้แก่
- หมู่ที่ 1 บ้านโรงวัว
- หมู่ที่ 2 บ้านน้ำบ่อหลวง
- หมู่ที่ 3 บ้านแพะสันใหม่
- หมู่ที่ 4 บ้านจอมแจ้ง
- หมู่ที่ 5 บ้านหนองห้า
- หมู่ที่ 6 บ้านหนองไหว
- หมู่ที่ 7 บ้านห้วยฝาย
- หมู่ที่ 8 บ้านห้วยโท้ง
- หมู่ที่ 9 บ้านต้นแก้ว
- หมู่ที่ 10 บ้านสันเหนือ
- หมู่ที่ 11 บ้านหนองหวาย
ประชาชนในหมู่บ้านโรงวัวส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รับจ้าง แกะสลัก และอาชีพเสริมโดยการแปรรูปอาหารจำหน่ายในพื้นที่
ในอดีตหมู่บ้านโรงวัวยังไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา และถนน ชาวบ้านจะจุดตะเกียงใช้แทนไฟ และใช้น้ำบ่อในการอุปโภค บริโภค ถนนในหมู่บ้านเป็นถนนดินแดงเล็ก ๆ โดยหมู่บ้านเริ่มมีไฟฟ้าใช้เมื่อปี พ.ศ. 2526 สร้างคลองชลประทาน ปี พ.ศ. 2509 เริ่มมีประปาใช้ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ต่อมาเริ่มสร้างถนนลาดยางมะตอย ปี พ.ศ. 2530 เริ่มมีการทำถนนในหมู่บ้านให้เป็นถนนคอนกรีตประมาณปี พ.ศ. 2558 และในปี พ.ศ. 2560 ได้เริ่มขยายถนนคันคลองจนถึงปัจจุบัน
ในอดีตหมู่บ้านโรงวัวยังไม่มีสถานพยาบาล เมื่อมีการเจ็บป่วยชาวบ้านส่วนใหญ่จะรักษาโดยการใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ดูแลสุขภาพตนเองอย่างผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น การนวดไทย พิธีกรรมและไสยศาสตร์ เป็นต้น และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2542 ได้ตั้งอนามัยน้ำบ่อหลวง ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน้ำบ่อหลวง เมื่อมีอาการเจ็บป่วยชาวบ้านก็ไปรับการรักษาที่นี่ เนื่องจากมีระยะทางที่ใกล้ หากมีอาการที่ไม่รุนแรงก็จะซื้อยามารับประทานเองและดูแลตัวเองบางคนก็ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลสันป่าตอง โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ขึ้นอยู่กับสิทธิการรักษาและความสะดวกในการเดินทางของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านคอยดูแลสุขภาพให้แก่ชาวบ้าน มีการคัดกรองและรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกทุกเดือน สาธารณสุขของตำบลบ้านน้ำบ่อหลวงดีขึ้นมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้สึกมีที่พึ่งพิงเมื่อมีการเจ็บป่วย มีทางเลือกในการรักษาเหมาะสมกับคนทุกสถานภาพ
การดูแลเมื่อเจ็บป่วยของประชาชนในหมู่บ้านโรงวัว พบว่า ประชากรของบ้านโรงวัว หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2562 ใช้วิธีการดูแลสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยตามระบบแพทย์แผนปัจจุบันมากที่สุด จำนวน 132 คน คิดเป็นร้อยละ 64.71 รองลงมาระบบการแพทย์แผนปัจจุบันร่วมกับระบบการแพทย์ภาคประชาชน จำนวน 26 คนคิดเป็นร้อยละ12.75 ระบบการแพทย์แผนปัจจุบันร่วมกับระบบการแพทย์พื้นบ้าน จำนวน 24 คน คิดเป็นร้อยละ 11.76 และน้อยที่สุด คือระบบการแพทย์พื้นบ้านร่วมกับระบบการแพทย์ภาคประชาชน จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 5.39 และระบบการแพทย์แผนปัจจุบันร่วมกับระบบการแพทย์พื้นบ้านร่วมกับระบบการแพทย์ภาคประชาชน จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 5.39
อาหาร จากการสอบถามและสัมภาษณ์ พบว่า แหล่งอาหารของชุมชนบ้านน้ำบ่อหลวง แบ่งเป็น 2 แหล่งหลัก คือ แหล่งอาหารจากตลาด และร้านขายของชำ ซึ่งตลาดที่ใกล้เคียงในชุมชน มีจำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ตลาดชุมชนน้ำบ่อหลวง อาหารที่เลือกซื้อมักจะเป็นเนื้อสัตว์ เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา ผักสด เครื่องปรุงรสต่าง ๆ และแหล่งอาหารที่ได้จากผลผลิตของธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะปลูกผักริมรั้วรับประทานเอง ส่วนใหญ่ประชากรในหมู่บ้านจะประกอบอาหารรับประทานเอง โดยจะใช้ผักจากที่ปลูกเอง หรือซื้อที่ตลาดสด หรือร้านขายของชำ น้ำที่ใช้ในการบริโภคจะแบ่งเป็น 3 แหล่ง คือ น้ำประปาหมู่บ้าน น้ำบรรจุขวด และน้ำจากตู้กด ส่วนน้ำที่ใช้ในการอุปโภคหรือการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ ซักผ้า ล้างจาน จะเป็นน้ำประปา โดยจะใช้น้ำประปาของหมู่บ้าน
ความเชื่อ/ไสยศาสตร์ การแพทย์พื้นบ้านในหมู่บ้านโรงวัว ไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนสมัยก่อน เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ยังให้การเคารพนับถือเกี่ยวกับผีพ่อบ้าน ผีปู่ย่า และรักษาโดยแพทย์พื้นบ้าน หมอนวดสมุนไพร รวมถึงการใช้ยาสมุนไพร เป็นต้น ประชาชนบ้านโรงวัวจะนับถือผีปู่ย่า โดยผีปู่ย่านั้นจะมีทุกตระกูล โดยมีความเชื่อว่าผีปู่ย่าจะคอยปกปักรักษาคุ้มครองคนในบ้าน และหากมีความเจ็บป่วยเล็กน้อยหรือไม่สบายทั้งกายและใจจะไปเลี้ยงผีปู่ย่า ซึ่งทำให้อาการเจ็บป่วยที่เป็นทุเลาเบาบางลงได้ จะมีการเลี้ยงทุกวันพระใหญ่หรือ เมื่อวันที่บุตรสาวคนใดคนหนึ่งภายในบ้านจะแต่งงาน จะมีการเลี้ยงผีปูย่าด้วยเช่นกัน ส่วนผีพ่อบ้านนั้นจะเลี้ยงในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยมีความเชื่อว่าผีพ่อบ้าน จะปกป้องคุ้มครองดูแลคนทั้งหมู่บ้านให้อยู่อย่างปลอดภัย อยู่ดีกินดีมีความสุข สำหรับศาลผีพ่อบ้านบ้านจะมีเพียง 1 ที่ภายในหมู่บ้าน คือ ใกล้กับศาลาเอนกประสงค์บ้านโรงวัว หมู่ที่ 1
ศิริขวัญ พลสิงห์, คมเพชร ม่วงงาม, ชลิตา เกตุสุวรรณ,ศุภัตตพล พฤฒิพานิช, ประศาล สานหล้า, สุภัทรา ทำทอง และอรนิชา เหร่าหมัด. (2561). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชนบ้านโรงวัว ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่. สาขาการพยาบาล อนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.