Advance search

บ้านเกาะโตดนุ้ย

ชุมชนเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยความสุขสงบ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และมีคุณค่า รวมไปถึงวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และขนบธรรมเนียมประเพณี และผู้คนที่เต็มไปด้วยมิตรภาพและรอยยิ้ม 

หมู่ที่ 4
บ้านเกาะยะระโตดนุ้ย
เกาะสาหร่าย
เมืองสตูล
สตูล
จิราวรรณ บุญหนู
3 ส.ค. 2023
พีรญา ธนโรจน์ปภา
7 ส.ค. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
21 พ.ค. 2024
บ้านเกาะยะระโตดนุ้ย
บ้านเกาะโตดนุ้ย

บ้านเกาะยะระโตดนุ้ย มาจากคำว่า "ยะระโตด" เป็นภาษามลายู แปลว่า สาหร่ายทะเล ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าในอดีตของทะเลแถบนี้ที่มีสาหร่ายทะเลจำนวนมาก และเนื่องจากเป็นเกาะเล็ก ๆ ตั้งอยู่ไม่ห่างจาก "เกาะยะระโตดใหญ่" หรือ "เกาะสาหร่าย" มากนัก ส่วนคำว่า "นุ้ย" ในภาษาใต้ แปลว่า "เล็กหรือน้อย" จึงเรียกกันว่า เกาะยะระโตดนุ้ย หรือ เกาะโตดนุ้ย


ชุมชนชนบท

ชุมชนเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยความสุขสงบ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และมีคุณค่า รวมไปถึงวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และขนบธรรมเนียมประเพณี และผู้คนที่เต็มไปด้วยมิตรภาพและรอยยิ้ม 

บ้านเกาะยะระโตดนุ้ย
หมู่ที่ 4
เกาะสาหร่าย
เมืองสตูล
สตูล
91000
6.680087
99.86274
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย

ชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย เป็นชุมชนที่ก่อตั้งมาประมาณ 80 กว่าปีมาแล้ว เล่ากันว่า ก่อนสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีชาวบ้านส่วนหนึ่งมาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว และในช่วงสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 (ปี พ.ศ. 2484-2488) ซึ่งในช่วงนั้นมีการระบาดของโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษมาก เนื่องจากญี่ปุ่นจับเชลยมาสร้างทางรถไฟสายมรณะข้ามแม่น้ำแคว จึงทำให้เชลยศึกป่วยด้วยโรคฝีดาษและลามไปยังคนไทยจากภาคต่าง ๆ ทำให้มีชาวบ้านจากหลายพื้นที่หนีสงครามและหนีโรคระบาดมาอาศัยอยู่บนเกาะยะระโตดนุ้ย หรือเกาะโต๊ดนุ้ย ประมาณ 50 คน หนึ่งในนั้น ก็คือ นายอาด แฝงหลี หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า "โต๊ะอาด น้ำผึ้ง" เป็นชาวจังหวัดกระบี่ได้อพยพมาอยู่บนเกาะนี้ด้วย

ที่มาของชื่อ "โต๊ะอาด น้ำผึ้ง" ก็คือ "โต๊ะ" มาจากภาษามาลายู แปลว่า "ปู่ หรือ ตา" และคำว่า "น้ำผึ้ง" มาจากการประกอบอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งคนใต้บางพื้นที่เรียก "น้ำตาล" ว่า "น้ำผึ้ง" โต๊ะอาด น้ำผึ้ง ถือเป็นบุคคลสำคัญ เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน มีลูกหลานสืบเชื้อสายที่อาศัยอยู่บนเกาะหลายคน โดยเฉพาะลูกชายคนแรก ชื่อ นายบ่าว เหมรา อายุ 65 ปี เป็นกรรมการมัสยิดและเป็นบุคคลที่สามารถเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ยได้ 

ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อชาวบ้านมารวมกลุ่มกันอยู่หลายคน ชาวบ้านจึงได้ตั้ง มัสยิดบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย สำหรับปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนาอิสลามขึ้น ปัจจุบันมีนายสุรัช สุวาหลำ เป็นโต๊ะอิหม่าม นายวีระ ยีละงู เป็นกอเต็บ นายวัชรินทร์ ยาวายะระ เป็นบิหลั่น และมีกรรมการมัสยิด รวมจำนวน 17 คน

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2501 คณะราษฎรในชุมชนได้ช่วยกันสร้างโรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ยขึ้น ในพื้นที่จำนวน 1 ไร่ ซึ่งนายน่าฮู เส็นสมมาตร เป็นผู้บริจาคที่ดิน คณะครูโรงเรียน ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรในหมู่บ้านร่วมกันสละเงินจัดซื้อที่ดิน ที่มีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของโรงเรียน ซึ่งมีเนื้อที่ 2 งาน 42 ตารางวา ในราคา 1,500 บาท มอบให้เป็นสมบัติของโรงเรียน และร่วมมือกันจัดสร้างอาคารเรียนแทนหลังแรก ซึ่งชำรุดทรุดโทรมจนใช้การไม่ได้ 

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ

ชาวบ้านชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง เดิมชาวบ้านใช้เครื่องมือประมงแบบยังชีพและไม่ซับซ้อน ปัจจุบันปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยเข้ามาจับสัตว์น้ำทำประมง ในการจับสัตว์น้ำเพื่อให้ได้ปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งเครื่องยนต์ที่ถูกติดตั้งกับเรือประมงอวนจับสัตว์น้ำต่าง ๆ พร้อมอุปกรณ์ แต่ก็หมายถึงการลงทุนที่สูงขึ้นเช่นกัน ชาวบ้านบางส่วนจึงต้องพึ่งพานายทุนในการนำเงินเพื่อไปซื้ออุปกรณ์ประมงสมัยใหม่และนำสินค้าสัตว์น้ำไปขายกับผู้ที่ลงทุนให้ก่อนในราคาตามจะกำหนด นับเป็นการนำการผลิตที่ขึ้นกับบุคคลภายนอกและตลาดการค้าที่ห่างไกลจากความรู้และความถนัดของชาวประมง

ยิ่งกว่านั้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมาได้มีกลุ่มเรือ "นายทุนจากภายนอกตำบล" เข้ามาทำประมงบริเวณชายฝั่งโดยการใช้อวนลากและฮวนรุน หรือการไดหมึก รวมทั้ง เรือปั่นไฟล่อปลากระตักซึ่งเป็นวิธีการจับสัตว์น้ำแต่ทำให้สัตว์น้ำชายฝั่งลดน้อยลง ชาวประมงขนาดเล็ก จับสัตว์น้ำได้น้อยลง จึงต้องออกทำประมงในทะเลที่ใกล้ขึ้น การลงทุนที่มากขึ้นกว่าเดิมทำให้หนี้สินมีมากขึ้น จนได้รับการแนะนำจากหน่วยงานพัฒนาเอกชนประมงชายฝั่งแกนนำในหมู่บ้าน กำนันในพื้นที่ กลุ่มประมงชายฝั่ง จึงร่วมมือกันแก้ปัญหา ผลักดันจัดการด้านอาญาเขตการทำประมงภายในพื้นที่ชายฝั่งตามที่กฎหมายกำหนด จนปัญหาลุล่วงไปได้ระดับหนึ่ง

ประวัติศาสตร์ภัยพิบัติ

จากเหตุการณ์เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557 แม้จะไม่ส่งผลกระทบแก่ชีวิตของชาวบ้านในชุมชน แต่ก็สร้างความเสียหายให้กับเครื่องมือจับสัตว์น้ำ จำพวกอวนไชและกระชังปลา หลังจากนั้นได้มีหน่วยงานราชการ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาให้การช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาดังกล่าวหลายองค์กร เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา สภากาชาดไทย และหน่วยงานในจังหวัดสตูล ต่อมามีโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดสตูล โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสตูล มูลนิธิกองทุนชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจังหวัดสตูล เข้ามาทำงานในพื้นที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของชุมชนในการพัฒนา ขณะที่ชุมชนเองก็มีกิจกรรมการพัฒนาตนเองมากกว่าครั้งก่อน ๆ เรียกได้ว่า "เป็นยุคการฟื้นฟูตนเอง" เช่น กองทุนวันละบาทเพื่อสวัสดิการสมาชิกและชุมชน กองทุนแม่ของแผ่นดิน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน การแปรรูปสัตว์น้ำ ร้านค้าชุมชนกองทุนสวัสดิการ อุปกรณ์การทำประมง กลุ่มศูนย์เรียนรู้ชุมชน กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้นำศาสนา และกลุ่มเยาวชน เป็นต้น

อาณาเขต ขนาดพื้นที่ชุมชน

ชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย มีสภาพพื้นที่เป็นเกาะที่มีชายหาดอยู่โดยรอบเกาะ มีขนาดพื้นที่ 0.791 ตารางกิโลเมตร ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากเกาะสาหร่าย หรือเกาะยะระโตดใหญ่มากนัก มีระยะห่างจากชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือทุ่งริ้น อำเภอท่าแพ) ประมาณ 9 กิโลเมตร และห่างจากพื้นที่อำเภอเมืองสตูล ประมาณ 12 กิโลเมตร การคมนาคมเข้าพื้นที่ยังไม่มีเรือโดยสาร ต้องเดินทางด้วยเรือรับจ้างมาขึ้นที่ท่าเทียบเรือบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย สำหรับการคมนาคมทางบกบนเกาะมีเส้นทางถนนคอนกรีตที่สามารถเดินทางได้สะดวก จำนวน 5 สาย คือ ถนนคสล.หมู่ที่ 4 ถนนสายโรงเรียน ถนนสายบ้านท่าตก-หน้ามัสยิด ถนนสายบ้านกอดาด และถนนสายบ้านหัวแหลม-ท่าเทียบเรือ 

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย มีสภาพพื้นที่เป็นเกาะที่มีชายหาดอยู่โดยรอบเกาะ มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก บนเกาะมีหมู่บ้านชาวประมง การทำสวนมะพร้าว สวนยางพารา การทำสวนปาล์มน้ำมัน และการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อบริโภคในครัวเรือน ภายในเกาะมีทั้งระบบนิเวศที่ราบลุ่ม ที่ราบชายเกาะ และที่เนินสูง พื้นที่ราบลุ่มหรือที่ราบชายเกาะ จึงมีการปลูกข้าวและพืชไม้ผลไปด้วย โดยมีลักษณะของการทำเกษตรเพื่อการยังชีพ ใช้แรงงานภายในครอบครัว และพึ่งพิงธรรมชาติอยู่สูง 

พื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภคในชุมชน

ชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย มีพื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภคในชุมชนหลายอย่าง ประกอบด้วย

  • โรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2501 หรือประมาณ 60 กว่าปีมาแล้ว เปิดสอนตั้งแต่อนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียน มีครู จำนวน 3 คน และบุคลากรอีก 3 คน และมีนักเรียน จำนวน 28 คน
  • มัสยิด จำนวน 1 แห่ง คือ มัสยิดบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย โดยมีนายสุรัช สุวาหลำ เป็นโต๊ะอิหม่าม
  • สะพานท่าเทียบเรือ จำนวน 1 แห่ง คือ สะพานท่าเทียบเรือบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย
  • ไฟฟ้าระบบสายเคเบิลใต้น้ำ เริ่มใช้เมื่อ ปี พ.ศ. 2545
  • ระบบประปาหมู่บ้าน จำนวน 1 แห่ง
  • โรงหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน จำนวน 1 แห่ง
  • ห้องสมุดชุมชน จำนวน 1 แห่ง
  • โรงเรียนตาดีกา จำนวน 1 แห่ง
  • ศาลาอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน จำนวน 1 แห่ง

ลักษณะทางเศรษฐกิจ 

ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพประมงชายฝั่งขนาดเล็ก ประกอบด้วย ประมงชายฝั่ง ประมงน้ำตื้น อาชีพอื่น ๆ เช่น ค้าขาย ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ทำธุรกิจ และอื่น ๆ สภาพพื้นที่โดยรวมทั่วไปของเกาะต่าง ๆ ในพื้นที่ประกอบด้วยพื้นที่ราบ ดินมีลักษณะสภาพแวดล้อม เป็นดินเหนียวปนทรายที่เหมาะกับทำเกษตร ทั้งยังมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ เช่น กุ้ง หอย ปูปลา ฯลฯ ชาวบ้านส่วนใหญ่ ทำประมงขนาดเล็กและรับจ้าง การทำสวนมะพร้าว การทำสวนปาล์ม และสวนยางพารา และด้วยวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับทะเลทำให้ชุมชนแห่งนี้มีความโดดเด่นต่างจากชุมชนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน เช่น กะปิ น้ำพริกข่า การปรุงอาหารจากสัตว์ทะเลการแปรรูปอาหารทะเล เป็นต้น 

ลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม 

ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนนับถือศาสนาอิสลาม มีประชากรที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เพียง 4 ครัวเรือน จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 84 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 294 คน แยกเป็นหญิง 155 คน ชาย 139 คน วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ ได้แก่ การฉลองวันตรุษของศาสนาอิสลาม (วันอารีรายา) ปีละ 2 ครั้ง คือ อีดิ้ลฟิตรี และอีดิ้ลอัฎฮา ประเพณีถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตามปฏิทินอิสลาม ปีละ 1 ครั้ง พิธีเข้าสุนัต งานบุญ และงานมัสยิด เช่น การกวนอาซูรอ งานเมาลิด เป็นต้น

จากข้อมูลสำนักงานทะเบียนอำเภอเมืองสตูล เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 84 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 286 คน แยกเป็นหญิง 150 คน ชาย 136 คน บนเกาะแห่งนี้ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามเกือบทั้งเกาะ มีประชากรที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เพียง 4 ครัวเรือน ซึ่งเป็นคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่มานาน แต่ทุกคนในชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข มีความรักความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

จีน

ชาวบ้านชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมในชุมชน ดังนี้

กลุ่มสตรีชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย จัดตั้งขึ้นเพื่อรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เช่น การทำขนมพื้นบ้าน การทำอาหารพื้นถิ่น มีสมาชิกรวมทั้งหมด จำนวน 20 คน มีนางสุปราณี สุวาหลำ เป็นประธานกลุ่ม และมีสมาชิกอีก 19 คน ได้แก่

  1. นางสาวรอสีม๊ะ ดาหมาด
  2. นางวีญา สุวาหลำ
  3. นางสาวสุนีย์ แดงเหม
  4. นางยมิหลา ใบดี
  5. นางวนิดา สุหวาหลำ
  6. นางเยาวหรา ใบดี
  7. นางปรีดา สุวาหลำ
  8. นางสุรีพร ใบดี
  9. นางสุดา สันเหล็ม
  10. นางนุสชะนาฎ พละพาณิช
  11. นางสุรัติญา สุวาหลำ
  12. นางสอรีน๊ะ เส็นสมมาตร
  13. นางสาวฮาฟีเซ๊าะ หลงกอหราบ
  14. นางจันทรา ขุนยารา
  15. นางอารีซ๊ะ ยาประจัน
  16. นางสาวปวีณา สุวาหลำ
  17. นางสาวจรรญา สุวาหลำ
  18. นางสาวเจ๊ะด๊ะ ตีกาสม
  19. นางสาวมลวิภา หนูชูสุก

กลุ่มออมทรัพย์หมู่บ้านเกาะยะระโตดนุ้ย มีการรวมตัวกันของชาวบ้านในชุมชน เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของประชาชน ให้รู้จักประหยัด และออมทรัพย์ซึ่งจะก่อให้เกิดทุนและการวางแผนการใช้จ่ายเงิน และเมื่อสมาชิกที่มีความจำเป็นเดือดร้อนสามารถกู้ยืมไปใช้ในการลงทุนประกอบอาชีพ หรือเพื่อสวัสดิการของตนเองและครอบครัวได้ มีสมาชิก จำนวน 35 คน มีคณะกรรมการ จำนวน 10 คน ได้แก่

  1. นายดลฮอนี สุวาหลำ (กำนันตำบลเกาะสาหร่าย) : ประธานกรรมการ
  2. นายหมาน หนูชูสุก : รองประธานกรรมการ
  3. นายสมศักดิ์ สันเล็ม : กรรมการและเลขานุการ
  4. นายบากาด หลงกอหราบ : กรรมการและเหรัญญิก
  5. นายลำหลี อุโหยบ : กรรมการ
  6. นายสุรักษ์ อังศุภานิช : กรรมการ
  7. นายซำซูเด็น ใบดี : กรรมการ
  8. นายเปน ลัดเลีย : กรรมการ
  9. นายสุวรรณ ตีกาสม : กรรมการ
  10. นายนัสรี หลงกอหราบ : กรรมการ

กลุ่มอสม.ชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย ดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพกันเองด้วยวิธีที่ง่ายประหยัดและทั่วถึง สามารถช่วยกันรักษาพยาบาลหรือดูแลรักษาสุขภาพที่ไม่ถูกต้องของประชาชนในชุมชนในเบื้องต้นได้ มีสมาชิก จำนวน 8 คน ได้แก่

  1. นายซำซูเด็น ใบดี : ประธานกรรมการ
  2. นายวีระ ยีละงู : กรรมการ
  3. นายเจ๊ะเหร็น อุโหยบ : กรรมการ
  4. นางยำมีหละ ใบดี : กรรมการ
  5. นางสุรีพร ใบดี : กรรมการ
  6. นางอำปีเส๊าะ หลงกอหราบ : กรรมการ
  7. นางสุนีย์ แดงเหม : กรรมการ
  8. นางมณีรัตน์ สุวาหลำ : กรรมการ

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

  • การทำประมงพื้นบ้าน ชาวบ้านชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย มักนิยมประกอบอาชีพการทำประมงพื้นบ้าน โดยใช้เรือเครื่องหางยาว มีแหล่งทำการประมงอยู่บริเวณรอบ ๆ เกาะยะระโตดนุ้ย หรือห่างออกไปไม่ไกลมากนัก สามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี การเลือกใช้เครื่องมือประมงจะใช้หลายชนิดร่วมกันขึ้นกับฤดูกาล โดยมีลอบหมึกและอวนจมปูเป็นเครื่องมือประมงหลัก
  • การเลี้ยงกระชังปลาเก๋าและปลากะพง ชาวบ้านชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย ได้นำเอาพันธุ์ปลาเก๋าและปลากระพง มาจากไซที่ชาวบ้านจับได้มาเลี้ยงในกระชังกลางทะเล โดยใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน เป็นการเลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติที่แทบไม่มีค่าใช้จ่าย การทำกระชังใช้วิธีการทำแบบง่าย ๆ โดยใช้ไม้ไผ่ขันชะเนาะให้แข็งแรง แล้วนำมาผูกกับถังให้ลอยน้ำ
  • การทำสวน นอกจากอาชีพประมงแล้ว ชาวบ้านชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ยก็มีการทำสวนควบคู่กันไปด้วย ได้แก่ การทำสวนมะพร้าว การสวนยางพารา การสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งสามารถทำได้ตลอดทั้งปี 

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • การถือศีลอด ถือเป็นวายิบ (สิ่งจำเป็น) ที่มุสลิมพึงปฏิบัติในเดือนรอมฎอนของทุกปีตามปฏิทินอิสลาม เป็นเวลา 30 วัน โดยการงดกินอาหารในเวลากลางวัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. จนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นถึงความทุกข์ยากของคนที่อดยาก ยากจน ไม่มีกิน นับเป็นการฝึกให้ชาวมุสลิมทุกคนเป็นคนอดทนและมีจิตใจเมตตา เอื้ออาทรต่อคนที่ลำบากกว่า นอกจากการอดอาหารแล้ว ยังต้องละเว้นการปฏิบัติ ในทางที่ไม่ดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ
  • วันฮารีายา มีปีละ 2 ครั้ง คือ วันอีดิลฟิตตรี และวันอีดิลอัฎฮา
  • วันอีดิลฟิตรี เป็นวันรื่นเริงของชาวมุสลิมที่เฉลิมฉลองหลังจากการถือศีลอดมาตลอดเดือนรอมฎอน เป็นวันที่ทุกคนมีความสุขและสนุกสานรื่นเริง โดยจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และใช้ของที่มีกลิ่นหอม ปราศจากแอลกอฮอล์ แล้วไปละหมาดร่วมกันที่มัสยิดในชุมชนพร้อมกันทั้งหญิงและชาย ในวันนั้นชาวมุสลิมจะไปเยี่ยมเยียนและขออภัยโทษต่อพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครู อาจารย์ เพื่อนบ้านและไปกุโบร์ (หลุมฝังศพ) เพื่อเยี่ยมเยียนและขอดุอาห์ให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เด็ก ๆ จะได้รับการเลี้ยงอาหารและแจกขนม
  • วันอีดิลอัฎฮา เป็นวันรื่นเริงอีกวันหนึ่งคล้ายกับวันอีดิลฟิตรี การปฏิบัติพิธีกรรมในมัสยิดก็เหมือนกัน   แต่ต่างกันที่ในวันนั้นจะมีการ “ทำกุรบาน” คือการเชือดสัตว์เพื่อพลีทาน (ซอดาเกาะห์) แจกจ่ายให้ชาวมุสลิมที่มีฐานะยากจน ญาติ เพื่อนบ้าน เป็นการปฏิบัติที่องค์พระศาสดามีประสงค์ที่จะขัดเกลาจิตใจมนุษย์ให้เป็น  ผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยวันอีดิลอัฎฮา จะนับถัดจากวันอีดิลฟิตรีผ่านไป ครบ 70 วัน ตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ (ของปฏิทินอิสลาม) เป็นวันที่ชาวมุสลิมทั่วโลกที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะประเทศซาอุดิอาราเบีย
  • การเข้าสุนัต หรือคิตาน ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า การเข้าแขก คือการขลิบปลายอวัยวะเพศชายที่มีอายุ ระหว่าง 5-15 ปี การเข้าสุนัต หรือสุหนัต มาจากคำว่า ซุนนะฮ์ หมายถึง แนวทางหรือการเข้าสู่วิถีชีวิตปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนาบี มูฮำหมัด (ศ็อลฯ) เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนมุสลิม โดยผู้ชายมุสลิมที่แท้จริงต้องผ่านการเข้าสุนัต ถ้าไม่เข้าถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ในการเข้าสุนัตอาจทำเพียงคนเดียว หรือพร้อมกันหลายคน เพื่อทำให้เกิดความอบอุ่นแก่ผู้ที่จะต้องถูกทำการขลิบ
  • การจัดงานเมาลิด เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงหลักธรรมคำสอน และผลงานของท่านนบีมูฮัมมัด เพื่อเป็นการส่งเสริมสถาบันศาสนาอิสลามและเพื่อผนึกกำลังของพี่น้องมุสลิมในการร่วมกันแก้ปัญหาที่สำคัญของจังหวัด จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมของทุกปี

1.นายอาด หนูชูสุก

เกิดปี พ.ศ. 2473 อาศัยอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองฯ จังหวัดสตูล เป็นหมอชาวบ้าน (โต๊ะหมอ) ที่มีความสามารถในการรักษาโรคต่าง ๆ โดยการนำสมุนไพรที่มีในชุมชนมาต้มรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วยไม่สบาย เช่น โรคเริม อาการไข้ทับฤดู อาการชักตาค้างในเด็ก (ชักสวรรค์) และโรคอื่น ๆ ปัจจุบันนายอาด อายุมากแล้วไม่สามารถจะรักษาโรคได้

2.นายสุรัช อังศุพานิช 

เกิดปี พ.ศ. 2510 อาศัยอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองฯ จังหวัดสตูล มีความสามารถในการเป็นช่างทำเรือ โดยเรือที่ทำ คือ เรือไก่ ซึ่งมีลักษณะความยาวของเรือจะสั้นกว่าเรือหัวโทงและตรงหัวลักษณะคล้ายกับปากไก่เลยเป็นที่มาของคำว่าเรือไก่ ในอดีตชาวบ้านจะใช้ในการสัญจรไปมาหาสู่กันโดยการแจว ซึ่งในปัจจุบันหาดูได้ยากมากและกำลังจะหายไป

ทุนกายภาพ

ในพื้นที่รอบเกาะยะระโตดนุ้ยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลประเภทต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ ปูม้า ปูดาว กั้งขาว กั้งตั๊กแตน หอยกาหยํา (หอยหวาน) หอยชักนิ้ว หอยแครง หอยนางรม ฯลฯ ซึ่งสามารถหาได้ตลอดทั้งปี ส่วนสัตว์น้ำจําพวกปลาและกุ้ง เช่น ปลาทู ปลาโอ ปลาลัง ปลาสีกุน กุ้งแชบ๊วย กุ้งขาว ฯลฯ ก็สามารถจับได้ในปริมาณมากในช่วงฤดูมรสุม ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม รวมทั้งปลาหมึกกล้วย ปลาหมึกกระดอง และปลาหมึกหอม จะจับได้เป็นจำนวนมากในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเมษายนของทุกปี นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรทางทะเลประเภทอื่น ๆ อีกมากมายนอกเหนือจากสัตว์เศรษฐกิจที่กล่าวมา อาทิ เต่าทะเล โลมา ปลาดาว ปลาตีน ปลาปักเป้า ม้าน้ำ แมงดาทะเล หอยหนาม หญ้าทะเล ปะการัง นกยาง นกแควก นกเหยี่ยว เป็นต้น

ทุนวัฒนธรรม

  • ภูมิปัญญาการทำประมงพื้นบ้าน เนื่องด้วยชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ยทำประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหลัก ทำให้เกิดการอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับการทำเครื่องมือประมงพื้นบ้านหลากหลายชนิด เช่น การผูกลอบปลาหมึกด้วยเปลือกหอยโข่ง การเย็บอวนปลา อวนปู อวนกั้ง เป็นต้น
  • อาหารทะเล ชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ยเป็นชุมชนชาวประมงเล็ก ๆ มีอาหารทะเลที่สมบูรณ์ มีหอย ปู ปลา กุ้ง ปลาหมึก โดยเฉพาะปูม้า มีรสชาติอร่อยกว่าที่อื่น ทั้งนี้ ชาวประมงพื้นบ้านจะออกทะเลหาอาหารทะเลสด ๆ เป็น ๆ แบบวันต่อวัน ที่สำคัญได้รับประทานอาหารทะเลสด ๆ ที่นำขึ้นมาจากทะเล นำไปปรุงอาหารรับประทานในครอบครัวและให้นักท่องเที่ยวได้ชิมรสชาติแบบวันต่อวัน  

ในอดีต ชาวบ้านในชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย ใช้ภาษามลายูพูดสื่อสารในชีวิตประจำวันปะปนไปกับภาษาไทยถิ่นใต้ จังหวัดสตูล จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษา ปัจจุบันหันมาใช้ภาษาไทยถิ่นใต้และภาษาไทยกลางมากขึ้น


  • ไฟฟ้า ภายในชุมชนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย ชาวบ้านมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เป็นต้น ทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว และมีชีวิตที่สะดวกสบาย มีการติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะตามถนนรอบเกาะ เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับชาวบ้านที่ใช้สัญจรในยามค่ำคืน ทำให้ชาวบ้านมีสภาพความเป็นอยู่และชีวิตที่ดี
  • ประปา ในอดีตชาวบ้านบนเกาะยะระโตดนุ้ยใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้น พอถึงช่วงหน้าร้อนปริมาณน้ำในบ่อจะลดลงจนแห้งขอดไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านบนเกาะ จึงมีการขุดสระเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ปัจจุบันชาวบ้าน ใช้น้ำประปาจากสระเก็บน้ำของหมู่บ้าน แต่เนื่องจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด เกิดเป็นปัญหาภัยแล้งในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี น้ำประปาไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค ทำให้ต้องจ่ายน้ำประปาเป็นบางเวลา หรือต้องงดจ่ายน้ำ ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องนี้ ในอดีตต้องรอการขนส่งน้ำจากการประปาสตูลมาใช้ แต่ในปัจจุบันทางองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายได้พยายามแก้ไขปัญหาเบื้องต้นโดยการขุดลอกบ่อน้ำตื้นทั่วเกาะ และแจกจ่ายน้ำดื่มบรรจุขวดแก่ชาวบ้านเพื่อใช้ในการบริโภค


การลดจำนวนลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้มีความจําเป็นที่จะต้องจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันกันจับสัตว์น้ำเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยชาวประมงจะแสวงหาเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการจับสัตว์น้ำให้ได้เป็นจำนวนมากมาใช้ ทำให้เกิดภาวะที่ระบบนิเวศไม่สามารถฟื้นตัวได้ทัน ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่เกิดความเสื่อมโทรม 

โรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย สร้างขึ้นโดยได้อาศัยงบประมาณของทางราชการ สร้างอาคารสถานที่ชั่วคราว ขนาด 8x10 เมตร จำนวน 1 ห้องเรียน ในพื้นที่จำนวน 1 ไร่ ซึ่งนายน่าฮู เส็นสมมาตร เป็นผู้บริจาคที่ดิน คณะครูโรงเรียน ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรในหมู่บ้านร่วมกันสละเงินจัดซื้อที่ดิน ที่มีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของโรงเรียน ซึ่งมีเนื้อที่ 2 งาน 42 ตารางวา ในราคา 1,500 บาท มอบให้เป็นสมบัติของโรงเรียน และร่วมมือกันจัดสร้างอาคารเรียน แทนหลังแรก ซึ่งชำรุดทรุดโทรมจนใช้การไม่ได้ อาคารหลังที่ 2 นี้ เป็นอาคารกึ่งถาวร ขนาด 6x10 เมตร

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2514 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 80,000 บาท สร้างอาคารแบบ ป.1 ก ขนาด 2 ห้องเรียน ปี พ.ศ. 2523 ได้สร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ก ขนาด 2 ห้องเรียน ในปี พ.ศ. 2532 ทางโรงเรียนขยายชั้นเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5, 6 ปี พ.ศ. 2537 เปิดเรียนชั้นอนุบาล 1 และอนุบาล 2 และในปัจจุบันโรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย มีพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา มีอาคารเรียน 2 หลัง 6 ห้องเรียน

นอกจากนี้ โรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้พระราชทานงบประมาณจากกองทุนบูรณะฟื้นฟูภาคใต้ของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยการสนับสนุนของบริษัท อเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด (เอไอเอ) ในการจัดทำโครงการปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย และสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้สนับสนุนให้โรงเรียนจัดทำโครงการปลูกพืชไม่ใช้ดิน เพื่อเป็นอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน เนื่องจากโรงเรียนมีพื้นที่จำกัดมากจึงไม่สามารถปลูกผักเป็นอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนได้และมีน้ำน้อย ซึ่งวิธีการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับโรงเรียนแห่งนี้

ในระหว่างการจัดทำระบบและก่อสร้างโรงเรือนได้รับความช่วยเหลือด้านแรงงานจากครู นักการ และผู้ปกครองของนักเรียน ขณะเดียวกันได้มีการสอนและแนะนำวิธีการปลูกแก่ครู นักเรียน และชาวบ้านผู้ปกครองด้วย ทำให้นักเรียนได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์จากพืชผักที่นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการปลูกด้วย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2566). หมู่เกาะสาหร่าย. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566, https://thai.tourismthailand.org/Attraction

ของดีเมืองสตูล. (2561). เรือไก่. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566, https://www.facebook.com/Goodinsatun/photos

นงลักษณ์ อ่อนเครง. (2555). เกาะยะระโตดนุ้ย เก็บเรื่อง "เกาะ" และคนชาวเกาะ มาเล่า... (เกาะที่ 5). สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566, https://www.gotoknow.org/

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2566). ตำบลเกาะสาหร่าย. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566, https://th.wikipedia.org.

องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย. (2566). ประวัติความเป็นมา. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566, https://kohsarai.go.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย. (2566). สภาพและข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566, https://kohsarai.go.th/

ฉู่ยิม แซ่กวนยิม. ประชาชน. สัมภาษณ์, 21 กรกฎาคม 2566 

ดลฮอนี สุวาหลำ. กำนันตำบลเกาะสาหร่าย. สัมภาษณ์, 21 กรกฎาคม 2566

หมาน หนูชูสุก. ประชาชน. สัมภาษณ์, 21 กรกฎาคม 2566