ชุมชนวัฒนธรรมเรียบคลองคลองขนมจีน ชุมชนเก่าแก่ขนาดใหญ่ที่ยังคงร้อยเรียงเรื่องราวความผูกพันของวิถีชีวิตผู้คนกับสายน้ำมาได้อย่างยาวนานท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของกาลสมัย
ชุมชนวัฒนธรรมเรียบคลองคลองขนมจีน ชุมชนเก่าแก่ขนาดใหญ่ที่ยังคงร้อยเรียงเรื่องราวความผูกพันของวิถีชีวิตผู้คนกับสายน้ำมาได้อย่างยาวนานท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของกาลสมัย
ชุมชนสาคลีเป็นชุมชนเก่าแก่ขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 7 หมู่บ้าน 3 ตำบล ถูกสันนิษฐานว่าก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยชุมชนแห่งนี้มีรูปแบบการสร้างบ้านเรือนที่สืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งสอดคล้องกับประวัติวัดมารวิชัยที่มีการบันทึกไว้ว่า เป็นวัดเก่าแก่มีการสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ด้านหลังอุโบสถทางทิศเหนือยังมีการขุดพบซากกำแพงเก่าที่ก่อด้วยอิฐมอญซึ่งถูกกองทัพพม่าเผาทำลายทับถมกันเป็นเนินดิน โดยชาวบ้านเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่าโคกวิหาร
การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนในชุมชนสาคลีนั้นมีการเข้ามาอยู่อาศัยของผู้คน 2 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มแรก เป็นกลุ่มผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมของชุมชน เป็นกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิม ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณตลาดท่าเกวียนในพื้นที่ชุมชนสาคลี และกลุ่มผู้คนที่อพยพหนีภัยสงครามในสมัยค่ายบางระจันแตกทัพ และหนีกองทัพพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนสาคลี
- กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากบ้านกระโดงทอง บ้านปากคลอง และจากอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินจนทำให้พื้นที่ป่ากลายเป็นท้องทุ่งนาในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทุ่งสาคลี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของชุมชน และทุ่งรางบ่อชะโด ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของชุมชน
ชุมชนสาคลี อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมคลองขนมจีน เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนวัฒนธรรมคลองขนมจีน โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 7 หมู่บ้านใน 3 ตำบล ของอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย หมู่ที่ 9 และ 10 ตำบลบางนมโค หมู่ที่ 1 และ 2 ตำบลสามตุ่ม หมู่ที่ ที่ 3, 4 และ 5 ตำบลบ้านหลวง ชุมชนสาคลีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอเสนาประมาณ 6 กิโลเมตร มีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านหลวง และตำบลบ้านแพน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอลาดบัวหลวง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านหลวง และตำบลมารวิชัย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอบางไทร
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของชุมชนสาคลีโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีลำคลองไหลผ่านหลายสาย ได้แก่ คลองขนมจีน คลองอ้ายม้า คลองตาวาน คลองหนองเสือ คลองสาคลี และคลองวังน้อย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของพื้นที่ชุมชน
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศค่อนข้างร้อน ได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในหน้าหนาว และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้มีฝนตกชุก โดยฤดูฝนเริ่มในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ฤดูหนาวช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม และฤดูร้อนเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
ชุมชนสาคลีเป็นกลุ่มชุมชนทางวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 7 หมู่บ้านใน 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางนมโค (หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 10) ตำบลสามสุ่ม (หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2) และตำบลบ้านหลวง (หมู่ที่ 3, 4 และ 5) โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรทั้ง 7 หมู่บ้านในชุมชนสาคลี ดังนี้ (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
- หมู่ที่ 1 บ้านสาคลี มีประชากรทั้งสิ้น 329 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 167 คน ประชากรหญิง 162 คน และจำนวนหลังคาเรือน 130 หลังคาเรือน
- หมู่ที่ 2 บ้านสาคลีโคกจุฬา มีประชากรทั้งสิ้น 332 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 167 คน ประชากรหญิง 165 คน และจำนวนหลังคาเรือน 104 หลังคาเรือน
- หมู่ที่ 3 บ้านหน้าวัดมารวิชัย มีประชากรทั้งสิ้น 126 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 54 คน ประชากรหญิง 72 คน และจำนวนหลังคาเรือน 45 หลังคาเรือน
- หมู่ที่ 4 บ้านสาคลี มีประชากรทั้งสิ้น 205 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 112 คน ประชากรหญิง 93 คน และจำนวนหลังคาเรือน 76 หลังคาเรือน
- หมู่ที่ 5 บ้านสาคลี มีประชากรทั้งสิ้น 179 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 98 คน ประชากรหญิง 81 คน และจำนวนหลังคาเรือน 48 หลังคาเรือน
- หมู่ที่ 9 บ้านต้นตาล มีประชากรทั้งสิ้น 450 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 509 คน ประชากรหญิง 959 คน และจำนวนหลังคาเรือน 376 หลังคาเรือน
- หมู่ที่ 10 บ้านเกาะกลาง มีประชากรทั้งสิ้น 395 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 415 คน ประชากรหญิง 810 คน และจำนวนหลังคาเรือน 227 หลังคาเรือน
การประกอบอาชีพ
ปัจจุบันการประกอบอาชีพของสมาชิกชุมชนสาคลีมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมาก จากเดิมที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม โดยการทำนาเป็นอาชีพหลักของประชากรกว่า 70% มีการค้าขายและบริการบ้าง ต่อมาเมื่อมีสังคมมีความเจริญก้าวหน้าและมีพัฒนาการการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ทำให้ผู้คนในท้องถิ่นหันไประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น โครงสร้างทางอาชีพของชุมชนสาคลีในปัจจุบันจึงได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต มีทั้งอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม พนักงานบริษัท ค้าขาย รับราชการ เกษตรกรรม และรับจ้างทั่วไป เป็นต้น
กลุ่มองค์กรชุมชน
1.กลุ่มเยาวชนสาคลี รวมตัวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2532 มีจุดมุ่งหมายของกลุ่มเยาวชนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาด้านขยะและสิ่งแวดล้อมชุมชน การเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานประสานงาน และกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชุมชน ด้านกีฬาและนันทนาการ ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
2.กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือก จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2534 เพื่อพัฒนาเกษตรกรให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง เกิดการทำเกษตรแบบผสมผสาน ทำนา ทำสวน ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์หลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว ต่อมากลุ่มก็ได้มีการขยายออกเป็น "เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรรมทางเลือก"
3.กลุ่มธุรกิจทางเลือก จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2536 เพื่อสร้างทางเลือกให้กับคนวัยหนุ่มสาวของชุมชน และตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มคนต่างถิ่นที่มาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นการพัฒนาอาชีพให้สอดคล้องกับสภาพทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มศักยภาพของกลุ่มอาชีพ และมีความหลากหลาย โดยมีการช่วยเหลือกันของสมาชิกกลุ่ม และพยายามส่งเสริมการประกอบธุรกิจให้เกิดรายได้ที่หมุนเวียนภายในชุมชน
4.กลุ่มผักปลอดสารพิษ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 เดิมเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มเกษตรกรทางเลือก กลุ่มสามารถมีตลาดรองรับผลผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ ด้วยการนำผลผลิตไปจำหน่ายในโรงงาน และสมาชิกบางส่วนก็นำไปจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น ทั้งยังมีการออมทรัพย์เป็นกองทุนสนุบสนุนกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรของกลุ่มสมาชิก
5.โครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ เป็นโครงการที่ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ร่วมกับเยาวชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ให้เยาวชนเห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำ รวมถึงการสนับสนุนให้เยาวชนคิดค้นโครงการอนุรักษ์น้ำด้วยการลงสำรวจพื้นที่จริง ศูนย์การเรียนรู้เยาวชนพิทักษ์สายน้ำแห่งแรกของจังหวัดถูกจัดตั้งขึ้นในโรงเรียนสาคลีวิทยา อำเภอเสนา โดยมีกลุ่มนักเรียนเป็นผู้อำนวยความสะดวกและดำเนินกิจกรรมในสถานีการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้แก่เยาวชนในพื้นที่และบุคคลทั่วไปที่แวะเวียนมาเรียนรู้ดูความสำเร็จของโครงการตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับเครือข่ายเยาวชน ให้แก่กลุ่มนักเรียนและสมาชิกชุมชนที่ใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางกว่า 21 กิโลเมตร เลียบคลองขนมจีน เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้ตระหนักและเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์แหล่งน้ำในชุมชนของตัวเอง ส่งผลให้แหล่งน้ำในชุมชนมีคุณภาพที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
ชุมชนสาคลีเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของผู้คนมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายร้อยปี วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการทางสังคมของชุมชน ตั้งแต่การทำเกษตรกรรมแบบพึ่งพาธรรมชาติ การทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ และการเข้ามาของอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ในพื้นที่บริเวณชุมชน ทั้งการย้ายถิ่นฐานของแรงงานต่างถิ่นเพื่อรองรับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้วิถีชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากอดีตเป็นอย่างมาก
ในยุคของการทำเกษตรกรรมเป็นหลักชุมชนมีการ "เอาแรงทำนา" คือ รูปแบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการทำนาที่ทุกคนจะช่วยกันตั้งแต่การไถไปจนถึงเก็บเกี่ยว คือ "การลงแขกเกี่ยวข้าว" ที่แรงงานแต่ละบ้านจะไปช่วยกันเก็บเกี่ยวผลผลิตในทุ่งนาของแต่ละครอบครัวจนสิ้นสุดฤดูกาล หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วชาวบ้านก็จะมีการปลูกพืชชนิดอื่นๆ เสริม เช่น ถั่วเขียว เพื่อเป็นการบำรุงดินและช่วยจัดการพื้นที่และใช้เวลาว่างหลังฤดูเก็บเกี่ยว
วัฒนธรรมชุมชน
ในชุมชนสาคลีมีวัฒนธรรมและประเพณีที่ค่อนข้างหลากหลาย โดยเฉพาะงานประเพณีหรือเทศกาลนั้นจะปรากฏพบอยู่ตลอดทั้งปี ในที่นี้จะยกตัวอย่างถึงประเพณีเข้าพรรษา ซึ่งนับเป็นหนึ่งประเพณีสำคัญประเพณีหนึ่งของชาวชุมชนสาคลี เมื่อชาวนาหว่านข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่ฤดูน้ำหลากไปจนถึงปลายปี ชาวบ้านจะจับปลาในคลองขนมจีนมาประกอบอาหาร และหมักไว้ทำปลาร้า ปลาแห้ง เพื่อเป็นการถนอมอาหารสำหรับช่วงหน้าแล้ง และเป็นช่วงเทศกาลงานบุญ ผู้สูงอายุมักนิยมถือศีล เข้าวัดปฏิบัติธรรม คนหนุ่มก็จะถือโอกาสบวชเรียนในช่วงนี้ไปด้วย ชาวบ้านก็จะทำอาหารหวานคาวไปทำบุญ ตักบาตร ถวายพระที่วัด หลังงานบุญเข้าพรรษาข้าวในนาก็จะเริ่มตั้งท้อง ชาวนาก็จะทำพิธีสู่ขวัญข้าว ซึ่งพิธีกรรมนี้จะจัดขึ้นในวันศุกร์ เพราะถือเป็นวันมงคลและเป็นวันของพระแม่โพสพ แต่ในปัจจุบันหาชมได้ยากแล้ว
ชุมชนสาคลีเป็นชุมชนชาวพุทธ มีวัดผจญมารเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนมาตั้งแต่อดีตแรกสร้างชุมชน เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ ทำหน้าที่ขัดเกลาความคิดทางศีลธรรม จริยธรรม เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นของชุมชนมาโดยตลอด ในปี พ.ศ. 2481 หลวงพ่อมี เจ้าอาวาสวัดขณะนั้นได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดมารวิชัย เป็นเป็นที่เคารพศรัทธาและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนมาถึงปัจจุบัน
ทรัพยากรธรรมชาติ
- คลองขนมจีน เป็นลำคลองที่แยกออกจากแม่น้ำน้อย ไหลผ่านหมู่ที่ 3, 4 และ 5 ตำบลบ้านหลวง หมู่ที่ 1 และ 2 ตำบลสามตุ่ม หมู่ที่ 9 และ 10 ตำบลบางนมโค มีความสำคัญต่อชุมชนสาคลีเป็นอย่างมาก เนื่องจากไหลผ่านทุกหมู่บ้านของชุมชน เป็นคลองหลักที่ทำหน้าที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของชุมชน ทั้งด้านวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรม และวิถีสังคมของผู้คนมาตั้งแต่อดีต ภายในคลองมีน้ำตลอดทั้งปีไม่แห้งเหือด ใช้สำหรับผลิตน้ำประปาชุมชนเพื่อใช้อุปโภค และใช้ทางการเกษตรเพื่อดูแลผลผลิตของเกษตรกรในชุมชน ทั้งยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารของผู้คนในท้องถิ่น
- คลองวังน้อย เป็นลำคลองที่แยกออกจากคลองขนมจีนบริเวณหมู่ที่ 10 ตำบลบางนมโคกับตำบลสามตุ่ม ทางด้านทิศใต้ของชุมชน
- คลองอ้ายม้า แยกออกจากคลองขนมจีนบริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านหลวง เป็นเขตแบ่งแยกพื้นที่ติดต่อหมู่ที่ 2 และ 3 ตำบลบ้านหลวง โดยไหลผ่านหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านหลวง
- คลองตาวาน แยกออกจากคลองอ้ายม้าบริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านหลวง เป็นเขตแบ่งพื้นติดต่อที่หมู่ที่ 3, 4, 5 กับหมู่ที่ 6 ตำบลบ้านหลวง โดยไหลผ่านหมู่ที่ 3, 4, 5 ตำบลบ้านหลวง
- คลองสาคลี แยกออกจากคลองขนมจีนบริเวณหมู่ที่ 4 ตำบลบ้านหลวง เป็นเขตพื้นที่กั้นระหว่างหมู่ที่ 4 และ 5 ตำบลบ้านหลวงกับตำบลสามตุ่ม โดยไหลผ่านหมู่ที่ 4 และ 5 ตำบลบ้านหลวง
- คลองหนองเสือ เป็นคลองที่แยกออกจากคลองสาคลีในหมู่ที่ 4 ตำบลบ้านหลวง โดยไหลผ่านหมู่ที่ 4 และ 5 ตำบลบ้านหลวง
ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
จรินทร์ ณรงค์ฤทธิ์. (2554). ทุนทางสังคมกับการรองรับวิกฤตเศรษฐกิจไทย : กรณีศึกษาชุมชนบ้านสาคลี อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วิทยานิพนธ์พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เทศบาลตำบลบางนมโค. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). เทศบาลตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา.
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล. (ม.ป.ป.). "น้ำ" ลมหายใจของชาวชุมชนคลองขนมจีน. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.wwf.or.th/