Advance search

วัดโตนดและบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมกับวิถีชีวิตบ้านริมน้ำ ท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม และพัฒนาการของสังคมเมือง

หมู่ที่ 8
วัดโตนด
วัดชลอ
บางกรวย
นนทบุรี
ทม.บางกรวย โทร. 0-2443-0610-19
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
21 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 พ.ค. 2024
วัดโตนด


วัดโตนดและบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมกับวิถีชีวิตบ้านริมน้ำ ท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม และพัฒนาการของสังคมเมือง

วัดโตนด
หมู่ที่ 8
วัดชลอ
บางกรวย
นนทบุรี
11130
13.8081851805231
100.474191159009
เทศบาลเมืองบางกรวย

ชุมชนวัดโตนดเป็นพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำที่มีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยมาแต่เดิมควบคู่ไปกับวัดโตนด ซึ่งเดิมนั้นอาชีพของประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเพาะปลูก ในอดีตบริเวณพื้นที่ชุมชนวัดโตนดเต็มไปด้วยสวนทุเรียนและสวนมังคุด นอกจากนั้นในพื้นที่ชุมชนวัดโตนดมีจุดสำคัญ คือ หัวแหลม ซึ่งเป็นจุดพักเรือและเป็นบริเวณจุดหยุดเรือสำหรับค้าขายในอดีตที่ยังไม่มีเส้นทางสัญจรทางรถยนต์ และเป็นชุมชนที่มีเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนตั้งบ้านเรือนกันในรูปแบบบ้านริมน้ำและมีลักษณะเป็นชุมชนเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จากการขยายตัวของชุมชนดั้งเดิมอย่างช้า ๆ และพัฒนาการของสังคมเมืองที่เจริญก้าวหน้า โดยชุมชนมีวัดโตนดเป็นวัดประจำชุมชน ทำให้วัดกับชุมชนมีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น

ชุมชนวัดโตนดหมู่ที่ 8 ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาลเมืองบางกรวย มีพื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีลำคลองไหลผ่านหลายสาย เช่น คลองบางกอกน้อย คลองอ้อมนนท์ ฤดูน้ำหลากมักประสบปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปี พื้นที่ชุมชนมีคลองไหลผ่านโดยรอบทำให้เป็นเสมือนชุมชนปิด ชุมชนมีเส้นทางหลักสองทางซึ่งทั้งสองทางต้องผ่านวัด ได้แก่ เส้นทางที่ 1 เข้าทางถนนบางกรวย-ไทรน้อย ผ่านเข้าทางวัดชลอ ข้ามสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย เส้นทางที่ 2 เข้าทางถนนบางกรวย-จงถนอม เข้าซอยปู่เงิน ผ่านวัดโตนด โดยชุมชนมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับหมู่ที่ 9 ชุมชนโพธิ์บางโอ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ คลองบางกอกน้อย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนบางกรวย-จงถนอม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองอ้อมนนท์

ข้อมูลประชากรตำบลวัดชลอจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 8 ชุมชนวัดโตนด ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีประชากรทั้งสิ้น 1,899 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 907 คน ประชากรหญิง 992 คน และจำนวนครัวเรือน 1,110 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ชาวชุมชนวัดโตนดมีความเป็นอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรม คือ มีการอยู่ร่วมกันของชุมชนชาวพุทธ และชุมชนชาวอิสลาม ด้วยความเข้าใจ เรียนรู้ความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรม เปิดโอกาสให้คนในชุมชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชน ตามกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งการร่วมแสดงความคิดเห็น ตลอดจนเปิดโอกาสให้คนในชุมชนดำเนินกิจกรรมตามแผนการดำเนินงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเปิดกว้างอย่างเท่าเทียมกัน ให้ทุกคนในชุมชนมีความเข้าใจ และเรียนรู้ความแตกต่าง ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ที่มีอยู่ เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มในชุมชนร่วมทำกิจกรรม สร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งชาวชุมชนโดยรอบวัดโตนดได้รับการสงเคราะห์จากวัดให้ดำเนินกิจกรรมร่วมกันพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เกิดการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมบนแนวทางของสังคมพหุวัฒนธรรม

ชาวชุมชนอิสลามมีการส่งเสริมการเรียนการสอนพิเศษในวันเสาร์-อาทิตย์ ร่วมกันส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีโดยการรวมกลุ่มอาสาสมัครกิจกรรมทำความสะอาดบริเวณแหล่งสาธารณประโยชน์ ทำความสะอาดครัวเรือนของตนเอง มีผู้นำที่ปฏิบัติตามหลักการศาสนาอย่างจริงจัง ทำให้ชุมชนมีการเชื่อมโยงระหว่างกันในการทำกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมของชุมชน ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้ภายในชุมชนอย่างกว้างขวาง

ชุมชนวัดโตนดมีลักษณะของชุมชนในบริบทที่มีวัดเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ชุมชนและวัดมีบทบาทร่วมกันในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา มีการบริหารจัดการชุมชนแบบมีส่วนร่วม มีกิจกรรมที่เกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชน เป็นประชากรหรือพลเมืองของชุมชนที่มีความหลากหลายในด้านของกลุ่มคน นอกจากนี้ชุมชนวัดโตนดมีการรวมตัวกันตั้งแต่การรวมเป็นกลุ่มเล็ก องค์กรชุมชน สหกรณ์ เครือข่าย โดยมีวัดเป็นพื้นที่ของการรวมตัวกัน มีการจัดสรรพื้นที่ในชุมชนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ และใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์กันิมีความสนใจทางสังคมร่วมกัน มีกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน มีความสนิทสนมกัน และมีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้าน ทั้งในระดับครอบครัว หมู่บ้าน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรม และชุมชนเป็นแนวร่วมในการปฏิบัติ เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาใช้พื้นที่ภายในวัดได้อย่างเต็มที่ ซึ่งภายในวัดประกอบไปด้วยศูนย์เรียนรู้ภายในวัดเพื่อส่งเสริมศักยภาพและการเรียนรู้ 7 ศูนย์ คือ

  1. ศูนย์การเรียนรู้ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด 77 ต้น 77 จังหวัด-เผยแพร่อนุรักษ์ ขยายผล และให้ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ประจำจังหวัดในประเทศไทย
  2. ศูนย์การเรียนรู้ชีววิถีวัดโตนด จัดกิจกรรมการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์เพื่อการสร้างงานสร้างรายได้เรียนรู้เกษตรปลอดภัยไร้สารเคมีใช้ EM ในการฟื้นน้ำฟูใสบำรุงดินและดูแลสิ่งแวดล้อม
  3. ศูนย์การเรียนรู้ศิลปะวัฒนะธรรมและภูมิปัญญา-โครงการเรียนรู้อาชีพชุมชน สร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้
  4. ศูนย์การเรียนรู้สมรรถภาพทางสังคมเศรษฐกิจของผู้พิการและผู้สูงอายุ-บริการสาธารณสุขให้เข้าถึงชุมชน
  5. ศูนย์การเรียนรู้การวิจัยและบริการวิชาการ (ห้องสมุด) ให้บริการงานวิชาการ ตำราและกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ
  6. ศูนย์คุมประพฤติภาคประชาชนวัดโตนด โดยกรมคุมประพฤติกระทรวงยุติธรรม-จัดกิจกรรมให้ความรู้พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้กับเยาวชนกลุ่มเสี่ยงและผู้ต้องคุมประพฤติและประชาชนทั่วไป
  7. ศูนย์เรียนรู้สุดท้ายของชีวิต (สุขคติสถาน) บ้านหลังสุดท้ายของชีวิตเรียนรู้ชีวิตและความตาย นวัตกรรมสื่อกลางการแสดงความอาลัยด้วยพวงหรีดดิจิตอล

นอกจากนี้ ชุมชนวัดโตนดยังร่วมกับวัดโตนดในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการสร้างสร้างอาชีพให้กับสมาชิกในชุมชน มีทั้งการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ มากมายขึ้นภายในชุมชน ทั้งยังมีการสนับสนุนจากองค์กรหน่วยงานภายนอกเข้ามาให้ความรู้ ร่วมผลักดันขับเคลื่อนชุมชนร่วมกับชาวบ้าน เช่น โครงการฝึกอาชีพคนพิการ หลักสูตร "น้ำมันนวดสมุนไพร" ที่จัดโดยทางเทศบาลเมืองบางกรวยได้ร่วมกับชุมชนและทางวัดในการใช้สถานที่เพื่อให้ความรู้ คำแนะนำในการสร้างอาชีพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้พิการ ผู้ที่ดูแลคนพิการ ชุมชนวัดโตนดเพื่อสร้างอาชีพให้กับสมาชิกในชุมชนได้มีรายได้เพิ่มเติมเข้ามาในครัวเรือนและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น

ชาวชุมชนวัดโตนดเป็นชุมชนริมน้ำที่อยู่คู่กันกับวัดโตนดมาเป็นระยะเวลายาวนาน ชุมชนและวัดมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีวัดเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อและศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนภายในชุมชน และวัดโตนดยังเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชน ทั้งยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของสมาชิกภายในชุมชนทุกศาสนา มีการรวมตัวกันของสมาชิกในชุมชนทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันทั้งทางประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมไปถึงการจัดการพัฒนาชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ โดยวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนอยู่แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความรักสามัคคีในหมู่คณะ และมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ด้านสังคมและวัฒนธรรม

การเชื่อมโยงวัฒนธรรมชุมชนกับกิจกรรมโครงการรักษาศีลห้าที่เป็นงานหลักของวัด และงานพิธีกรรมต่าง ๆ ที่วัดยังอนุรักษ์ไว้ โดยยังคงอนุรักษ์การใช้กระทงใบตองกันในวันพระ พระสงฆ์และชาวชุมชนวัดโตนดยังคงเย็บกระทงใบตองไว้บรรจุอาหาร ผ่านทางกระบวนการและกิจกรรมกิจกรรมแลกอาหารในวันพระ การใช้ใบตองใส่อาหาร ทำดอกไม้ใบเตยถวายพระ โดยวัดโตนดร่วมกับชุมชนวัดโตนด จัดกิจกรรมทำบุญในวันพระ เป็นการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชนมาสานต่อ ได้แก่ การแลกอาหารในวันพระเป็นการแสดงถึงวัฒนธรรมที่ดีงาม เพื่อให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมสมัยก่อน การแลกอาหาร การร่วมวงรับประทานอาหาร ได้พูดคุยปรึกษากันในวันที่มาทำบุญ การใช้ใบตอง การประดิษฐ์ดอกไม้จากใบเตยถวายพระ เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะกับสิ่งแวดล้อม เช่น กิจกรรมทำกระทงใบตอง การประดิษฐ์ดอกไม้ใบเตย ประเพณีทอดกฐินแข่งเรือ

การอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรม การเข้าใจและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันแบบผสานความเป็นชุมชนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันระหว่างชุมชนชาวพุทธกับชุมชนชาวมุสลิม ร่วมกันพัฒนาชุมชนในงานสาธารณประโยชน์ ร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือภายในชุมชนเพื่อการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นวัฒนธรรม ซึ่งชุมชนวัดโตนดมีความเป็นอยู่แบบพึ่งพาอาศัย กิจกรรมบางอย่างชาวชุมชนวัดโตนดสามารถมาร่วมจัดที่วัดได้ เช่น กิจกรรมงานวันเกิด งานบวช งานแต่งงาน เนื่องจากวัดโตนดมีนโยบายว่าวัดเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวชุมชนวัดโตนดเป็นเจ้าของร่วมกัน คือ ร่วมกันดูแลรักษา ร่วมกันพัฒนาให้ดีขึ้น และร่วมกันใช้ประโยชน์

วัดโตนดเป็นวัดที่ร่มรื่นนอกจากพื้นที่ปลูกต้นไม้ มีสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแก่คนในชุมชน โดยวัดและชุมชนร่วมกันจัดกิจกรรมดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในวันสำคัญ ร่วมกับเครือข่ายภายนอก ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความร่วมมือของชุมชนร่วมกันปลูกต้นไม้ คัดแยกขยะ กำจัดขยะมูลฝอยในแหล่งน้ำ กำหนดให้ชุมชนเป็นชุมชนสีเขียว อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กำหนดแผนในการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชนเกิดความเรียบร้อย ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รณรงค์การนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้ในชีวิตประจำวัน วัดกับชุมชนร่วมกันส่งเสริมการทำบุญแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม คิดค้นนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการพวงหรีดดิจิทัล โดดเด่น ไม่เป็นขยะ ไม่เป็นภาระวัด เผาศพ ไม่เผาทรัพย์

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จงกลดี พงษ์ศรี. (2565). การมีส่วนร่วมของวัดกับชุมชนเพื่อการพัฒนาชุมชน กรณีศึกษาชุมชนวัดโตนด อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วัดโตนด หลวงพ่อสำเร็จ บางกรวย นนทบุรี. (2567). สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2567, จาก https://web.facebook.com/

ทม.บางกรวย โทร. 0-2443-0610-19