ชุมชนที่มีโรงงานเผาถ่านด้วยไม้โกงกาง บรรพบุรุษมีการหาเลี้ยงชีพแบบหากินในคลอง
ชุมชนที่มีโรงงานเผาถ่านด้วยไม้โกงกาง บรรพบุรุษมีการหาเลี้ยงชีพแบบหากินในคลอง
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เขายี่สารเดิมเป็นเกาะในทะเล และบริเวณเขาด้านหลังหมู่บ้านในปัจจุบันเป็นที่จอดเรือเดินมหาสุมทร เรียกว่า “อู่ตะเภา” คนกลุ่มแรกที่เข้ามาก่อตั้งหมู่บ้านก็คือชาวจีนที่เดินทางมากับเรือสินค้าเพื่อทำการค้าในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เกิดเหตุอับปาง ทำให้พี่น้อง 3 คนต้องพลัดพรากจากกัน โดยคนหนึ่งในนั้นถูกกระแสน้ำพัดขึ้นฝั่งที่บริเวณเขายี่สาร จนกลายมาเป็นคนแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานยังบริเวณเขายี่สารแห่งนี้ ซึ่งบุคคลที่ได้กล่าวถึงคือ “พ่อปู่ศรีราชา” ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมจิตใจและการเคารพบูชาเคารพสูงสุดของชาวยี่สารมาจนถึงทุกวันนี้
แต่จากหลักฐานทางโบราณคดี สภาพทางภูมิศาสตร์ และเอกสารทางประวัติศาสตร์ นักวิชาการสันนิษฐานไว้ว่า ชุมชนบ้านยี่สารคงจะเคยเป็นชุมชนการค้าภายในที่อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลเล็กน้อย เนื่องจากมีสภาพพื้นที่เป็นดอน มีภูเขาย่อม ๆ เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานในป่าชายเลน และเป็นจุดที่อยู่ในตำแหน่งการคมนาคมระหว่างปากแม่น้ำแม่กลองและเมืองเพชรบุรี ด้วยสาเหตุนี้จึงดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาอยู่อาศัย ทำให้ชุมชนยี่สารในอดีตกลายเป็นชุมชนที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง
แต่เดิมชาวยี่สารอาศัยการจับสัตว์น้ำตามลำคลองและชายฝั่งทะเลเป็นอาหาร และสะสมเป็นผลผลิตส่วนเกินไว้แลกสิ่งที่จำเป็นจากชุมชนอื่น ๆ ขณะเดียวกันบางครอบครัวที่มีกำลังเหลือพอจะมีการเข้าจับจองพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อปลูกต้นแสมและจากไว้เป็นแหล่งรายได้ ในรูปของไม้ฟืนและตับทำหลังคา ซึ่งตอนนั้นยังทำเพียงแค่คนกลุ่มน้อย จนกระทั่งเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา จึงได้มีการนำเอาฝักต้นโกงกางใบเล็ก (พันธุ์ไม้ชายเลนที่ขึ้นทางภาคใต้ของประเทศ) มาปลูกในท้องถิ่น และได้ผลดี จึงค่อย ๆ มีการขยายพื้นที่ป่าปลูกโกงกางและแพร่หลายอย่างรวดเร็วในช่วงหลังปี 2478 ภายหลังมีการก่อสร้างโรงเผาถ่านไม้โกงกาง ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทางกรุงเทพฯ และได้มีการสร้างขึ้นมาอีกนับสิบโรงงานหลังจากนั้น ทำให้ชาวยี่สารหันมายึดอาชีพทำสวนป่าและเผาถ่านโกงกางทั้งชุมชน
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ชุมชนยี่สาร หมู่1 ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน ในเขตน้ำกร่อย ห่างจากปากลำคลองที่ไหลไปลงทะเลอ่าวไทยประมาณ 3 กิโลเมตร รวมถึงเป็นที่ตั้งของวัดเขายี่สารและตั้งอยู่ริมคลองขุดยี่สาร ถือเป็นลำน้ำสำคัญสายหนึ่งในพื้นที่ พื้นที่โดยรอบหมู่บ้านมีสภาพเป็นป่าชายเลนหนาแน่น เป็นแหล่งอาศัย วางไข่ และเติบโตของสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งที่มาจากลำน้ำฝั่งสวนอัมพวาและจากทะเลอ่าวไทย แต่ภายหลังพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสวนป่าโกงกางที่ชาวบ้านปลูกขึ้นและมีไม้ชายเลนอื่น ๆ ฝาด ตะบูน ตะบัน ลำพู ลำแพน ฯลฯ ขึ้นแซม ได้ถูกแปรสภาพเป็นนากุ้ง
เขายี่สาร เป็นเสมือนใจกลางของชุมชน เป็นเขาลูกโดดขนาดย่อม และเป็นเขาลูกเดียวที่ปรากฏในพื้นที่ “สามสมุทร” คือ จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ บนภูเขาและบริเวณเชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดเขายี่สาร สันนิษฐานได้ว่า มีอายุตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย บริเวณโดยรอบเขายี่สารจรดริมคลองขุดยี่สารเป็นทำเลที่ชาวบ้านตั้งบ้านเรือนหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ฝั่งตรงข้าม และชาวบ้านกลุ่มนี้จะพายเรือข้ามฟากมายังฝั่งวัดเขายี่สารเสมอ เนื่องจากวัด ตลาดนัด ร้านค้า สถานีอนามัย และสิ่งอำนวยความสะดวกอันจำเป็นต่าง ๆ ล้วนตั้งอยู่ทางฝั่งนี้ทั้งสิ้น
โครงข่ายลำนำที่เชื่อมต่อกับบริเวณนี้ไปได้ทั้งทางทะเลคืออ่าวไทย บริเวณปากอ่าวบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และปากอ่าวแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม อีกทั้งไปสู่ชุมชนภายในที่เป็นสวนและไร่นา ทั้งในเขตสมุทรสงคราม ราชบุรี และเพชรบุรี การเข้าสู่กรุงเทพฯ ในอดีตชาวยี่สารใช้เรือแจว ต่อมาเมื่อมีรถไฟผ่านจังหวัดราชบุรีและเพชรบุรี ก็อาศัยการแจวเรือไปรอขึ้นรถไฟตามสถานีรายทาง
ชาวยี่สารในหมู่1 จำนวนมากอาศัยในบ้านไม้ทรงไทยหลังใหญ่ ขนาดบริเวณบ้านมากกว่า 100 ตารางวาขึ้นไป โดยที่บ้านหลังใหญ่เกิดจากผลของการสร้างฐานะ แต่ในปัจจุบันบ้านที่เคยสร้างนั้นส่วนใหญ่มีคนอยู่เบาบาง เนื่องจากวัยทำงานออกไปทำงานนอกชุมชน ที่ยังอยู่ในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เด็กวัยกำลังเรียน และผู้ที่ประกอบอาชีพภายในชุมชนยี่สารเพียงเท่านั้น
สถานที่สำคัญ
วัดเขายี่สาร เป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สิ่งที่น่าสนใจได้แก่ พระวิหาร บนยอดเขามีลักษณะเป็นรูปเรือ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยซึ่งเป็นองค์ประธานของวัด ถ้ำพระนอนประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ซึ่งมีนิ้วพระบาทเก้านิ้ว นอกจากนี้ด้านล่างยังมีศาลประดิษฐานหลวงพ่อปู่ศรีราชามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทั่วไป (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2564)
พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร พิพิธภัณฑ์บ้านยี่สารเริ่มก่อตั้งราวปี พ.ศ. 2539 จากการที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งช่วยกันเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ โบราณวัตถุจากวัดเขายี่สาร และรับบริจาคสิ่งของต่าง ๆ จากชาวบ้านในชุมชนยี่สาร ตั้งใจว่าอยากจะนำมาจัดแสดงไว้ให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชม และได้ขออนุญาตจากวัดเขายี่สารใช้พื้นที่ใต้ถุนศาลาการเปรียญเป็นสถานที่จัดแสดง ต่อมาได้ทุนจนเริ่มสร้างเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา และมีการตั้งคณะกรรมการบริหารและดูแลจัดการพิพิธภัณฑ์ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2555)
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนยี่สาร จำนวน 237 หลัง ประชากรรวมทั้งหมด 572 คน แบ่งเป็นประชากรชายได้ 343 คน แบ่งเป็นประชากรหญิงได้ 369 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)
ชาวบ้านยี่สารมีลักษณะร่วมกับชาวไทยในเขตภาคกลางฝั่งตะวันตก กล่าวคือ เป็นชุมชนที่พบร่องรอยผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่น จีน และมอญ หลักฐานที่ชัดเจนคือโบราณวัตถุที่ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่วัดเขายี่สาร เป็นสิ่งของที่พบอยู่ในชุมชน เช่น สิ่งของเครื่องใช้ของชาวจีน ชิ้นส่วนเสาหงส์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของศาสนวัตถุในวัฒนธรรมชาวมอญ ร่วมกับของใช้ต่าง ๆ ที่แพร่หลายในหมู่บ้าน ในส่วนของร่องรอยวัฒนธรรมจีนที่ปรากฏให้เห็นในชุมชน เช่น การใช้นามสกุลเป็นแซ่ ซึ่งพบการใช้นามสกุลแซ่ลิ้มร่วมกันหลายครอบครัว จนถึงการใช้สรรพนามเรียกขานกันแบบชาวจีน เช่น เรียกหญิงสูงไวกว่าว่า เจ๊ เรียกบิดาและปู่ที่มีเชื้อสายจีนว่า เตี่ย และ ก๋ง ในชุมชนยี่สารมีสายตระกูลเก่าแก่ที่มีสมาชิกจำนวนมาก และได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้านให้ดำรงตำแหน่งผู้นำชุมชนเรื่อยมา คือตระกูล พยนต์ยิ้ม ก็มีเชื้อสายสืบมาจากชาวจีน เช่นเดียวกับตระกูล อ่อนอุระ ซึ่งมีสมาชิกอาศัยอยู่จำนวนมากในชุมชนเช่นกัน
ระบบเครือญาติ
ชาวยี่สารมีความเกี่ยวดองเป็นเครือญาติใกล้ชิดกับชุมชนใหญ่ 2 แห่ง คือ ชุมชนทางฝั่งสวนอัมพวาซึ่งเป็นชาวสวน และชุมชนบ้านปากอ่าวบางตะบูนซึ่งเป็นชาวประมง โดยเป็นแหล่งสำคัญในการแลกเปลี่ยนสิ่งของจำเป็นกันเรื่อยมาตั้งแต่ครั้งอดีต ทำให้มีโอกาสได้สานสัมพันธ์กัน ทั้งในลักษณะของการแต่งงานระหว่างหนุ่มสาวและการเป็นคู่ค้า สิ่งที่ชาวยี่สารรับเอาจากฝั่งสวนมักอยู่ในรูปของพืชผักผลไม้ ซึ่งเป็นของจำเป็นที่ขาดแคลนในชุมชน รวมทั้งวัฒนธรรมแบบชาวเมือง เช่น ดนตรีไทย สูตรขนมหวาน โดยส่งอาหารที่แปรรูปจากน้ำกร่อยและทะเล รวมทั้งไม้เชื้อเพลิง ได้แก่ ฟืนแสมและถ่านไม้ชายเลน ไปเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน
จีน, มอญจากการที่บางตะบูนอยู่ติดทะเลอ่าวไทย ไม่ห่างจากบริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง และในอดีตสะดวกที่จะเข้าสู่กรุงเทพฯ หรือเดินทางไปยังภาคใต้มากกว่าบ้านยี่สาร ทำให้ที่นี่มีสถานภาพเป็นแหล่งแพร่นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามายังบ้านยี่สารเสมอ เช่น การก่อสร้างเตาถ่านเผาไม้โกงกาง ก็แพร่กระจายมาจากบางตะบูนสู่ยี่สาร ในการติดต่อเพื่อแลกเปลี่ยนกันระหว่างคนสองชุมชน ชาวบางตะบูนมักเป็นฝ่ายเสนอบริการในฐานะตัวกลางเพื่อติดต่อกับกรุงเทพฯ ซึ่งตนเองมีศักยภาพที่จะเข้าถึงง่ายกว่า เช่น การให้บริการเรือยนต์ จูงเรือโยงบรรทุกถ่านเข้ากรุงเทพฯ และปัจจุบันผู้ผลิตถ่านที่บ้านยี่สารหลายรายก็ยังคงใช้ระบบจำหน่ายผ่านคนกลางจากบางตะบูน เพื่อนำสินค้าไปขายต่อที่กรุงเทพฯ
ลักษณะทางสภาพแวดล้อมในชุมชนที่เป็นป่าชายเลน ขาดแหล่งน้ำจืด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินโคลนและน้ำเค็มท่วมถึงทุกวัน มีอิทธิพลอย่างอยู่ต่อระบบเศรษฐกิจของบ้านยี่สาร เนื่องจากสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้ชุมชนไม่สามารถประกอบอาชีพเพาะปลูกเหมือนอย่างชุมชนชาวสวนที่อยู่ห่างจากทะเลเข้าไปภายในได้ ทำให้วิถีการหาเลี้ยงชีพของชาวยี่สารเป็นไปในรูปแบบที่สอดคล้องพึ่งพิงกับระบบนิเวศน์ของป่าชายเลนที่สัมพันธ์กับธรรมชาติของทะเล การทำประมงเพื่อจับสัตว์ของชาวบ้านยี่สารมีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากวิถีชีวิตของชุมชนประมงระแวกใกล้เคียงที่อยู่ค่อนไปทางปากคลองริมทะเลอ่าวไทย เช่นชุมชนบางตะบูนเป็นการทำประมงน้ำลึกและเพาะเลี้ยงชายฝั่ง แต่ส่วนของชุมชนยี่สารจะมีการหากินในคลอง หรือจะเป็นการหาหอยหรือถทอดแหตามแนวชายฝั่ง เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าชายเลนเป็นแหล่งขยายพันธุ์พืชและสัตว์น้ำนานาชนิด ในคลองจึงมีสัตว์น้ำชุกชุมอย่างมาก จะนำมาบริโภคภายในครอบครัวทั้งรูปแบบอาหารสดและแปรรูป และหากผลผลิตเหลือจะเก็บไว้แลกเปลี่ยนสิ่งของอื่น ๆ ที่จำเป็นจากภายนอกชุมชน ไม่ว่าจะเป็นข้าว ผัก ผลไม้ ของแห้ง เกลือ น้ำตาล ฯลฯ สถานที่แลกเปลี่ยนคือตลาดนัดคลองโคน ซึ่งเป็นตลาดน้ำ
หลังปี 2450 ได้มีการนำฝักต้นโกงกางใบเล็ก ซึ่งเป็นพันธุ์ทางภาคใต้ของประเทศไทยมาลองปลูกในพื้นที่ และพบว่าได้ผลดีจึงมีการขยายพันธุ์เพิ่ม การใช้ประโยชน์หลักคือกิจกรรมก่อสร้างและประมง เช่น ใช้ทำปีกโป๊ะเสาหอยให้แมลงภู่เกาะอาศัย เป็นต้น จนกระทั่งประมาณปี 2480 ได้มีการจ้างช่างจีนจากภาคใต้มาก่อตั้งเตาเผาถ่านแห่งแรกขึ้นที่ตำบลบางตะบูน เพื่อเป็นแหล่งแปรรูปไม้โกงกางที่โตเต็มที่ให้กลายเป็นถ่านไม้โกงกาง เพรามีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการจากตลาดทางพระนคร จึงทำให้พื้นที่การปลูกป่าโกงกางเพิ่มมากขึ้นรวมถึงบริเวณชุมชนยี่สาร และผู้ที่มีสวนป่าไม้แสมกับจากก็เปลี่ยนมาปลูกป่าโกงกางกันเกือบหมด หลังจากก่อตั้งเตาเผาถ่านที่บางตะบูนได้ราว 5 ปีโรงถ่านแห่งแรกของชาวบ้านยี่สารก็ได้ก่อสร้างขึ้น โดยการลงทุนของครอบครัวที่มีเชื้อสายจีน และมีการติดต่อนำช่างจีนเข้ามาจากอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ทำให้หลังจากนั้นจำนวนของโรงถ่านและเตาเผาถ่านโกงกางที่บ้านยี่สารได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 30 ปีหลังจากนั้น เนื่องจากปริมาณความต้องการถ่านไม้โกงกางจากกรุงเทพฯ เพื่อใช้ในกิจการร้านอาหาร การหุงต้มในครัวเรือน และเป็นแหล่งความร้อนสำหรับเตารีดถ่าน เพราะมีคุณสมบัติที่ดีอีกทั้งยังขนส่งสะดวก จากสภาพเช่นนี้ทำให้วิถีชีวิตการทำมาหากินตามคลองมีการปรับตัว เปลี่ยนมาทำงานในการปลูกป่าโกงกางและเผาถ่าน แต่การหากินในคลองยังคงอยู่เพียงแต่เบาบางลง ส่วนการที่ได้ผลผลิตส่วนเกินมาแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนยังทำอยู่จนถึงตลาดนัดคลองโคนเลิกกิจการไป ทำให้การหาซื้อสินค้าด้วยเงินจากเรือของพ่อค้าแม่ค้าที่แล่นเรือผ่าน เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ส่วนการเผาถ่านส่งขายไปยังกรุงเทพฯ ได้นำรายได้ที่เป็นตัวเงินเข้ามาสะสมที่หมู่บ้านยี่สารมากขึ้นเป็นลำดับ
ช่วงหลังปี 2515 แม้ได้มีการปรับเปลี่ยนที่สวนป่าบางสวนให้กลายเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งธรรมชาติ ซึ่งเป็นการทดลองทำ แต่พื้นที่ที่เป็นบ่อกุ้งก็ยังมีเพียงส่วนน้อยเนื่องจากตลาดกุ้งยังให้ราคาต่ำ มาในปี 2530 ได้มีการทำบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนาได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในชุมชนยี่สาร ครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นสวนป่าเดิมนับพันไร่ ซึ่งเห็นได้ว่าชาวบ้านยี่สารหันมาทำบ่อกุ้งเป็นจำนวนมาก
ชีวิตประจำวัน
ชาวยี่สารนับถือศาสนาพุทธ โดยแสดงออกผ่านการใส่บาตรหน้าบ้านแก่ภิกษุที่มาบิณฑบาตในตอนเช้า หรือนำภัตตาหารเข้าไปถวายพระและทำบุญที่วัดในตอนเช้าในช่วงเข้าพรรษา เด็กชายและสมาชิกรุ่นหนุ่มมีค่านิยมว่าควรบวชเรียนอย่างน้อย 1 พรรษา และชาวบ้านจะร่วมกันประกอบเทศกาลงานบุญตามวาระสำคัญต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาตลอดปี ชาวยี่สารยังนับถือ พ่อปู่ศรีราชา ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่หมู่บ้านเรื่อยมานับแต่บรรพบุรุษ โดยมีการจัดตั้งศาลวางรูปเคารพ มีงานนมัสการหลวงพ่อปู่กลางเดือนอ้ายของทุกปี ซึ่งถือเป็นงานสำคัญประจำปีของหมู่บ้านที่สมาชิกกระจายตัวได้กลับมารวมกันมากที่สุด โดยเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน ทั้งการเดินทางออกนอกชุมชนให้ปลอดภัย การจัดงานต่าง ๆ ต้องมีการจุดธูปบอกกล่าวเพื่อให้ท่านทราบและขอให้ไม่มีอุปสรรคในการจัดงานต่าง ๆ
หลังปี 2450 ได้มีการนำฝักต้นโกงกางใบเล็ก ซึ่งเป็นพันธุ์ทางภาคใต้ของประเทศไทยมาลองปลูกในพื้นที่ และพบว่าได้ผลดีจึงมีการขยายพันธุ์เพิ่ม ทำให้ในชุมชนยี่สารมีป่าโกงกางครอบคลุมเกือบหมด เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาทำถ่านโกงกางส่งขายให้กับคนนอกชุมชมเป็นการสร้างรายได้และอาชีพให้กับคนในชุมชน
ในช่วงหลังปี 2530 เมื่อการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแพร่กระจายเข้ามาเป็นที่นิยมในพื้นที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพของสมาชิกในชุมชนเป็นจำนวนมาก และต่อมาในปี 2532 ราคากุ้งตกต่ำ ตามด้วยความเสื่อมโทรมลงของสภาพแวดล้อมจากการขาดความรู้ในการจัดการบ่อกุ้งอย่างเหมาะสม และปัญหามลภาวะจากโรงงานในตำบลใกล้เคียงและจากอ่าวไทย ทำให้ผู้ที่ทำอาชีพนี้เกิดการขาดทุนซับซ้อน มีหนี้สิ้นทั้งกับทางธนาคารและชาวบ้านด้วยกันเอง นอกจากนี้ ในปี 2535 ตลาดรับซื้อถ่านจากกรุงเทพฯ ได้ทำการยกเลิกกิจการไป เนื่องจากประชาชนมีทางเลือกในการใช้พลังงานในรูปแบบอื่นที่ประหยัดและสะดวกกว่า เช่น แก๊สหุงต้ม ไฟฟ้า เป็นต้น เหตุนี้ทำให้ชุมชนยี่สารก้าวสู่ภาวะซบเซา และได้มีการปิดตัวลงจำนวนไม่น้อย
ปี 2481 กรมป่าไม้ได้ประกาศให้ป่าชายเลนในเขตตำบลยี่สารมีสถานภาพเป็น “ป่าสงวนคลองยี่สาร” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 22,500 ไร่ แต่ได้เพิกถอนไปในปี 2501 เพื่องจากชาวบ้านไม่ยินยอม โดยให้เหตุผลว่าตนได้เข้ามาจับจองก่อนหน้าการประกาศของราชการมานาน และสภาพป่าที่ปรากฏอยู่เป็นป่าที่ปลูกขึ้นโดยแรงงานของชาวบ้านไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
ชาวบ้านยี่สารเกือบทุกคนจะห้อยรูปเหมือนไม้เจว็ดไว้ที่คอที่ทำจำลองเป็นขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นตัวแทนของพ่อปู่ สื่อให้เห็นว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพ่อปู่ศรีราชาที่มีต่อจิตใจชาวยี่สาร
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2564). วัดเขายี่สาร. ค้นจาก http://https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/2889
เบญจรัชต์ เมืองไทย และคณะ. (2542). การศึกษามิติวัฒนธรรมในยุคเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 21 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research-item-search.php?ob_id=18
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2555). พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร. ค้นจาก http://https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/455
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php