Advance search

ผ้าไหมเนื้องาม ขนานนามบ้านดู่ชุมชนเก่าแก่กับวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ สู่การส่งเสริมกลุ่มอาชีพของสมาชิกในชุมชนเพื่อสร้างรายได้และเป็นการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาอัตลักษณ์ชุมชน

หมู่ที่ 6
บ้านดู่
เมืองปัก
ปักธงชัย
นครราชสีมา
กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่ โทร. 08-1186-1545
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
22 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 พ.ค. 2024
บ้านดู่

แต่เดิมชื่อ "บ้านหนองหัวลิง" ก่อนเปลี่ยนเป็น "บ้านดู่" ในภายหลัง สันนิษฐานว่าชื่อเรียกบ้านดู่นี้ มาจากชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่มากในพื้นที่หมู่บ้าน คือ "ต้นประดู่" 


ชุมชนชนบท

ผ้าไหมเนื้องาม ขนานนามบ้านดู่ชุมชนเก่าแก่กับวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ สู่การส่งเสริมกลุ่มอาชีพของสมาชิกในชุมชนเพื่อสร้างรายได้และเป็นการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาอัตลักษณ์ชุมชน

บ้านดู่
หมู่ที่ 6
เมืองปัก
ปักธงชัย
นครราชสีมา
30150
14.728449606630667
102.05554381012917
เทศบาลเมืองเมืองปัก

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเล่าว่า เมื่อครั้งสมัยธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้กวาดต้อนเชลยกลับมาด้วย โดยบรรพบุรุษของชาวบ้านดู่ก็ได้อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ในครั้งนี้ด้วย แรกเริ่มตั้งถิ่นฐานที่เมืองอุดรธานี ต่อมาหลวงสงครามได้พาอพยพมาตั้งถิ่นที่บ้านหนองหัวลิง ตำบลดอน อำเภอปักธงชัย และได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นทางด้านทิศเหนือของชุมชน โดยวัดแห่งนี้จะมีการมาทำสังฆกรรมที่ห้วยลำซอทางด้านทิศตะวันตกของชุมชน ชาวบ้านเรียกว่า "ห้วยท่าสิม" ต่อมาสมัยหลวงอาจเป็นผู้นำชุมชนได้นำชาวบ้านย้ายวัดมาสร้างบริเวณกลางชุมชน ซึ่งในระยะต่อมาก็กลายเป็นวัดร้าง และในช่วงเดียวกันนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่อชุมชนจากบ้านหนองหัวลิงเป็นบ้านดู่ เนื่องจากมีต้นประดู่ขนาดใหญ่ที่ท้ายหมู่บ้าน ภายหลังได้มีพระภิกษุนามหลวงพ่อไก่ ได้นำชาวบ้านมาร่วมกันสร้างวัดขึ้นใหม่บริเวณฝั่งห้วยลำซอทางทิศใต้ของชุมชนในปี พ.ศ. 2523 เรียกว่าวัดโพธิ์ศรีซึ่งอยู่คู่กับชุมชนบ้านดู่มาจนถึงปัจจัน ต่อมาบ้านดู่มีการขยายตัวของชุมชน ประชากรเริ่มมีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้นจนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2538 จึงมีการแบ่งการปกครองออกเป็น 2 ชุมชน คือหมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 16

บ้านดู่ หมู่ที่ 6 ตำบลเมืองปัก ชุมชนตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอปักธงชัยเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม สภาพพื้นดินเป็นดินเหนียวปนทราย บางแห่งเป็นพื้นดินร่วนปนทรายเล็กน้อย เหมาะแก่การเพาะปลูก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยชุมชนบ้านดูมีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนสายลำซอ ตำบลโคกไทย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ คลองลำสำเลย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านดู่ใน หมู่ที่ 16
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหนองไผ่ หมู่ที่ 7

ข้อมูลประชากรตำบลเมืองปักจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านดู่ มีประชากรทั้งสิ้น 959 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 462 คน ประชากรหญิง 497 คน และจำนวนหลังคาเรือน 331 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ชาวบ้านดู่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีการทำนา ทำไร่ควบ คู่กับการทอผ้าไหมมาตั้งแต่อดีต ผ้าไหมของชุมชนบ้านดู่มีชื่อเสียงในนามของผ้าไหมเมืองปัก ชาวบ้านดู่ทั้งหญิงและชายล้วนมีภูมิปัญญาการทำผ้าไหมทั้งสิ้น ประชาชนชาวบ้านดู่มีอาชีพทอผ้าไหมแทบทุกหลังคาเรือน มีการทำผ้าไหมแบบครบวงจรในทุกขั้นตอนภายในชุมชน ชาวบ้านต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในการทำผ้าไหม บางครัวเรือนรับจ้างย้อมไหม บางครัวเรือนรับจ้างกรอหลอด สาวเครือไหม ม้วนหัวม้วน เก็บตะกรอ หรือรับจ้างทอผ้าไหม ซึ่งเป็นอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับสมาชิก และสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี 

ประชากรชาวบ้านดู่นับถือพุทธศาสนา มีวิถีวัฒนธรรมตามขนบธรรมประเพณีท้องถิ่นอีสาน แบบฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ ตามที่บรรพบุรุษปฏิบัติสืบต่อกันมา วิถีวัฒนธรรมทางด้านความเชื่อของชุมชนบ้านดู่นอกจากจะปฏิบัติตามวิถีอีสานและพุทธศาสนาแล้ว ชุมชนยังมีสิ่งที่นับถือประจำตระกูลของตนเอง เรียกว่าของรักษา ซึ่งของรักษาในแต่ละตระกูลก็จะไม่เหมือนกัน บางตระกูลอยู่กับคุรพระ บางตระกูลอยู่กับนางพระธรณี บางตระกูลอยู่กับผีประกรรมช้าง ขึ้นอยู่กับบรรพบุรุษของแต่ละตระกูล นอกจากนี้ยังมีความเชื่อในการเล่นผีฟ้อน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ พวกผีข้างบนหรือผีเมืองสีมาพวกหนึ่ง พวกผีข้างล่างพวกหนึ่ง พวกผีเมืองบาดาลพวกหนึ่ง ซึ่งการเล่นฝีฟ้อนเป็นการเล่นเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยของคนในหมู่บ้าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่

กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 จุดเริ่มต้นจากการทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือนสู่การส่งเสริมเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริม รื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียนรู้และพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน และมีการรวมกลุ่มกันของสมาชิกเพื่อสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มในการต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลาง เมื่อกลุ่มมีความเข้มแข็ง การประกอบอาชีพทอผ้าไหมของชุมชนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพิ่มช่องทางการตลาด ได้รับการรับรอมาตรฐาน มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้า มีเครือข่ายและการจัดตั้งกลุ่มที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และรับการอบรมเพื่อเพิ่มทักษะอาชีพ และคณะทำงานของกลุ่มให้มีระบบมากยิ่งขึ้น ทำให้มีทุนหมุนเวียนและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพิ่มเติม ทั้งยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่มีความสนใจ เนื่องจากกลุ่มมีพัฒนาการเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรางวัล ใบประกาศเกียรติคุณต่างๆ อย่างมากมาย

กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่ ได้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการทอผ้าไหม ขึ้นตอนกระบวนการผลิตผ้าไหมตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม การกรอ ปั่นหลอด การฟอกสีย้อมธรรมชาติ การทอผ้า ทางกลุ่มเปิดรับผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน สมาชิกกลุ่มร่วมกันทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยาย ให้ความรู้ การให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกันของสมาชิกด้วยความเสียสละ เพื่อพัฒนาและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มที่มีความสนใจเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน

ภาษาพูด : ภาษาไทยโคราช ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พิไลวรรณ หล้าสุวงษ์. (2555). ทุนทางสังคมในกลุ่มหัตถกรรมผ้าไหม : กรณีศึกษาบ้านดู่ หมู่ 6 ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสัคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

หนุ่มหน้ามนคนอีสาน. (2562, 19 พฤศจิกายน). ผ้าไหมดี...ที่ กลุ่มหัตถกรรมบ้านดู่ปักธงชัย ภูมิปัญญามูลค่าหลักล้าน. โคราชคนอีสาน. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.koratdaily.com/

กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่ โทร. 08-1186-1545