Advance search

ชุมชนเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน อัตลักษณ์ท้องถิ่นของชาวเล ผู้คนกับวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์แหล่งอาหารสำคัญของชุมชนสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างเสริมศักยภาพของผู้คนและชุมชนท้องถิ่น

หมู่ที่ 3
บ้านแหลม
วังวน
กันตัง
ตรัง
บ้านแหลม โทร. 08-2850-3717
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
21 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 พ.ค. 2024
บ้านแหลม

เรียกชื่อชุมชนตามสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ตั้งของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกไปในแม่น้ำปะเหลียน


ชุมชนชนบท

ชุมชนเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน อัตลักษณ์ท้องถิ่นของชาวเล ผู้คนกับวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์แหล่งอาหารสำคัญของชุมชนสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างเสริมศักยภาพของผู้คนและชุมชนท้องถิ่น

บ้านแหลม
หมู่ที่ 3
วังวน
กันตัง
ตรัง
92110
7.347466335937443
99.56463530659676
องค์การบริหารส่วนตำบลวังวน

ชุมชนบ้านแหลม ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีการเรียกชื่อชุมชนตามสภาพภูมิศาสตร์ของหมู่บ้าน ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นบริเวณพื้นที่ที่เป็นแหลมยื่นออกไปในแม่น้ำปะเหลียน เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบเลียบชายฝั่งแม่น้ำใกล้ทะเลอันดามัน ผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันโดยมีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และประกอบอาชีพหลักเกี่ยวกับการประมงมาตั้งแต่อดีต มีการเข้ามาจับจองพื้นที่สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเพื่อประกอบอาชีพทำมาหากินเป็นระยะเวลายาวนาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ใกล้กับปากแม่น้ำปะเหลียน แม่น้ำตรัง และพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินที่เหมาะสม ทำให้พื้นที่บริเวณชุมชนมีการอยู่อาศัยของผู้คนมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน 

ชุมชนบ้านแหลมมีลักษณะเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลอันดามัน เป็นแหลมที่ยื่นออกมาบริเวณแม่น้ำปะเหลียน ชุมชนตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดตรัง พื้นที่ชายฝั่งทะเลติดกับ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอย่านตาขาว และอำเภอปะเหลียน มีแม่น้ำสายกันตัง-ปะเหลียนไหลผ่าน และน้ำทะเลไหลมาบรรจบกัน 3 สาย คือ จากทุ่งค่าย ย่านตาขาว และปะเหลียน โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลคลองชีล้อม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลกันตังใต้ และตำบลบางเป้า

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านแหลม ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,270 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 642 คน ประชากรหญิง 628 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 327 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านแหลมประกอบอาชีพหลักเกี่ยวกับการประมง เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งชาวประมงส่วนใหญ่สร้างบ้านเรือนอยู่ติดกับชายทะเล นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ อีก เช่น กรีดยางพารา ปลูกต้นจาก โดยจะตั้งบ้านเรือนถัดเข้ามาบนพื้นที่ราบห่างจากชายฝั่งทะเล

ทั้งนี้ โครงสร้างทางอาชีพของประชากรชุมชนบ้านแหลมจากบริบททางเศรษฐกิจในชุมชนสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

1. กลุ่มประมง ได้แก่ กลุ่มชาวบ้านที่ดำรงชีพด้วยการพึ่งพิงทรัพยากรทางทะเล เช่น การลากอวน หาปลาปราย หาหอยปะ หาหอยนางรม ปูดำ นอกจากนี้ บางส่วนก็มีการรวมกลุ่มและลงทุนเพาะเลี้ยงสัตว์ในกระชัง มีทั้งที่ทำคนเดียวและรวมกลุ่มกันทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยรายได้ขึ้นอยู่กับจำนวนทรัพยากรที่หามาได้ 

  • การหาหอยปะ บริเวณสันดอนทรายปากแม่น้ำที่มีการไหลเวียนของน้ำ มีระดับน้ำขึ้นลงตามธรรมชาติ  เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของหอยปะ ช่วงเวลาที่น้ำลงชาวบ้านจะพากันไปงมหอยปะ ลากตักหอยปะ เป็นอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้หลักในการขายให้กับชุมชนใกล้เคียง พ่อค้าคนกลางและตลาดภายนอกชุมชน
  • การดำหอยนางรม บริเวณปากแม่น้ำในส่วนที่อยู่ใต้ทะเลจะมีโขดหินซึ่งเป็นที่อยู่และเหมาะแก่การเติบโตของหอยนางรม การดำหอยนางรมจึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพสำคัญของชุมชนเนื่องจากหอยนางรมเป็นที่ต้องการของตลาด
  • การเลี้ยงปลาในกระชังและการเลี้ยงหอยนางรม ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ติดชายฝั่งทะเลส่วนหนึ่งใช้พื้นที่ทะเลบริเวณบ้านในการเลี้ยงปลาในกระชังเป็นอาชีพหลัก และยังมีการเลี้ยงหอยในกระชัง ทั้งยังมีการรวมตัวของสมาชิกเป็นกลุ่มเลี้ยงปลากะพง ปลาเก๋า และการเลี้ยงหอยในกระชัง เมื่อผลผลิตได้อายุในการขายก็จะมีพ่อค้าจากภายนอกเข้ามาคัดขนาดและรับซื้อถึงบ้าน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอนุรักษ์หอยนางรมจากการริเริ่มของกรรมการหมู่บ้านที่ต้องการประชาสัมพันธ์ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้านหอยนางรมอีกด้วย
  • การหาปูดำ สภาพพื้นที่บริเวณป่าโกงกางเป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปูดำ ชาวบ้านใช้เวลาในช่วงกลางคืนนำอุปกรณ์ออกไปจับปูดำ วางกับดักไว้ข้ามคืน และจะเก็บในตอนเช้า และนำปูไปขายให้กับครัวเรือนที่รับซื้อเพื่อจำหน่ายในชุมชนและส่งขายไปยังตลาดภายนอก และส่งต่อไปยังต่างจังหวัดโดยมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อเพื่อนำไปขายต่อ

2. กลุ่มรับจ้างและการเกษตร ได้แก่ รับจ้างเป็นลูกเรือประมงขนาดใหญ่ รับจ้างรายวัน เช่น รับจ้างต้มหอย แกะหอย แบกหาม กรีดยาง ลอกจาก ฯลฯ 

  • การลอกจาก ปลูกต้นจาก อาชีพลอกจากเป็นกิจกรรมที่ทำกันมาอย่างยาวนานจนเกิดความชำนาญสามารถทำได้ที่บ้านควบคู่ไปกับกิจกรรมอื่น ๆ ได้ หรือใช้เวลาหลังจากเสร็จงานอื่นแล้วมาทำก็ได้ โดยมีตั้งเด็กวัยเรียนไปจนถึงผู้สูงอายุที่สามาลอกจากเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือน
  • การทำสวนยางพารา ชุมชนตั้งอยู่บนพื้นที่ชายฝั่งสภาพพื้นดินเป็นดินร่วนปนทรายสามารถปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพาราได้ดี ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้มีสวนยางพาราเป็นของตนเอง แต่จะรับจ้างกรีดยางของนายทุนในพื้นที่ที่มีสวนยาง
  • การเลี้ยงแพะ ชาวมุสลิมนิยมเลี้ยงแพะเพื่อใช้ในการบริโภค และทำอาหารเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และการเลี้ยงแพะสามารถเลี้ยงได้ง่าย โดยปล่อยให้แพะหากินหญ้าในพื้นที่เองไม่ต้องลงทุนในการจัดหาอาหารมาก ชาวบ้านจะเลี้ยงแพะไว้บริโภค และขายให้กับเพื่อนบ้านและชุมชนใกล้เคียง 

3. กลุ่มพ่อค้าคนกลางที่มีการเชื่อมโยงกับภายนอกชุมชน เป็นกลุ่มที่มีทุน มีโอกาส และช่องทางเครือข่าย อาศัยความรู้ทางการตลาดและการซื้อขาย เช่น การรับซื้อสัตว์ทะเลเพื่อนำไปจำหน่ายภายนอกชุมชน ร้านขายของชำ

ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านแหลมนับถือศาสนาอิสลาม โดยมีมัสยิดบ้านแหลมเป็นศาสนสถานภายในชุมชน และมีประชากรบางส่วนที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากวิถีชีวิตของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับวิถีทางความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติกันแล้ว ในวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนจะยึดโยงเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ โดยเฉพาะอาชีพ การทำมาหากิน การใช้แรงงาน และการจัดการทรัพยากรทางทะเลเพื่อก่อให้เกิดการสร้างรายได้ในครัวเรือน ชุมชนชายฝั่งทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์วิถีชีวิตของผู้คนจึงผูกพันและเกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรทางธรรมชาติตลอดทั้งปี เนื่องจากมีท้องทะเลเป็นแหล่งประกอบอาชีพ ทั้งการหาหอยปะ การหาหอยนางรม การหาปูดำ ที่นอกจากจะนำมาเพื่อประกอบอาหารเลี้ยงชีพแล้ว ในส่วนที่เหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ หรือกลุ่มสมาชิกที่มีวิถีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลัก กลุ่มผู้ที่ประกอบอาชีพรับจ้างภายในชุมชน ทั้งลูกจ้างประมง กรีดยางพารา  ลอกจาก ซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเวลาและโอกาสให้มีความเหมาะสมในแต่ละช่วงฤดูกาล

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนบ้านแหลมมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งแหล่งน้ำ แม่น้ำปะเหลียน แม่น้ำตรัง แหล่งน้ำทะเลที่มาบรรจบกันถึง 3 สาย จากทุ่งค่าย ย่านตาขาว และปะเหลียน ทั้งยังอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้เป็นแหล่งทุนสำคัญของชุมชนที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลมมาตั้งแต่อดีต มีความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำมาหากิน และพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างเสริมศักยภาพของชุมชนให้มีความอยู่ดีกินดี และชุมชนมีการเติบโตและเข้มแข็ง

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ (สำเนียงตะวันออก หรือสำเนียงนครศรีธรรมราช เป็นภาษาที่ปรากฏใช้ในจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก รวมถึงจังหวัดตรังและสตูล ที่แม้จะตั้งอยู่ฝั่งทะเลตะวันตก แต่สำเนียงภาษาถือเป็นกลุ่มเดียวกับนครศรีธรรมราช คือ ออกเสียง ก ได้ชัดเจน) ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ธิดารัตน์ สุภานันท์ และคณะ. (2553). ชีวิตชาวประมงบ้านแหลม กันตัง จังหวัดตรัง : เข้าชุมชน...พัฒนาการสอนที่นอกตำรา. จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์.

บ้านแหลม จ.ตรัง. (2566). สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/banlaemtrang/ 

บ้านแหลม โทร. 08-2850-3717