Advance search

ชุมชนบ้านขาม การอยู่อาศัยของผู้คนในบริเวณพื้นที่ที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ กับวิถีพื้นบ้านและวัฒนธรรมท้องถิ่น และการจัดการระบบชุมชนเพื่อการดูแลและพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

หมู่ที่ 1
บ้านขาม
หัวเมือง
เมืองปาน
ลำปาง
องค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง โทร. 0-5401-9722
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
21 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 พ.ค. 2024
บ้านขาม

มาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่พบในช่วงแรกของการก่อตั้งหมู่บ้าน คือ ต้นมะขาม รูปร่างแปลกตา มีต้นงอกออกมาจากพื้นดิน 2 ต้น แต่รวมเป็นต้นเดียว กิ่งหนึ่งผลมีรสเปรี้ยว อีกกิ่งหนึ่งผลมีรสหวาน ด้วยลักษณะประหลาดน่าฉงนนี้ จึงนำเอาชื่อต้นมะขามมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านนามว่า "บ้านขาม" มาจนปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

ชุมชนบ้านขาม การอยู่อาศัยของผู้คนในบริเวณพื้นที่ที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ กับวิถีพื้นบ้านและวัฒนธรรมท้องถิ่น และการจัดการระบบชุมชนเพื่อการดูแลและพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

บ้านขาม
หมู่ที่ 1
หัวเมือง
เมืองปาน
ลำปาง
52240
18.983142476251572
99.52395960688591
องค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง

บ้านขาม หมู่ที่ 1 ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการก่อตั้งมาแล้วกว่าร้อยปี โดยก่อตั้งเป็นครั้งแรกในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2435 แต่เดิมเป็นชุมชนขนาดเล็กมีประชากรไม่มากนัก ประชากรในขณะนั้นเป็นชนพื้นราบเชื้อสายขมุ ยาง (ชื่อที่ชาวล้านนาใช้เรียกชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ) ลัวะ โดยการนำของท้าวหมื่นสลี ใจเร็ว เป็นผู้นำชาวลัวะ การอพยพในครั้งนี้ทราบว่าโยกย้ายมาจากอำเภอเชียงตุง จังหวัดเชียงราย

จากบ้านสันเมืองยาว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ครั้งแรกย้ายมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ลุ่มลำน้ำแม่เต๊าะบริเวณบ้านผาอาง แต่ประสบปัญหาน้ำป่าไหลเข้าท่วมชุมชน จึงได้โยกย้ายมาอยู่ที่บ้านขาม แรกเริ่มมีประมาณ 9 หลังคาเรือน โดยบริเวณที่ตั้งชุมชนพบต้นมะขามขนาดใหญ่ที่มีลักษณะแปลกตา คือ มีลำต้นจากพื้นดิน 2 ต้น แต่กลางลำต้นติดกันรวมเป็นต้นเดียว รสชาติของผลกิ่งหนึ่งออกรสเปรี้ยว อีกกิ่งหนึ่งมีรสหวาน ท้าวหมื่นสลี ใจเร็ว จึงได้ใช้ชื่อต้นมะขามนี้ตั้งเป็นชื่อชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน 

ที่ตั้งและอาณาเขต

พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านขามมีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา ล้อมรอบด้วยภูเขาและพื้นที่ป่าตามแนวหมู่บ้าน มีแม่น้ำแม่เต๊าะไหลผ่ายบริเวณชุมชน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน พื้นที่สำหรับสร้างที่อยู่อาศัย และพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ชุมชนตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองปานประมาณ 32 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดลำปางประมาณ 97 กิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหัวเมือง ตำบลหัวเมือง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านทุ่งปิ้ง ตำบลหัวเมือง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแม่สงเหนือ ตำบลร่องเคราะ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านแม่แจ๋ม ตำบลแจ้ซ้อน

สภาพภูมิอากาศ

  • ฤดูร้อน อยู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน บางปีอากาศร้อนถึงเดือนพฤษภาคม
  • ฤดูฝน อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน หากฝนตกหนักมีโอกาสเกิดน้ำป่าไหลหลาก
  • ฤดูหนาว อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีอากาศหนาวเย็นมาก

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านขาม ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 582 คน

โดยแยกเป็นประชากรชาย 302 คน ประชากรหญิง 280 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 203 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในชุมชนส่วนหนึ่งเป็นชาวลัวะ และอีกส่วนหนึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเดิมที่เข้ามาอาศัยสร้างบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จนปัจจุบันยากที่จะแยกออกถึงความแตกต่างของคน 2 กลุ่มที่อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชน

ลัวะ (ละเวือะ)

บ้านขามเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ประชากรส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของปริมาณน้ำจากลำน้ำแม่เต๊าะและลำน้ำแม่ปาย ซึ่งมีเพียงพอต่อการเพาะปลูก รวมไปถึงพื้นดินมีแร่ธาตุอาหารที่เหมาะสม ชาวบ้านจึงสามารถเพาะปลูกหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี มีทั้งการเพาะปลูกในลักษณะของการเก็บไว้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน และสำหรับจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ โดยพืชที่นิยมปลูกในชุมชนมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่วแระ ถั่วพุ่ม ฯลฯ และนอกจากนี้ประชากรบางส่วนยังมีการประกอบอาชีพอื่นๆ อีก เช่น การค้าขาย รับจ้างทั่วไป บางครอบครัวก็ประกอบอาชีพรับราชการ และสมาชิกชุมชนบ้านขามยังมีการรวมกลุ่มในแต่ละกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างรายได้ และจัดการดูแลชุมชน เช่น

กลุ่มเกษตรปลอดสารพิษ เป็นการรวมกลุ่มของสมาชิกเกษตรกรในการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยจัดตั้งกลุ่มในเดือนตุลาคม 2554 แรกเริ่มมีสมาชิกทั้งหมด 7 ครัวเรือน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง ในการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ โดยกลุ่มใช้ที่ดินสธารณะของชุมชนในการดำเนินการปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยผลผลิตที่ได้จะนำไปจำหน่ายให้กับสมาชิกภายในชุมชน และชุมชนภายนอกในบริเวณใกล้เคียง เพื่อสร้างรายได้และส่งเสริมการรักษาสุขภาพของชุมชน

กลุ่มเย็บจักรอุตสาหกรรมบ้านขาม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยเป็นการเย็บจักรโรงงานที่มีบริษัทว่าจ้างเป็นงานเหมาเย็บ ชิ้นส่วนผ้าที่ทางบริษัทส่งมาให้สมาชิกชุมชนเย็บประกอบชิ้นส่วนตามแบบที่กำหนด ซึ่งกลุ่มเย็บจักรอุตสาหกรรมจะใช้เวลาว่างจาการทำงานเพื่อตัดเย็บ เนื่องจากไม่มีการกำหนดเวลาในการปฏิบัติงานที่ตายตัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน

ชาวบ้านขามประชากส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา มีวิถีชีวิตวัฒนาธรรมท้องถิ่นตามขนบธรรมเนียมแบบล้านนา โดยมีประเพณีเทศกาลต่างๆ ตามความชื่อท้องถิ่นที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ได้แก่

1. ประเพณีตานก๋วยสลาก (สลากภัตร) จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งจะจัดตามความสะดวกของสมาชิกในแต่ละชุมชนในช่วงระยะเวลาเดียวกัน เป็นเสมือนการทำทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับเทวดา ผี เจ้ากรรมนายเวร และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการนำอาหารหวานคาว ดอกไม้ หมากพลู เครื่องใช้ต่างๆใส่ไว้ในก๋วย หรือชะลอม และเขียนชื่อผู้ที่จะอุทิศให้ติดไว้ แล้วนำไปถวายพระ

2. ประเพณีเดือนยี่เป็ง (ลอยกระทง) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยจะเริ่มจากการทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า ฟังเทศน์ที่วัด และช่วงเย็นจะเป็นการแห่โคมสายไปที่วัด โดยทุกบ้านจะทำโคมไฟรูปทรงกระบอกห้อยไว้ที่หน้าบ้าน จากนั้นจะแห่โคมสายไปที่วัด ร่วมฟังเทศน์ และลอยกระทงในลำน้ำแม่เต๊าะ

3. ประเพณีตานข้าวใหม่ จะจัดขึ้นหลังจากการเก็นเกี่ยวในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 หรือช่วงเดือนมกรคม โดยทุกครอบครัวจะนำข้าวเปลือกและข้าวสารไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อถวายพระสงฆ์ เพื่อเป็นสิริมงคลและอุทิศแด่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

4. ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ  จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ชาวบ้านจำนำก๋วยอาหารไปทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ที่วัด และนำน้ำไปสรงพระธาตุ ซึ่งน้ำที่นำมาสรงพระธาตุชาวบ้านนิยมผสมส้มป่อยและขมิ้นด้วย โดยการสรงพระธาตุเป็นการความเคารพพระธาตุมหาคัมภีรญาณ และครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา

5. ประเพณีเลี้ยงผีตระกูล จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี ชาวบ้านจะใช้ไก่และเหล้าเพื่อเชิญผีปู่ย่ามากินอาหาร ญาติทุกคนจะมาไหว้เพื่อแสดงความกตัญญู และขอให้คุ้มครองรักษา

6. ประเพณีปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) จะจัดขึ้นทั้งหมด 7 วัน

  • วันที่ 1 สังขาร เป็นการทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อต้อนรับปีใหม่
  • วันที่ 2 วันเนา เป็นการเตรียมห่อข้าวต้ม ขนมเทียน และมีการขนทรายเข้าวัด
  • วันที่ 3 วันพญาวัน (วันสงกรานต์) จะมีการทำบุญตักบาตรที่วัด และรดน้ำขอพรพระสงฆ์ และผู้หลักผู้ใหญ่เพื่อแสดงความเคารพนับถือ
  • วันที่ 4 วันสะเดาะเคราะห์ ชาวบ้านจะรวมตัวกันเพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยมีผู้นำในการทำพิธี และพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล
  • วันที่ 5 วันปากปี โดยจะเป็นการไปเยี่ยมบ้านระหว่างชุมชน โดยเจ้าบ้านจะต้อนรับด้วยอาหารหวานคาว เป็นการพบปะและการไปเที่ยวต่างชุมชน
  • วันที่ 6 วันปากเดือน จะเป็นการเยี่ยมเยือนในหมู่เครือญาติภายในชุมชนบ้านขาม
  • วันที่ 7 วันปากวัน จะปฏิบัติเช่นเดียวกันกับวันปากเดือน

7. ประเพณีเลี้ยงศาลเจ้าพ่อท้าวบัวคำ 

จัดขึ้นในวันขึ้น 2 ค่ำ ของเดือนกรกฎาคมของทุกปี โดยชาวบ้านจะร่วมบริจาคปัจจัยเพื่อซื้อหมูและไก่ สำหรับนำไปเป็นเครื่องเซ่นเจ้าพ่อท้าวบัวคำ เพื่อแสงดความเคารพและให้ปกปักรักษาคุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรน้ำ ชุมชนบ้านขามมีลำน้ำแม่ปายไหลผ่านชุมชนทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน และลำน้ำแม่เต๊าะไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ลำน้ำแม่ปายมีทัศนียภาพที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวเช่นเดียวกันกับน้ำตกแม่ปาย ชาวบ้านใช้น้ำจากทั้งสองแหล่งในการทำเกษตรกรรมเพาะปลูกพืชหมุนเวียนตลอดทั้งปี ทั้งยังใช้ในการเลี้ยงสัตว์ การอุปโภคและบริโภค และเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด

ทรัพยากรที่ดิน พื้นที่ดินของชุมชนเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ช้าวบ้านใช้ปลูกพืชหมุนเวียนตลอดทั้งปีเนื่องจากพื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์และมีปริมาณน้ำที่เพียงพอในการเพาะปลูก ทั้งการทำนา ปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง ฯลฯ

ทรัพยากรป่าไม้ ส่วนใหญ่พื้นที่ป่าไม่ในบริเวณชุชนเป็นป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ โดยมากเป็นป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง มีพันธุ์ไม้หลายชนิด เช่น สัก ประดู่ ตะเคียน และไม้ป่าชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และพืชอีกหลายชนิดที่ชาวบ้านสามารถหากินได้ตลอดทั้งปี ทั้งน้ำผึ้งป่า หน่อไม้ เห็ดชนิดต่างๆ รวมไปถึงสัตว์ป่า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน

ทุนทางเศรษฐกิจ

กลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหัวเมือง (ออมทรัพย์วันละบาท) เป็นองค์กรออมทรัพย์ชุมชนของตำบลหัวเมือง โดยมีสมาชิกกลุ่มภายในตำบลจำนวนหลายร้อยคน การดำเนินงานของกลุ่มได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง โดยระเบียบของกลุ่มกองทุนจะให้สมาชิกฝากเงินวันละ 1 บาท และจะเปิดรับฝากเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งสามารถถอนเงินได้เมื่อเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 180 วัน โดยกองทุนจะสนับสนุนสวัสดิการให้กับสมาชิกในกรณีที่เจ็บป่วย พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล คลอดบุตร หรือเสียชีวิต จะได้รับเงินช่วยเหลือจากทางกองทุน

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษาลัวะ ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เพ็ญสุภา สุขคตะ. (2561). พระธาตุญาณคัมภีร์วัดบ้านขาม เมืองปาน มรณสถานของผู้สถาปณานิกายป่าแดงในเชียงใหม่-เชียงตุง. ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 สิงหาคม-6 กันยายน 2561. สืบค้น 21 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.matichonweekly.com/

เมษย์ พิมพ์บูลย์. (2555). ความพึงพอใจของชาวบ้านต่อการรับบริการสาธารณสุขมูลฐานจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน : กรณีศึกษาบ้านขาม หมู่ที่ 1 ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปางประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วัดบ้านขาม ต.หัวเมือง. (2566). สืบค้น 21 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง โทร. 0-5401-9722