Advance search

บริเวณบ้านทุกหลังจะปลูกต้นลำไยเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือปลูกต้นมะม่วง และต้นขนุน ทำให้บริเวณ บ้านร่มรื่น ลานบ้านทุกหลังดูสะอาดตา เพราะชาวบ้านจะเก็บกวาดทุกวันทำให้ไม่มีใบไม้ตกเกลื่อนพื้น

หมู่ที่ 3
บ้านแพะสันใหม่
น้ำบ่อหลวง
สันป่าตอง
เชียงใหม่
อบต.น้ำบ่อหลวง โทร. 0-5208-0778
ธัญชนก บุญจันทร์ต๊ะ
21 ก.พ. 2020
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
3 พ.ค. 2023
พิมพ์ใจ อุ่นบ้าน
24 เม.ย. 2023
บ้านแพะสันใหม่

เดิมเป็นพื้นที่ป่าแพะ ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ เป็นแหล่งเก็บฝืน เก็บของป่า จนกระทั่งเกิดน้ำท่วมที่บ้านสันหลวง ตำบลบ้านแม ในปี พ.ศ. 2511 ชาวบ้านบ้านสันหลวงจึงเริ่มอพยพขึ้นมาอาศัยบนพื้นที่ป่าแพะ เมื่อเริ่มมีผู้คนอาศัยอยู่มากขึ้นจึงเกิดเป็นชุมชนขนาดเล็ก และได้ตั้งชื่อว่า บ้านสันใหม่ และเนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ในป่าแพะ จึงกลายเป็น “บ้านแพะสันใหม่”


บริเวณบ้านทุกหลังจะปลูกต้นลำไยเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือปลูกต้นมะม่วง และต้นขนุน ทำให้บริเวณ บ้านร่มรื่น ลานบ้านทุกหลังดูสะอาดตา เพราะชาวบ้านจะเก็บกวาดทุกวันทำให้ไม่มีใบไม้ตกเกลื่อนพื้น

บ้านแพะสันใหม่
หมู่ที่ 3
น้ำบ่อหลวง
สันป่าตอง
เชียงใหม่
50120
18.64709
98.84148
องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง

จากการศึกษาประวัติของหมู่บ้านแพะสันใหม่ โดยได้รับข้อมูลจากการสอบถามและการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสของหมู่บ้านมีประวัติความเป็นมา ดังนี้ หมู่บ้านแพะสันใหม่ ก่อตั้งมามากกว่า 50 ปี เดิมเป็นพื้นที่ป่าแพะ ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ เป็นแหล่งเก็บฝืน เก็บของป่า จนกระทั่งเกิดน้ำท่วมที่บ้านสันหลวง ตำบลบ้านแม ในปี พ.ศ. 2511 ชาวบ้านบ้านสันหลวงจึงเริ่มอพยพขึ้นมาอาศัยบนพื้นที่ป่าแพะ เมื่อเริ่มมีผู้คนอาศัยอยู่มากขึ้นจึงเกิดเป็นชุมชนขนาดเล็ก และได้ตั้งชื่อว่า บ้านสันใหม่ และเนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ในลำแพะจึงกลายเป็น "บ้านแพะสันใหม่" เมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยมีลำดับเป็นหมู่ที่ 13 ตำบลสันกลาง

ในปี พ.ศ. 2530 ตอนนั้นเริ่มมีการขโมย วัว ควาย ของชาวบ้าน ซึ่งในขณะนั้นบ้านแพะสันใหม่ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน แต่ได้รับการปกครองโดย นายป๊อ ทิพย์จันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านสันกลางซึ่งการจะไปร้องทุกข์นั้นต้องเดินทางไกล ไม่สะดวก จึงไปร้องขอต่อนายอำเภอ ให้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านคือ นายดำรง เถาวัลย์ และคนปัจจุบัน คือ นายประเสริฐ วรรณ-ราช จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีผู้ใหญ่บ้านทั้งหมด 7 คน

ในปี พ.ศ. 2533 กรมอนามัยได้สร้างประปาหมู่บ้านขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีน้ำอุปโภคบริโภค ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 มีการแบ่งตำบลสันกลางออกเป็นตำบลน้ำบ่อหลวง บ้านแพะสันใหม่จึงกลายเป็นหมู่ที่ 3 ตำบลน้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2535 หลังจากนั้นได้เริ่มมีการสร้างถนนคอนกรีตขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2536 และในปี พ.ศ. 2540 ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวงให้ก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการพบปะ ประชุมปรึกษาหารือของคนในหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ เลี้ยงสัตว์ เช่น ช้าง วัว ควาย และทำเกษตรกรรม

ชุมชนบ้านแพะสันใหม่ หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง ไปทางทิศใต้ เป็นระยะทาง 29 กิโลเมตร โดยห่างจากที่ว่าการอำเภอสันป่าตอง 8.6 กิโลเมตร และอยู่ห่างจาก ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง ประมาณ 500 เมตร และห่างจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านน้ำบ่อหลวง ประมาณ 2 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตกับพื้นที่อื่น ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านน้ำบ่อหลวง หมู่ที่ 2 ตำบลน้ำบ่อหลวง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านสันลุ่ม หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านแม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านน้ำบ่อหลวง หมู่ที่ 2 ตำบลน้ำบ่อหลวง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านสันเหนือ หมู่ที่ 10 ตำบลน้ำบ่อหลวง

การคมนาคมและการเดินทาง 

บ้านแพะสันใหม่ หมู่ที่ 3 มีถนนสายหลักเข้าสู่หมู่บ้าน 1 สาย คือ ถนนสายน้ำบ่อหลวง ห้วยโค้ง แยกมาจากถนนเลียบคลองชลประทานแม่แตง ยานพาหนะที่ประชาชนใช้ ได้แก่ รถยนต์ ส่วนบุคคล รถบรรทุก รถรับจ้าง รถยนต์ รถจักรยานยนต์และรถจักรยาน การเดินทางเข้าสู่บ้านแพะสันใหม่ หมู่ที่ 3 สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ 

  1. เริ่มต้นที่แยกสนามบิน (ศูนย์การค้าเซ็นทรัลแอร์พอร์ทพลาซ่า) ไปทางทิศใต้ โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ถนนเชียงใหม่-ฮอด ถึงสี่แยกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์สาขาสันป่าตองแล้วเลี้ยวขวา โดยใช้ถนนเลียบคลองชลประทานแม่แตง ผ่านหมู่บ้านสันป่าตอง บ้านดอนตัน บ้านกิ่วแลหลวง บ้านกิ่วแลน้อย บ้านน้ำบ่อหลวง ผ่านสะพานข้ามคลองชลประทานแม่แตงและเข้าสู่บ้านแพะสันใหม่ หมู่ที่ 3 ตำบล น้ำบ่อหลวง
  2. เริ่มต้นที่สี่แยกตลาดต้นพยอมไปตามถนนเลียบคลองชลประทานแม่แตงไปทางทิศใต้ผ่านตลาดแม่เหียะ ผ่านสี่แยกสะเมิง ผ่านอำเภอหางดง เข้าสู่อำเภอสันป่าตอง ผ่านหมู่บ้านห้วยส้ม บ้านโรงวัว บ้านน้ำบ่อหลวง เลี้ยวขวาที่สะพานข้ามคลองชลประทานแม่แตงจากนั้นเลี้ยวซ้าย ไปอีกประมาณ 200 เมตร เข้าสู่บ้านแพะสันใหม่ หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำบ่อหลวง

ภูมิประเทศ บ้านแพะสันใหม่ หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำบ่อหลวง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นร่วนปนทราย โดยเฉพาะบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนของประชาชน พันธุ์ไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไป คือไม้ในกลุ่มไม้เบญจพรรณ และต้นไผ่ ในส่วนของพื้นที่ การทำการเกษตรเป็นที่ราบลุ่มมีลำน้ำเหมืองหลวงไหลผ่านซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี สภาพพื้นที่จึงเหมาะแก่การทำการเกษตร

ภูมิอากาศ สภาพอากาศภายในหมู่บ้านมีลักษณะอากาศแบบร้อนชื้น มี 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว 

แหล่งนํ้าแหล่งนํ้า จำแนกตามการใช้ประโยชน์ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค ได้แก่ น้ำประปา บาดาลน้ำตื้นและบ่อน้ำตื้น และแหล่งน้ำทางการเกษตรได้รับจากโครงการชลประทานแม่แตง และลำน้ำ เหมืองหลวงให้กับพื้นที่เพาะปลูก 

สิ่งแวดล้อม บริเวณบ้านทุกหลังจะปลูกต้นลำไยส่วนใหญ่ รองลงมาคือปลูกต้นมะม่วง และต้นขนุน ทำให้บริเวณ บ้านร่มรื่น ลานบ้านทุกหลังดูสะอาดตา เพราะชาวบ้านจะเก็บกวาดทุกวันทำให้ไม่มีใบไม้ตกเกลื่อนพื้น 

ประชากรทั้งหมดของหมู่บ้านมี จำนวน 126 หลังคาเรือน มีทั้งหมด 370 คน แยกเป็น ประชากรชาย 163 คน ประชากรหญิง 207 คน ประชากรผู้สูงอายุ 106 คน โดยประชากรในหมู่บ้านแพะสันใหม่นับถือศาสนาพุทธ 203 คน ศาสนาคริสต์ 2 คน ศาสนาอิสลาม 4 คน

จากการศึกษาผังเครือญาติของหมู่บ้านแพะสันใหม่ หมู่ 3 ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในหมู่บ้านแพะสันใหม่มีตระกูลเก่าแก่หลายนามสกุล นามสกุลที่มีจำนวนผู้ใช้มากที่สุด คือ นามสกุลติ๊บตา

คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติกันทำให้ไม่มีปัญหา มีการช่วยเหลือกันเกื้อกูลกัน ซึ่งอาจจะมีบ้านที่อยู่ห่างออกไปอยู่แบบโดดเดี่ยว ทำให้อาจไม่ค่อยได้พบปะกับคนในชุมชน สำหรับวัฒนธรรมการดำเนิน ชีวิตเป็นแบบกึ่งสังคมเมือง การนับถือภูตผีปีศาจมีน้อยลง การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ได้แก่อาชีพเกษตรกรรมและการแกะสลักไม้ พืชเศรษฐกิจที่ปลูกกันคือ ลำไย นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชหมุนเวียนต่าง ๆ ตามฤดูกาล ในอดีตประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปชุมชนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาไปสู่ความเจริญมากขึ้น มีการคมนาคมที่สะดวกมากขึ้นทำให้การประกอบอาชีพของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันพบว่าประชาชนมีการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปมากที่สุด ร้อยละ 23.3

กลุ่มองค์กรที่เป็นทางการ

  1. กลุ่มกรรมการหมู่บ้าน
  2. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
  3. กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์
  4. กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน
  5. กลุ่มประปาหมู่บ้าน
  6. กลุ่มลาดตระเวนไฟป่า

กลุ่มองค์กรที่ไม่เป็นทางการ

  1. กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ                             
  2. กลุ่มสตรีแม่บ้าน                                 
  3. กลุ่มออกกำลังกาย       
  4. กลุ่มถั่วทอดสมุนไพร   
  5. กลุ่มเลี้ยงด้วงมะพร้าว    
  6. กลุ่มบายศรี

จากการได้สำรวจชุมชนและสอบถามจากชาวบ้านในหมู่บ้านแพะสันใหม่ หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏ

กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่การทำนาโดยจะแบ่งประเภทนาตามช่วงเวลาที่ทำ การทำนาในฤดูทำนาจะเรียกว่านาปี ซึ่งจะเริ่มทำนาปีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคม และเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนธันวาคม ส่วนการทำนานอกฤดูหรือเรียกว่านาปลัง จะเริ่มทำนาปลังตั้งแต่เดือนมีนาคม และเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนกรกฎาคม ในการทำนาปลังนั้น ชาวบ้านให้ข้อมูลว่าไม่สามารถทำได้ทุกปี หากปีไหนแล้งมาก น้ำไม่เพียงพอในการทำนาปลังปีนั้น ชาวบ้านก็จะไม่ทำนาปลัง การทำสวนลำไย ชาวบ้านจะเริ่มทำสวนลำไยในเดือนมิถุนายนและเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม การปลูกกะหล่ำปลี ชาวบ้านจะเริ่มปลูกกะหล่ำปลีกันในเดือนพฤศจิกายนและเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ และการปลูกถั่วเหลืองนั้น ชาวบ้านจะเริ่มเพราะปลูกกันตั้งแต่เดือนมิถุนายน และเก็บผลผลิตในเดือนสิงหาคม มีการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจคือ วัว ไก่ ปลา ตลอดทั้งปี การทำอาชีพแกะสลักไม้ตลอดทั้งปี มีการทำอาชีพรับจ้างทั่วไปตลอดทั้งปี และรับจ้างทำนาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม และชาวบ้านยังมีธุรกิจส่วนตัวต่าง ๆ อาทิร้านขายของชำ ร้านอาหาร ร้านตัดผม บ้านเช่าตลอดทั้งปี

กิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม จะมีกิจกรรมในหมู่บ้านได้แก่งานขึ้นปีใหม่ และตานข้าวใหม่จะมีงานในเดือนมกราคม มีประเพณีปีใหม่เมือง แห่ไม้ค้ำ สรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในเดือนเมษายนในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน และในเดือนนี้ยังมีประเพณีเลี้ยงผีเจ้าที่ประจำบ้าน ในเดือนมิถุนายน หมู่บ้านจะมีประเพณีเลี้ยงผีเจ้าที่ของหมู่บ้าน มีประเพณีเข้าพรรษาในเดือนกรกฎาคม และออกพรรษาในเดือนตุลาคม ซึ่งเมื่อวันออกพรรษานั้นชาวบ้านจะจัดประเพณีตานก๋วยฉลากในเวลาไล่เลี่ยกัน ในเดือนพฤศจิกายน จะมีประเพณียี่เป็งเพื่อขอขมาพระแม่คงคาและจัดประกวดบั้งไฟ

กิจกรรมทางด้านสุขภาพ ซึ่งกิจกรรมส่วนมากจะขับเคลื่อนโดย ร.พ.ส.ต. บ้านน้ำบ่อหลวง อ.ส.ม. หมู่บ้านแพะสันใหม่ และชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยมีกิจกรรมตรวจสุขภาพและตรวจสารเคมีประจำปีในเดือนธันวาคม มีกิจกรรมตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมประจำปีในเดือนมกราคม มีการรณรงค์ป้องกันหมอกควันในเดือนมีนาคม ส่วนกิจกรรมที่มีใน ร.พ.ส.ต. ตลอดทั้งปีนั้นได้แก่ คลินิกคุมกำเนิดและตรวจพัฒนาการเด็ก คลินิกโรคเรื้อรัง คลินิกวางแผนครอบครัว คลินิกเลิกบุหรี่ สุรา และคลินิกนวดแผนไทย เป็นต้น อ.ส.ม. หมู่บ้านแพะสันใหม่ มีการประชุมกันทุก ๆ เดือน

1. นายดวงต๋า ปาลีวัตร  เป็นบุคคลที่คนในชุมชนนับถือกันมานาน เป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อของคนเหนือที่เรียกกันว่า พ่อหนาน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นมัคทายกแล้วแต่ก็มีคนให้ความเคารพนับถือจนถึงทุกวันนี้

2. นางสุนา มูลเมือง  เป็นบุคคลที่คนในชุมชนนับถือมานานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน อีกทั้งยังเป็นผู้รอบรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของชุมชน และปฏิทินชุมชน เนื่องจากทำงานทางด้านชุมชนมาเป็นระยะเวลานาน รวมไปถึงเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการเตรียมเครื่องทำพิธีกรรมต่าง ๆ ของคนในหมู่บ้าน

ทางด้านวัฒนธรรมของบ้านแพะสันใหม่ จะมีกิจกรรมในหมู่บ้านได้แก่งานขึ้นปีใหม่ และตานข้าวใหม่จะมีงานในเดือนมกราคม มีประเพณีปีใหม่เมือง แห่ไม้ค้ำ สรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในเดือนเมษายนในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน และในเดือนนี้ยังมีประเพณีเลี้ยงผีเจ้าที่ประจำบ้าน ในเดือนมิถุนายน หมู่บ้านจะมีประเพณีเลี้ยงผีเจ้าที่ของหมู่บ้าน มีประเพณีเข้าพรรษาในเดือนกรกฎาคม และออกพรรษาในเดือนตุลาคม ซึ่งเมื่อวันออกพรรษานั้นชาวบ้านจะจัดประเพณีตานก๋วยฉลากในเวลาไล่เลี่ยกัน ในเดือนพฤศจิกายน

ประชาชนในหมู่บ้านเป็นคนพื้นเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษาพื้นเมือง, ภาษาเหนือ) ใน การติดต่อสื่อสารเป็นภาษาหลักภายในชุมชน สำหรับการติดต่อสื่อสารทางราชการ และบุคคลภายนอก จะใช้ ภาษาไทยกลาง และภาษาถิ่นในการติดต่อสื่อสาร


การคมนาคมเส้นทางในสมัยก่อนการเดินทางสัญจรไปมามีเส้นทางเดินเท้า ล้อเกวียน ถนนเป็นถนนลูกรัง ปัจจุบันมีเส้นทางติดต่อระหว่างตำบลและอำเภอใกล้เคียง ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 7129 และถนนลาดยางส่วนถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีต

ระบบการดูแลตนเองของภาคประชาชน (Popular sector)

ชุมชนบ้านแพะสันใหม่ มีการดูแลตนเองโดยพบว่า การรับประทานอาหารของประชาชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาหารรับประทานเองภายในครอบครัว โดยมีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานเอง เพราะคิดว่าอาหารที่ประกอบเองอร่อยถูกปากมากกว่าการไปซื้ออาการตามท้องตลาดมารับประทาน รวมถึงผักที่นำมาประกอบอาหารสดสะอาด ไม่มีสารเคมีตกค้าง แต่มีประชาชนบางส่วนที่ซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ จากตลาดสดภายในหมู่บ้านเพื่อมาประกอบอาหาร และประเภทอาหารที่ทำส่วนใหญ่ ได้แก่ แกง ต้ม และผัด โดยลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม โดยเชื่อว่าการลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงได้ การดูแลสุขภาพตนเองเมื่อมีอาการเจ็บป่วยหากไม่รุนแรง เช่น เป็นหวัด ไอ มีน้ำมูก จะไปรับการรับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านน้ำบ่อหลวง ร้านขายยา และโรงพยาบาล มีการใช้ยาสมุนไพรตามท้องถิ่นอยู่บ้างเป็นส่วนน้อย ยาสมุนไพรที่ใช้ ได้แก่ การดื่มน้ำชิง น้ำมะนาวแก้ไอ การใช้ว่านหางจระเข้ทาแผลถลอก และมีการใช้ลูกกลอน ยาธาตุ เป็นต้น ด้านการออกกำลังกายในชุมชนจะมีประชาชนส่วนใหญ่ออกกำลังกายด้วยการเดิน วิ่ง และปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค เต้นบาสโลบและยังมีอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีส่วนช่วยดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน มีการออกเยี่ยมบ้านติดตามผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ และสามารถช่วยตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้กับคนในชุมชนได้ เช่น การวัดระดับน้ำตาลโดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วมือ และการวัดความดันโลหิตให้กับคนในชุมชนเป็นประจำ

ระบบการแพทย์พื้นบ้าน (Folk sector)

จากการสอบถามและสัมภาษณ์ประชาชนในชุมชนบ้านแพะสันใหม่พบว่าแพทย์พื้นบ้านไม่ได้รับความนิยมเหมือนสมัยก่อนเนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้น สามารถให้การรักษาได้ผลดีและรวดเร็วกว่า และผู้ที่ประกอบพิธีมีน้อยลง แต่ชาวบ้านก็ยังมีความเชื่อในการประกอบพิธีกรรมเมื่อเจ็บป่วย เชื่อว่าการประกอบพิธีกรรมจะทำให้อาการเจ็บป่วยทุเลาลง และเพื่อเป็นความสบายใจของชาวบ้าน เช่น การทำพิธีเรียกขวัญซึ่งมักใช้หลังประสบอุบัติเหตุที่รุนแรง หรือมีการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ รักษาโดยมีการท่องคาถาและผูกข้อมือ แต่การใช้บริการในระบบนี้ในปัจจุบันมีน้อย เนื่องจากปัจจุบันมีระบบสุขภาพการแพทย์แผนปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น น่าเชื่อถือ และมีระบบสาธารณสุขเชิงรุก ทำให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง จึงทำให้ประชาชนเลือกที่จะเข้ารับการรักษาด้วยระบบการแพทย์สมัยใหม่มากกว่าการแพทย์พื้นบ้าน

ระบบการแพทย์สมัยใหม่ (Professional sector)

ประชาชนในหมู่บ้านแพะสันใหม่มีพฤติกรรมการดูแล รักษา และป้องกันสุขภาพ โดยเมื่อตนเองและสมาชิกในครอบครัวมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด มีไข้ ไอมีเสมหะ ปวดเมื่อย ประชาชนส่วนมากจะไปซื้อยามารับประทานเองที่ร้านขายยาหรือร้านค้าในชุมชน หากอาการไม่ดีขึ้นจะมาใช้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านน้ำบ่อหลวง หากมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง ก็จะเลือกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ เช่น โรงพยาบาลสันป่าตอง โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์ เนื่องจากมีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า(สิทธิบัตรทอง) และสิทธิเบิกจ่ายตรงที่โรงพยาบาลดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีสิทธิประกันสังคมหรือมีรายได้สูงส่วนมากจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน คือ โรงพยาบาลลานนา โรงพยาบาลราชเวช โรงพยาบาลแมคคอร์มิค และยังมีประชาชนบางส่วนที่เลือกใช้บริการที่คลินิก และซื้อยาจากร้านขายยามารับประทานเอง เนื่องจากมีความสะดวกและรวดเร็ว

ธัญชนก บุญจันทร์ต๊ะ, เกษราภรณ์ โพธิไพร, ปิยะฉัตร บำรุงกุล,ปรียา สะอาดรักธรรม, ปิยธิดา พลจันทร์, สาธิต ปองธนากรวงศ์ และสิริกร วรธนรักษ์. (2565). รายงานการพัฒนาอนามัยชุมชนบ้านแพะสันใหม่ หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่. สาขาการพยาบาล อนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.

อบต.น้ำบ่อหลวง โทร. 0-5208-0778