แม่กลองน้อย จากหมู่บ้านเกษตรกรรมในอดีตสู่การประยุกต์ผลผลิตทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป "กาแฟทีลอซู" เมล็ดกาแฟจากป่าตะวันตก สินค้าขึ้นชื่อประจำชุมชน
แม่กลองน้อย จากหมู่บ้านเกษตรกรรมในอดีตสู่การประยุกต์ผลผลิตทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป "กาแฟทีลอซู" เมล็ดกาแฟจากป่าตะวันตก สินค้าขึ้นชื่อประจำชุมชน
การก่อตั้งบ้านแม่กลองน้อย ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีข้อสันนิษฐานว่าบรรพบุรุษของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ปัจจุบันน่าจะอพยพมาจากประเทศจีนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 นำโดยตะกูลแซ่ม้า ผ่านเข้ามายังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จนถึงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จากนั้นจึงเดินทางโดยรถไฟจากอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่มายังจังหวัดพิษณุโลก ต่อด้วยการเดินเท้าข้ามภูเขาเข้ามายังพื้นที่จังหวัดตาก แล้วตั้งถิ่นฐานบริเวณดอยมูเซอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ต่อมาในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2400 ประชากรในชุมชนเริ่มมีมากขึ้นจึงได้มีการอพยพเพื่อไปหาแหล่งที่ทำกินใหม่ บริเวณต้นน้ำแม่กลอง ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง และเรียกชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านเซงซัว ตามชื่อผู้อาวุโสของหมู่บ้าน คือ นายเซงซัว แซ่ม้า และในปี พ.ศ. 2460 หมู่บ้านแม่กลองน้อยจึงถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
บ้านแม่กลองน้อย หมู่ที่ 6 ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบหุบเขามีดินโป่งตามธรรมชาติ ทรัพยากรป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบและป่าผลัดใบ มีแม่น้ำแม่กลองไหลเป็นแม่น้ำสายหลัก ประชากรสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตบ้านอุ้มเปี้ยม ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก
- ทิศใต้ ติดต่อกับเขตบ้านแม่กลองใหญ่ ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านป่าคา ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลานจังหวัดกำแพงเพชร
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตรัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า
ด้านลักษณะภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งจะหนาวเย็นมากในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านแม่กลองน้อย ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตากมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 817 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 425 คน ประชากรหญิง 392 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 193 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือน มกราคม 2567)
ประชากรในชุมชน คือ ชาวม้ง ที่คาดว่าเริ่มอพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเข้ามาตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ภาคเหนือของไทย โดยครอบครัวของชาวบ้านแม่กลองน้อยจะอยู่กันเป็นเครือญาติของตระกูลหรือแซ่ ภายในหมู่บ้านแม่กลองน้อยแบ่งเป็นสายตระกูลหรือแซ่ เช่น แซ่เฮ้อ แซ่ว่าง แซ่กือ
ม้งการประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้านแม่กลองน้อย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะการปลูกกะหล่ำปลีที่เป็นพืชเศรษฐกิจของหมู่บ้าน การเพาะปลูกของชาวบ้านมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นเพื่อเลี้ยงชีพของตนเองเป็นหลัก มีการว่าจ้างแรงงานจากศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยบ้านอุ้มเปี้ยมเข้ามาช่วยทำงาน รองลงมาจะเป็นการเอาแรงภายในครอบครัวหรือเครือญาติ ผลผลิตทางการเกษตรภายหลังจากเก็บเกี่ยวจะนำไปขายในเขตอำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นช่องทางการค้าที่สะดวกที่สุด นอกจากนี้ บางส่วนยังส่งออกไปยังต่างอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน
ในปัจจุบันมีการปลูกพืชเกษตรกรรมที่หลากหลายมากกว่าในอดีตที่ปลูกเพียงกะหล่ำปลี มีการนำพืชชนิดใหม่จากการสนับสนุนของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ คือ กาแฟสายพันธุ์อาราบิกา ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของชาวบ้านแม่กลองน้อยในปัจจุบัน ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ "กาแฟทีลอซู"
ทั้งนี้ นอกจากกะหล่ำปลีและกาแฟที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของเกษตรกรบ้านแม่กลองน้อยแล้ว ยังมีการปลูกพืชผสมผสานอีกหลายชนิด เช่น สตรอว์เบอร์รี เสาวรส ข้าว พริกขี้หนู มันเทศ ผักกาด ถั่วลันเตา มะระหวาน มัลเบอร์รี ลูกพลับ อะโวคาโด ฯลฯ จนอาจกล่าวได้ว่าผลผลิตทางการเกษตรจากไร่สวนบ้านแม่กลองน้อยนี้มีให้เก็บเกี่ยวส่งขายสร้างได้ได้ตลอดทั้งปี
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธควบคู่ผีบรรพบุรุษ ศาสนาที่มีผู้นับถือรองลงมา คือ ศาสนาคริสต์
การนับถือศาสนาพุทธจะยึดการนับถือผีบรรพบุรุษเป็นสำคัญ เน้นไปในการประกอบพิธีกรรม และจัดทำด้วยตนเองมากกว่า ทำให้ภายในชุมชนไม่มีวัดเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ แต่จะมีศาลประจำหมู่บ้านเพื่อกราบไหว้ บูชา และขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หากมีพระธุดงค์เดินทางมา ชาวบ้านบางส่วนก็จะตักบาตรทำบุญเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการรักษารูปแบบการแต่งกาย ขนบธรรมเนียม และประเพณีเก่าแก่ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เช่น ประเพณีขึ้นปีใหม่ (ปีใหม่ม้ง) การจัดงานปีใหม่ม้งจะมีการละเล่นโยนลูกช่วง ตีลูกข่าง และประเพณีกินข้าวใหม่ ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์ชุมชน : กาแฟทีลอซู
บ้านแม่กลองน้อย เป็นชุมชนชาติพันธุ์ม้งทางตอนเหนือในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ละแวกชุมชนเดิมมีสภาพเป็นผืนป่าต้นน้ำ จุดกำเนิดแม่น้ำแม่กลอง ในอดีตชาวบ้านทำไร่ฝิ่นเป็นอาชีพ แต่ในช่วงเวลาหนึ่งได้มีหน่วยงานเข้าไปส่งเสริมยกเลิกปลูกฝิ่น สนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิกาเป็นพืชเศรษฐกิจทดแทน
ในระยะแรกนั้นชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้เรื่องการจัดการผลผลิต เช่น แปรรูป การขาย แต่ภายหลังได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และศึกษาถึงการบวนการอย่างถ่องแท้ ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการผลผลิตเมล็ดกาแฟนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้เป็นกอบกำ ให้ชาวบ้านสามารถเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ภายใต้ชื่อ "กาแฟทีลอซู"
ภาษาพูด : ม้ง ไทยกลาง
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรไทย
อุ้มผาง
จิระพงษ์ ชนะภู (2560). ความเข้าใจและพฤติกรรมการใช้ "ยาแก้อักเสบ" (ยาปฏิชีวนะ) ในมุมมองของชาวบ้านแม่กลองน้อยที่ได้รับบริการจากสถานบริการสาธารณสุขชุมชนร่มเกล้า 5: กรณีศึกษาบ้านแม่กลองน้อย หมู่ที่ 6 ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร. (2561). การเติบโตของกาแฟที่บ้านแม่กลองน้อย. สืบค้น 12 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.seub.or.th/tag/
Otop Today. (2562). สินค้า Otop การแฟทีลอซู. สืบค้น 12 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.otoptoday.com/view
Teelorsu coffee farm. (2566). สืบค้น 12 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/story.php/