Advance search

มนต์เสน่ห์ชุมชนเก่าแก่บนพื้นที่เลียบริมฝั่งแม่น้ำโขงภายใต้เขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม พื้นที่พรมแดนธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนกับสายน้ำ และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

หมู่ที่ 7
ผาชัน
สำโรง
โพธิ์ไทร
อุบลราชธานี
อบต.สำโรง โทร. 0-4595-9668
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
23 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 พ.ค. 2024
บ้านผาชัน

เรียกตามลักษณะภูมิประเทศของชุมชนที่มีลักษณะเป็นผาหินสูงชัน


ชุมชนชนบท

มนต์เสน่ห์ชุมชนเก่าแก่บนพื้นที่เลียบริมฝั่งแม่น้ำโขงภายใต้เขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม พื้นที่พรมแดนธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนกับสายน้ำ และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

ผาชัน
หมู่ที่ 7
สำโรง
โพธิ์ไทร
อุบลราชธานี
34340
15.7557218322991
105.496407598257
องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรง

บ้านผาชันก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2433 และได้รับการจัดตั้งเป็นชุมชนจากทางราชการเมื่อปี พ.ศ. 2457 ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ชุมชน กล่าวว่า นายขุนแก้ว ธรรมเที่ยง และพ่อขุนหมื่นจิตเป็นผู้นำในการก่อตั้งหมู่บ้านขึ้น โดยทั้งสองคนได้เดินทางมาล่าสัตว์และพบว่าพื้นที่ตั้งชุมชนมีสัตว์อาศัยอยู่ชุกชุม และเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม เนื่องจากเป็นพื้นที่เลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งยังมีปลาที่ชุกชุมด้วย นายขุนแก้ว ธรรมเที่ยง พร้อมบุตร 3 คน คือ นางฉิม ธรรมเที่ยง นางนวน ธรรมเที่ยง และนายหล้า ธรรมเที่ยง จึงได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย ต่อมาจึงมีกลุ่มนายพรานที่เป็นเพื่อนกันกับนายขุนแก้วเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มเติมอีกหลายครอบครัว ในระยะแรกเป็นชุมชนใช้ชื่อว่า บ้านละครใต้ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบ้านด่าน (ปัจจุบันคืออำเภอโขงเจียม) ต่อมาชาวบ้านฮ่องเต้น (ปัจจุบันคือบ้านร่องคันแยง) ได้ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยร่วมด้วย จนกลายเป็นชุมชนที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้น ภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อชุมชนตามลักษณะสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งชุมชน ซึ่งในช่วงที่แม่น้ำโขงลดระดับลงจะมีผาหินสูงชันโผล่พ้นน้ำขึ้นมาจำนวนมากในบริเวณใกล้ชุมชน จึงได้เรียกชื่อชุมชนว่า บ้านผาชันมาจนถึงปัจจุบัน

บ้านผาชันหมู่ที่ 7 ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอโพธิ์ไทรประมาณ 37 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ แม่น้ำโขง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านร่องคันแยง ตำบลสำโรง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านดงนา ตำบลหนามแท่ง และบ้านสะเอิง ตำบลสำโรง อำเภอศรีเมืองใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านร่องคันแยงน้อย และบ้านสำโรง ตำบลสำโรง

บ้านผาชันตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ลักษณะพื้นที่เป็นพื้นที่สูงต่ำสลับกันไป ลาดเอียงไปทางด้านทิศตะวันออก และมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นแนวเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พื้นที่ชุมชนติดริมฝั่งแม่น้ำโขง มีหน้าผาสูงชันและโขดหินขนาดใหญ่ที่เกิดจากการกัดเซาะของแม่น้ำโขงและการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติอยู่ทั่วบริเวณ ด้วยลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ชุมชนทำให้ใต้พื้นดินมีชั้นหิน ไม่สามารถดูดซับและกักเก็บน้ำตามธรรมชาติได้ดี ทำให้พื้นดินค่อนข้างแห้งแล้ง พื้นที่ป่าชุมชนส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง และป่าโปร่ง มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น เต็ง รัง ประดู่ และกระบาก

ลักษณะสภาพภูมิอากาศพื้นที่ชุมชนแบ่งเป็น 3 ฤดู โดยฤดูร้อนอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ฤดูฝน อยู่ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม สภาพอากาศหนาวเย็น และแห้งแล้ง

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 7 บ้านผาชัน ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 626 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 315 คน ประชากรหญิง 311 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 176 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ประชาชนชาวบ้านผาชันมีความสัมพันธ์กันแบบระบบเครือญาติ ลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว เมื่อลูกหลานแต่งงานออกเรือนไปมักย้ายไปสร้างบ้านเรือนเป็นของตนเอง และตั้งอยู่ไม่ห่างกันสามารถไปมาหาสู่กันได้สะดวกภายในชุมชน

การประกอบอาชีพ

ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านผาชันประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา เลี้ยงโค-กระบือ หาปลาในแม่น้ำโขง และเกษตรกรรมริมฝั่งแม่น้ำโขง เช่น การปลูกถั่วลิสง มันสำปะหลัง และข้าวโพด

การเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำนาเป็นอาชีพหลัก เมื่อระดับน้ำโขงลดลง ชาวบ้านจะหันไปทำเกษตรกรรมตามริมฝั่งแม่น้ำโขงในพื้นที่ที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา อาศัยตะกอนดินที่พัดพามากับสายน้ำเป็นพื้นที่เพาะปลูก โดยผลผลิตที่ได้จากการทำเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขงมีไว้สำหรับบริโภคภายในครัวเรือน แจกจ่ายภายในชุมชน และบางส่วนมีการจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ โดยพืชที่นิยมปลูกมีอยู่หลายชนิด เช่น ถั่วลิสง มันเทศ หอมแดง กระเทียม ถั่วฝักยาว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ผักกาด ผักชี เป็นต้น

การพึ่งพาและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตชุมชน ทั้งในด้านแหล่งอาหารสำหรับบริโภค และสำหรับค้าขาย ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรแม่น้ำโขง การประมงท้องถิ่นเป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตและอาชีพของชุมชนบ้านผาชัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีที่จะมีฝูงปลาที่ชุกชุม ทำให้สามารถจับปลาได้มากก็ช่วงอื่น โดยชาวบ้านมีวิธีการหาปลาซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลาย ได้แก่ ดักใต้ลำน้ำโขงโดยใช้ตาข่ายผูกกับเชือก ให้หินถ่วงให้จมลงใต้น้ำ มักจะได้ปลาขนาดใหญ่ การปล่อยมองหรือตาข่ายโดยปล่อยเหนือน้ำ ซึ่งนิยมไหลมองในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม การลงเบ็ด เป็นการใช้เชือกผูกเบ็ดเป็นระยะโดยใช้เหยื่อล่อปลา เช่น ไส้เดือน หอย และปลาขนาดเล็ก การดักข่ายหรือการช้อนปลา จะตักปลาในบริเวณที่กระแสน้ำไหลทวนและเชี่ยว ปลาที่ตักได้ เช่น ปลาขม ปลานาง ปลายาง ฯลฯ

กลุ่มองค์กรชุมชน เช่น

1. กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านผาชัน เนื่องจากพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ งดงาม เหมาะแก่การเที่ยวชม ทำให้มีกลุ่มนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาท่องเที่ยวตามเส้นทางธรรมชาติมากมาย ทางชุมชนบ้านผาชันจึงได้ก่อตั้งกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านผ้าชันขึ้นมา เพื่อจัดสรรการท่องเที่ยวชุมชนอย่างเป็นระบบระเบียบ ก่อให้เกิดรายได้ในชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ถูกต้อง เพื่อคงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

2. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน หรือ อสม. ทำหน้าที่ในการช่วยเหลืองานด้านสาธารณสุข บริการและประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุข สอดส่องความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน ตรวจสภาพร่างกายเบื้องต้น เก็บข้อมูลสุขภาพ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ ของสาธารณสุขสู่สมาชิกในชุมชนอย่างทั่วถึง

ชาวชุมชนผาชันเป็นชุมชนชาวพุทธ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาชาวบ้านจะรวมตัวกันเพื่อไปทำบุญที่วัด ตามแบบวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ภาคอีสานโดยทั่วไป ทั้งชุมชนยังมีวิถีวัฒนธรรมประเพณี พิธีกรรมตามความเชื่อท้องถิ่น มีงานบุญประเพณีของชุมชนที่ชาวบ้านให้ความสำคัญและปฏิบัติสืบต่อกันมาคือ การเลี้ยงปู่เจ้า เลี้ยงเจ้าเสาเฉลียง และงานบุญประจำปีของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบุญประเพณีประจำปีของชุมชน ตามขนบฮีตสิบสอง คองสิบสี่ตามแบบฉบับวิถีท้องถิ่นอีสาน ซึ่งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวอีสาน โดยเป็นประเพณีปฏิบัติในรอบปีตลอดทั้งสิบสองเดือน และชุมชนบ้านผาชันมีวิถีปฏิบัติดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • เดือนยี่ (มกราคม) ทำบุญปีใหม่
  • เดือนสาม (กุมภาพันธ์) ทำบุญข้าวจี่
  • เดือนสี่ (มีนาคม) ทำบุญพระเวส และทำบุญประจำปีหมู่บ้าน
  • เดือนห้า (เมษายน) ทำบุญสงกรานต์
  • เดือนหก (พฤษภคม) ทำบุญบั้งไฟ
  • เดือนแปด (กรกฎาคม) ทำบุญเข้าพรรษา
  • เดือนเก้า (สิงหาคม) ทำบุญข้าวประดับดิน
  • เดือนสิบ (กันยายน) บุญห่อข้าวสาก
  • เดือนสิบเอ็ด (ตุลาคม) บุญออกพรรษาและบุญกฐิน
  • เดือนสิบสอง (พฤศจิกายน) บุญลอยกระทงและบุญกฐิน

พิธีกรรมบูชาเสาเฉลียง หรือพิธีบูชาเสาเฉลียง ชาวบ้านผาชันมีความเชื่อว่า เสาเฉลียงเป็นเสาหินคู่สูงใหญ่ราวกับเทวดาสร้างขึ้น ชาวบ้านจึงเชื่อว่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษเมืองอุบลราชธานีที่เสียสละปกป้องบ้านเมืองสิงสถิตอยู่ที่เสาเฉลียง และจะช่วยปกป้องคุ้มครองชาวบ้านได้ ในวันพระขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ จะมีเจ้ากวนหรือผู้รักษานำดอกไม้ธูปเทียนไปสักการบูชา หากมีงานสำคัญต่าง ๆ จะต้องมีการบอกกล่าวให้ช่วยรักษาดูแลงานให้ราบรื่น โดยเจ้ากวนถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่สืบทอดกันมานานหลายรุ่น

พิธีกรรมเลี้ยงผีฟ้า หรือผีกะไท้ จะจัดขึ้นโดยมีแม่หมอหรือเจ้ากวนเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรม เชื่อว่าผู้ที่เข้าร่วมจะอยู่ดีมีสุข ไม่มีสิ่งชั่วร้ายมากล้ำกรายตนเองและญาติพี่น้อง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาคุ้มครอง ครอบครัวมีความรักสามัคคีกัน อยู่ดีกินดี ทำมาหากินรุ่งเรือง และอยู่เย็นเป็นสุข ทั้งนี้ พิธีกรรมเลี้ยงผีฟ้ายังเป็นพิธีกรรมการปัดเป่ารักษาผู้ที่เจ็บป่วยที่เกิดจากการกระทำของสิ่งที่มองไม่เห็น หรือทำผิดต่อจารีตประเพณี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรป่าไม้ บ้านผาชั้นนั้นเป็นชุมชนริมโขงที่นับได้ว่ามีทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างอุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ ลักษณะของพื้นที่ป่าไม้ในบริเวณเป็นป่าเต็งรัง มีไม้สำคัญหลายประเภท เช่น ประดู่ พะยูง เต็ง รัง พะยอม เป็นต้น

ทรัพยากรน้ำ พื้นที่ชุมชนบ้านผาชันตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของชุมชน โดยแหล่งน้ำชุมชนจะมีปริมาณมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีต้นน้ำจากหลายแหล่งที่ไหมมารวมกัน เช่น จากภูซาง ภูสมุย และภูลาน โดยมีลำห้วยต่าง ๆ เป็นจุดเชื่อมต่อที่คอยส่งน้ำไหลมารวมกันยังจุดเดียวลงสู่แม่น้ำโขงติดกับพื้นที่ชุมชนบ้านผาชัน

จิหล่อ หรือ จิ้งหรีดสายพันธ์ุสีทอง เป็นแมลงที่พบได้มากในบริเวณชุมชนบ้านผาชัน โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งถึงช่วงฤดูน้ำหลาก ทั้งยังเป็นอาหารพื้นบ้านที่ผู้คนนิยมรับประทาน รวมไปถึงการจับเพื่อจำหน่ายช่วยสร้างรายได้ในชุมชน ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดพื้นที่ เขตอนุรักษ์พันธุ์จิหล่อเพื่อเป็นการอนุรักษ์ป้องกันการสูญพันธุ์ของแมลงในท้องถิ่น โดยเขตอนุรักษ์จะกำหนดพื้นที่และปิดป้ายประกาศอย่างชัดเจน ซึ่งในแต่ละปีบริเวณเขตอนุรักษ์จะถูกเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ในแต่ละปี ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายจุด

แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของชุมชน

1. เสาเฉลียง เสาหินรูปร่างคล้ายดอกเห็ดตั้งสูงตระหง่านกลางลานหิน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของชุมชน สันนิษฐานว่าเกิดจากการไหลเปลี่ยนทิศทางของแม่น้ำโขงเป็นระยะเวลานานหลายล้านปี ทำให้เหลือเป็นโขดหินรูปทรงแปลกตา

2. ถ้ำโล้ง เป็นถ้ำหินอยู่ทางทิศตะวันออกของเสาเฉลียง ตามตำนานกล่าวว่าในอดีตเป็นพื้นที่ที่ชาวขอมอาศัยอยู่บริเวณนี้ มีการประกอบพิธีกรรมอาบน้ำยาเพื่อทำเครื่องรางของขลังตามความเชื่อของชนพื้นเมือง และความเชื่อแบบพราหมณ์

3. นางเข็นฝ้าย เป็นหินที่มีลักษณะมีรอยเหมือนคนคุกเข่าบนหินแกรนิต มีรอยคุกเข่าทั้งหมด 6 รอย เหมือนมีคน 3 คนนั่งอยู่ ด้านบนมีรอยเหมือนควันไฟ มีความเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาอยู่ ผู้ที่เข้ามาในบริเวณนางเข็นฝ้ายต้องอยู่ในอาการสำรวม ไม่ส่งเสียงดังหรือพูดจาหยาบคาย

4. ผาสามหมื่นรู เป็นหน้าผาหินที่ถูกกัดเซาะตามธรรมชาติของการไหลของลำน้ำโขงที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน จนเกิดเป็นรูพรุนบนหน้าผาจำนวนมากและมีลักษณะสวยงามแปลกตา

5. ถ้ำมืด เป็นถ้ำหินแกรนิตขนาดใหญ่ที่สามารถจุผู้คนได้จำนวนมากนับพันคน ขนาดของปากถ้ำสูง 5 เมตร กว้าง 19 เมตร มีความลึกกว่า 1,200 เมตร อยู่ทางทิศตะวันออกของชุมชนห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร

6. ผาหมาว้อ เป็นผาที่อยู่ริมแม่น้ำโขง เมื่อมองดูจากลำน้ำโขงขึ้นไปจะเห็นก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายกับหัวสุนัข ชาวบ้านเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ ต้องให้ความเคารพ ไม่พูดจาเสียงดังหยาบคาย เพราะอาจจะเจ็บป่วยหรือมีอันเป็นไป

7. เสาหินตั้ง เป็นเสาหินขนาดใหญ่สูงประมาณ 8 เมตร ขนาดโดยรอบประมาณ 4 เมตร ลักษณะเป็นท่อนหินวางทับซ้อนกันอยู่รูปทรงคล้ายเจดีย์

8. ผาตัวเลข ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าเกิดขึ้นในช่วงที่ฝรั่งเศสล่าอาณานิคมและมีประเทศลาวเป็นเองขึ้น นักเดินเรือได้แกะสลักตัวเลขเพื่อวัดระดับน้ำในแม่น้ำโขง เพื่อใช้ในการเดินเรือช่วงสงครามอินโดจีน

9. สองฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณก่อนถึงถ้ำมืดเป็นจุดที่มีทัศนียภาพที่สวยงามมาก เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีความงดงามน่าประทับใจ

10. ลานหินสวย เป็นลานหินขนาดใหญ่สลับกับทุ่งหญ้าที่มีทัศนียภาพงดงาม พื้นที่โดยรอบเป็นทิวเขาและหน้าผาสูง เหมาะสำหรับการพักแรมรับลมหนาว ชมทะเลหมอกในตอนเช้า

11. ภูสมุยและภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ เป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร เหมาะสำหรับการศึกษาธรรมชาติ ชมภาพเขียนสีถ้ำแต้ม ชมหินรูปร่างต่าง ๆ ลักษณะแปลกตา ทั้งยังเหมาะแก่การพักแรงรับลมหน้า ชมทุ่งหญ้า ทะเลหมอก ชมพระอาทิตย์ขึ้นที่หุ่งกำพร้า ชมพระอาทิตย์ตกที่ผานางคอย และในบริเวณเดียวกันยังมีภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ให้ได้ชมและศึกษาเรียนรู้อีกด้วย

ภาษาพูด : ภาษาถิ่นอีสาน ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


ผาแต้ม
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คมฉาน ตะวันฉาย. (2565). เที่ยว บ้านผาชันมหัศจรรย์ริมแม่น้ำโขง. ใน คอลัมน์ประเทศไทยใจเดียว กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.bangkokbiznews.com/

นักรบตะวันออก. (2567). บ้านผาชัน จ.อุบลราชธานี. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567, จาก https://th.trip.com/

ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์. (2554). เขื่อนบ้านกุ่ม ผลกระทบทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป กรณีศึกษา บ้านผาชัน ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). (2564). บ้านผาชัน จ.อุบลฯ กับวิถีประมงพื้นบ้านริมโขง ช่วยฟื้นชีวิตให้ชุมชน. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.dasta.or.th/

อบต.สำโรง โทร. 0-4595-9668