ชุมชนที่อาศัยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ กับการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน และวิถีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่เป็นเอกลักษณ์
เมื่อเริ่มก่อตั้งชุมชนได้ระยะหนึ่งเกิดโรคระบาด ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก ผู้คนที่รอดชีวิตจากโรคระบาดได้มีการทำพิธีบูชาต้นไม้สลี (ต้นโพธิ์) จนโรคระบาดนั้นหายไป ชาวบ้านจึงเรียกชื่อชุมชนว่า "บ้านไม้สลี" นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ชุมชนที่อาศัยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ กับการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน และวิถีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่เป็นเอกลักษณ์
จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนกล่าวว่าบ้านไม้สลีมีการอยู่อาศัยเป็นเวลายาวนานนับร้อยปีมาแล้ว โดยจากหลักฐานที่พอจะรวบรวมได้พอจะอธิบายได้ว่าเมื่อประมาณช่วงปี พ.ศ. 2482 ชาวปกาเกอะญอจากจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 10 ครัวเรือน ได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งบ้านเรือนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำลี้ด้านทิศตะวันออก บ้านไม้สลีเดิมมีตากับยายคู่หนึ่งเข้ามาก่อตั้งบ้านเรือนบริเวณใกล้กับต้นไผ่สีทอง และมีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 90 หลังคาเรือน ต่อมาเกิดฝีดาษระบาดในหมู่บ้าน รวมถึงหมู่บ้านใกล้เคียง ชาวบ้านล้มตายเป็นจำนวนมาก ผู้ที่สามารถหายจากโรคนี้และรอดชีวิตมาได้ เชื่อว่าเป็นผู้มีบุญ ผู้ที่มีชีวิตอยู่ต่อจากหลายชุมชน คือ หนองหลัก ห้วยไร่ แม่แสม รวมถึงผู้คนที่ยังไม่ทันได้กลับเข้าหมู่บ้านด้วยความกลัวว่าโรคระบาดจะแพร่เข้าไปในชุมชน จึงได้ทำพิธีบูชาต้นไม้สลี โดยมีชายคนหนึ่งชื่อ พำหน่วยเส็ง เรียกต้นไม้สลีว่า ตูปู่ตี้ จะนำอาหารข้าวตอกดอกไม้ไปบูชาทุกวัน โรคระบาดจึงไม่แพร่กระจายมายังชุมชน และโรคภัยต่าง ๆ ก็หายไป ชาวบ้านจึงเรียกชื่อชุมชนว่า "บ้านไม้สลี" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และใน พ.ศ. 2482 จึงได้มีการตั้งบ้านไม้สลีขึ้นเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านไม้สลี หมู่ที่ 5 ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ชุมชนตั้งอยู่ห่างจากอำเภอประมาณ 10 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดลำพูนประมาณ 80 กิโลเมตร เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขาและเนินเขา โดยมีภูเขาล้อมรอบชุมชนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีลำห้วยไหลผ่านคือ ลำห้วยงาช้างทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และลำห้วยแม่ลา โดยจะไหลผ่านหมู่บ้านมาบรรจบกันที่ลำห้วยแมด โดยชุมชนบ้านไม้สลีมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยงูสิงห์
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแม่แสม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านเสริมงาม จังหวัดลำปาง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านใหม่ไม้สลี
สภาพภูมิอากาศ
บ้านไม้สลีมีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเย็นสบาย ช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 25-27 องศา ในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 15-20 องศา โดยในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนจะมีอากาศร้อน ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมจะมีฝนตกชุก และช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์จะมีอากาศหนาวเย็น
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านไม้สลี ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 594 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 311 คน ประชากรหญิง 283 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 213 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
การตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยของชุมชนบ้านไม้สลี ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีความเป็นระบบเครือญาติ การตั้งบ้านเรือนก็จะใกล้กัน ไม่มีรั้วกันระหว่างบ้าน ลักษณะครอบครัวจะเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในระบบเครือญาติทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากในอดีตนิยมแต่งงานกับบ้านใกล้เรือนเคียง ความสัมพันธ์ในเชิงระบบเครือญาติของบ้านไม้สลีส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งของสมาชิกภายในชุมชน
ปกาเกอะญอชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีการเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันฝรั่ง กระเทียม หอมแดง ถั่วแระ ลำไย ฯลฯ โดยพืชเศรษฐกิจ เช่น ถั่วแระ ข้าวโพด มันฝรั่ง ส่วนใหญ่บริษัทเกี่ยวกับการเกษตรจะเป็นผู้ลงทุนให้ โดยหักค่าใช้จ่ายหลักจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ ชุมชนบ้านไม้สลีสามารถปลูกมันฝรั่งได้ โดยมีการเริ่มเข้ามาปลูกมันฝรั่งในพื้นที่ชุมชนกว่าสิบปีมาแล้ว โดยบริษัทที่ลงทุนในการเพาะปลูกได้ทำการทดลองปลูกมันฝรั่งในเขตพื้นที่อำเภอทุ่งหัวช้าง พบว่าบ้านไม้สลีเป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถปลูกมันฝรั่งได้ผลผลิตดี เนื่องจากมีสภาพภูมิอาการที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เกิดขึ้นภายในชุมชน นอกจากนี้ ประชาชนบางส่วนยังเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริมร่วมด้วย เช่น วัว ควาย และหมู ทั้งนี้ยังมีการรับจ้างทั้งในชุมชนและนอกชุมชน ที่ชาวบ้านประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน
ประเพณีและวิถีชีวิต
วิถีชีวิตของชาวบ้านไม้สลีมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิถีชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือทั่วไป ทั้งยังมีความเชื่อของชาวปกาเกอะญอซึ่งเป็นกลุ่มบรรพบุรุษของชุมชนมาตั้งแต่อดีต ก่อนที่จะมีการรับเอาวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา นับถือพุทธและนับถือผีร่วมกัน โดยจะนับถือผีเจ้า ผีเขาต่าง ๆ และเซ่นไหว้ด้วยอาหารหวานคาว และยังมีประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น
- ประเพณีมัดมือปีใหม่ เป็นงานประจำปีของชุมชน เรียกว่า “ไคยจู” จัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน โดยขันคูและผู้นำทางความเชื่อจะเป็นผู้กำหนดจัดงาน การมัดมือปีใหม่เป็นสัญญาณการเริ่มต้นทำการเกษตร หลังจากเสร็จพิธีชาวบ้านจะเริ่มถางไร่เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับลงมือเพาะปลูก
- ประเพณีกินข้าวใหม่บ้านไม้สลี เป็นประเพณีที่จัดขึ้นหลังจากสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว จัดในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม จะมีการนำข้าวสารมารวมกันที่วัดเป็นการทำบุญ โดยข้าวจะถวายไว้ที่วัดสำหรับพระสงฆ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะแบ่งขายให้กับผู้ที่ไม่ได้ทำไร่ทำนาและนำเงินมาไว้สำหรับบำรุงวัดและกิจกรรมต่าง ๆ ภายในวัดและชุมชน
- ประเพณีรดน้ำดำหัวพ่อแม่และผู้สูงอายุ จะจัดขึ้นเพื่อแสดงความเคารพ ความกตัญญูต่อบิดามารดา และผู้ที่เคารพนับถือ และขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยประเพณีนี้ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในครอบครัวตามช่วงเวลาที่มีความพร้อมและโอกาสสำคัญ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนตลอดทั้งเดือนร่วมกับประเพณีสงกรานต์
- การเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน หรือการเข้ากรรมบ้านของชาวปกาเกอะญอจะจัดขึ้น 2 ครั้งในหนึ่งรอบปี โดยจะจัดในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 และวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 7 เพื่อขอขมาในสิ่งที่ได้กระทำล่วงเกินและบูชาผีหมู่บ้าน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ปกปักรักษา คุ้มครองดูแลให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข โดยจะนำข้าวสารจากทุกครัวเรือนเพื่อใช้ในการต้มเหล้าซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้หญิง และส่วนพิธีกรรมที่จัดขึ้นในวัดจะถูกกำหนดให้ผู้ชายสามารถเข้าร่วมได้เท่านั้น และจะมีการปิดชุมชนห้ามบุคคลเข้าออกหมู่บ้านในช่วงทำพิธี ปัจจุบันจะอนุโลมให้มีการใช้เส้นทางสัญจรผ่านไปมาได้เนื่องจากต้องใช้เส้นทางร่วมกับชุมชนอื่น ๆ
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรน้ำ บ้านไม้สลีมีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านบริเวณใกล้ชุมชนคือแม่น้ำลี้ ซึ่งมีต้นน้ำอยู่บนเทือกเขาบริเวณชุมชนบ้านหนองหลัก โดยชาวบ้านไม้สลีใช้ทรัพยากรน้ำจากแม่น้ำลี้ในการทำเกษตรกรรมของชุมชน และยังมีลำน้ำสายเล็กๆ ไหลผ่านแนวพื้นที่ราบในเขตตำบลตะเคียนปม
ทรัพยากรป่าไม้และภูเขา บ้านไม้สลีมีป่าไม้และภูเขาโดยรอบชุมชน ซึ่งป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก ไม้เต็ง ไม้มะค่า ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่การดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง
ทรัพยากรดิน พื้นดินในบริเวณเขตชุมชนบ้านไม้สลีมีความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้หลากหลายชนิด เช่น มันฝรั่ง ข้าว ข้าวโพด หอมแดง ฯลฯ แต่ด้วยการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินลดลงมากยิ่งขึ้นในทุก ๆ ปี
ภาษาพูด : ภาษากะเหรี่ยง ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง
ภาษาเขียน : อักษรไทย
วัชรากร ปังอุทา. (2563). การพัฒนายุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) เพื่อขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน: ชุมชนบ้านไม้สลี ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน. ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาบัณฑิตอาสาสมัคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
บ้านไม้สลี ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน. (2559). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/