ชุมชนประไรโหนก กับวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นและมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าในการทำไม้กวาดดอกหญ้า สู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจพื้นฐานเพื่อสร้างเสริมศักยภาพชุมชน
“ประไรโหนก” เป็นภาษามอญ ตั้งขึ้นตามสภาพภูมิศาสตร์บริเวณที่ตั้งชุมชน โดยคำว่า “ประไรโหนก” มีความหมายว่า ที่ราบลุ่มอันกว้างใหญ่
ชุมชนประไรโหนก กับวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นและมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าในการทำไม้กวาดดอกหญ้า สู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจพื้นฐานเพื่อสร้างเสริมศักยภาพชุมชน
พื้นที่ชุมชนบ้านประไรโหนก เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชนชาติมอญที่สร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2539 โดยชื่อบ้านประไรโหนกนั้นเข้าใจว่าเป็นภาษามอญ มีความหมายว่า ที่ราบลุ่มอันกว้างใหญ่ ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในชุมชนให้ข้อมูลว่า ก่อนการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในชุมชนนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2539 ชาวบ้านได้พากันสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณเขื่อนเขาแหลม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมโดยรอบชุมชน สัญจรไปมาติดต่อกับชุมชนภายนอกโดยทางเรือ การเดินทางทางเรือจะต้องมาขึ้นแพที่ริมฝั่งแม่น้ำซองกาเลีย และยังเป็นที่อยู่อาศัยของลูกหลานชาวบ้านประไรโหนก โดยประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวอีสานที่อพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสทำมาหากินและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากหลายจังหวัด เช่น อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ ยโสธร เลย กาฬสินธุ์ ฯลฯ และบางส่วนมาจากภาคอื่น ๆ อีกหลายจังหวัด เช่น สุพรรณบุรี อุทัยธานี จันทบุรี เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เป็นต้น โดยช่วยระยะเวลาการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่มีรายละเอียดตามช่วงเวลาดังต่อไปนี้
- พ.ศ. 2537 ทางราชการได้มีการผลักดันให้กลุ่มชนชาติมอญออกจากพื้นที่
- พ.ศ. 2538 มีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บ้านประไรโหนกเป็นหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดน
- พ.ศ. 2539 ทหารจากกองพลที่ 9 ทำการอพยพผู้คนจาก 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้วยองค์พระ บ้านกุยจะโถ และบ้านชิเด่งเฉ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นอุทยานเขาแหลม ไปอยู่ที่ชุมชนประไรโหนก โดยจัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้แต่ละครอบครัว
- พ.ศ. 2541 คณะรัฐมนตรีประกาศให้เป็นหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2475 มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนดูแลชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านประไรโหนก หมู่ที่ 10 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอสังขละบุรี ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 33 กิโลเมตร และห่างจากเมืองกาญจนบุรีประมาณ 243 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มบนภูเขา เอื้อต่อการทำเกษตรกรรมและอยู่อาศัย มีพื้นที่ป่าอยู่ทางด้านทิศเหนือและใต้ พื้นที่ชุมชนล้อมรอบไปด้วยภูเขา โดยชุมชนมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ แนวเขตชายแดนประเทศเมียนมาร์
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 บ้านห้วยกบ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 9 บ้านพระเจดีย์สามองค์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แนวเขตชายแดนประเทศเมียนมาร์
ชาวบ้านปะไรโหนกมีการตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยทอดยาวไปตามแนวถนนที่ตัดผ่านกลางชุมชนและแนวถนนภายในหมู่บ้านตามการจัดสรรจากหน่วยงานราชการ และอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันเป็นกลุ่มก้อน โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 10 บ้านประไรโหนก ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 332 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 177 คน ประชากรหญิง 155 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 143 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนปัจจุบันมีหลายกลุ่มทั้งชาวมอญ ชาวพื้นเมืองเดิม และผู้คนจากหลายจังหวัดในภาคอีสานที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาหนทางประกอบอาชีพ
มอญชุมชนบ้านประไรโหนก หมู่ที่ 10 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาชีพด้านการเกษตรต่างๆ ทั้งปลูกพืชและเลี้ยงงสัตว์ เช่น การทำนาข้าว การปลูกพืชผัก ปลูกถั่ว มันสำปะหลัง และการปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงโค กระบือ ปลา ฯลฯ
อีกหนึ่งอาชีพสำคัญของชุมชนที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน คือ การทำไม้กวาดดอกหญ้าชุมชนบ้านประไรโหนก ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการส่งออกไปขายยังนอกชุมชน หมู่บ้านใกกล้เคียงและในท้องตลาด และตัวแทนชาวบ้านกลุ่มผู้ทำไม้กวาดจำนำสินค้าไปจัดแสดงตามงานประเพณี เทศกาลต่างๆ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ชุมชนที่ช่วยสร้างชื่อเสียงและรายได้เข้ามายังหมู่บ้าน
กลุ่มไม้กวาดบ้านประไรโหนกจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 เป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มไม้กวาดบ้านประไรโหนก” เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นองค์กรรองรับการดำเนินงานของชุมชน โดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นในการร่วมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้ดำเนินการไปได้ โดยผลิตภัณฑ์จะถูกนำออกไปจำหน่ายและนำรายได้กลับเข้ามาในกลุ่มชุมชนช่วยสร้างรายได้และระบบเศรษฐกิจชุมชน
ชุมชนบ้านประไรโหนกเป็นชุมชนชาวพุทธ มีวิถีปฏิบัติตามแบบชาวพุทธโดยทั่วไป จัดกิจกรรมในชุมชนตามวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และกิจกรรมทางประเพณีท้องถิ่นร่วมกันที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน และที่วัดประจำหมู่บ้าน และเนื่องจากพื้นที่ชุมชนเดิมเป็นพื้นที่ของชนชาติกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่อาศัยอยู่มาก่อน ชาวบ้านจึงมีความเชื่อที่ว่าหมู่บ้านมีเจ้าที่เจ้าทางปกปักรักษาเป็นมอญ จึงมีการตั้งหลักกลางบ้านในพื้นที่สาธารณะของชุมชน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษชาวมอญที่เคยอาศัยอยู่มาก่อนที่ชาวบ้านจะย้ายถิ่นฐานเข้ามา เพื่อให้ช่วยคุ้มครองดูแลชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป นอกจากนี้ยังมีการตั้งศาลเจ้าแม่บัวขาวไว้ที่ทางเข้าหมู่บ้าน และศาลเจ้าแม่ตะเคียนทองบริเวณทางขึ้นไปยังพื้นที่ทำกินขอชุมชน เป็นการแสดงความเคารพต่อสถานที่ในหมู่บ้านทั้งที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ประกอบอาชีพทำมาหากิน
วัฒนธรรมประเพณีชุมชนของชาวบ้านประไรโหนกที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่เริ่มการเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ มีการทำบุญปีใหม่ และประเพณีสงกรานต์ โดยชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีทางศาสนาที่ศาลาประชาคมกลางหมู่บ้าน โดยประเพณีสงกรานต์ชาวบ้านจะมีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ บุคคลในครอบครัว เพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือและแสดงความกตัญญู ส่วนพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาชาวบ้านจะร่วมใจกันจัดกิจกรรมที่วัดของชุมชนตามแต่ละช่วงโอกาสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
การทำบุญกลางบ้าน เป็นประเพณีที่ชาวบ้านยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่แรกก่อตั้งหมู่บ้าน โดยส่วนใหญ่จะจัดในช่วงฤดูแล้ง แต่ในบางปีการทำบุญกลางบ้านจะดูตามเวลาที่เหมาะสม หรือตามที่ชาวบ้านหารือและมีข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดจัดงาน โดยชาวบ้านจะร่วมกันจัดประเพณีนี้และเข้าร่วมกิจกรรมในทุกๆ ปี |
ชุมชนบ้านประไรโหนกเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ที่มีความสมบูรณ์และหลากหลาย โดยมีพันธุ์ไม้อยู่หลายชนิด เช่น ไผ่ ตะเคียน ฯลฯ ทั้งยังมีสัตว์ป่าต่างๆ บนภูเขา เช่น กบภูเขา หมูป่า เก้ง กระรอก กวาง นก ไก่ป่า ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับการบริโภคของชุมชน และยังมีพืชชนิดต่างๆ ที่ชาวบ้านจะออกไปหาพืชผัก ผลไม้ จากป่าตามธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ตามริมห้วย ป่าไม้ ภูเขา โดยรอบชุมชน ซึ่งยังมีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต
ทรัพยากรน้ำ พื้นที่ชุมชนมีแหล่งน้ำที่ไหลมาจากภูเขาเป็นลำห้วยไหลทอดยาวผ่านกลางหมู่บ้าน มีบ่อน้ำที่ถูกขุดขึ้นในบริเวณศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านประไรโหนก เป็นพื้นที่สำหรับเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ปลาชนิดต่าง ๆ และเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ทั้งยังมีอ่างเก็บน้ำบ้านประไรโหนกที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในชุมชนตลอดทั้งปี มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่จำพวกปลาชนิดต่าง ๆ เช่น ปลาชะโด ปลาหมอ ปลาไหล ปลาดุก เป็นต้น และน้ำที่ใช้ในการบริโภคจะมาจากระบบประปาภูเขา ซึ่งมาจากแหล่งน้ำที่ห่างออกไปจากชุมชนประมาณ 10 กิโลเมตร ส่งน้ำตามท่อมายังแทงค์น้ำขนาดใหญ่ของชุมชนและส่งต่อไปยังแต่ละครัวเรือนในหมู่บ้านเพื่อใช้อุปโภค บริโภคและมีปริมาณที่เพียงพอตลอดทั้งปี
ภาษาพูด : ภาษาไทย
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ปัญจารี ปราบใหญ่. (2553). วิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายการผลิตไม้กวาดดอกหญ้า กรณีศึกษา บ้านประไรโหนก หมู่ที่ 10 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วิสาหกิจชุมชนไม้กวาดดอกหญ้าบ้านครอุ๊ก. (2561). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/p/
สำนักสงฆ์บ้านประไรโหนก. (2563). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com