หาดไร้เงา ขุนเขานมสาว ดินขาวมากมาย พ่อท่านคล้ายศักดิ์สิทธิ์ แดนเนรมิตระนองแคนย่อน
ชุมชนบ้านหาดส้มแป้นเพี้ยนมาจากคําว่า "ฮวยซัมเปียน" ซึ่งมีการบอกเล่ามีชาวจีนเข้ามาในพื้นที่เพื่อหาแร่ดีบุก เพี้ยนมาเป็นคําว่า "หาดส้มแป้น" จนถึงปัจจุบัน
หาดไร้เงา ขุนเขานมสาว ดินขาวมากมาย พ่อท่านคล้ายศักดิ์สิทธิ์ แดนเนรมิตระนองแคนย่อน
ผู้ที่บุกเบิกเข้ามาในตําบลเป็นการเข้ามาเพื่อทําเหมืองแร่ดีบุกซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทย-จีนทําให้ตําบลหาดส้มแป้นมีวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างไทยกับจีนเช่นเดียวกับชุมชนในเมืองระนอง วัฒนธรรมและภูมิปัญญหาที่ถ่ายทอดมามักเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ เช่น การร่อนแร่ การทําแร่ (ทุ้งแร่) ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านได้รวมตัวกันจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาการร่อนแร่ ณ หมู่ที่ 3 บ้านหาดส้มแป้น เพื่อให้ลูกหลานและคนต่างพื้นที่ได้เรียนรู้และเข้าใจความเป็นมาของคนในตําบลหาดส้มแป้น
หาดส้มแป้น เป็นตําบลเล็ก ๆ ลักษณะเป็นที่ราบท่ามกลางหุบเขาไม่ติดทะเลมีแหล่งต้นน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองระนอง เดิมมีชาวจีนเขามาตั้งรกรากและหาแร่ดีบุกซึ่งเป็นทรัพยากรหลักในการก่อร่างสร้างเมืองระนอง
การเดินทาง
สำหรับผู้เดินทางโดยรถสาธารณะ สามารถเดินทางมาจังหวัดระนองได้ทั้งรถโดยสารประจำทางและสนามบินระนอง จากนั้นนั่งรถสองแถวไม้จากตัวเมืองระนอง มาลงที่วัดหาดส้มแป้น หรือ สามารถติดต่อรถรับส่งของทางชุมชนให้มารับโดยตรงได้ที่สนามบินและตัวเมืองจังหวัดระนอง ตามราคาที่ตกลงกับทางชุมชน
สำหรับผู้เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว บ้านหาดส้มแป้นอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองระนอง ประมาณ 8 กิโลเมตร สามารถเดินทางจากถนนเพชรเกษม ขับรถตรงเข้ามาตามถนนทางหลวงหมายเลข 4005 อีกประมาณ 8 กิโลเมตร ก็จะเดินทางถึงจุดนัดพบวัดหาดส้มแป้น
ด้านการท่องเที่ยวชุมชน มีกลุ่มที่ร่วมกันตั้งขึ้น โดยคุณสุรีย์พร สรรพกุล ประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน "บ้านหาดส้มแป้น" จังหวัดระนอง ได้มองเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งสามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนทั้งแหล่งเที่ยว วัฒนธรรม ประเพณี และการดำเนินชีวิตของชุมชนมาเผยแพร่แก่คนภายนอกได้เรียนรู้และซึมซับวิถีชีวิตของคนในชุมชน
ภายในชุมชนมีศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาการร่อนแร่ โดยการนำอุปกรณ์การทำเหมืองแร่เก่ามาจัดแสดงมีกิจกรรมร่อนแร่เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองร่อนแร่ตลอดทั้งปี โดยมีปราชญ์ชาวบ้านให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้มีกลุ่มเซรามิกบ้านหาดส้มแป้นโดยการนำเอาแร่ดินขาวคุณภาพดีมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ชุดกาแฟ ถ้วย จาน ฯลฯ สร้างรายได้ให้ชุมชน นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมระบายสีเซรามิกสร้างผลงานได้ด้วยตัวเอง
งานประเพณีและงานประจําปีของตําบลหาดส้มแป้น จะประกอบไปด้วย 3 งาน คือ พิธีห่มผ้าพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของวัดหาดส้มแป้น กำหนดจัดปีละ 1 ครั้ง, งานสมโภชรูปเหมือนหลวงพ่อท่านคล้ายวัดหาดส้มแป้น กำหนดจัดงาน 3 ปี/ครั้ง และงานบวงสรวงพ่อตาหลวงแก้ว กําหนดจัดงานปีละ 1 ครั้ง โดยจะจัดงานที่วัดหาดส้มแป้น
ชุมชนบ้านหาดส้มแป้นมีสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน คือ วัดหาดส้มแป้น ภายในวัดประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงพ่อคล้ายพระภิกษุที่ชาวระนองให้ความเคารพนับถือและได้มรณภาพที่วัดนี้ ภายในบริเวณวัดมีพระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและรอยพระพุทธบาทจำลอง
ภาษาถิ่นใต้ระนอง และมีคําที่ใช้เรียกขานบางคํามาจากภาษาจีนเนื่องจากคนดั้งเดิมในพื้นที่เป็นคนจีนที่เข้ามาทําเหมืองแร่ดีบุก
กิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านหาดส้มแป้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
- ตื่นเช้าชมทะเลหมอกที่จุดชมวิวบนโบสถ์วัดหาดส้มแป้น
- สักการะหลวงพ่อท่านคล้าย เดินเล่นริมน้ำ ณ วัดหาดส้มแป้น
- สูดอากาศบริสุทธ์และชมวิวที่อ่างเก็บน้ำคลองหาดส้มแป้น
- แวะชมระนองแคนยอน ขุมเหมืองเก่าน้ำสีเขียวมรกต
- ปั้น “ดินขาว” แร่เศรษฐกิจเมืองระนอง สู่งานเซรามิกสุดล้ำค่า
- ชมฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนสาธิตการทำสบู่และไม้กวาดดอกอ้อ
- ทานอาหารใต้แบบบ้าน ๆ ราคาสบายกระเป๋า ที่ร้านสมโชค
- ใส่หมวกคว้าเลียงไปร่อนแร่ ที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาการร่อนแร่
- ถ่ายรูปเท่ห์ ๆ กับรถสองแถวบ้านหาดส้มแป้น ย่านชุมชนเก่า
- อาบน้ำแร่แช่น้ำร้อนผ่อนคลายสบายตัวที่บ่อน้ำพุร้อนธาริน
กัญญาณัฐ โพธิ์คีรี. (2564). การจัดการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน กรณีศึกษา บ้านหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัยศิลปากร.
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป). ชุมชนบ้านหาดส้มแป้น. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2567. จาก https://thai.tourismthailand.org/
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านหาดส้มแป้น. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2567. จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/