Advance search

ชุมชนพหุวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่ทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนบนพื้นที่ท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์กับการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่

หมู่ที่ 1
นิเถะ
หนองลู
สังขละบุรี
กาญจนบุรี
ทต.วังกะ โทร. 0-3459-5093
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
24 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 พ.ค. 2024
บ้านนิเถะ

"นิเถะ" เป็นภาษากะเหรี่ยง มาจากคำว่า "นี่ไถ่" แปลว่า ต้นผึ้ง มีที่มาจากพื้นที่ชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ทำให้มีผึ้งมาทำรังบนต้นไม้ใหญ่ในบริเวณละแวกท้ายชุมชนเป็นจำนวนมาก แต่อาจเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎรได้ยินสำเนียงปกาเกอะญอไม่ชัด จึงเขียน "นี่ไถ่" เป็น "นี่เถะ" ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งสถานีรถไฟที่บ้านหนองโป่งโด่ง และได้เรียกบ้านนี่เถะตามสำเนียงญี่ปุ่นว่า "นิเถะ" ซึ่งกลายเป็นชื่อเรียกขานมาจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนพหุวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่ทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนบนพื้นที่ท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์กับการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่

นิเถะ
หมู่ที่ 1
หนองลู
สังขละบุรี
กาญจนบุรี
71240
15.1502566970898
98.453899025917
เทศบาลตำบลวังกะ

การก่อตั้งบ้านนิเถะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ อำเภอสังขละบุรีที่เคยมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยเหตุผลความวุ่นวายของสงครามมาตั้งแต่อดีต มีตำนานกล่าวว่ามีพระชาวไทยใหญ่รูปหนึ่งจากประเทศพม่า จำพรรษาอยู่ที่บ้านซวยโหว่ ในตำบลไล่โว่ปัจจุบัน ซึ่งมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน มีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง กะหร่าง) มอญ ละว้า พม่า ต่องซู่ ไทยใหญ่ และลาว ผู้คนต่างให้ความเคารพพระรูปนี้มากเนื่องจากมีวิชาคงกระพัน และการรักษาสมุนไพรให้กับผู้ที่เจ็บป่วย โดยมีผู้คนจากท้องถิ่นอื่นแวะเวียนเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย กระทั่งบางส่วนก็ย้ายมาลงหลักปักฐานที่ชุมชนนี้ด้วย ระยะต่อมาทำให้ชุมชนเกิดขยายใหญ่ขึ้นจนมีความหนาแน่นและแออัด ผู้นำชุมชนบางส่วนจึงได้นำกลุ่มคนโยกย้ายไปอาศัยอยู่ตามละแวกชุมชนอื่นใกล้เคียง และตามลุ่มน้ำสายสำคัญต่าง ๆ เช่น ลุ่มน้ำบีคี่ ลุ่มน้ำรันตี ลุ่มน้ำซองกาเลีย ทำให้พื้นที่บริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยกลุ่มชนที่อาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วบริเวณ โดยส่วนหนึ่งหรือนับได้สัก 10 ครอบครัว ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มน้ำรันตี หรือที่บ้านนิเถะในปัจจุบัน บริเวณนี้เป็นทางผ่านของแม่น้ำซองกาเลีย ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการสร้างที่อยู่อาศัยและทำมาหากิน ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงตัดสินใจลงหลักปักฐานที่นี่ และตั้งชื่อชุมชนว่าบ้านนี่เถะ (นี่ไถ่) เป็นภาษากะเหรี่ยง มีความหมายว่า ต้นผึ้ง เนื่องจากพื้นที่บริเวณท้ายชุมชนมีต้นไม้ขนาดสูงใหญ่และมีผึ้งมาอาศัยทำรังเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น "นิเถะ" ตามสำเนียงที่ทหารญี่ปุ่นที่ใช้เรียกบ้านนี่เถะในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 "นี่เถะ" จึงกลายเป็น "นิเถะ" ตั้งแต่นั้นมา

บ้านนิเถะ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอสังขละบุรีไปทางทิศใต้เป็นระยะทางประมาณ 600 เมตร และห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ 227 กิโลเมตร โดยพื้นที่ชุมชนอยู่ในเขตความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลวังกะ มีพื้นที่ทั้งหมด 800 ไร่ เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและสำหรับทำการเกษตร 500 ไร่ พื้นที่สาธารณะชุมชน 100 ไร่ และพื้นที่ป่าอีกจำนวน 200 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ โดยพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรมของชุมชนไม่ได้อยู่ในบริเวณเดียวกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการจัดสรรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน โดยอาณาเขตพื้นที่ชุมชนมีพื้นที่ติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านไหล่น้ำ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ พื้นที่เก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านไหล่น้ำ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ พื้นที่เก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ และบ้านวังกะ

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านนิเถะ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,620 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 805 คน ประชากรหญิง 815 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 380 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ประชากรชุมชนบ้านนิเถะมีความหลายหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอสัญชาติไทย และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ได้แก่ มอญ ลาว พม่า ครอบครัวส่วนใหญ่ของบ้านนิเถะเป็นครอบครัวขยาย คืออาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูกหลาน โดยมีทั้งลักษณะการอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันและแยกออกมาสร้างบ้านหลังใหม่แต่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน 

ปกาเกอะญอ, มอญ

ชุมชนบ้านนิเถะตั้งอยู่บนพื้นที่เนินสูงเชิงเขา สภาพพื้นที่เหมาะสำหรับการปลูกพืชไร่พืชสวน ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนจึงประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยพื้นที่ขนาดใหญ่ชาวบ้านจะนิยมปลูกพืชไร่และทำสวน เช่น ปลูกมันสำปะหลัง ทำสวนยางพารา ส่วนบริเวณที่มีพื้นที่ขนาดเล็กหรือตามบริเวณบ้าน ชาวบ้านมักนิยมปลูกพืชผักสวนครัวและผลไม้บ้างบางชนิด เพื่อใช้สำหรับบริโภคภายในครัวเรือน เช่น พริก ข่า ตะไคร้ มะพร้าว ส้มโอ ฯลฯ และนอกจากนี้ประชากรส่วนหนึ่งก็ประกอบอาชีพอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้กับครอบครัว ทั้งที่เป็นอาชีพหลักและเป็นอาชีพเสริม เช่น รับราชการ อาชีพค้าขาย และรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มองค์กรชุมชนเพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และการรวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เช่น 

1.กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หรือ อสม. อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลสังขละบุรี เป็นการรวมกลุ่มกันของสมาชิกภายในชุมชนเพื่อช่วยดูแลสุขภาพของชาวบ้านภายในชุมชน ตั้งแต่กลุ่มเด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ โดยมีการแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพ การกำจัดยุงลาย การฉีดวัคซีน และการจัดการสุขภาวะด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ข่าวสารด้านสาธารณสุขให้กับชุมชนได้รับทราบ

2.กลุ่มดอกไม้จันทน์ เป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพโดยการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ เริ่มจากการที่กรมพัฒนาชุมชนเข้ามาส่งเสริมและสอนวิธีทำ และเป็นผู้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการทำ โดยกิจกรรมภายในกลุ่มคือการทำดอกไม้จันทน์และของที่ระลึกสำหรับจำหน่ายเพื่อใช้ในงานศพโดยรายได้จะแบ่งกันภายในสมาชิกกลุ่ม

ประชากรชุมชนบ้านนิเถะส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และมีประชากรบางส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม ชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธจะนิยมเข้าวัดทำบุญเป็นกิจวัตรโดยเฉพาะในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยร่วมกันจัดกิจกรรมที่วัดประจำชุมชน คือ วัดศรีสุวรรณซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่ชุมชนมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีโบสถ์คริสตจักรสามัคคีธรรม อำเภอสังขละบุรี เป็นศาสนสถานสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่มัสยิดในหมู่บ้านไหล่น้ำหมู่ที่ 3 ซึ่งอยู่ถัดออกไปไม่ไกลมากนักจากชุมชนบ้านนิเถะ

ชุมชนบ้านนิเถะเป็นชุมชนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเชิงพื้นที่จากการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ ทำให้มีการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนออกไปยังหลายพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวบ้านปรับตัวไม่ทันตามสถานการณ์ การรักษาอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่นจึงยังคงเหลืออยู่ค่อนข้างน้อย วิถีดั้งเดิมของชาวบ้านนิเถะจึงเริ่มจางหายไป โดยยังคงมีกิจกรรมกลุ่มวัฒนธรรมของผู้คนในชุมชนตามวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่และปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น 

1.บุญข้าวจี่ เป็นประเพณีของกลุ่มชนชาวลาว โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ซึ่งชาวบ้านจะร่วมกันทำข้าวหลามหรือข้าวเหนียวกวนใส่มะพร้าว ถั่ว งา เพื่อถวายพระ และรับประทานร่วมกัน ในพิธีจะมีการสะเดาะเคราะห์โดยการทำหุ่นตุ๊กตาจากเศษผ้าเศษไม้ให้ครบตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว ใส่กระจาดทำจากกาบกล้วยพร้อมดอกไม้ และอาหาร ให้พระสงฆ์ทำพิธีเพื่อปัดเป่าโรคภัย

2.งานประจำปีวัดศรีสุวรรณ โดยชุมชนจะร่วมกันจัดงานประจำปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม โดยจะเป็นการทำบุญตักบาตร และมีการอุปสมบทร่วมด้วย ทั้งยังมีการละเล่น เที่ยวชมจับจ่ายซื้อของภายในงานที่จัดขึ้นในบริเวณวัดศรีสุวรรณ

3.ผูกข้อมือเดือน 9 เป็นประเพณีของชาวปกาเกอะญอที่จัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม โดยมีความเชื่อว่าทุกคนมีขวัญประจำกายซึ่งจะไปประสบพบเจอสิ่งดีหรือชั่วร้ายแตกต่างกันไปในระยะเวลารอบปีซึ่งไม่สามารถรู้ได้ ดังนั้นจึงมีพิธีเรียกขวัญในรอบ 1 ปี เพื่อให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวสักครั้งหนึ่ง โดยในอดีตชาวบ้านจะจัดพิธีที่บ้านของตน แต่ปัจจุบันมีการร่วมกันจัดที่วัดศรีสุวรรณ โดยผู้สูงอายุจะใช้สายสินญจน์ผูกข้อมือลูกหลานเป็นการเรียกขวัญ และสร้างความรักสามัคคีกลมเกลียวในชุมชน และจะมีการแสดงรำตง ซึ่งเป็นการร่ายรำของชาวกะเหรี่ยงที่มีมาแต่โบราณ

4.ลอยเรือสะเดาะเคราะห์ จัดในช่วงเดือนกันยายน โดยชาวบ้านจะร่วมกันสร้างเรือไม้ไผ่และประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีให้สวยงาม แล้วนำข้าวปลาอาหารหวานคาว ดอกไม้ธูปเทียนใส่ไว้ในลำเรือเพื่อถวายพระ เชื่อว่าผู้ที่ร่วมพิธีจะมีชีวิตอยู่รอดไปอีก 1 ปี โดยก่อนทำพิธีจะมีการตักบาตรน้ำผึ้งเพื่อให้พระสงฆ์เก็บไว้ทำยารักษาโรค ปัจจุบันมีการประยุกต์เป็นการตักบาตรน้ำตาลแทนเนื่องจากน้ำผึ้งหาได้ยาก

5.บุญออกพรรษา จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี หรือในช่วงเดือนตุลาคม โดยมีการตักบาตรเทโว ซึ่งชาวบ้านจะสานไม้ไผ่สำหรับกั้นช่องเป็นแนวยาวเป็นทางเดินภายในวัด เพื่อให้พระสงฆ์เดินรับบิณฑบาต โดยชุมชนจะเวียนกันจัดประเพณีในแต่ละปีไปยังวัดต่าง ๆ 3 วัด ในสามหมู่บ้าน คือ วัดศรีสุวรรณ วัดวังก์วิเวการาม และวัดสมเด็จ จากนั้นในวันรุ่งขึ้นจะมีการแห่ปราสาทซึ่งชุมชนจะร่วมกันทำเป็นต้นเงินต้นทอง ตกแต่งให้สวยงามเพื่อนำไปถวายวัด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางเศรษฐกิจ

1.กองทุนหมู่บ้าน เป็นกองทุนที่รัฐบาลสนับสนุนให้เงินหมู่บ้านหมู่บ้านละ 1,000,000 บาท โดยคณะกรรมการชุมชนได้นำเงินมาตั้งเป็นกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มที่มีแนวคิดอยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาขอกู้เงินเพื่อนำไปทำตามวัตถุประสงค์ โดยสามารถกู้ได้ไม่เกินรายละ 20,000 บาท และต้องชำระคืนตามระยะเวลาที่กำหนด

2.กองทุนแม่ของแผ่นดิน เป็นผลมาจากการระดมทุนของชาวบ้านที่ต่อยอดมาจากเงินขวัญถุงที่รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยชุมชนนำไปใช้แก้ไขปัญหายาเสพติด รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน ทั้งการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด การส่งเสริมอาชีพ การสนับสนุนการศึกษาของสมาชิกในชุมชน รวมไปถึงการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชุมชน

3.กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือญาติของผู้เสียชีวิตในการจัดการพิธีศพ โดยเมื่อมีคนในชุมชนเสียชีวิต แต่ละครอบครัวจะต้องร่วมกันสมทบเงินตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อมอบแก่ครอบครัวสมาชิกญาติผู้ที่เสียชีวิต เป็นการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของชุมชนในยามฉุกเฉิน

ภาษาพูด : ภาษาไทย ภาษากะเหรี่ยง/มอญ

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เทศบาลตำบลวังกะ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. (2566). สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/

ธานินทร์ แสนทวีสุข. (2555). เงาสะท้อนในกระจกสี่ด้าน : ความเข้าใจและความคาดหวังของบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มีต่อบ้านอุ่นรัก กรณีศึกษา บ้านนิเถะ หมู่ที่ 1 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ทต.วังกะ โทร. 0-3459-5093