ชุมชนแห่งการเรียนรู้ มุ่งสู่เกษตรอินทรีย์ ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน
ในอดีตบริเวณพื้นที่ตั้หมู่บ้านมีบ่อน้ำอยู่ 2 บ่อ ซึ่งทั้ง 2 บ่อ มีน้ำไหลออกสู่ลำคลองตลอดทั้งปี เมื่อผู้คนผ่านไปมา ก็มักจะพักดื่มน้ำจากบ่อนี้ จากลักษณะของน้ำที่ไหลซึม ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า “บ่อน้ำซับ” และเมื่อมีการก่อตั้งหมู่บ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบ่อน้ำซับ”
ชุมชนแห่งการเรียนรู้ มุ่งสู่เกษตรอินทรีย์ ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน
บ้านบ่อน้ำซับ เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลขุนทะเล ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช “ขุนทะเล” แปลว่า “ขุนน้ำ” หรือ “ต้นน้ำ” เนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำของคลองเสาธง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 ก่อนที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชสร้างพระธาตุที่หาดทรายแก้ว ขุนทะเลเป็นพื้นที่ต้นน้ำติดต่อกับอ่าวไทยทางตะวันออก และติดต่อกับเขาวังทางทิศตะวันตก วันเวลาผ่านไประบบนิเวศของน้ำบริเวณนี้เกิดความเปลี่ยนแปลง มีความตื้นเขินเป็นหาดทรายแก้ว เจดีย์สร้างไม่ทันเสร็จก็เกิดไข้ห่าขึ้น พระเจ้าธรรมศรีโศกราชจึงได้นำไพร่พลหนีขึ้นไปอยู่บนเขาวังชั่วคราว โดยเดินทางผ่านถ้ำน้ำคลุ้ง ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบหุบเขาหลายพันไร่ มีลำคลองไหลผ่านกลางที่ราบหุบเขาล้อมรอบที่เกิดจากน้ำตกเทดาบนเขาวัง น้ำในคลองนี้ไม่ได้ไหลลงคลองสู่ดินพื้นราบแบบปกติ แต่จะไหลเข้าใต้ซอกหินในถ้ำลำชี ลอดใต้สันเขาออกมาที่ถ้ำน้ำคลุ้ง โดยน้ำที่ไหลจากเขาวังสู่ถ้ำน้ำคลุ้งออกสู่ที่ดินพื้นราบที่ติดกับถ้ำน้ำ เรียกว่า “ขุนทะเล” หรือตำบลขุนทะเลในปัจจุบัน
สำหรับประวัติความเป็นมาของบ้านบ่อน้ำซับนั้น มีเรื่องราวเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่นว่า ในหมู่บ้านมีบ่อน้ำอยู่ 2 บ่อ ซึ่งมีน้ำไหลตลอดทั้งปี ในอดีตการเดินทางติดต่อราชการหรือไปมาหาสู่กันของผู้คนในตำบลขุนทะเลไม่มียานพาหนะขับขี่ ฉะนั้นจึงต้องเดินทางด้วยเท้า โดยมีเส้นทางอยู่เส้นทางหนึ่งที่ชาวบ้านใช้เดินทางสัญจรไปมาเป็นประจำ อยู่บริเวณเขตพื้นที่หมู่ 1 ตำบลขุนทะเล พื้นที่แห่งนี้มีบ่อน้ำอยู่ 2 บ่อ บ่อแรกตั้งอยู่ข้างบ้านนายวิชิต ชมกระบิล ส่วนบ่อที่ 2 ตั้งอยู่ข้างบ้านนายพเยาว์ เกตุกำพล ห่างจากถนนประมาณ 15 เมตร ลักษณะของบ่อน้ำทั้ง 2 บ่อ มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มีน้ำไหลออกสู่ลำคลองตลอดทั้งปี น้ำที่ไหลออกมามีลักษณะคล้ายตาน้ำขนาดเล็ก ไหลลอดออกมาจากใต้ดินคล้ายน้ำพุไหลซับออกจากใต้ดิน ไหลรวมกันเป็นลำห้วยเล็ก ไหลลงสู่คลองเสาธง ในอดีตผู้คนที่เดินทางสัญจรไปมามักจะพักดื่มน้ำจากบ่อนี้ จากลักษณะการไหลของน้ำจภายในบ่อ ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว้า “บ่อน้ำซับ” ภายหลังภาครัฐมีนโยบายสถาปนาพื้นที่ต่าง ๆ ในตำบลขุนทะเลเป็นหมู่บ้าน พื้นที่บริเวณบ่อน้ำซับแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “บ้านบ่อน้ำซับ” ตามชื่อบ่อน้ำที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองหยวด หมู่ 4 ตำบลท่าดี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 11, 12 ตำบลขุนทะเล
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 11 ตำบลเขาแก้ว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 11 ตำบลขุนทะเล
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะที่ตั้งบ้านบ่อน้ำซับมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้บ้านบ่อน้ำซับมีเพียง 2 ฤดูกาล เท่านั้น คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน และฤดูฝนในช่วงเดือนกรกฎาคม-มกราคม โดยจะตกหนาแน่นเป็นพิเศษช่วงเดือน พฤศจิกายน-มกราคม
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในชุมชนบ้านบ่อน้ำซับมีป่าไม้ขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ มีพืชพรรณธรรชาติเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องปลูก ท่วาชาวบ้านยังคงมีนโยบายในการจัดการป่าชุมชนโดยการปลูกเพิ่มสวนป่าสมรม และปลูกพืชทดแทนแบบใหม่ให้เป็นพื้นที่ป่าชุมชน มีทั้งพืชไม้ใช้สอย พืชสมุนไพร และพืชที่ใช้เป็นอาหาร นอกจากนี้ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านบ่อน้ำซับยังมีสัตว์ป่า เช่น นก กระรอก เหี้ย พังพอน ชะมด นางอาย อ้น แมลงพลัด กระจ้อน กระจง และสัตว์ป่าอื่นอีกนานาชนิดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ป่า
สำหรับทรัพยากรดินบ้านบ่อน้ำซับนั้นมีลักษณะอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก ส่วนน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคเป็นน้ำที่ได้จากน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาล ไม่มีระบบน้ำประปาจากการจัดการของรัฐ แหล่งน้ำทางธรรมชาติของหมู่บ้านทั้งหมด 2 สาย คือ คลองเสาธง และคลองหยวด รวมถึงบ่อน้ำบาดาลที่ชาวบ้านขุดขึ้นเพื่อน้ำน้ำขึ้นมาใช้ในการอุปโภคบริโภค
การคมนาคม
บ้านบ่อน้ำซับมีถนนสายหลักคือ ถนนลานสกา–นาพรุ และ ลุ่มเตย-ไทรงาม ถนนคอนกรีต 2 สาย ถนนลูกรัง 5 สาย ถนนหินผุ/หินคลุก 2 สาย ถนนดิน 3 สาย
ไฟฟ้าและแหล่งน้ำ
ปัจจุบันชาวบ้านหมู่บ้านบ่อน้ำซับมีไฟฟ้าใช้ครบทุกหลังคาเรือน โดยไฟฟ้าเริ่มเข้ามาถึงพื้นที่หมู่บ้านครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. 2530 มีแหล่งน้ำทางธรรมชาติของหมู่บ้านทั้งหมด 2 สาย คือ คลองเสาธง คลองหยวด มีบ่อบาดาลส่วนตัว 15 บ่อ บ่อน้ำตื้นส่วนตัว 25 บ่อ และบ่อบาดาลสาธารณะ 8 แห่ง
ข้อมูลประชากรเมื่อปี พ.ศ. 2553 ระบุว่า บ้านบ่อน้ำซับมีประชากรทั้งสิ้น 177 ครัวเรือน จำนวน 732 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 342 คน และประชากรหญิง 390 คน
เศรษฐกิจ
อาชีพหลัก: อาชีพหลักของชาวบ้านบ่อน้ำซับ ตำบลขุนทะเล คือ เกษตรกรรม ส่วนใหญ่มาจากการทำสวนยางพารา และสวนผลไม้ ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 42,031 บาท/คน/ปี
อาชีพรอง: รับจ้าง และปลูกผัก
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน: ส่วนใหญ่จะดำเนินไปรูปแบบของร้านค้าชุมชน มีการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ตลอดจนการนำพืชผักสวนครัวซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรจากครัวเรือนมาวางจำหน่ายให้แก่คนในชุมชน
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายนอกชุมชน: โดยปกติทั่วไปจะเป็นการนำผลผลิตทางการเกษตร คือ ยางพารา และผลไม้ ออกไปจำหน่ายแก่พ่อค้าคนกลางในตัวเมือง หรือในบางครั้งก็จะมีพ่อค้าคนกลางเดินทางเข้ามารับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านในหมู่บ้านด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้แก่ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ของใช้สมุนไพร น้ำมันนวดสมุนไพร มะพร้าวแห้ง หมากแห้ง ปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ น้ำส้มยางชีวภาพ และน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง ซึ่งเป็นสินค้าที่ชาวบ้านนำออกไปจำหน่ายให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยว และคนนอกชุมชน
องค์กรชุมชน
ชาวบ้านบ่อน้ำซับมีการรวมกลุ่มกิจกรรมทางสังคม เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการประกอบอาชีพของคนในชุมชน เช่น กลุ่มรักษาความสงบภายในหมู่บ้าน กลุ่มกีฬา กลุ่มออกกำลังกาย กลุ่มลานค้าผลผลิตเกษตร กลุ่มสินสมบูรณ์ กลุ่มแปรรูปของกินของใช้ กลุ่มผลิตของใช้ทดแทนการนำเข้า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต อีกทั้งยังมีการพัฒนาด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ภายนหมู่บ้าน มีเครื่องคอมพิวเตอร์ หอกระจายข่าว และสถานที่สำหรับจัดประชุมหมู่บ้าน
ศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม
ชาวบ้านหมู่บ้านบ่อน้ำซับนับทั้งหมู่บ้านถือศาสนาพุทธ มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดไทรงาม และวัดเกาะนางแก้วพัฒนาราม มีประเพณีในชุมชนตั้งแต่เดือนอ้ายตลอดจนเดือนสิบสองตามปฏิทินจันทรคติ
เดือนอ้าย: เป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ มีการทำบุญตักบาตร ทำบุญให้ทานไฟ ในอดีตมีประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
เดือนยี่: มีประเพณีการกวนข้าวยาโค และทำบุญกำแพงแก้วที่วัดไทรงาม ถือเป็นการทำบุญบังสกุลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ของทุกปี
เดือนสาม: มีการทำบุญวันมาฆบูชา
เดือนห้า: ตรงกับเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ มีการร่วมทำบุญตักบาตร และจัดกิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ ชาวบ้านบ่อน้ำซับให้ความสำคัญกับประเพณีสงกรานต์หรือประเพณีปีใหม่ไทยเป็นอย่าง มาก มีการจัดกิจกรรมรวมตัวของผู้คนทั้งตำบลขุนทะเล เรียกว่า “วันกตัญญู”
เดือนหก: มีประเพณีวันวิสาขบูชา ชาวบ้านบ่อน้ำซับจะทำบุญถวายภัตตาหารในตอนกลางวัน ตอนเย็นมีพิธีเวียนเทียน ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าร่วมเวียนเทียน บางส่วนจะเดินทางไปร่วมประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุที่วัด พระ มหาธาตุวรมหาวิหาร
เดือนแปด: มีประเพณีทางศาสนา คือ วันอาสาฬหบูชา และประเพณีเข้าพรรษา
เดือนสิบ: มีประเพณีบุญข้าวสารท หรือสารทเดือนสิบ ถือเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูที่ลูกหลานมีต่อบุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว
เดือนสิบเอ็ด: มีประเพณีออกพรรษา บุญกฐิน ประเพณีชักพระ ตักบาตรหน้าล้อ หรือตักบาตรเทโว
เดือนสิบสอง: ประเพณีลอยกระทง มีการปฏิบัติเหมือนสากลทั่วไป เช่น การไปทำบุญในวันธรรมสวนะ วันพระ และทำบุญทอดผ้าป่า
นอกจากประเพณีชุมชนที่ปฏิบัติต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีแล้ว ชาวบ้านบ่อน้ำซับยังมีวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือกันในงานบุญ งานแต่ง งานบวช งานศพ มีความเชื่อมั่นศรัทธาผู้นำ ผู้อาวุโส ญาติผู้ใหญ่ และเชื่อในสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ทั้งที่มีลักษณะเป็นรูปธรรม และนามธรรม คือ ความเชื่อเรื่องผี เช่น ผีแดน ผีเดียด ความเชื่อเรื่องขวัญข้าวขวัญเกลือ ความเชื่อเรื่องการทำของให้คนหลงรัก การท่องมนต์คาถาให้คนเมตตา การท่องคาถาข่มขวัญผู้อื่น การท่องคาถาชุบราศรีให้สวยเปล่งปลั่ง การเสกดอกมะพร้าวให้ฉลาดและเรียนเก่ง การท่องคาถาบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนเดินทาง การทำพิธีบูชาพระธรณี พิธีแรกดำนา พิธีรวบข้าว พิธีทำขวัญข้าว พิธีบูชาพระแม่โพสพ ตลอดจนความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่นางแก้วที่วัดเกาะแก้วพัฒนาราม ชาวบ้านเชื่อว่าหากผู้ใดเข้าไปในพื้นที่โดยไม่เอ่ยขอเจ้าที่เจ้าทางหรือเอ่ยชื่อนางแก้ว จะหลงทางาออกไม่ได้ ใครบนบานขอความรักมักจะสมหวัง ผู้ที่บนบานนางแก้วแล้วได้ดั่งใจหวังจะมีการแก้บนด้วยการรำมโนราห์ถวาย และถวายพวงมาลัย เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและกตัญญูกตเวที (สงคราม ชุมพงศ์, สัมภาษณ์: 2554 อ้างถึงใน สำรวม แก้วแกมจันทร์, 2554: 81)
ชาวบ้านบ่อน้ำซับหลายคนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ โล่เกียรติยศ และเกียรติบัตรจากการสร้างคุณงามความดีและคุณูปการแก่หมู่บ้าน ดังนี้
- นายขวัญ จันทร์จรุง ได้รับรางวัลพระราชทานแหวนทองคำเชิดชูเกียรติ “คนขยันของชาติ”
- นายสมบูรณ์ จันทร์จรุง ได้รับรางวัลโล่เกียรติยศบุคคลที่ปฏิบัติตนตามแนวปรัชญา ศพพ. ระดับจังหวัด
- นายถาวร พรหมจรรย์, นายสุชาติ ราชบำเพิง, นางระเบียบ ศรีเจริญ, นางสำรวย มูณีผล, นายแนม สินธู และนางละม้าย ผกาศรี ได้รับเกียรติบัตรโครงการส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข
ภาษาพูด: ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน: ชาวบ้านบ่อน้ำซับไม่มีอักษเขียนเป็นของตนเอง ฉะนั้น จึงใช้อักษรไทยในการเขียนเช่นเดียวกับชาวไทยในท้องถิ่นอื่นทั่วไป
ในอดีตชุมชนบ้านบ่อน้ำซับ เป็นพื้นที่ที่มีดินดี น้ำดี เป็นป่าธรรมชาติ มีพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าหลากหลาย มีความสมดุลทางระบบนิเวศ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทํานา ทําไร่ เก็บข้าวไว้พอกินพอใช้ตลอดทั้งปี แต่ภายหลังปี พ.ศ. 2505 บ้านบ่อน้ำซับได้รับผลกระทบจากพายุวาตภัย ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย อาชีพเกษตรกรรมธรรมชาติ และวิถีชุมชนเดิมของชาวบ้านเกิดความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (ปลูกยางพาราเพียงอย่างเดียว) เพื่อมุ่งหวังผลกำไรเป็นหลัก ทำให้ชาวบ้านต้องเพิ่มต้นทุนในการซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่ายา อีกทั้งยางพารายังมีราคาถูก ชาวบ้านส่วนใหญ่มีหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เกิดความเดือดร้อนติดต่อกันเป็นเวลานานหลายสิบปี กระทั่งปี พ.ศ. 2549-2551 ได้เกิดการรวมตัวของแกนนำชุมชนบ้านบ่อน้ำซับ ร่วมกันขับเคลื่อนและพลิกฟื้นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม มีการทำเกษตรอินทรีย์ขยายผลสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน มีการปลูกพืชหลายชนิดรวมกันเป็นสวนป่าใกล้บ้านแบบวนเกษตร มีกระบวนการขยายเครือข่ายชุมชนสร้างความตระหนักในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิต สมาชิกในครัวเรือนมีงานทำ รายได้เพิ่มขึ้น และรายจ่ายลดลง (สำรวม แก้วแกมจันทร์, 2554: 72-74)
ชาวบ้านบ่อน้ำซับ ส่วนใหญ่จะส่งลูกหลานเข้ารับการศึกษาที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านศาลาขี้เหล็ก และโรงเรียนบ้านไทรงาม
สืบเนื่องจากพัฒนาการความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านบ่อน้ำซับ นำมาซึ่งความสูญเสียความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเป็นอยู่ ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิต ลูกหลานมีเวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง เนื่องจากเอาเวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่เกิดการเรียนรู้และซึมซับสิ่งต่าง ๆ จากสื่อดิจิทัล มากกว่าการอบรมสั่งสอนจากบิดารมารดา
บุญพา. (2564). บ้านสวนพอเพียง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.bansuanporpeang.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566].
สำรวม แก้วแกมจันทร์. (2554). ภูมิปัญญาการพึ่งตนเองชุมชนบ้านบ่อน้ำซับ ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร.
Anonymous. (2555). บ้านบ่อน้ำซับ. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://banbornamsub.blogspot.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566].