การผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ของผู้คนบนพื้นที่ย่านกรุงเก่า นำไปสู่การพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจและศูนย์การค้าริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่คับคั่งด้วยเหล่านักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตา
การผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ของผู้คนบนพื้นที่ย่านกรุงเก่า นำไปสู่การพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจและศูนย์การค้าริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่คับคั่งด้วยเหล่านักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตา
ท่ามหาราช ตั้งอยู่บนเกาะรัตนโกสินทร์ ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา จุดกำเนิดของกรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่อุดมไปด้วยศิลปะ และมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน แหล่งรวมวัตถุบูชาที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย รวมถึงร้านอาหารอร่อยที่มีประวัติอันยาวนานมากมาย ทั้งยังเคยเป็นศูนย์กลางความเจริญทั้งการขนส่งและการค้าขายริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาได้มีโครงการท่ามหาราช พัฒนาท่ามหาราชเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพ โดยเริ่มจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือมหาราชเดิม นําเอากลุ่มอาคารพาณิชย์ที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความทันสมัย ตลอดจนการนําศิลปะสมัยใหม่มาใช้ตกแต่งพื้นที่โดยรอบให้เป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ การถ่ายภาพ นอกเหนือจากการเป็นพื้นที่ขายอาหาร ทำให้ท่ามหาราชกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้คนสนใจแวะเวียนมาอย่างสม่ำเสมอ
ท่ามหาราชตั้งอยู่บริเวณใกล้กับท่าพระจันทร์ซึ่งมีความสำคัญและสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตของคนในบริเวณนั้น เนื่องจากชุมชนท่าพระจันทร์เป็นชุมชนที่มีประวัติและเอกลักษณ์ชัดเจน โดยทางเดินเชื่อมริมแม่น้ำจากท่าพระจันทร์สามารถเดินมายังท่าวัดมหาธาตุและท่ามหาราชได้ ซึ่งเส้นทางเดินริมแม่น้ำเป็นที่ตั้งของร้านค้าต่าง ๆ โดยมีตรอกสนามพระและตรอกมหาธาตุเชื่อมต่อทางเดินริมแม่น้ำกับถนนมหาราช ส่วนสภาพแวดล้อมภายนอกพื้นที่บริเวณท่ามหาราชทางด้านหน้าเป็นอาคารพาณิชย์สูงประมาณ 3-4 ชั้น ทอดยาวต่อเนื่องไปจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประตูท่าพระจันทร์ ฝั่งตรงข้ามทางเข้าเป็นวัดมหาธาตุ ด้านบริเวณริมน้ำเป็นทางเดินต่อเนื่องขนานไปตามริมแม่น้ำเป็นแผงร้านเช่าพระเครื่อง มีหาบเร่วางของขายอยู่ทั่วไป ปัจจุบันท่ามหาราชเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีความทันสมัยทั้งรูปแบบของการก่อสร้างอาคารและร้านค้าต่าง ๆ รวมถึงการนำศิลปะสมัยใหม่มาใช้ตกแต่งในพื้นที่โดยรอบ (ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์, 2558) โดยท่ามหาราชมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด และแขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาและครองรอบกรุงเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศใต้ ติดต่อกับ แขวงวัดกัลป์ยาณ์ เขตธนบุรี มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แขวงบวรนิเวศ แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ แขวงวัดราชบพิธ และแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร มีคลองคูเมืองเดิมเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ และแขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต
ผังเมืองบริเวณชุมชนเป็นผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์มีข้อห้ามสำคัญ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการโรงงาน สุสาน และฌาปนสถาน โรงแรมที่มีห้องพักเกิน 50 ห้อง สถานบริการ ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารอยู่อาศัย เกิน 10,000 ตารางเมตร สถานที่เก็บสินค้า สนามแข่งรถ สนามยิงปืน หรือการกําจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ฯลฯ
ย่านท่ามหาราช เป็นพื้นที่ที่มีคอมมูนิตี้มอลล์ (Tha Maharaj Community Mall) คอมมูนิตีมอลล์ขนาดใหญ่ที่สุดในเกาะรัตนโกสินทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ตอบทุกโจทย์ความต้องการของผู้คน กล่าวคือ เป็นศูนย์ร้านค้าภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้สถานที่นี้เป็นพื้นที่พักผ่อน จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความทันสมัย ประกอบด้วยร้านจําหน่ายอาหาร ขายสินค้า และบริการที่หลากหลาย รวมถึงมีการนําศิลปะร่วมสมัยมาใช้ตกแต่งพื้นที่โดยรอบ ดึงดูดผู้คนเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย รวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ด้วย ทำให้พื้นที่ท่ามหาราชเป็นพื้นที่ที่ผู้คนประกอบอาชีพด้านการค้าขาย จำหน่ายสินค้าเป็นส่วนใหญ่ และกิจการการให้บริการต่าง ๆ ตามลักษณะของพื้นที่ท่องเที่ยวและย่านเศรษฐกิจการค้าสำคัญ และเนื่องด้วยพื้นที่ท่ามหาราชเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ จึงมีการส่งเสริมและจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้คนเข้ามาจับจ่ายใช้สอย เลือกซื้อสินค้าและบริการในพื้นที่ตลอดทั้งปี โดยการจัดงานอีเวนท์ กิจกรรมจำหน่ายสินค้าตามเทศกาล หรือกิจกรรมที่ให้ผู้คนมีส่วนร่วมเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ท่ามหาราชที่หลายหลากและต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความคึกคัดให้กับพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยกิจกรรมที่จัดในพื้นที่ท่ามหาราช เช่น งานตลาดนัดที่จัดรวมสินค้าแฟชั่นมือหนึ่งมือสอง สินค้าวินเทจ งานคราฟต์ และของตกแต่งบ้าน รวมถึงการจัดกิจกรรมร่วมสมัยสืบสานวัฒนธรรมไทย มีการแสดงต่าง ๆ เช่น การแสดงว่าว ซุ้มเกมหรรษา ตลาดนัดวิถีไทย ริบบิ้นอธิษฐาน และดนตรีสดในบรรยากาศริมแม่น้ำอยู่ตลอดทั้งปี
ท่ามหาราชตั้งอยู่ที่ตรอกมหาธาตุถนนมหาราช เป็นพื้นที่ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในรูปแบบของ Contemporary Modern Style เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะสมัยใหม่ให้เข้ากับวิถีริมฝั่งน้ำของผู้คน ทำให้เป็นจุดโดดเด่นและดึงดูดผู้คน โดยเปิดเป็นถนนคนเดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงน้ำเจ้าพระยาได้มากขึ้น กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความทันสมัย มีการจําหน่ายอาหาร ขายสินค้า และบริการที่หลากหลาย รวมถึงมีการนําศิลปะสมัยใหม่มาใช้ตกแต่งพื้นที่โดยรอบให้เป็นพื้นที่สำหรับ การพักผ่อนหย่อนใจ การถ่ายภาพ นอกเหนือจากการเป็นพื้นที่ขายอาหาร ด้วยพื้นที่ที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม และมีความพร้อมในการให้บริการด้านต่างๆแก่ผู้ที่มาเยือน ทำให้ท่ามหาราชกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้คนสนใจแวะเวียนมาอย่างสมสม่ำเสมอ และเป็นต้นทุนสำคัญที่ผลักดันส่งเสริมให้เป็นย่านเศรษฐกิจที่มีความมั่นคง และช่วยเสริมสร้างศักยภาพของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
นอกจากพื้นที่ย่านท่ามหาราชจะเป็นพื้นที่สำคัญด้านเศรษฐกิจการค้าที่มีความทันสมัยเป็นที่น่าสนใจและดึงดูดผู้คนให้หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่แล้ว ย่านท่ามหาราชยังเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ คือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร
“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร” เดิมชื่อว่า “วัดสลัก” สันนิษฐานว่ามีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้งสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท มาพบวัดนี้ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และสถาปนาวัดนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงขอพระราชทานนามพระอารามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า “วัดนิพพานนานาม” ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนิพพานาราม และเปลี่ยนนามพระอารามว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ์” จากนั้นพระองค์ทรงประชุมพระราชาคณะให้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรม และจัดสอบไล่พระปริยัติธรรมที่วัดแห่งนี้ จึงโปรดให้เปลี่ยนนามอีกครั้งว่า “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรมหาวิหาร” ตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า เมื่อ พ.ศ.2346 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้เรียกว่า “วัดมหาธาตุ” อีกทั้งพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระมณฑปก็มีอยู่ในพระอาราม และเป็นพระอารามที่สถิตสมเด็จพระสังฆราชเหมือนวัดมหาธาตุที่กรุงเก่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสวรรคต ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์อันเป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เพื่อปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จึงโปรดให้เพิ่มสร้อยนามพระอาราม เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชว่า “วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์”
“พระมณฑป” กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างให้เป็นสิ่งสำคัญและเป็นประธานของวัด โดยสร้างไว้ด้านทิศตะวันออกกึ่งกลางระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร พระองค์ทรงเอาเครื่องไม้ที่จะทรงสร้างปราสาทในวังหน้านำมาสร้างพระมณฑป แต่มณฑปที่สร้างด้วยเครื่องไม้นั้นถูกเพลิงไหม้พร้อมทั้งพระอุโบสถและพระวิหารด้วย จึงทรงให้สร้างพระมณฑปใหม่ให้เป็นหลังคาทรงโรงอย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 ทรงบูรณะวัดมหาธาตุโดยการก่ออิฐถือปูนทั้งพระอาราม ส่วนการบูรณะพระมณฑปให้รื้อเครื่องบนเปลี่ยนตัวไม้ที่ชำรุด และเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ ลงรักปิดทองพระเจดีย์ทองประดับกระจกใหม่ทั้งหลัง
พระอุโบสถมีลักษณะเป็นอาคารทรงไทยฐานสูง หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ใบสีมาสลักเป็นภาพครุฑยุดนาค ภายในมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยนามว่า “พระศรีสรรเพชญ์” และ พระอรหันต์ 8 ใกล้กันมี “พระวิหาร” ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 5 องค์ โดยมี “หลวงพ่อหิน” เป็นหนึ่งในห้าพระประธานในพระวิหารนี้ มีพุทธานุภาพเป็นที่ปรากฏตามประวัติศาสตร์ และมี “ศิลาจารึก” แผ่นศิลาจารึกดวงชะตาสร้างในปี พ.ศ. 2228 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งน่าจะเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงเหลืออยู่ เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยพระอุโบสถของวัดแห่งนี้ถือเป็นพระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จุพระสงฆ์ได้ถึง 1,000 รูป นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของสงฆ์อีกด้วย
ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ผู้จัดการออนไลน์. (2566). ยลวัดงาม “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร” อารามหลวงแห่งแรก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2567, จาก https://mgronline.com/
ปรียาบดี ศรีแหลมสิงห์. (2559). กระบวนการพัฒนาศูนย์การค้าแบบเปิดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา : กรณีศึกษา โครงการท่ามหาราช กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญาเคหพัฒนศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
แพรรพี ปาทาน. (2565). องค์ประกอบย่านเก่าในเมืองที่เหมาะแก่การเดิน เปรียบเทียบ กรณีศึกษา: ย่านท่ามหาราช ย่านท่าพระจันทร์ ย่านท่าพระอาทิตย์. วิทยานิพนธ์การผังเมืองบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. (2558). ท่ามหาราช. ใน หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2567, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th
เสียงสะท้อนของการเปลี่ยนแปลง. (2559). ภาควิชามนุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Tha Maharaj. (2567). สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/