หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น
ทิไล่ป้า เป็นภาษากะเหรี่ยง มีความหมายตรงกับภาษาไทยว่า ห้วยแผ่นหิน โดยคำว่า ทิ หมายถึง น้ำ คำว่า ไล่ หมายถึง หิน และคำว่า ป้า หมายถึง แผ่น
หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น
บ้านทิไล่ป้าในอดีตมีเขตปกครองขึ้นอยู่กับตำบลลังกา เมืองสังขละบุรี ในสมัยนั้นมีพระศรีสุวรรณเป็นนายอำเภอ ต่อมาได้มีการจัดระเบียบการปกครองใหม่ตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายได้ยุบตำบลลังกามารวมกับตำบลไล่โว่ ทำให้บ้านทิไล่ป้าขึ้นอยู่กับตำบลไล่โว่จนถึงปัจจุบัน สำหรับคำว่าทิไล่ป้า เป็นภาษากะเหรี่ยง ซึ่งมีความหมายตรงกับภาษาไทยว่า ห้วยแผ่นหิน บ้านทิไล่ป้าแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีลำน้ำแม่กษัตริย์เป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่ไหลคดเคี้ยวมาตามหุบเขา ในบรรยากาศที่เย็นชื่นใจท่ามกลางป่าแมกไม้นานาพันธุ์ที่สมบูรณ์
บ้านทิไล่ป้า ตั้งอยู่ในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่อยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ลาดเอียงเชิงเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ทำให้ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื่องจากไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ในการทำกินได้ โดยสามารถแบ่งพื้นที่ได้เป็น 3 ส่วนคือ พื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่สาธารณประโยชน์ มีสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีภูเขาสูงสลับซับซ้อนด้วยป่าดงดิบและป่าไม้เบญจพรรณ มีแนวเขานกยูงทางทิศตะวันออกวางตัวเป็นแนวยาวตลอดพื้นที่ของหมู่บ้าน มีพื้นที่ราบเป็นส่วนน้อย มีลำน้ำไหลตลอดปีและมีน้ำไหลหลากในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน และมีระยะทางห่างจากแนวชายแดนไทยกับประเทศพม่า ประมาณ 1 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับบ้านจะแก หมู่ที่ 6
- ทิศตะวันออก ติดกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
- ทิศใต้ ติดกับบ้านไล่โว่ หมู่ที่ 4
- ทิศตะวันตก ติดกับประเทศพม่า
สภาพอากาศ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ต้นพฤษภาคมถึงตุลาคม และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่ตุลาคมถึงต้นเดือนมีนาคม
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านทิไล่ป้า ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 871 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 442 คน ประชากรหญิง 429 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 181 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567)
โพล่งอาชีพหลักของคนในชุมชนจะประกอบอาชีพทำไร่ โดยรูปแบบการทำไร่จะนิยมปลูกข้าวตามไหล่เขา รองลงมาคือการเลี้ยงสัตว์เพื่อขาย ส่วนอาชีพค้าขายค่อนข้างมีฐานะ และอีกอาชีพเสริมของคนในชุมชนหลังจากที่มีการเกี่ยวข้าวแล้ว ได้แก่ การปลูกกาแฟ พริก หมาก บุก ผลไม้ตามฤดูกาล โดยชาวบ้านจะนิยมปลูกกาแฟตามไร่และพื้นที่ในบริเวณบ้านของตัวเองซึ่งกาแฟมีราคาค่อนข้างสูง ชาวบ้านจึงนิยมปลูกกาแฟเพื่อจำหน่าย ด้านงานจักสานและงานฝีมือ ในหมู่บ้านจะมีการจักสานของชาวบ้าน ซึ่งจะทำในเวลาว่าง เป็นงานฝีมือโดยใช้หวายและไม้ไผ่ในการทำผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องมือทางการเกษตร เครื่องมือประมง เครื่องมือที่ใช้ในครัวเรือน เป็นต้น
วิถีชีวิตของชาวบ้านทิไล่ป้าผูกโยงกับพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนา ชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธ 80% อีก 20% ชาวบ้านนับถือศาสนาคริสต์ สถานที่ในการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาจะมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดป่าบ้านทิไล่ป้า และชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์จะทำพิธีกรรมที่โบสถ์ ซึ่งโบสถ์ของหมู่บ้านจะอยู่ในเขตแดนประเทศพม่ามีอาณาเขตดินแดนที่ติดกับประเทศไทย ชาวกะเหรี่ยงบ้านทิไล่ป้าจะมีประเพณีบุญทางพระพุทธศาสนา ประจำเดือนทั้ง 12 เดือน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากชนชาติมอญ พิธีกรรมที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านทิไล่ป้าจะเลือกจัดงานเฉพาะงานบุญที่สำคัญเท่านั้น เนื่องจากปัญหาความพร้อมทางกำลังทรัพย์ โดยงานบุญที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาต้องจัดประจำปี คือ งานบุญสงกรานต์ งานบุญเข้าพรรษา และงานบุญออกพรรษา ส่วนงานบุญที่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนาที่ต้องจัดทุกปีคือ งานคริสต์มาส
ลักษณะที่โดดเด่นของชาวกะเหรี่ยงบ้านทิไล่ป้าก็คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ โดยเฉพาะงานบุญข้าวใหม่ งานฟาดข้าว งานบุญค้ำต้นโพธิ์ และงานล้างสะพาน(ประเพณีสงกรานต์) โดยงานบุญฟาดข้าว เป็นประเพณีที่คนในหมู่บ้านถือปฏิบัติต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษของตน
- งานฟาดข้าว (โบพอบือ) ได้ถูกจัดขึ้นโดยมีความเชื่อที่มีต่อผู้ที่ปกปักษ์รักษาพืชพันธุ์ทางการเกษตรคือพระแม่โพสพ ประเพณีดังกล่าวเป็นการแสดงถึงการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีการขอขมาพระแม่โพสพ นอกจากพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องแล้วภายในงานยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การละเล่นพื้นบ้าน อาทิ บันไดกระรอก ปีนเสาน้ำมัน และมวยปล้ำ
- งานบุญข้าวใหม่ จัดขึ้นหลังจากเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรในปีที่ผ่านมาโดยชาวบ้านจะนำเอาข้าวที่ได้จากการเพาะปลูกไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง ในช่วงนี้ชาวบ้านจะถือโอกาสจัดงานบุญข้าวใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นการขอบคุณพระแม่โพสพที่ช่วยปกปักรักษาพืชผลทางการเกษตรและบันดาลให้การทำไร่ได้ผลผลิต ทั้งยังถือเป็นโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงภายในตำบลได้มาร่วมทำบุญและพบปะกันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแข่งขันกีฬาของเยาวชน
- งานบุญค้ำต้นโพธิ์ เป็นประเพณีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการค้ำจุนศาสนาพุทธ เนื่องด้วยต้นโพธิ์เป็นตัวแทนของศาสนาพุทธ นอกจากนี้ยังเป็นสะเดาะเคราะห์โดยชาวบ้านทิไล่ป้าเชื่อว่าการทำพิธีนี้จะทำให้มีอายุยืนยาวไปอีกเท่าหนึ่งของชีวิต
- พิธีไหว้สะพาน เป็นประเพณีที่ชาวบ้านจะมาทำพิธีล้างสะพานซึ่งเป็นทางสัญจรในชีวิตประจำวัน เชื่อว่าพิธีล้างสะพานนั้นเพื่อรำลึกถึงพระคุณพระแม่ธรณี คุณของเทวดาที่อยู่ในสะพาน ที่ได้ช่วยปกป้องคุ้มครองชาวบ้านเวลาเดินทางให้ปลอดภัย
ภาษาพูด : โพล่ง ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ลิวา ลิโรเหม่ ไทย
ทุ่งใหญ่นเรศวร
รัชชานนท์ เข็มลาด (2561). ประเพณีงานบุญข้าวใหม่ งานบุญฟาดข้าว และงานบุญค้ำต้นโพธิ์: ความสำคัญที่มีต่อวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบ้านทิไล่ป้า ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์.
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี. (2567). บ้านทิไล่ป้า ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567, จาก ฐานข้อมูลท้องถิ่นกาญจนบุรี-สุพรรณบุรี https://rlocal.kru.ac.th/
ไออุ่น จากพี่ให้น้อง. (2567). สำรวจพื้นที่จัดกิจกรรมไออุ่น 19 รร.ตชด. บ้านทิไล่ป้า. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/