ชุมชนชาวมุสลิมที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในระยะแรกไม่กี่ครัวเรือนก่อนที่จะมีการพัฒนากรุงเทพทำให้เริ่มมีการอพยพของชาวมุสลิมในตัวเมืองกรุงเทพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้จนกลายเป็นชุมชนชาวมุสลิมขนาดใหญ่
ชุมชนแผ่นดินทองนูรุสลามเป็นชื่อที่ได้จากการจัดตั้งตามระเบียบกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2539 ภายใต้การปกครองของสํานักงานเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร โดยชื่อของชุมชนแต่ละชุมชนในเขตหนองจอกสํานักงานเขตจะตั้งชื่อชุมชนตามชื่อของมัสยิดที่ตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนจัดแบ่งพื้นที่
ชุมชนชาวมุสลิมที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในระยะแรกไม่กี่ครัวเรือนก่อนที่จะมีการพัฒนากรุงเทพทำให้เริ่มมีการอพยพของชาวมุสลิมในตัวเมืองกรุงเทพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้จนกลายเป็นชุมชนชาวมุสลิมขนาดใหญ่
ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 กําหนดให้พื้นที่เขตหนองจอกเป็นพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่เขตอนุรักษ์ (Green Belt) เป็นพื้นที่ที่มีการกําหนดขอบเขตการใช้ที่ดินผ่านทางกฎหมายเพื่อนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรมบนพื้นที่ดินที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งสําหรับการเพาะปลูกตลอดจนการควบคุมการปลูกสร้างอาคารและการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอื่น ๆ การพัฒนาในช่วงปี พ.ศ. 2520 ถึง พ.ศ. 2530 มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในเขตชานเมืองและปริมณฑลอย่างต่อเนื่องและก็ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเขตปริมณฑลตลอดแนวเส้นทางหลวงสายหลักจนเกิดการลงทุนที่ควบคู่ไปกับการขยายเมืองกรุงเทพ
ความเปลี่ยนแปลงเริ่มเข้ามาสู่ชุมชนในช่วงประกาศจัดสรรประเภทแผนพัฒนาการใช้ที่ดิน พ.ศ. 2537 ของกรมผังเมือง ในบริเวณชุมชนนูรุสลามประกาศให้เป็นพื้นที่โซนสีเหลือง คือ พื้นที่ที่ประกาศเพื่อการอยู่อาศัยทำให้อาชีพการทํานาที่เป็นอาชีพหลักในอดีตจึงเริ่มหายไป ที่ดินกลายเป็นทรัพย์สินที่ขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินและพื้นที่รอบนอกกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ประชากรมุสลิมจากในกรุงเทพที่โดนไล่รื้อถอนที่พักอาศัยในกรุงเทพเริ่มอพยพเข้ามาอาศัยในชุมชน โดยกลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยในชุมชนนูรุสลามเป็นคนมุสลิมที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพชั้นใน เช่น ทองหล่อ บ้านดอน ซอยนวลน้อย คลองส้มป่อย เป็นต้น นอกจากนี้สาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ถนนเลียบวารีที่สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2500 ทําให้ลักษณะการตั้งบ้านเรือนและการคมนาคมใช้ถนนเป็นหลักมากกว่าทางน้ำในอดีต เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนในบริเวณนี้ทั้งระบบน้ำบาดาลที่ติดตั้งในปี พ.ศ. 2525 ที่มาแทนลําประโดงที่เก็บกักน้ำในแต่ละบ้านหมดความสําคัญลงและถูกปล่อยให้เน่าเสีย รวมทั้งระบบไฟฟ้าที่มาพร้อมกับเครื่องอํานวยความสะดวกและสื่ออันมีผลทําให้วิถีการดําเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป
ชุมชนแผ่นดินทองนูรุสลามมีจํานวนประชากรทั้งหมด 770 คน ทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม มีสัญชาติไทย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 372 คน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไปมากที่สุด อาชีพรับจ้างทั่วไปแบ่งเป็นสองประเภท คือ ประเภทรายวันกับการรับจ้างทํางานตามโรงงานซึ่งมักจะเป็นโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง อาชีพที่รองลงมา คือ ค้าขายอยู่กับบ้าน รับราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาชีพครูสอนศาสนาภายในชุมชนประชากรในชุมชนส่วนใหญ่ต้องออกไปทํางานนอกชุมชน
ในอดีตชุมชนปกครองด้วยผู้ใหญ่บ้านคือ ผู้ใหญ่ประจวบ หวังอับดุลเลาะห์ ซึ่งเป็นลูกชายคนโตของกีโต๊ะ หวังอับดุลเลาะห์ และเป็นพ่อของอิหม่ามฮานีฟะห์ หวังอับดุลเลาะห์ แต่ปัจจุบันรัฐเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นจากหมู่บ้านที่มีผู้ใหญ่ปกครองมาเป็นชุมชนตามแผนพัฒนาชุมชน ปี พ.ศ. 2537 และมีคณะกรรมการชุมชนเป็นผู้บริหารดูแลภายในชุม แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังคงมีรูปแบบโครงสร้างทางสังคมเดิมอยู่ ชาวบ้านไม่เรียกชุมชนของตนว่า "ชุมชน" แต่เรียกว่า "มูเค็ม" เช่นเรียกคนในชุมชนว่า "คนในมูเค็ม" และเรียกคนนอกว่า "คนนอกมูเค็ม" ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า "มูเค็ม" มีความหมายเทียบเคียงกับคําว่าชุมชน หรือ หมู่บ้าน โดยคนที่เป็นสมาชิกในมูเค็มก็คือ "สัปปุรุษ" หรือเรียกว่า "คนในมูเค็ม" คนที่เป็นสัปปุรุษก็คือคนที่เป็นมุสลิมนับถือศาสนาอิสลามแต่งงานหรือกําเนิดในถิ่นฐานภายในชุมชนหรือเป็นมุสลิมที่มาละหมาด รวมทั้งประกอบพิธีทางศาสนาในมัสยิดของชุมชนติดต่อกันเป็นประจําเป็นเวลา 2 ปี สมาชิกที่เป็นสัปปุรุษของมัสยิด จะต้องมีรายชื่อขึ้นทะเบียนอยู่ในมัสยิด ความหมายของคําว่า "มูเค็ม" ไม่ได้จํากัดขอบเขตของสมาชิกที่อยู่อาศัยในชุมชนเท่านั้น แต่เป็นการรวมเอาเครือข่ายของคนมุสลิมที่เป็นลูกหลานคนในชุมชนแต่อพยพย้ายไปแต่งงานหรือค้าขายที่ถิ่นอื่น เช่น อยุธยา บ้านป่า สวนหลวง สมาชิกเหล่านี้แม้จะไม่ได้อาศัยอยู่ในชุมชน แต่มีพ่อแม่เคยอาศัยอยู่หรือตนเองมีถิ่นกําเนิดจากชุมชน ดังนั้นแม้จะย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่นเมื่อครบรอบวันสําคัญของประเพณีทางศาสนา คือ วันอีดอีดิ้ลฟิตรี (อีดเล็ก) และวันออกหะยี (อีดใหญ่) จะต้องกลับมาละหมาดและทําพิธีทางศาสนายังมัสยิดที่ตนเองขึ้นทะเบียนสัปปุรุษอยู่ การละหมาดหรือทําพิธีทางศาสนาที่มัสยิดที่ตนเป็นสัปปุรุษถือเป็นเรื่องสําคัญมาก เพราะการละหมาดในมัสยิดที่เรามีส่วนร่วมอยู่ เช่น การบริจาคให้กับมัสยิดจะถือว่าได้ผลบุญมากกว่าการไปละหมาดที่มัสยิดอื่น
แต่เดิมชุมชนนูรุสลาม (กุโบร์โต๊ะเยาะห์) จะมีบ้านเรือนอาศัยอยู่ริมคลองแสนแสบเพียง 4 หลังคาเรือน เป็นของพี่น้องตระกูลหวังอับดุลเลาะห์ ประกอบไปด้วยบ้านของผู้ใหญ่ประจวบ หวังอับดุลเลาะห์, แชร์รี่ หวังอับดุลเลาะห์, กีหวัง อับดุลเลาะห์ และโต๊ะแจ๊ะ หวังอับดุลเลาะห์ ทั้งหมดประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทําสวนกันทั้งหมด เมื่อมีการแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินของแต่ละบ้าน การประกอบอาชีพทำนาจึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นตามลําดับ จากที่ดินที่เป็นส่วนกลางของครอบครัวช่วยกันทำเนื่องจากในอดีตยังไม่มีการออกโฉนดที่ดิน การออกโฉนดที่ดินเพื่อการถือครองที่ดินมีขึ้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยในสมัยนั้นได้มีพระบรมราชโองการว่าด้วยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินและการทำทะเบียนขึ้นเป็นหลักฐานตาม "ประกาศออกโฉนดที่ ร.ศ. 120" หลักการสำคัญสำหรับประกาศฉบับนี้ คือการทำหลักฐานทางแผนที่ออกโฉนดที่ดินให้กรรมสิทธิ์กับผู้ถือครองที่ดิน รวมทั้งการจัดทำทะเบียนที่ดินเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ ในสมัยต่อมาได้มีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคือพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2479 ซึ่งได้วางหลักการเกี่ยวกับการจัดที่ดินให้กับประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่าของรัฐได้ โดยรัฐจะออกใบเหยียบย่ำและตราจองไว้ให้เป็นหลักฐานเบื้องต้น เมื่อผู้นั้นได้ทำประโยชน์ในที่ดินเต็มที่แล้วก็จะมีสิทธิรับตราจอง ซึ่งตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" หรือรับโฉนดแผนที่เป็นหลักฐานรับรองกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นต่อไป การออกโฉนดที่ดินนั้นเกิดขึ้นเพราะรัฐต้องการจัดระบบเกี่ยวกับที่ดิน และมุ่งจัดเก็บภาษีอากรที่นาจากประชาชน ทำให้ปัจจัยการผลิตที่ดินจึงแบ่งส่วนออกไปเป็นที่ทำกินของแต่ละบ้าน
อย่างไรก็ตามระหว่างบ้านที่เป็นเครือญาติกันนั้นจะมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยการ "เอาแรง" ส่วนของการจ้างแรงงานนั้นจะจ้างคนในชุมชนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามคลองแสนแสบหรือเรียกว่า "ชุมชนคู้ฝั่งเหนือ" และ "ชุมชนนาตับ" หรือคนในชุมชนเรียกว่า "บนดอน" การจ่ายค่าแรงในการทำนาสมัยนั้นจะจ่ายเป็นข้าวเปลือก โดยคนที่มารับจ้างแรงงานในการเกี่ยวข้าว หว่านข้าว จะเอาข้าวเปลือกมากินก่อนหรือเรียกว่า "ตกเขียว" แล้วจะมาช่วยทำงานทีหลังหรือบางบ้านจะรอให้ขายข้าวเปลือกได้ก่อนแล้วจึงคิดเป็นเงิน สมัยนั้นการค้าขายแลกเปลี่ยนจะค้าขายผ่านทางคมนาคมทางน้ำเป็นหลักข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้จะส่งให้กับโรงสีซึ่งเป็นพ่อค้าคนจีน ส่วนบ้านของกีหวังซึ่งทำอาชีพขายขนมด้วยส่วนหนึ่งจะนําไปจ่ายทดแทนน้ำตาล มะพร้าวที่เข็นมาทำขนม ให้กับพ่อค้าคนจีนที่ตลาดคู้ (สมัยก่อนศูนย์กลางการค้าขายอยู่ที่ชุมชนตลาดคู้ไม่ใช่ตลาดหนองจอกในปัจจุบัน)
ในช่วง "หน้าน้ำแดง" ประมาณเดือน 4 และเดือน 6 เป็นหน้าแล้งที่ชาวบ้านจะนําข้าวเปลือกออกขายซึ่งจะได้ราคาแพงกว่าปกติ ในสมัยนั้นการคมนาคมยังไม่มีถนนเหมือนปัจจุบันการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปมีนบุรีจึงมีแต่เรือพายเรือแจวหรือเรือเมล์เท่านั้น ดังนั้นน้ำในคลองแสนแสบจึงเป็นสายหลักสำคัญในยุคสมัยนั้น เส้นทางการคมนาคมทางน้ำจะวิ่งตั้งแต่สี่แยกมหานาค สระปทุม มีนบุรี ทรายกองดิน สุเหร่าคู้ เจียรดับ กระทุ่มราย โดยคนในชุมชนจะเรียก ชุมชนสุเหร่าคู้ว่า "บ้านบน" เรียกชุมชนเจียรดับว่า "บ้านล่าง" เรียกชุมชนนูรสลามว่า "คู่น้อย" โดย มีตลาดคู้ที่อยู่ตรงข้ามกับสุเหร่าคู้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนค้าขายส่วนใหญ่จะไม่แลกเปลี่ยนด้วยเงิน แต่ใช้เป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของ เช่น เอาข้าว มะพร้าว มาแลกกับน้ำตาล กะปิ หัวหอม เกลือ การแลกเปลี่ยนสินค้าจะใช้กระบุงเป็นอุปกรณ์สำคัญในการวัดหรือชั่งเรียกว่า "กระบุงตก" ที่ เรียกเช่นนี้คนในชุมชนเล่าว่า เมื่อเวลาที่มีเรือบรรทุกสินค้ามาค้าขาย (เรือโยง) เอามาขายของชาวบ้าน ชาวบ้านจะนําของในครัวเรือนมาแลก เช่น เอามะพร้าวไปแลกกับผลไม้ชนิดอื่นที่ในท้องถิ่นไม่มี โดยจะนํากระบุงลงเรือแล้วเรียงของที่ต้องการใส่ในกระบุงให้มากที่สุด แต่มีกฎอย่างหนึ่งที่ตกลงกันระหว่างการแลกเปลี่ยนคือถ้ายกแล้วของตกจากกระบุงห้ามนําเอาออกไปจากเรือเด็ดขาดสามารถนํากลับไปได้เฉพาะกระบุงเท่านั้น ฉะนั้นคนที่เรียงกระบุงจะต้องมีความชํานาญ เส้นทางการค้าขายของเรือโยงหรือเรือพ่วงจะวิ่งจากฉะเชิงเทราเอาผลผลิตไปขายที่ตลาดมหานาคแล้ววิ่งกลับเอาของจากตลาดมหานาคมาขาย โดยจะเปลี่ยนเป็นเรือแจวออกขายปลีกตามบ้านสองฝั่งคลองหลังจากที่ว่างจากช่วงฤดูทํานา บ้านกีหวังเป็นบ้านช่างฝีมือทําหัวหมู (อุปกรณ์ในการทํานาชนิดหนึ่ง เมื่อจิ้มหัวหมูลงดินคนไถจะจับหางไถแล้วใช้ควายไถเป็นวงกลมรอบนาทําให้ดินซุยขึ้นมา) ดังนั้นคนที่อาศัยอยู่ละแวกบ้านใกล้เรือเคียงจะมาจ้างให้ทําหรือนําของมาแลกเปลี่ยนแต่กับบ้านพี่น้องที่เป็นญาติกันจะเอาไปใช้โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินหรือสิ่งของ
นอกจากบางครอบครัวจะประกอบอาชีพเกษตรกรยังมีบางคนที่มีอาชีพเป็นครูสอนศาสนาที่ทํางานตอนกลางวันและมาสอนหนังสือตอนเย็นหรือบางคนไม่ได้มีอาชีพครูสอนศาสนาแต่มีความเคร่งครัดในการละหมาดต้องกลับบ้านให้ตรงเวลาละหมาดก็จะเลือกอาชีพที่มีเวลาเลิกงานแน่นอนและมีอิสระอย่างขับรถแท็กซี่ ขับรถเมล์ ซึ่งการทํางานที่อนุญาตให้ผู้ชายมุสลิมกลับมาละหมาดที่มัสยิดในวันศุกร์จะเพราะเจ้าของเป็นอิสลามและคนงานส่วนใหญ่ 90% เป็นคนอิสลามในท้องถิ่น ส่วนผู้ชายที่ทําอาชีพรับราชการในชุมชนในสำนักงานเขตและไปรษณีย์ ซึ่งมีคนอิสลามในท้องถิ่นทํางานอยู่เป็นจํานวนมากที่ทํางานจะทําที่สำหรับละหมาดไว้ สำหรับในครอบครัวที่รายได้น้อยเพราะทําอาชีพรับจ้างตามโรงงาน หรืออาชีพรับเหมาก่อสร้า จะได้รายได้เป็นรายวันมีรายได้ไม่แน่นอน บางครอบครัวผู้หญิงกับผู้ชายแต่งงานกันแล้วต้องแยกกันเพราะที่ทํางานไกลไม่สามารถมาอาศัยอยู่ในชุมชนได้จะเจอกันอาทิตย์ละครั้งโดยคนกลุ่มนี้เป็นคนส่วนใหญ่ในชุมชน
ชุมชนแผ่นดินทองนูรุสลามมีสถานที่สำคัญคือ มัสยิดนูรุสลาม (กุโบร์โต๊ะเยาะห์) เป็นมัสยิดประจำชุมชนที่ใช้ในการประกอบศาสนกิจทางศาสนาทั้งการลำหมาดทุกวันศุกร์ของมุสลิมชาย รวมถึงเป้นสถานที่ในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา เช่น วันอีดอีดิ้ลฟิตรี(อีดเล็ก) และวันออกหะยี(อีดใหญ่) โดยมัสยิดแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามชุมชนแผ่นดินทองนูรุสลาม (กุโบร์โต๊ะเยาะห์)
ภาษาไทยกลาง
พจนีย์ สุทธิรัตน์. (2546). แผ่นดินทองนูรุสลามชุมชนและเครือญาติในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง กรณีศึกษามุสลิมชานเมืองกรุงเทพฯ. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร. (ม.ป.ป.). มัสยิดนูรุสสะลาม (กุโบร์โต๊ะเยาะห์). สืบค้น 28 พฤษภาคม 2567 จาก https://masjid.islamicbangkok.or.th/masjid/