
ชุมชนมอญริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาและมีงานหัตถกรรมการปั้นดินเผาเก่าแก่ที่ถูกสืบทอดจากบรรพบุรุษที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่มีมานานกว่า 200 ปี
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดเกร็ดโดยเริ่มตั้งแต่วัดปากอ่าวไปจรดท้ายด่านเพื่อย่นระยะทางและเวลาเป็นการอํานวยความสะดวกในทางสัญจรไปมาทางน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น ทำให้เรียกหมู่บ้านนี้ติดปากว่า บ้านลัดเกร็ด ตามชื่อคลองลัดเกร็ดที่ขุดขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนมอญริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาและมีงานหัตถกรรมการปั้นดินเผาเก่าแก่ที่ถูกสืบทอดจากบรรพบุรุษที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่มีมานานกว่า 200 ปี
จากการสอบถามและพูดคุยกับชาวบ้านลัดเกร็ดได้บอกถึงประวัติความเป็นมาของชุมชนว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พ.ศ. 2264 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระองค์ได้เสด็จทางชลมารคเลียบลําน้ำเจ้าพระยาผ่านมาจนถึงวัดปากอ่าว (วัดปรมัยยิกาวาสในปัจจุบัน) ทรงพิจารณาเห็นว่าลำน้ำเจ้าพระยาตอนวัดปากอ่าวจรดท้ายด่าน (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกรมชลประทาน ตำบลบางตลาด จังหวัดนนทบุรี) สภาพลำน้ำคดเคี้ยวและอ้อมโค้งมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดเกร็ดขึ้นโดยเริ่มต้นตั้งแต่วัดปากอ่าวไปจรดท้ายด่าน โดยเริ่มขุดจากปากอ่าวไปตามคันดูลำน้ำเพื่อประสงค์จะย่นระยะทางและเวลา เป็นการอำนวยความสะดวกในทางสัญจรไปมาทางน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น หมู่บ้านนี้จึงเรียกกันว่า บ้านลัดเกร็ด ตามชื่อคลองลัดเกร็ดที่ขุดขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ในปี พ.ศ. 2318 ได้มีมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งรวมทั้งตำบลเกาะเกร็ดด้วย พระสุเมธาจารย์ (เก้า) พระเถระผู้ใหญ่จากเมืองมอญเห็นสภาพภูมิประเทศเหมาะสมจึงสร้างวัดขึ้นที่ปากคลองลัดเกร็ด ชื่อ "วัดปากอ่าว" และได้สร้างเจดีย์ทรงรามัญไว้เป็นสำคัญโดยสร้างไว้มุมวัดริมแม่น้ำ
จนเมื่อเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้มีมอญอพยพเข้ามาอีกเป็นชุดใหญ่ซึ่งล้วนแต่เป็นคนมีตระกูลเป็นขุนนางมอญเก่าทั้งสิ้น รวมทั้งพวกมอญที่ถูกกวาดต้อนไปตอนสมัยเสียกรุงมอญชุดนี้เป็นชุดพระยาเจ่ง และได้อพยพไปสู่ฝั่งเกาะโดยประกอบอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาอาจเป็นไปได้ที่ชาวมอญซึ่งอพยพมาอยู่ที่เกาะเกร็ดและมีอาชีพปั้นหม้อซึ่งเป็นอาชีพที่ติดตัวมาตั้งแต่เดิมเพื่อสนองความต้องการของผู้คนที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
บ้านลัดเกร็ด หมู่ 1 ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองตำบลเกาะเกร็ด อําเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านโอ่งอ่าง ตําบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ แม่น้ำเจ้าพระยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านศาลากุนนอก และบ้านโอ่งอ่าง อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แม่น้าเจ้าพระยา
ชุมชนหมู่บ้านลัดเกร็ดตั้งอยู่หมู่ที่ 1 มีประชากรเชื้อชาติมอญ ร้อยละ 35 ของประชากรทั้งตำบล โดยประชากรบ้านลัดเกร็ดมีการทําเครื่องปั้นดินเผามากที่สุดในจํานวน 7 หมู่บ้าน ในตําบลเกาะเกร็ด นอกจากนี้อาชีพที่ทํากันมาก คือ รับราชการ ทํางานรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ นอกจากนี้มีอาชีพค้าขายของชำและอาหารและการทําสวนผลไม้ ซึ่งมีพื้นที่ทําสวนประมาณ 150 ไร่ มีผู้เป็นเจ้าของที่ดินทําสวน 5-6 ราย เท่านั้น สวนผลไม้ที่ปลูกก็คือ ทุเรียน มังคุด มะพร้าว เป็นต้น ซึ่งเมื่อก่อนนั้นชาวบ้านลัดเกร็ดประกอบอาชีพหลักคือ การทำเครื่องปั้นดินเผากันเกือบทุกบ้าน
มอญอาชีพหลักของชาวมอญเกาะเกร็ดที่ขึ้นชื่ออย่างหนึ่งคือการทำเครื่องปั้นดินเผาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษได้ใช้วิชาความรู้ ความชำนาญในการทำเครื่องปั้นดินเผา ประกอบกับพื้นที่เกาะเกร็ดมีดินเหนียวคุณภาพดีเหมาะสำหรับการทำเครื่องปั้นดินเผามีดินที่มีความเหนียวสีนวลหรือปนเหลืองไม่ดำเกินไปเนื้อดินจับกันเป็นก้อนไม่ร่วนซุย ชาวมอญกลุ่มนี้จึงทำเป็นอาชีพหลักในการดำรงชีพ เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดจึงเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่เก่าแก่เป็นงานหัตถกรรมที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่มีมานานกว่า 200 ปี จนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเกาะเกร็ดเป็นแหล่งชุมชนช่างผลิตเครื่องปั้นดินเผาชั้นเลิศมาตั้งแต่อดีตมีรูปทรงสวยงามมีลวดลายจากการแกะสลักที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่งดงามเหมาะสมแก่ประโยชน์ใช้สอยทนทานจนกลายเป็นที่ยอมรับเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศไทย และเอกลักษณ์เฉพาะของงานปั้นในชุมชนเกาะเกร็ดคือ เป็นเครื่องปั้นดินเผาประเภทเนื้อดินไม่เคลือบ มีความพรุนตัวมาก (Earthenware) มีสีส้มอ่อนจนถึงสีแดง หรือหากเป็นสีดำก็จะเกิดจากการผสมแกลบลงไปในเนื้อดินและเผาด้วยไฟแรงสูง รูปแบบของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด ในอดีตเป็นการปั้นขึ้นเพื่อเป็นของของใช้ภายในครัวเรือน ในอดีตนิยมทำลวดลายเพียงแค่ที่คอและไหล่ของภาชนะ เช่น โอ่ง หม้อน้ำ ด้วยลวดลายแบบง่าย ๆ ใช้เทคนิคการแกะพิมพ์ลายลงบนหนามทองหลางป่าหรือนมทองหลาง แล้วจึงนำดินที่ทำเป็นส่วนลายมากดทับเกิดเป็นลวดลายนำไปปะติดกับโอ่งอีกครั้งหนึ่งหรือลายอีกประเภทคือลายขีดจะใช้วัสดุใกล้ตัวขีดลวดลายง่าย ๆ ลงบนไหล่ของโอ่งน้ำ
ชาวมอญบ้านลัดเกร็ดต่างนับถือศาสนาพุทธหมดทั้งสิ้น โดยมีวัดเป็นศาสนสถานที่ใช้บําเพ็ญบุญกุศลและเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต วัดที่ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านลัดเกร็ดนั้นมีจำนวน 1 วัด คือ วัดฉิมพลีสุทธาวาส ส่วนวัดปรมัยยิกาวาส ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 บ้านโอ่งอ่าง ติดกับเขตแดนจึงทําให้ชาวบ้านซึ่งอยู่ใกล้วัดนี้ต่างมาทําบุญที่วัดปรมัยยิกาวาสนี้ด้วย เนื่องจากสองวัดนี้ต่างเป็นวัดมอญด้วยกันทั้งสองวัด
วัดฉิมพลีสุทธาวาส
วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นระหว่างสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยรัชกาลที่ 1 เนื่องจากในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ มีชาวจีนเข้ามาทําการค้าขายโดยมีสำเภามาจากเมืองจีนเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา จีนกุ้ย มีบุตรคือ จีนกัน จีนสอน และจีนฉิม ซึ่งทั้ง 3 คนนี้ได้รับบรรดาศักดิ์และร่ำรวย ต่อมาจีนฉิมได้เป็นพระยาวิเชียรวารีได้สร้างวัดฉิมขึ้นใกล้กับวัดป่าเลไลย์ เนื่องจากทําเลการค้าดีจึงได้สร้างเจดีย์รูปเรือไว้เป็นอนุสรณ์และได้ชื่อว่า วัดฉิม ชาวบ้านอาจเรียกว่า วัดฉิมวิเชียรวารี ต่อมาย่อเป็น วัดฉิมพลี อีกกระแสหนึ่งว่า วัดฉิมพลี นี้ได้ชื่อตามพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยครั้งทรงปฏิสังขรณ์คราวเมื่อพระองค์เสด็จมาเยี่ยมชาวมอญแถบเมืองสามโคกและเมืองนนทบุรี จึงได้พระราชทานนามวัดตามชื่อเดิมของพระองค์ คือ ฉิม ประกอบกับตราพระราชสัญจกรประจําพระองค์เป็นรูปครุฑฉิมพลีเป็นวิมานของพระยาครุฑ วัดนี้เมื่อบูรณะจึงพระราชทานนามวัดเช่นนี้ นอกจากนี้วัดฉิมพลียังได้รวมวัดป่าเลไลย์ซึ่งเป็นวัดร้างเข้าเป็นวัดเดียวกันด้วย
โสภี อยู่ทรัพย์. (2533). การสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของชุมชนช่างปั้นหม้อ : กรณีศึกษาบ้านลัดเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ. (ม.ป.ป.). งานศิลปหัตถกรรมประเภทเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567. https://www.sacit.or.th/