Advance search

การรวมตัวกันของผู้คนจากหลายพื้นที่เพื่อแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนกลายเป็นชุมชนท่ามกลางธรรมชาติที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และมีวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

หมู่ที่ 4
จงอั่ว
ปรังเผล
สังขละบุรี
กาญจนบุรี
องค์การบริหารส่วนตำบลปรังเผล โทร. 034-683053
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
23 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 พ.ค. 2024
บ้านเรดาร์

ในปี พ.ศ. 2526 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้มีโครงการจัดสร้างสถานีทวนสัญญาณขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย บนพื้นที่ยอดเขาลูกหนึ่งในพื้นที่บริเวณเขาใหญ่ (ภูเขาเรดาร์) ใกล้กับกลุ่มชุมชนในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน         


การรวมตัวกันของผู้คนจากหลายพื้นที่เพื่อแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนกลายเป็นชุมชนท่ามกลางธรรมชาติที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และมีวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

จงอั่ว
หมู่ที่ 4
ปรังเผล
สังขละบุรี
กาญจนบุรี
71240
15.037447553001465
98.5764684647983
องค์การบริหารส่วนตำบลปรังเผล

บ้านเรดาร์ เป็นกลุ่มบ้านย่อยกลุ่มหนึ่งในเขตพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านจงอั่ว ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจบุรี ประวัติความเป็นมาของบ้านเรดาร์แห่งนี้ไม่ปรากฏแน่ชัดเท่าใดนัก แต่คาดว่าอาจก่อตั้งหรือมีคนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวรครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2523 ในช่วงที่จังหวัดกาญจนบุรีมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นในบริเวณเขตพื้นที่ติดระหว่างอำเภอทองผาภูมิกับอำเภอสังขละบุรี คือ "เขื่อนเขาแหลม" หรือ เชื่อนวชิราลงกรณ ภายหลังเขื่อนเขาแหลมสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2526 และเริ่มกักเก็บน้ำในปีถัดมาคือ ปี พ.ศ 2527

ผู้คนจากพื้นที่ต่าง ๆ จึงอพยพโยกย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่รอบนอกและต่างจังหวัดเข้ามาอยู่อาศัยบริเวณเขื่อนเขาแหลม โดยมาจากหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดเลย จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุบลราชธานี โดยคนเหล่านี้ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานกระจายตัวทั่วไปรอบเขื่อนเขาแหลม พร้อมกันนี้ครอบครัวของจ่าขาว นายทหารอำเภอพนมทวนได้พาครอบครัวมาสร้างบ้านเรือนบริเวณที่ตั้งบ้านเรดาร์ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าเป็นครอบครัวแรกที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ของบ้านเรดาร์ในปัจจุบัน  ส่วนอีกครอบครัวหนึ่ง คือ ครอบครัวของนางน้อย ผ่องแผ้ว จากจังหวัดพิษณุโลก เข้ามารับซื้อปลาจากแพบริเวณจุดที่มีการรับซื้อปลา อีกทั้งยังมีกลุ่มชนพื้นเมือง เช่น พม่า มอญ กะเหรี่ยงจากพม่า ก็ได้อพยพครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เขื่อนเขาแหลมนี้ด้วยเช่นเดียวกัน 

ในปี พ.ศ. 2526 ในช่วงใกล้เคียงกันกับการสร้างเชื่อนวชิราลงกรณ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้มีโครงการจัดสร้างสถานีทวนสัญญาณขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ณ บนพื้นที่ยอดเขาลูกหนึ่งในพื้นที่บริเวณเขาใหญ่ (หมายถึงภูเขาเรดาร์) ใกล้กับบ้านเรดาร์ในปัจจุบัน ทวนสัญญาณขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยดังกล่าวทำให้ชาวแพที่อยู่ตามเกาะต่าง ๆ ได้ทยอยเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่บนพื้นราบกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน เพราะมีถนนสายใหญ่ตัดผ่าน ทำให้สะดวกแก่ผู้ซื้อและผู้ชาย ประชาชนส่วนใหญ่จะเรียกที่บริเวณนี้ว่า "ท่าปลาเรดาร์หรือบ้านเรดาร์" หลังจากที่เสาทวนสัญญาณมาติดตั้งอยู่ใกล้ๆ

พัฒนากรของชุมชน

  • พ.ศ. 2527 ได้มีการสร้างถนนสายกาญจนบุรี-สังขละบุรี (สาย323) โดยกรมทางหลวงของจังหวัดกาญจนบุรีไปยังอำเภอสังชละบุรีก่อนที่จะมีหมู่บ้านเรดาร์
  • พ.ศ.2527 ใด้มีการสร้างสำนักสงฆ์ที่หมู่บ้านเรดาร์เพื่อให้ชาวบ้านมีที่พักพิงทางจิตใจ
  • พ.ศ. 2530 เริ่มมีน้ำประปาที่ใช้น้ำจากฎเขา โดยสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดกาญจนบุรีเป็นผู้ให้สร้างระบบน้ำประปามาหมู่บ้านเรดาร์ เพราะในตอนแรกชาวบ้านนั้นต่อไม้ไผ่ทำเป็นรางเพื่อรองน้ำจากฎเขาไว้ใช้ ปัจจุบันได้เป็นหน้าที่ขององค์การบริหารสวนตำบลปรังเผลเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
  • พ.ศ. 2537 เริ่มก่อตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่บ้านเรดาร์ โดยนายเจอร์เก้น มูลเดอร์ ชาวเยอรมัน โดยรับเด็กที่อยู่ในพื้นที่กลุ่มบ้านเรดาร์ กลุ่มบ้านทิโคร่ง กลุ่มบ้านลิเจีย และกลุ่มบ้านรันดี
  • พ.ศ.2549 ไฟฟ้าได้เริ่มเข้ามาในกลุ่มหมู่บ้านเรดาร์โดยมีการองค์การบริหารส่วนตำบลปรังเผลเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
  • พ.ศ.2551 องค์การบริหารสวนตำบลปรังเผลได้มีการก่อสร้างถนนคอนกรีตซึ่งเป็นทางเข้าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเรดาร์

จะเห็นได้ว่ากลุ่มบ้านเรดาร์ใด้เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาการความเจริญของชุมขนตามลำดับ เช่น กางสร้างถนนที่ทำให้มีความสะดวกสบายในการเดินทางออกไปตามที่ต่างๆ ด้านศาสนา คือ การสร้างสำนักสงฆ์ที่กลุ่มบ้านเรดาร์เพื่อให้ชาวบ้านมีที่พักพิงทางจิตใจ ด้านไฟฟ้าและน้ำประปาหรือจะเป็นทางด้านการศึกษาที่มีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเรดาร์เป็นผู้สอนหนังสือแก่เด็กภายในกลุ่มบ้านต่างๆ เป็นต้น

ที่ตั้งและอาณาเขต

กลุ่มบ้านเรดาร์ หมู่ที่ 4 ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีเนื้อที่จำนวน 20 ไร่ อยู่ห่างจากตัวอำเกอสังขละบุรี ประมาณ 34 กิโลเมตร สภาพเส้นทางจากจังหวัดกาญจนบุรีไปจนถึงกลุ่มบ้านเรดาร์ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์จากจังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 3 ชั่วโมง

กลุ่มบ้านเรดาร์ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอสังขละบุรี สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นเกาะในเขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม) บนภูเขาสูงสลับชับซ้อน มีทั้งป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ มีพื้นที่ราบเป็นส่วนน้อย อยู่ห่างจากแนวชายแดนประเทศพม่าประมาณ 50 กิโลเมตร มีเส้นทางคมนาคมเพียงเส้นทางเดียว ลักษณะดินในพื้นที่เป็นดินร่วนปนลูกรัง ส่วนใหญ่ใช้สอยพื้นที่ในการสร้างที่อยู่อาศัยเพราะพื้นที่ต่ำและอยู่ติดกับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ เมื่อถึงหน้าฝนน้ำก็จะท่วมบ้านเรือนทำให้ได้รับความเสียหาย

สภาพแวดล้อมโดยรวมของกลุ่มบ้านเรดาร์มีทั้งกลุ่มคนไทยและกลุ่มคนชาติพันธุ์เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน ลักษณะที่ตั้งบ้านเรือนติดกับภูเขาเรดาร์ มีบริเวณพื้นที่ติดกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มหมู่บ้านที่มี 2 ลักษณะ คือ บ้านบนบกและบ้านแพ โดยพื้นที่ชุมชนมีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับกลุ่มบ้านลิเจีย หมู่ที่ 4 ตำบลปรังเผล
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ จุดชมวิวป้อมปี เขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขาเรดาร์ หมู่ 4 ตำบลปรังเผล
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อ่างเก็บน้ำเขื่อนชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม)

ลักษณะภูมิอากาศ

กลุ่มบ้านเรดาร์มีลักษณะภูมิอากาศที่มีความแตกต่างกันมากระหว่างช่วง 3 ฤดู คือ ฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนจัดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนจะมีฝนตกชุกตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนตุลาคม และฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวจัดตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในเวลาเช้าแม้ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูไหนก็ตามก็จะมีหมอกปกคลุมบนยอดภูเขาอยู่เสมอ

ลักษณะครอบครัวพื้นที่กลุ่มบ้านเรดาร์

โดยส่วนใหญ่แล้วคนในกลุ่มบ้านเรดาร์จะเป็นคนที่อพยพเข้ามาอยู่จัดตั้งเป็นกลุ่มบ้าน โดยหาญาติพี่น้องอพยพเข้ามาอยู่ด้วยกัน จึงทำให้อยู่ในลักษณะครอบครัวขยายซึ่งเข้ามาอยู่ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่และค่อยๆ แยกครอบครัวออกมา แต่ส่วนใหญ่จะปลูกบ้านในบริเวณเดียวกันกับพ่อแม่ ความสัมพันธ์ของคนภายในชุมชน คนในกลุ่มบ้านเรดาร์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก มีการพึ่งพาอาศัยกัน ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเครือญาติหรือเป็นคนที่มาจากพื้นที่เดียวกัน มีความคุ้นเคยกันไม่ว่าจะเป็นทั้งคนบ้านบกและบ้านแพ หากมีงานที่ต้องช่วยเหลือหรือเฮาแรงกันก็จะช่วยกันทำ คนในพื้นที่กลุ่มบ้านเรดาร์นั้นส่วนหนึ่งเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ส่วนใหญ่จึงไม่มีนามสกุล

ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจากภาคอีสาน กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชาวมอญ ชาวพม่า โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรกลุ่มบ้านเรดาร์ หมู่ที่ 4 บ้านจงอั่ว ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,788 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,454 คน ประชากรหญิง 1,334 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 850 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

มอญ

ชาวบ้านกลุ่มบ้านเรดาร์มีการประกอบอาชีพที่หลากหลายและแตกต่างกันตามพื้นที่ที่อาศัย คือ บ้านบกนั้นจะประกอบอาชีพ การปลูกมันสำปะหลัง รับจ้างทำการเกษตรและการเลี้ยงวัวเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนบ้านแพนั้นจะประกอบอาชีพด้านการประมง กล่าวคืออาชีพหลักของกลุ่มบ้านเรดาร์ ได้แก่ อาชีพรับจ้างทำการเกษตร และอาชีพทำประมง สวนอาชีพรองได้แก่ อาชีพรับจ้างทั่วไป อาชีพหาหน่อไม้ อาชีพเลี้ยงวัวและอาชีพค้าขาย ฯลฯ

1. อาชีพประมง การหาปลาในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ของชาวแพใช้อุปกรณ์ในการจับปลา คือยอและการลงตาข่าย ปลาที่หามาได้ก็จะขายให้กับบ้านที่รับซื้อปลาที่อยู่ภายในแพและจะขายให้กับพ่อค้าที่จะมารับซื้อปลาถึงกลุ่มบ้านแพ โดยจะมีการจับปลากันทุกวันยกเว้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนตุลาคม เนื่องจากเป็นฤดูฝนซึ่งฝนจะตกชุกมากทำให้ออกเรือไปยกยอไม่ได้และจะเป็นช่วงเวลาที่ปลาจะวางไข่

2. การหาหน่อไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมจะทำการเปิดอนุญาตให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปหาหน่อไม้ในป่าได้เป็นเวลา 2 เดือน คือ ช่วงต้นเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนกันยายน หากเกินเวลาจากนี้ก็จะทำการปิดป่า โดยชาวบ้านจะไปหาแล้วนำมาขายให้พ่อค้าเพื่อนำไปแปรูป คือ การทำหน่อไม้ดอง ฯลฯ

3. การเลี้ยงวัว การเลี้ยงวัวในกลุ่มบ้านเรดาร์นั้นมีผู้เลี้ยงวัวซึ่งเป็นคนที่อาศัยอยู่บ้านบกและบ้านแพ วิธีการเลี้ยง คือ ปล่อยให้วัวอยู่ตามบนเกาะที่อยู่กลางน้ำให้หากินเอง โดยเจ้าของจะทำสัญลักษณ์ว่าเป็นวัวของตนเองแล้วจะไปดูแลเป็นครั้งคราว การขายวัวจะนิยมขายกันเมื่อวัวมีอายุ 1 ปีขึ้นไป โดยจะมีพ่อค้าจะมารับซื้อถึงที่

4. การปลูกมันสำปะหลัง มันสำปะหลังเป็นพืชที่ชาวบ้านนิยมปลูกกันมากเนื่องจากเป็นพืชที่ไม่ต้องใช้น้ำในการดูแลมากนัก โดยจะเริ่มทำการปลูกในเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน แล้วมีการบำรุงมันสำปะหลังโดยฉีดสารอาหารให้ต้นมันสำปะหลังเพื่อเร่งการเจริญเติบโตในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมแล้วนำไปขาย

5. อาชีพรับจ้างทั่วไป

  • การรับจ้างเก็บข้าวโพดมีในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน โดยจะต้องไปอยู่กับคนที่จ้างเพราะการเก็บข้าวโพดจะต้องไปเก็บนอกกลุ่มบ้านเรดาร์โดยจะมีรถมารับเป็นกลุ่มๆ หรือจะเหมารถในพื้นที่ไปส่งยังไร่ข้าวโพดที่จะไปเก็บ เนื่องจากกลุ่มบ้านเรดาร์จะไม่มีการปลูกข้าวโพด ทำให้คนที่ไม่มีไร่เป็นของตนเอง โดยเฉพาะคนพม่า คนกะเหรี่ยง จะต้องออกไปรับจ้างเก็บข้าวโพดโดยจะทิ้งบ้านไปในเวลาประมาณ 2 เดือน

  • การเก็บมัน/การปลูกมันสำปะหลังในช่วงเดือนธันวาคม - เดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยการคัดต้นและขุด ในช่วงเดือนเมษายนจะเป็นการปลูกต้นมันสำปะหลัง กลุ่มคนที่ประกอบอาชีพรับจ้างนี้ส่วนใหญ่เป็นคนพม่า คนกะเหรี่ยง ซึ่งรับจ้างทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่

ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม

ประชาชนกลุ่มบ้านเรดาร์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวิถีชีวิตและวิถีความเชื่อที่สอดคล้องกับการประกอบพิธีกรรมหรือวันสำคัญทางศาสนา ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ชาวบ้านจะไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดในชุมชนใกล้เคียงหรือสำนักสงฆ์ที่อยู่ภายในกลุ่มบ้านเรดาร์ที่มีชื่อว่า "สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำสุโข" สร้างในปี พ.ศ.2527 โดยชาวบ้านร่วมกันช่วยเหลือในการทุบหินภายในถ้ำออกและสร้างให้พระสงฆ์ปฏิบัติธรรมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนกลุ่มบ้านเรดาร์ ประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ของกลุ่มบ้านเรดาร์ มีความคล้ายคลึงกับจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานของประเทศไทย ประกอบด้วย

  • บุญข้าวกี่ (ข้าวจี่) ประเพณีบุญข้าวกี่หรือข้าวจี่นั้นเป็นประเพณีที่มาจากทางภาคอีสาน เนื่องจากมีคนจากภาคอีสานเข้ามาอาศัยอยู่ในกลุ่มบ้านเรดาร์และนำประเพณีนี้เข้ามาด้วย โดยจะกำหนดจัดงานในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา คนภาคอีสานนั้นก็จะปิ้งข้าวเหนียวเป็นก้อนกลมชุบไข่ ปิ้งให้สุกหอม ส่วนคนพม่า มอญ จะกวนข้าวทิพย์ซึ่งมีส่วนประกอบ คือ ข้าว แป้ง มะพร้าว งา นำมากวนซึ่งจะได้ข้าวที่เรียกว่าข้าวทิพย์ เพื่อจะนำไปถวายพระในวันรุ่งขึ้น

  • บุญสงกรานต์ บุญสงกรานต์จะจัดกันในช่วงวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี โดยจะมีการทำบุญ ใส่บาตรและทำสังฆทานให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว และแต่ละบ้านก็จะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อขอพร และเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที

  • บุญเข้าพรรษา ประเพณีวันเข้าพรรษาจะจัดกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปิ โดยผู้คนในชุมชนจะไปทำบุญใส่บาตรกันที่สำนักสงฆ์ และจะมีการแห่เทียนพรรษาเข้ามาที่วัดเพื่อนำมาถวาย ซึ่งจะมีต้นเทียนพรรษาของหมู่บ้านอยู่ 1 ต้นพร้อมกับชาวบ้านร่วมขบวนแห่จนมาถึงสำนักสงฆ์ มีการถวายปัจจัยรวมและถวายผ้าอาบน้ำฝนให้แต่พระภิกษุสงฆ์

  • วันสารท ประเพณีวันสารทในกลุ่มบ้านเรดาร์จะจัดอยู่ใน 2 ช่วง โดยแยกเป็นทางภาคอีสานและทางภาคกลาง คือ หากจัดวันสารทในกลางเดือน 10 ก็จะเป็นงานของประชาชนที่มาจากทางภาคอีสาน แต่ถ้าจัดงานในช่วงสิ้นเดีอน 10 ก็จะเป็นของคนทางภาคกลาง จะทำบุญโดยการใส่กระยาสารทถวายพระ แต่ถ้าคนมอญ คนพม่าและคนกะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะเลือกทำบุญกันในวันเวลาช่วงกลางเดือน 10 โดยจะทำกระยาสารขึ้นมาเองโดยมีส่วนประกอบคือ ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา มะพร้าว วิธีการทำ คือการนำข้าวสารไปแช่ 2 คืน เอาไปนึ่งให้สุก แล้วนำมากวนโดยใส่ถั่ว งา และข้าวตอก ข้าวเปลือกที่แตกแล้ว กระยาสารทของคนมอญ คนพม่าและคนกะเหรี่ยงไม่เหมือนกับกระยาสารทของคนไทยตรงที่กระยาสารทของคนมอญ คนพม่าและคนกะเหรี่ยง ไม่ใส่แบะแซให้กระยาสารทเหนียว เมื่อนำมาถวายพระ และส่วนที่เหลือก็จะแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน กลุ่มบ้านเรดาร์จะเรียกการแบ่งปัน ขนมกระยาสารทที่ทำเองไปให้เพื่อนบ้านว่าการสารทกัน

  • ประเพณีวันออกพรรษา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 คำ เดือน 11 มีการทำบุญใสบาตร คนมอญ คนพม่า และคนกะเหรี่ยงก็จะรวมกลุ่มกันทำต้นกฐินแล้วแห่ไปถวายพระในวันออกพรรษา

ความเชื่อท้องถิ่น

  • การเกิด ภายในกลุ่มบ้านเรดาร์นั้นจะมีการจัดเลี้ยงเรียกขวัญเด็กแรกเกิด โดยจะจัดหลังจากที่เด็กคลอดออกมาได้เจ็ดวัน ภายในงานนั้นจะประกอบไปด้วยญาติพี่น้องมาให้ศีล ฃให้พรแก่เด็กที่คลอดใหม่และจะทำขนมจีนไว้ต้อนรับ โดยเชื่อว่าการเลี้ยงคนที่มางานด้วยขนมจีนจะทำไห้ชีวิตของเด็กยืนยาว

  • งานศพ คนที่กลุ่มบ้านเรดาร์นั้นจะมีข้อห้ามในการนำขนมจีนมาเลี้ยงแขก ภายในงานเพราะถือว่าเป็นของงานอัปมงคล เชื่อกันว่าถ้ามีอาหารประเภทเส้นขนมจีนในงานศพนั้นจะมีเรื่องไม่ตีติดต่อกันไปอีกยาวเหมือนกับเส้นขนมจีน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทรัพยากรธรรมชาติ

กลุ่มบ้านเรดาร์มีสภาพแวดล้อมทางธรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่จะเป็นป่าไม้หรือแหล่งน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้โดยเฉพาะทางน้ำยังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของชาวบ้านอีกด้วย และยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลปรังเผลอีกหนึ่งแห่ง ดังนี้

1. สภาพป่าไม้ที่อยู่ในบริเวณภูเขาเรดาร์เป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เพราะมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมเป็นผู้ดูแลและป้องกันภัยอยู่

2. อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม) นอกจากจะใช้น้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นแหล่งพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญ เช่น ปลาชะโด ปลากระสูบ ปลาชิวแก้ว ปลาแรด ปลากะละมัง ปลายี่ลก เป็นต้น

3. จุดชมวิวป้อมปี่ เป็นพื้นที่ดูวิวพระอาทิตย์หล่นน้ำ (เป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง พระอาทิตย์ตกในช่วงยามเย็นที่สวยที่สุดในเขตตะภาควันตก ทางเข้าจะเป็นการขับรถขึ้นเขาโดยมีการบริการเช่าเต็นท์และอุปกรณ์ในการทำอาหารบริการให้เพื่อการพักผ่อนดื่มด่ำกับธรรมชาติภายในพื้นที่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ไต๋ปลา ตกปลาเขาแหลมแพน้องไนท์บ้านเรดาร์. (2567). สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567, จาก  https://www.facebook.com/p/

พรชนก พานิชชัย. (2554). วิถีชีวิตของผู้อพยพชาวแพ : กรณีศึกษา กลุ่มบ้านเรดาร์ หมู่ที่ 4 ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

รร.ตชด.บ้านเรดาร์ สังขละบุรี. (2566). สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/p/

สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำสุโข. (2567). สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/p/

องค์การบริหารส่วนตำบลปรังเผล โทร. 034-683053