Advance search

ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า-ไทลื้อจากหลายพื้นที่เข้ามารวมตัวกันเพื่อแสวงหาพื้นที่ทำกินและพัฒนาคุณภาพชีวิต สู่สังคมพหุวัฒนธรรมท่ามกลางดินแดนธรรมชาติในพื้นที่ชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง

หมู่ที่ 5
สองพี่น้อง
ริมโขง
เชียงของ
เชียงราย
อบต.ริมโขง โทร. 0-5316-0664
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
27 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 พ.ค. 2024
บ้านห้วยตุ๊

แรกตั้งชุมชน ณ บริเวณที่แม่น้ำไหลผ่านที่ราบหมู่บ้าน มีตุ๊เจ้า (พระภิกษุ) มาปักกลดอยู่บริเวณใกล้น้ำห้วย 5 รูป ต่อมาพระภิกษุทั้ง 5 รูป ได้ออกหาน้ำผึ้ง โดยมีพระภิกษุ 1 รูป ได้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้สูงใกล้ริมห้วยเพื่อเก็บน้ำผึ้งแต่ขาลงได้บอกให้พระภิกษุอีก 4 รูปที่เหลือที่รออยู่ด้านล่างขึงจีวรรับด้านล่างโดยถือกันคนละมุมให้ตึงเพื่อที่จะได้รับพระภิกษุที่อยู่บนต้นไม้ เมื่อพระภิกษุที่อยู่บนต้นไม้กระโดดลงมาด้วยความแรงจึงรั้งจีวรให้ทั้ง 4 มุมดึงเข้าหากันตรงกลางทำให้พระภิกษุทั้ง 4 รูปที่ตึงมุมจีวรไว้ศีรษะกระแทกกันเองจนถึงแก่มรณภาพและพระภิกษุรูปที่กระโดดลงจากต้นไม้ก็ศีรษะกระแทกพื้นมรณภาพ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อลำห้วยนี้ว่า ห้วยตุ๊ ซึ่งคำว่า ตุ๊ เป็นภาษาเมืองล้านนา แปลว่าพระภิกษุ และลำห้วยนี้เป็นลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้านดังกล่าวจึงเรียกชื่อตามลำห้วยว่า "บ้านห้วยตุ๊"


ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า-ไทลื้อจากหลายพื้นที่เข้ามารวมตัวกันเพื่อแสวงหาพื้นที่ทำกินและพัฒนาคุณภาพชีวิต สู่สังคมพหุวัฒนธรรมท่ามกลางดินแดนธรรมชาติในพื้นที่ชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง

สองพี่น้อง
หมู่ที่ 5
ริมโขง
เชียงของ
เชียงราย
57140
20.376365
100.311895
องค์การบริหารส่วนตำบลริมโขง

บ้านห้วยตุ๊ เป็นหย่อมบ้านของบ้านสองพี่น้อง หมู่ที่ 5 ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ห่างออกไปจากหย่อมบ้านห้วยตุ๊ไม่ไกลนัก คือ หย่อมบ้านห้วยสา ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของหมู่บ้านสองพี่น้องเช่นเดียวกัน ทั้งห้วยสาและห้วยตุ๊ถือเป็นบ้านพี่บ้านน้อง มีบรรพบุรุษมาจากที่เดียวกัน คือ พ่อเฒ่าแสนเปาม่อน และพะหมื่อ แตจะสีลอ ทั้งสองเป็นต้นตระกูลของแต่ละหย่อมบ้าน

ชื่อเรียกบ้านห้วยตุ๊นี้คำบอกเล่าต่อกันมาว่า เมื่อครั้งแรกตั้งชุมชน พื้นที่แห่งนี้มีที่ราบซึ่งมีแม่น้ำไหลผ่าน และบริเวณนี้ได้มีตุ๊เจ้า (พระภิกษุ) มาปักกลดอยู่ 5 รูป ต่อมาพระภิกษุทั้ง 5 รูป ได้ออกหาน้ำผึ้ง โดยมีพระภิกษุ 1 รูปใด้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้สูงใกล้ริมห้วยเพื่อเก็บน้ำผึ้งแต่ขาลงได้บอกให้พระภิกษุอีก 4 รูปที่เหลือที่รออยู่ด้านล่างขึงจีวรรับด้านล่างโดยถือกันคนละมุมให้ตึงเพื่อที่จะได้รับพระภิกษุที่อยู่บนต้นไม้ เมื่อพระภิกษุที่อยู่บนต้นไม้กระโดดลงมาด้วยความแรงจึงรั้งจีวรให้ทั้ง 4 มุมดึงเข้าหากันตรงกลางทำให้พระภิกษุทั้ง 4 รูป ที่ตึงมุมจีวรไว้ศีรษะกระแทกกันเองจนถึงแก่มรณภาพและพระภิกษุรูปที่กระโดดลงจากต้นไม้ก็ศีรษะกระแทกพื้นมรณภาพ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อลำห้วยนี้ว่าห้วยตุ๊ ซึ่งคำว่า “ตุ๊“ เป็นภาษาเมืองล้านนา แปลว่า พระภิกษุ และลำห้วยนี้เป็นลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน จึงเรียกชื่อตามลำห้วยว่า "บ้านห้วยตุ๊"

ปัจจุบันบ้านห้วยตุ๊เป็นหย่อมบ้านที่มีประชากรเป็นชาวไทลื้อและส่วนหนึ่งเป็นชาวอาข่า แต่ก่อนหน้านี้ทราบว่าเดิมมีชาวลาหู่ (มูเซอ) อาศัยอยู่ก่อน แต่เมื่อชาวลาหู่อพยพโยกย้ายไปรวมตัวกันก็ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นเพียงสวน ไร่ นา ผู้ถือครองที่ดินส่วนใหญ่เป็นนายทุนจากพื้นที่อื่น การก่อตั้งชุมชนเริ่มก่อตั้งในจุดที่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ไม่มีการใช้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การก่อสร้างบ้านเริ่มเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2513 โดยพ่อหลวงแก้วเป็นผู้เริ่มเข้ามาอยู่เป็นบุคคลแรกเพื่อมาทำสวน ในระยะเวลานั้นชาวลาหู่ยังมีอยู่บ้างประมาณ 20 หลังคาเรือน ต่อมาปี พ.ศ. 2514-2515 เริ่มมีไทลื้ออพยพมาจากที่อื่นเพิ่มมากขึ้น และชาวลาหู่ก็ย้ายกลับไปรวมตัวกันที่บ้านห้วยสาในปัจจุบัน ต่อมาไทยลื้อจากที่ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นญาติพี่น้องกันได้อพยพเข้ามา ซึ่งมีไทลื้อจากอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ไทลื้อจากบ้านหาดบ้าย รวมถึงไทลื้อจากอำเภอเวียงแก่น บางกลุ่มอพยพเข้ามาอาศัยเนื่องจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจหรือเข้ามาหางานทำโดยรับจ้างเฝ้าสวน

สำหรับชาวอาข่าหย่อมที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยตุ๊ ได้อพยพมาจากเมืองเชียงตุง ประเทศเมียนมา โดยแรกเริ่มเดิมทีเข้ามาเพื่อรับจ้างทำงานด้วยเหตุผลที่ต่างกัน แรกที่เข้ามาอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกบ้านในหมู่บ้านแต่อยู่เฝ้าสวนให้กับนายทุนจากต่างถิ่น หลังจากนั้นได้ชักชวนเพื่อนอาข่าที่เหลือให้เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน และมีพัฒนาการของชุมชนมาเรื่อยมา ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • ปี พ.ศ. 2534 มีผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการและมีการก่อสร้างวัดบ้านห้วยตุ๊
  • ปี พ.ศ. 2535 ก่อสร้างโรงเรียนบ้านสองพี่น้อง
  • ปี พ.ศ. 2538 มีไฟฟ้าใช้ในชุมชน
  • ปี พ.ศ. 2538 ก่อสร้างโบสถ์คริสต์และมีการสร้างสะพานคอนกรีตที่ห้วยสา
  • ปี พ.ศ. 2539 ก่อสร้างศูนย์เด็กเล็กบ้านลองพี่น้อง
  • ปี พ.ศ. 2540 มีถนนคอนกรีตในหมู่บ้าน
  • ปี พ.ศ. 2541 ก่อสร้างสถานีอนามัยบ้านสองพี่น้อง (สร้างเสร็จในปี 2542)
  • ปี พ.ศ. 2547 ประชาชนเริ่มทำเรื่องขอสัญชาติไทย (7 ทวิ)
  • ปี พ.ศ. 2549 ประชาชนเริ่มใต้รับสัญชาติไทย
  • ปี พ.ศ. 2549 มีสะพานคอนกรีตที่บ้านห้วยตุ๊
  • ปี พ.ศ. 2550 มีเครื่องกรองน้ำในหมู่บ้าน

ที่ตั้งและอาณาเขต

หย่อมบ้านห้วยตุ๊อยู่ภายใต้การดูแลของหมู่บ้านสองพี่น้อง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากตัวอำเภอเชียงของ 32 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1129 เลียบแม่น้ำโขงและเป็นถนนคมนาคมระหว่างอำเภอเชียงของและอำเภอเชียงแสน หย่อมบ้านหัวยตุ๊ห่างจากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำกันระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประเทศไทยความกว้างของแม่น้ำประมาณ 3 กิโลเมตร ที่ตั้งของชุมชนมีลักษณะอยู่ในหุบเขาเป็นแอ่งกระทะ รายรอบไปด้วยป่าไม้แห่งเทือกเขาดอยหลวงซึ่งมีอาณาบริเวณในตำบลริมโขง ตำบลเวียง ตำบลสถาน อำเภอเชียงของ โดยอาณาเขตพื้นที่ชุมชนมีดังนี้

  • ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับ บ้านธารทอง บ้านไร่ บ้านป่าคาแม่เงิน อำเภอเชียงแสน บางส่วนมีอาณาบริเวณในกิ่งอำเภอบ้านหลวง คือบ้านไร่หลวง และบ้านแม่แอบ มีห้วยสาเป็นธารน้ำที่ไหลจากยอดดอยหลวงผ่านกลางหมู่บ้านแล้วจึงลงไปสู่แม่น้ำโขงทางทิศเหนือ
  • ทิศตะวันตก มีถนนดินเชื่อมต่อผ่านภูเขาเล็ก ๆ ที่กั้นระหว่างบ้านสลับกับพื้นที่ราบเล็ก ๆ ถนนสายนี้ทอดยาวไปสู่บ้านดอนที่ บ้านหาดบ้าย บ้านหาดทรายทอง และบ้านสันต้นเปา ในเขตอำเภอเชียงแสน และยังติดต่อกับบ้านดอยธาตุและบ้านแต๊ะไอ่ด้วย
  • ทิศตะวันออก ติดดอยเวียงเป็นสันเขากั้นบ้านเมืองกาญจน์ และบ้านใหม่เจริญ
  • ทิศใต้ ติดดอยเปาม่อนสลับกับที่ราบเชิงเขากั้นกลางระหว่างหย่อมบ้านห้วยสาและบ้านกิ่วกาญจน์

หย่อมบ้านห้วยตุ๊เป็นหมู่บ้านที่อยู่กลางหุบเขา มีลำห้วยไหลผ่าน อยู่ใกล้เขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยมีแม่น้ำโขงกั้นกลาง สภาพทรัพยากรป่าไม้โดยทั่วไปเป็นป่าสมบูรณ์เหลืออยู่เพียงบางส่วน บริเวณแหล่งต้นน้ำและเขตป่าของวนอุทยาน ส่วนพื้นที่ที่เหลือของป่าโดนรุกล้ำจากการทำไร่ข้าวโพดและสวนยางพารา

ลักษณะทางภูมิอากาศ

หย่อมบ้านห้วยตุ๊ มีลักษณะภูมิอากาศ 3 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน อยู่ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม โดยที่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์อากาศจะเริ่มร้อนและจะร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเดือนเมษายน ฤดูฝน อยู่ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน ถึง เดือนกันยายน ฤดูหนาว อยู่ในช่วงประมาณเดือนตุลาคม ถึง เดือนมกราคม ซึ่งในฤดูหนาวอากาศจะหนาวมากโดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ในช่วงฤดูหนาวอากาศจะหนาวจัดในตอนกลางคืน และในช่วงเช้าจะมีหมอกหนา

บ้านห้วยตุ๊ เป็นหย่อมบ้านของบ้านสองพี่น้อง หมู่ที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากร หมู่ที่ 5 ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,394 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 685 คน ประชากรหญิง 709 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 488 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรที่อาศัยอยู่มีทั้งชาวพื้นเมืองเดิม ชาวไทลื้อ และชาวอาข่าด้วย

ไทลื้อ, อ่าข่า

การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านหย่อมบ้านห้วยตุ๊ไม่ว่าจะเป็นชาวไทลื้อหรือชาวอาข่ามีอาชีพหลัก คือ อาชีพเกี่ยวกับการรับจ้างและเกษตรกรรม เช่น

  • การปลูกถั่วแขก ชาวบ้านจะเช่าที่ดินเพื่อปลูกถั่วแขก โดยเป็นที่ดินของนายทุน ฤดูกาลปลูกถั่วแขกเริ่มต้นประมาณต้นเดือนกันยายน ใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตประมาณ 4 วันและสามารถเก็บผลผลิตยาวไปจนถึงเดือนมีนาคม (3-4 เดือน) ถั่วแขกนิยมปลูกกันทางภาคเหนือของประเทศไทย ผลผลิตที่ได้โดยส่วนมากมักจะส่งขายต่างประเทศหรือวางขายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป การลงทุนปลูกถั่วแขกจะมีนายทุนเข้ามาลงทุนให้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง และเมื่อได้ผลผลิตแล้ว ทางโรงงานจะเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน ถ้าปีใดมีผลผลิตมากและเก็บไม่ทันก็จะเกิดจ้างงานภายในหมู่บ้านขึ้น โดยให้ชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นชาวอาข่าหรือไทลื้อมาเก็บและให้ค่าตอบแทน แต่ถ้าปีไหนที่มีฝนตกหนักและมีน้ำป่าทะลักก็จะทำให้ผลผลิตเสียหาย
  • รับจ้างกรีดยางพารา ชาวบ้านทั้งอาข่าและไทลื้อบางส่วนของหย่อมบ้านห้วยตุ๊จะประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยางพารา โดยจะมีกลุ่มคนใต้ที่ได้ทำการอพยพย้ายขึ้นมาภาคเหนือและได้กว้านซื้อที่ดินบนดอยไว้เพื่อปลูกยางพารา โดยคนเหล่านี้จะไม่ได้กรีดยางพาราเอง แต่จะจ้างให้ชาวบ้านในพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นคนกรีดยางพารา โดยให้ค่าตอบแทนแบ่งเป็นสัดส่วน เช่น เจ้าของสวนยางพาราได้ 60% ชาวบ้านที่เป็นคนกรีดยางพาราได้ไป 40% เวลาที่เหมาะสมในการกรีดยางคือเวลาหลังเที่ยงคืนและสามารถกรีดไปได้จนกระทั่งถึงเวลาเช้า ประมาณ 08.00-09.00 น. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนต้นยาง ถ้าหากมีมากก็จะใช้เวลาในการกรีดนานมาก การกรีดยางพาราจะต้องยึดหลักที่ว่าเมื่อกรีดแล้วจะต้องได้น้ำยางมากที่สุด เปลือกเสียหายน้อยที่สุด กรีดได้นาน 25-30 ปี และประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด ขนาดของต้นยางที่พร้อมเปิดกรีดต้องมีเส้นรอบวงต้นไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร วัดที่ความสูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร ในแต่ละรอบปีเมื่อพ้นฤดูฝน และย่างเข้าสู่ฤดูต้นหนาว ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการเปิดกรีดยางมากที่สุดช่วงหนึ่ง เพราะฤดูหนาวจะทำให้น้ำยางไหลนานและได้รับผลผลิตน้ำยางเป็นจำนวนมากกว่าช่วงอื่น ๆ เป็นอย่างมาก และจะพักเพื่อปิดหน้ายางในช่วงฤดูร้อน คือต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

เนื่องจากประชากรในบ้านห้วยตุ๊มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ ดังนั้นการนับถือศาสนาจึงแบ่งออกได้เป็น 2 ศาสนา คือ ชาวไทยลื้อและคนเมืองจะนับถือศาสนาพุทธ เมื่อถึงวันพระหรือวันสำคัญทางประเพณีของชาวพุทธชาวบ้านจะรวมตัวกันและไปทำบุญกันที่วัดห้วยตุ๊

ชาติพันธุ์อาข่าส่วนใหญ่ในพื้นที่บ้านห้วยตุ๊จะนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกและจะไปรวมตัวกันที่โบสถ์ทุกวันอาทิตย์โดยมีผู้นำทางศาสนาเป็นคนนำสวด และบางอาทิตย์ก็จะมีศิษยาภิบาลจากในเมืองเชียงของขึ้นไปร่วมทำพิธีกับชาวบ้านด้วย และยังมีชาวอาข่าส่วนน้อยที่ยังคงมีความเชื่อในเรื่องของผีซึ่งตามจารีตประเพณีแล้วชาวอาข่านับถือผีบรรพบุรุษเป็นส่วนใหญ่โดยมีความเชื่อว่าทุกหนทุกแห่งจะต้องมีผีสิงสถิตอยู่ ดังนั้นไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ตามต้องมีพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีต่างๆ ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยปราศจากภัยพิบัติอันตราย ผีที่ทุกครัวเรือนนับถือคือผีบรรพบุรุษซึ่งชาวอาข่าที่ยังคงมีความเชื่อในเรื่องของผีจะมีหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษอยู่ทุกหลังคาเรือน พวกเขาเชื่อกันว่าวิญญาณของบรรพบุรุษจะช่วยพิทักษ์คุ้มครองสมาชิกในครอบครัวและในหมู่บ้านให้เกิดความสงบสุข

ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทยลื้อชาวไทยลื้อมีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่า ผีบ้าน ผีเรือน ผีป่า ความเชื่อในเรื่องการปลูกบ้านโดยเชื่อว่าจะต้องปลูกในวันที่เป็นวันมงคล ความเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นมงคลคือห้ามพูดในสิ่งที่ไม่เป็นมงคล ห้ามสร้างเมรุเผาศพหากไม่มีคนตายในหมู่บ้านและความเชื่อเรื่องขวัญ โดยเชื่อว่าขวัญแต่ละคนมี 32 ขวัญ และถ้ามีอาการเจ็บป่วย ไม่สบาย ประสบอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้าน ชาวไทยลื้อจะเชื่อว่าขวัญของบุคคลผู้นั้นหายไป และจะต้องมาทำพิธีสู่ขวัญเพื่อสะเดาะเคราะห์ การจุดเทียนให้สว่างใส่หน้าบ้านในวันลอยกระทงเพราะมีความเชื่อว่าจะช่วยป้องกันให้สมาชิกภายในบ้านไม่เจ็บป่วยและป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้ามาสู่ภายในบ้าน ชาวไทยลื้อยังมีไว้ซึ่งวัฒนธรรมการแต่งกายและจะแต่งกายสวยงามในช่วงงานเทศกาลประเพณีสำคัญต่างๆ

ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวอาข่า

ชาวอาข่ามีความเชื่อในเรื่องของผีบ้านผีเรือน ผีชิงช้า ผีไฟ ผีน้ำ ผีดิน ผีภูเขาและผีฟ้าผ่า ความเชื่อในเรื่องของการปลูกบ้านคือต้องสร้างบ้านอยู่บนดอยและไม่สร้างบ้านอยู่ใกล้แหล่งน้ำเกินไป และต้องมีเสากลางบ้านกั้นห้องชายหญิง และถ้ามีสัตว์หรือคนในหมู่บ้านคลอดลูกฝาแฝด ชาวอาข่าเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นมงคลถือว่าเป็นการผิดผี ความเชื่อในเรื่องของขวัญโดยผู้ชายจะมี 12 ขวัญส่วนผู้หญิงมี 9 ขวัญ ชาวอาข่ามีประเพณีที่สำคัญหลักๆ 3 พิธีคือ

1. พิธียะอุผิ หรือปีใหม่ของชาวอาข่า เป็นพิธีปีใหม่ที่มีการต้มไข่แดงกินเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และเซ่นสรวงบูชาผีซึ่งจะทำช่วงประมาณเดือนเมษายน เพื่อเป็นการนำไข่แดงนั้นให้คนเฒ่าคนแก่กินเพื่อเป็นการขอขมาในสิ่งที่ได้กระทำไม่ดีไปในรอบ 1 ปี หรือเพื่ออวยพรให้มีสุขภาพดีในตลอดปี และจะให้เด็กที่เกิดใหม่ที่อายุไม่เกิน 1 ปี รับประทานเพื่อถือเป็นการต้อนรับคนใหม่เป็นอาข่ารุ่นใหม่ต่อไป มีการจัดเลี้ยงในแต่ละบ้านและจะมีการขึ้นทุกบ้านเพื่อร่วมฉลองและอวยพรปีใหม่

2. พิธีหละเฉ่อบิหรือพิธีโล้ชิงช้า ชาวอาข่าที่บ้านห้วยตุ๊ถือว่าเป็นปีใหม่อีกวันหนึ่งเพราะจะกระทำกันในช่วงเดือนสิงหาคมเพื่อเป็นการขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้พืชผลที่ปลูกอุดมสมบูรณ์ และฝนตกตลอดช่วงฤดูกาลเพาะปลูกและจะมีการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษด้วย พิธีนี่อาข่าเชื่อถือว่าศักดิ์สิทธิ์มากจึงต้องมารวมงานชุมนุมกันเพื่อขอพร เด็ก ๆ จะได้ชิงช้ากันอย่างสนุกสนานและทุกคนจะต้องได้โล้ชิงช้าในวันนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล

3. พิธีขึ้นปีใหม่หรือวันคริสต์มาส พิธีนี้จัดในเดือนธันวาคมของทุกปีซึ่งในปัจจุบันกลุ่มอาข่าที่นับถือคริสต์ศาสนาจะเลือกจัดในวันคริสต์มาสเพราะมีการประกอบกิจกรรมของคริสต์ศาสนาในตอนกลางคืน และในตอนกลางวันจะเป็นพิธีกรรมของขาวอาข่าแบบดั้งเดิม โดยพิธีนี้มีการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษมีการให้ของขวัญ เลี้ยงฉลอง อีกทั้งเป็นการจัดเพื่อฉลองการสิ้นสุดงานไร่และการแสดงการขอบคุณต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยให้พืชผลอุดมสมบูรณ์

พิธีเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม

เมื่อเสร็จสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยวถั่วแขก ชาวบ้านจะทำพิธีไหว้ผีเจ้าที่ เพื่อแสดงการขอบคุณที่ทำให้ชาวบ้านมีรายได้โดยส่วนมากชาวบ้านจะทำพิธีไหว้ขอบคุณผีเจ้าที่ในวันอาทิตย์ เพราะเป็นวันหยุดพักผ่อนของชาวบ้านคนอื่นๆด้วย โดยชาวบ้านจะไปรวมตัวกันที่สวนถั่ว และหลังจากไหว้ผีเจ้าที่เสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะนำอาหารที่ใช้เช่นผีเจ้าที่มานั่งล้อมวงกินข้าวและพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน อาหารที่ไหว้ผีเจ้าที่ คือ ข้าวนึ่ง (ข้าวเหนียว) หัวหมูต้ม ไก่ต้ม น้ำเปล่า เหล้าขาว และมีดอกไม้ เทียน วางรวมอยู่ในถาดอาหาร จากนั้นชาวบ้านก็จะเริ่มทำพิธีกล่าวคาถาและอัญเชิญให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในบริเวณนั้นมารับประทานอาหารที่เตรียมไว้ พอสวดคาถาเสร็จก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษากลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สุนัดดา ศิริสวัสดิ์. (2557). อัตลักษณ์ชาวอาข่า : กรณีศึกษา หย่อมบ้านห้วยตุ๊ หมู่ที่ 5 ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อบต. ริมโขง อำเภอเชียงของ. (2567). สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

อบต.ริมโขง โทร. 0-5316-0664