ชุมชนสังคมเมืองในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่ตั้งสถานที่สำคัญทางศาสนา การศึกษา และย่านเศรษฐกิจ พื้นที่ที่มีความน่าสนใจอีกหนึ่งแห่งของกรุงเทพมหานครที่ไม่ควรพลาดชม
คำว่า “ท่าพระจันทร์” นั้น มีที่มาจากการที่บริเวณชุมชนตั้งอยู่ริมน้ำและมีท่าเรือ และเนื่องจากตั้งอยู่ริมน้ำจึงทำให้ชุมชนแห่งนี้สามารถมองเห็นพระจันทร์สวยเด่นเป็นพิเศษ จึงเป็นที่มาของชื่อ "ท่าพระจันทร์" ดังที่รู้จักกันในปัจจุบัน
ชุมชนสังคมเมืองในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่ตั้งสถานที่สำคัญทางศาสนา การศึกษา และย่านเศรษฐกิจ พื้นที่ที่มีความน่าสนใจอีกหนึ่งแห่งของกรุงเทพมหานครที่ไม่ควรพลาดชม
จุดเริ่มต้นของชุมชนย่านท่าพระจันทร์เริ่มขึ้นเมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศละจากบ้านเกิดของตนเพื่อหนีสงครามและหาที่อยู่เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ หาพื้นที่ในการทำมาค้าขาย จนกระทั่งก่อตั้งเป็นชุมชน ที่ดินบริเวณท่าพระจันทร์นี้ในอดีตส่วนหนึ่งเป็นของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาถ ซึ่งเป็นวังหน้าคนแรกของราชวงศ์จักรี ต่อมาตกอยู่แก่ลูกหลานของท่าน ซึ่งก็ได้ขายเปลี่ยนมือให้เอกชนบ้างบางส่วน
ในอดีตท่าพระจันทร์มีประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นน้อยกว่าที่เห็นในปัจจุบัน อาชีพของประชาชนโดยรวมคืออาชีพค้าขาย ส่วนหนึ่งมีพ่อค้าแม่ค้าจากฝั่งธนบุรีพายเรือสินค้าจากสวนของตนเองมาขายอยู่บริเวณท่าเรือ อีกส่วนหนึ่งเป็นพ่อค้าแม่ค้าบริเวณริมถนนด้านนอกที่จะขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปให้ประชาชนที่กลับจากเรียนหรือทำงาน และจะมาโดยสารเรือข้ามฟากก็จะแวะซื้อสินค้าที่บริเวณท่าพระจันทร์นี้ ท่าพระจันทร์จึงมีสินค้าที่หลากหลายนับแต่ครั้งอดีต ตลาดที่มีชื่อเสียงของท่าพระจันทร์ คือ ตลาดพระ โดยตลาดพระเริ่มมีชื่อเสียงที่ท่าพระจันทร์เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว ซึ่งจุดเริ่มต้นของตลาดพระที่มีชื่อเสียงของท่าพระจันทร์นั้นสันนิษฐานว่ามาจากการที่ชุมชนท่าพระจันทร์ตั้งอยู่ใกล้วัดมหาธาตุ และมีคนไม่กี่คนริเริ่มให้บริการเช่าพระที่ชุมชนท่าพระจันทร์ หลังจากนั้นจึงมีผู้คนจากที่อื่นอีกเป็นจำนวนมากเข้ามาเปิดบริการเช่าพระที่ชุมชนแห่งนี้ จนชุมชนท่าพระจันทร์กลายเป็นตลาดพระที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง
จากจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งชุมชนในช่วงสงครามซึ่งมีเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนในช่วงก่อตั้งชุมชนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วยเหตุผลของความต้องการที่จะหาพื้นที่ทำกินที่ดี จนชุมชนท่าพระจันทร์มีชื่อเสียงในด้านสินค้าหลากหลายประเภท ซึ่งนอกจากมีชื่อเสียงในด้านแหล่งการค้าแล้ว ยังมีความสำคัญในการเดินทางทางเรืออีกด้วย
ย่านท่าพระจันทร์ตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างท่ามหาราชกับท่าพระอาทิตย์ ในอาณาบริเวณแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์เมืองเก่า สถานที่ราชการ สถานศึกษา วัดสำคัญ พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง แม่น้ำเจ้าพระยา มีวัดมหาธาตุ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถานที่สำคัญในพื้นที่ด้วยเหตุนี้ทำให้ชุมชนไม่สามารถขยายออกไปได้อีก โดยชุมชนตั้งอยู่เลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีอาณาเขตและพื้นที่ติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด และแขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองรอบกรุงเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศใต้ ติดต่อกับ แขวงวัดกัลป์ยาณ์ เขตธนบุรี มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แขวงบวรนิเวศ แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ แขวงวัดราชบพิธ และแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร มีคลองคูเมืองเดิมเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ และแขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต
ท่าพระจันทร์เป็นชุมชนย่านเศรษฐกิจการค้ามาตั้งแต่เริ่มมีการเข้ามาตั้งรกรากของผู้คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญ ๆ อย่างย่านท่าพระจันทร์ ในปัจจุบันผู้คนยังคงมีอาชีพค้าขาย สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นอาหารการกิน ของชำ ของใช้ทั่วไป สินค้าที่สามารถหาซื้อได้ในท่าพระจันทร์นั้นมีความหลากหลายเช่น นาฬิกา แว่นตา ชุดรับปริญญา หนังสือ นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกซื้อของรับประทานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้น โรตี ฯลฯ กล่าวได้ว่าคนท่าพระจันทร์ขายสินค้าแทบทุกประเภท ซึ่งการค้าขายดังกล่าวเป็นอาชีพดั้งเดิมเมื่อครั้งสมัยก่อตั้งชุมชน ในรุ่นต่อมาบางส่วนอาจเข้าไปทำงานในภาคราชการและธุรกิจบ้าง แต่ผู้คนในรุ่นดั้งเดิมก็ยังคงประกอบอาชีพค้าขายอยู่ กลุ่มคนที่เป็นลูกค้าสำคัญของย่านการค้าท่าพระจันทร์จะเป็นกลุ่มคนทำงานและประชาชนที่รอเรือที่ท่าพระจันทร์เพื่อโดยสารเรือข้ามฟาก อีกส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ท่าพระจันทร์มีการเปิดร้านจำหน่ายอาหารมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของนักศึกษาในช่วงพักกลางวัน
นอกจากอาหารการกินแล้ว บริเวณที่ท่าพระจันทร์ยังเป็นตลาดพระขึ้นชื่อ เป็นเแหล่งศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเช่าพระเครื่องแหล่งใหญ่ที่มีมานานกว่า 50 ปี ซึ่งมีมากถึง 50 ร้าน ไม่นับรวมถึงบริเวณริมบาทวิถีข้างวัดมหาธาตุ นอกจากนี้ ชุมชนท่าพระจันทร์ยังเป็นศูนย์รวมร้านค้าเกี่ยวกับการตัดชุดข้าราชการ ชุดครุย ชุดปริญญาต่าง ๆ ด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่โด่งดังมากในชุมชนย่านท่าพระจันทร์ คือ ร้านดูดวงพยากรณ์ชีวิต ที่มีอยู่มากในบริเวณท่าพระจันทร์แห่งนี้ รูปแบบการทำมาหากินประเภทนี้จึงนับว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีมากในชุมชนท่าพระจันทร์ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นจำนวนไม่น้อย
เนื่องจากท่าพระจันทร์แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังหน้า ชาวท่าพระจันทร์จึงผูกพันกับความเป็นวัง ให้ความระลึกถึงและเคารพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาถ ซึ่งเป็นวังหน้าคนแรกของราชวงศ์จักรี ด้วยสำนึกว่าหากไม่มีท่านชาวท่าพระจันทร์ก็คงไม่มีที่อยู่อาศัย ตัวอย่างหนึ่งที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความเคารพและศรัทธาต่อวังหน้าของชาวท่าพระจันทร์ คือ ประชาชนชาวท่าพระจันทร์บางคนมีรูปปั้นของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาถไว้เพื่อเคารพภายในบ้าน จากความเคารพศรัทธาดังกล่าวชาวท่าพระจันทร์จึงจัดพิธีกรรมเพื่อแสดงความเคารพและระลึกถึงสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาถ ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี นอกจากพิธีกรรมดังกล่าวแล้ว ชาวท่าพระจันทร์ซึ่งมีผู้คนส่วนหนึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน จึงมีศาลเจ้าซือกงและเจ้าแม่ทับทิมประดิษฐานไว้ในชุมชนเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งยังหลงเหลือวัฒนธรรมในด้านศาลเจ้าอยู่ และจัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองทุก ๆ วันขึ้นปีใหม่เป็นประจำทุกปีเช่นกัน (มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำนักหอสมุดกลาง, หอสมุดวังท่าพระ, 2558)
อาคารสถาปัตยกรรมไทยปนยุโรปย่านท่าพระจันทร์ มนต์เสน่ห์ตึกเก่าในเขตพระนคร
ท่าพระจันทร์เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ที่มีสถานที่สำคัญหลายแห่งทั้งทางประวัติศาสตร์ สังคม ศิลปวัฒนธรรม และสถานศึกษา และยังมีรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นฐานที่เป็นเอกลักษณ์ คือ สถาปัตยกรรมอาคารไม้แบบไทยปนยุโรป ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนี้ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ส่วนหนึ่ง ลักษณะบ้านเรือนนั้นเป็นตึกแถวไม้ที่เรียงรายกันไป ชั้นล่างของตัวอาคารถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย บ้างต่อเติมเป็นห้องปรับอาการ บ้างยังคงรูปแบบเดิม ส่วนด้านบนได้รับการอนุรักษ์รักษาไว้ให้เป็นรูปแบบเดียวกัน บริเวณอาคารที่มีชื่อเสียงอยู่บริเวณตรอกมหาธาตุและซอยกลางที่มีความสวยงามอย่างมาก ซึ่งสะท้อนภาพความเป็นชุมชนโบราณที่ค่อนข้างสมบูรณ์
ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
แพรรพี ปาทาน. (2565). องค์ประกอบย่านเก่าในเมืองที่เหมาะแก่การเดิน เปรียบเทียบ กรณีศึกษา: ย่านท่ามหาราช ย่านท่าพระจันทร์ ย่านท่าพระอาทิตย์. วิทยานิพนธ์การผังเมืองบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำนักหอสมุดกลาง, หออสมุดวังท่าพระ. (2558). ชุมชนท่าพระจันทร์. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2567, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th
มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำนักหอสมุดกลาง, หออสมุดวังท่าพระ. (2558). ตลาดท่าพระจันทร์. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2567, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th
มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำนักหอสมุดกลาง, หออสมุดวังท่าพระ. (2558). ตึกแถวบริเวณท่าพระจันทร์. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2567, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th