Advance search

ชุมชนไม้เรียง

ชุมชนไม้เรียงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ และแร่ธาตุซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวไม้เรียงในอดีต จึงเป็นที่มาของคำขวัญประจำตำบลไม้เรียงว่า “ร่มเงาเขาศูนย์ วุลเฟรมลอล้ำ ยิปซั่มแน่นหนา ยางพาราดีเด่น เยือกเย็นน้ำใจ สุขฤทัยทั่วกัลป์”

ไม้เรียง
ไม้เรียง
ฉวาง
นครศรีธรรมราช
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 เม.ย. 2023
ชุมชนไม้เรียง

พื้นที่ชุมชนไม้เรียงมีต้นไม้ที่เกิดขึ้นเองธรรมชาติเรียงรายจากชายทุ่งจรดยอดภูเขาศูนย์ ในปี พ.ศ. 2439-2440 เจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอฉวางได้เดินทางมาสำรวจบริเวณนี้ก็พบกับต้นไม้ที่เรียงรายตลอดแนว จึงเสนอชื่อ “ไม้เรียง” เป็นชื่อตำบลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 


ชุมชนไม้เรียงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ และแร่ธาตุซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวไม้เรียงในอดีต จึงเป็นที่มาของคำขวัญประจำตำบลไม้เรียงว่า “ร่มเงาเขาศูนย์ วุลเฟรมลอล้ำ ยิปซั่มแน่นหนา ยางพาราดีเด่น เยือกเย็นน้ำใจ สุขฤทัยทั่วกัลป์”

ไม้เรียง
ไม้เรียง
ฉวาง
นครศรีธรรมราช
80260
อบต.ไม้เรียง โทร. 0-7535-5121
8.451705
99.483900
องค์การบริหารส่วนตำบลไม้เรียง

ประวัติศาสตร์การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนในชุมชนไม้เรียงไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่พื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชนไม้เรียงหลายแห่ง เช่น แหล่งโบราณคดีถ้ำพรรณรา แหล่งโบราณคดีคลองคุดด้วน รวมถึงโบราณวัตถุที่พบในอำเภอพิปูน แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้อาจจะมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอาณาเขตติดต่อกับลำน้ำตาปี ซึ่งสามารถโดยสารติดต่อกับผู้คนภายนอกได้สะดวก

มีคำบอกเล่าจากชาวบ้านภายในชุมชนถึงการตั้งถิ่นฐาน ณ ตำบลไม้เรียงเมื่อประมาณ 100 ปีเศษว่า กลุ่มคนกลุ่มแรกที่มาลงหลักปักฐานทำมาหากินบริเวณชุมชนไม้เรียงย้ายมาจากจังหวัดพัทลุง พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ป่าดงดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านหักร้างถางพงปลูกข้าวไร่ หาผักหาปลาเพื่อยังชีพ พึ่งพิงประโยชน์จากธรรมชาติด้วยการนำไม้มาสร้างบ้านเรือน ล่าสัตว์ป่าเป็นอาหาร หาพืชสมุนไพรมาใช้เป็นยารักษาโรค การผลิตของครัวเรือนในสมัยนั้นเป็นการผลิตเพื่อยังชีพ ชาวบ้านช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบ “พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้” มีการลงแรงช่วยเหลือกันทำงานเรียกว่า “ขอแรง” ผลัดเปลี่ยนกันจนงานแล้วเสร็จ ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย แม้จะค่อนข้างยากลำบาก แต่มิใช่ต่างคนต่างอยู่ (ชวน เพชรแก้ว, 2547: 10-11)

ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2439-2440 พื้นที่ที่แต่เดิมเคยเป็นป่ารกทึบหลายแห่งถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทางการเกษตร โดยชาวบ้านเข้าไปแผ้วถางเพื่อทำไร่เลื่อนลอยและเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งสร้างที่อยู่อาศัยตั้งบ้านเรือน เนื่องจากในบนิเวณนี้มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งแร่วุลแฟรมที่มีราคาแพง ทำให้ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาแสวงหาความร่ำรวยจนเกิดโศกนาฏกรรมการแย่งชิง ถึงขั้นว่าภาครัฐต้องเข้าไปควบคุมในช่วงนั้น จากคำบอกเล่าของชาวบ้านกล่าวว่า ที่ตั้งชุมชนไม้เรียงปัจจุบัน เดิมเรียกว่า “ทุ่งดอกไม้” เนื่องจากมีดอกไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก แต่ในฤดูแล้งจะเกิดไฟไหม้ลามทุ่งทุกปี พื้นที่แห่งนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ทุ่งไฟไหม้” ซึ่งปัจจุบัน คือ บ้านทุ่งไฟไหม้ หมู่ที่ 1 หย่อมบ้านแห่งแรกของชุมชนไม้เรียง 

ลักษณะที่ตั้ง

ลักษณะที่ตั้งตำบลไม้เรียงส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา มีภูเขาทอดยาวตามแนวเทือกเขานครศรีธรรมราชตัดผ่านบ้านหนองหาด บ้านควนนนท์ และบ้านหนองท่อม มีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำตาปี ภูมิประเทศไม้เรียงมีลักษณะคล้ายรวงผึ้ง ทิศเหนือมีพื้นที่กว้าง ห้อยลงทางทิศใต้ซึ่งบีบแคบเข้ามา  

ทรัพยากรธรรมชาติ

ชุมชนไม้เรียงมีพื้นที่ป่าไม้สำคัญที่เรียกว่า “เขาศูนย์” เป็นภูเขาส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขานครศรีธรรมราช เขาศูนย์เป็นภูเขาที่มีความสูงประมาณ 510 เมตร ลักษณะเป็นแนวเขาสูงสลับกับร่องเขา มีร่องน้ำอยู่ทางด้านทิศเหนือ ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำตาปี ร่องน้ำทางทิศตะวันตกจะไหลลงสู่คลองขันต่อกับแม่น้ำตาปี ส่วนร่องน้ำทางทิศตะวันออกและทิศใต้จะไหลลงสู่คลองเสต่อและแม่น้ำตาปี ปัจจุบันเขาศูนย์เป็นพื้นที่ปลูกยางพาราและสวนผลไม้ของชาวบ้าน บนยอดเขาเป็นที่ตั้งของสถานีถ่ายทอดสัญญาณโทรคมนาคมขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (TOT) และเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่สร้างโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เขาศูนย์มีเขาบริวารสามลูก คือ เนินลูกกรอก ควนไฟไหม้ และเขากวาง เขาบริวารทั้งสามลูกนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นภูเขาที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชุมชนไม้เรียง

ในอดีตบริเวณเขาศูนย์มีทรัพยาประเภทแร่ธาตุเป็นจำนวนมาก แร่ที่สำคัญ คือ แร่วุลเฟรม ดีบุก ยิปซั่ม เกลือจืด ซึ่งแร่เหล่านี้ถูกนำไปในในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแร่วุลเฟรม เป็นสินแร่ทังสเตนที่ใช้เป็นส่วนผสมในการทำหลอดไฟฟ้า ผสมเหล็กกล้าให้มีความแข็งแรงทำเสื้อเกราะกันกระสุน ส่วนแร่ดีบุกจะนำไปผสมโลหะตะกั่วบัดกรี สังกะสี และพลวงในการชุบสังกะสีมุงหลังคา อีกทั้งยังถูกนำไปในในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยผสมกับพลวงเพื่อนำไปทำโลหะตัวพิมพ์ ส่วนแร่ยิปซั่มหรือเกลือจืด ใช้ในการทำวัสดุแผ่นเรียบบุผนังหรือเพดาน เป็นวัตถุดิบในการทำปูนปลาสเตอร์ เป็นส่ใวนผสมในปูนซีเมนต์ ใช้ทำปุ๋ย แป้งนวล ชอล์ก กระดาษ และดินสอสี ฯลฯ

สืบเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของชุมชนไม้เรียงเป็นที่ราบเชิงเขา จึงมีทรัพยากรน้ำทั้งที่เป็นแหล่งน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน โดยชาวบ้านสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้โดยการขุดน้ำบ่อน้ำ สระน้ำ และบ่อบาดาล ส่วนแหล่งน้ำผิวดินของตำบลไม้เรียง คือ ลำน้ำตาปี ซึ่งมีต้นกำเนิดจากภูเขาหลวง ไหลผ่านเขตเทศบาลทานพอ และคลองหราดที่ไหลลงมาจากเขาศูนย์ผ่านสายน้ำตกขนาดเล็กเป็นลำห้วยให้ชาวบ้านได้ใช้อุปโภคบริโภค

การคมนาคม

เส้นทางการคมนาคมของชุมชนไม้เรียงในอดีต มีการติดต่อไปมาหาสู่กันทั้งทางน้ำและทางบก โดยมีแม่น้ำตาปีเป็นเส้นทางสำคัญในการสัญจร แต่ภายหลังการส้รางทางรถไฟสายใต้ตัดผ่านพื้นที่ไม้เรียงเมื่อปี พ.ศ. 2462 ทำให้การคมนาคมสัญจรของชาวบ้านมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น การสัญจรทางน้ำลดบทบาทน้อยลง เนื่องจากชาวบ้านหันมาโดยสารรถไฟเป็นส่วนใหญ่ มีสถานีทานพอเป็นจุดศูนย์กลางของการเดินทาง การมีเส้นทางรถไฟตัดผ่านพื้นที่ชุมชนไม้เรียงนอกจากจะทำให้เกิดความสะดวกต่อการเดินทางแล้ว ยังช่วยให้การลำเลียงสินค้าจากชุมชนออกสู่ภายนอก และจากภายนอกเข้ามาไม้เรียงมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้การซื้ขายแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

ชุมชนไม้เรียงมีถนนสายสำคัญในการสัญจร 2 สาย สายแรก เป็นเส้นทางจากตัวอำเภอฉวางผ่านไม้เรียงเชื่อมต่อกับอำเภอถ้ำพรรณรา ไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ระหว่างทุ่งสงกับสุราษฎร์ธานี ส่วนอีกสายหนึ่งเป็นถนนลาดยางจากไม้เรียงไปยังตำบลกระเปียด อำเภอพิปูน สำหรับเส้นทางสัญจรเชือ่มต่อภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาเป็นถนนคอนกรีต ทำให้การติดต่อสัญจรของชาวบ้านเกิดความสะดวกสบาย ทั้งยังเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าและบริการต่าง ๆ เข้าสู่ชุมชน และจากชุมชนไปสู่ภายนอก

ประชากร

ชุมชนไม้เรียง ประกอบด้วยหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลไม้เรียงทั้งหมด 10 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งไหม้ หมู่ที่ 2 บ้านหนองหาด หมู่ที่ 3 บ้านทานพอ หมู่ที่ 4 บ้านหาดทรายแก้ว หมู่ที่ 5 บ้านหนองท่อม หมู่ที่ 6 บ้านกันละ หมู่ที่ 7 บ้านหนองม่วง หมู่ที่ 8 บ้านหนองตรุด หมู่ที่ 9 บ้านตรอกไม้แดง และหมู่ที่ 10 บ้านควนนนท์ ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเมื่อปี พ.ศ. 2553 ระบุว่า ชุมชนไม้เรียงมีประชากรทั้งสิ้น 7,631 คน แบ่งเป็นชาย 3,776 คน และหญิง 3,942คน โดยประชากรในชุมชนส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากผู้คนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนตั้งแต่อดีต เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2462 มีการสร้างสถานีรถไฟในพื้นที่บ้านทานพอ ขณะนั้นได้เริ่มมีกลุ่มคนจีนเข้ามารับจ้างสร้างทางรถไฟ ภายหลังชาวจีนกลุ่มนี้ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟ จนกลายเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่เรียกว่า “ตลาดทานพอ” ส่วนประชากรชาวไทยเดิมมักอาศัยทำการเกษตรอยู่บริเวณพื้นที่รอบตลาด ฉะนั้นจึงพบว่าประชากรในชุมชนไม้เรียงส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาวไทย และชาวไทยเชื้อสายจีน

ความสัมพันธ์เครือญาติ

ครอบครัวของชาวชุมชนไม้เรียงส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว มีพ่อ แม่ และลูกอาศัยอยู่ร่วมกัน และเมื่อลูกสาวเติบโตถึงวัยแต่งงาน ก็จะพาลูกเขยเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับพ่อแม่ด้วย ฉะนั้นจากครอบครัวที่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว จึงเปลี่ยนเป็นครอบครัวขยาย ทว่าในปัจจุบันขนาดและรูปแบบของครอบครัวไม้เรียงได้มีความเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ครอบครัวก็ยังคงเป็นสถาบันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งแต่สมาชิกชาวชุมชนไม้เรียงทุกคน เป็นทั้งที่อยู่อาศัย ที่รวมตัวของวงศาคณาญาติ ตลอดจนเป็นสถาบันซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสรรค์บุคลากรที่มีคุณภาพส่งออกสู่สังคมภายนอก สำหรับระบบชนชั้นในชุมชนไม้เรียงนั้นยังไม่ปรากฏว่าคนในชุมชนมีการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคม เพราะความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมยังคงความเป็นระบบเครือญาติไว้อย่างเข้มข้น 

เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจของชุมชนไม้เรียงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันขึ้นอยู่กับผลผลิตทางการเกษตรเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางพารา พื้นที่ส่วนใหญ่ของไม้เรียงถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่สวนยางพารา เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นรายได้หลักแก่ชุมชนไม้เรียงมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ยังมีรายได้จากสวนผลไม้ เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง กล้วย ฯลฯ ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ส่งผลให้แต่ละปีผลผลิตที่ได้จากสวนผลไม้จะมีความแตกต่างกัน อีกทั้งในช่วงเก็บเกี่ยวยังมีราคาต่ำ เพราะผลผลิตออกมาพร้อม ๆ กัน ชาวสวนจึงต้องนำผลไม้จากสวนมาวางจำหน่ายเองบริเวณหน้าบ้าน หรือทำเป็นซุ้มศาลาขนาดเล็กวางผลไม้เพื่อจำหน่ายแก่ผู้เดินทางสัญจรไปมา

นอกจากยางพาราและผลไม้แล้ว การเลี้ยงสัตว์ก็ถือว่าเป็นรายได้เสริมแก่บางครอบครัว สัตว์ที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ วัว ไก่ เป็ด รวมถึงรายได้นแกเหนือจากภาคการเกษตร เช่น รายได้จากการรับจ้างในโรงงานแปรรูปยางพารา (พาราวูด) รับจ้างในเหมืองแร่ยิปซัม ซึ่งมีอยู่ในพื้นที่เรียงจำนวน 3 เหมือง และยังมีรายได้จากอุตสาหกรรมครัวเรือนขนาดเล็ก เช่น โรงซ่อมรถ โรงน้ำแข็ง โรงพิมพ์ เป็นต้น

ตลาดทานพอ

ตลาดทานพอ นับเป็นตลาดเก่าแก่ที่มีความสำคัญต่อชุมชนไม้เรียงและชุมชนใกล้เคียง เป็นศูนย์รวมสินค้า การคมนาคม และการศึกษาของไม้เรียง เป็นตลาดที่ผู้คนจากไม้เรียงและพื้นที่อื่น ๆ ในอำเภอฉวางเข้ามาจับจ่ายใช้สอย และเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าสำคัญ เช่น เกลือ กะปิ น้ำปลา น้ำตาล ผลผลิตทางการเกษตร ผักผลไม้ต่าง ๆ และสินค้าอื่น ๆ ของชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกร้านขายอุปกรณ์โลหะขุดเจาะสำหรับทำเหมือง แต่ภายหลังรัฐบาลประกาศยกเลิกการทำเหมืองแร่บนเขาศูนย์ ตลาดทานพอก็เริ่มซบเซาลง ส่งผลให้บรรดาพ่อค้าแม่ขายจากนอกพื้นที่เข้ามาทำการค้าขายน้อยลง กระทั่งกิจการร้านค้าบางร้านต้องยกเลิกกิจการไป 

ศาสนาและความเชื่อ

ภายหลังความเจริญด้านต่าง ๆ และวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของชาวชุมชนไม้เรียง ทั้งด้านความคิด ความเชื่อ การดำรงชีวิต และการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อดั้งเดิมของชาวไม้เรียงมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คนน้อยลง กระทั่งหมดความนิยมไปในที่สุด โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์

ประเพณี วัฒนธรรม และพิธีกรรม

สืบเนื่องจากวัฒนธรรมภายนอกที่เข้ามามีอิทธิลต่อวิถีชีวิตของชาวไม้เรียง ส่งผลให้ปัจจุบันประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมหลายอย่างในชุมชนไม้เรียงเกิดความเปลี่ยนแปลงไป พิธีกรรมที่ยังคงปฏิบัติอยู่ส่วนใหญ่จึงประกอบกันในครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดเท่านั้น ประเพณีบางประเพณีกลายเป็นเรื่องล้าสมัย ขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรมหลายขั้นตอนถูกรวบรัดในรวดเร็วขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงเลือนหายไปเสียหมด แม้ว่าการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมจากภายนอกจะเข้ามามีบทบาทต่อชาวไม้เรียง ทำให้รูปแบบประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เคยดำเนินมาเกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ถึงกระนั้นชาวไม้เรียงก็ยังคงมีการสืบทอดประเพณีสำคัญ ๆ ของชุมชน เช่น งานสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ชาวบ้านยังคงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่กลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุหรือคนวัยกลางคน จะพบเห็นหนุ่มสาวน้อยมาก  

การตั้งบ้านเรือน

การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านชุมชนไม้เรียงมีลักษณะการอยู่ร่วมกันตามกลุ่มเครือญาติ บ้านเรือนที่ตั้งอยู่บริเวณละแวกเดียวกัน ส่วนใหญ่มักเป็นญาติพี่น้องเกี่ยวดองกัน สำหรับลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านปูนชั้นเดียว ใช้วัสดุสร้างบ้านตามสมัยนิยม ได้แก่ อิฐ ปูน และเหล็ก แบ่งสัดส่วนตามลักษณะแปลนบ้านของคนเมือง รอบบ้านมักจะปลูกไม้ดอกไม้ประดับและผลไม้ต่าง ๆ เช่น เงาะ มังคุด กระท้อน เพื่อไว้เป็นร่มเงาและบริโภค บางบ้านจะทำแคร่ตั้งไว้บริเวณโคนไม้เพื่อทำเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจในเวลากลางวัน หรือหลังว่างเว้นจากการกรีดยาง 

ครูประยงค์ รณรงค์: ปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่ายชาวไม้เรียงลุกขึ้นมากอบกู้แก้ปัญหาสถานการณ์ความยากจน และภาวะล่มสลายของสถาบันครอบครัวไม้เรียง โดยใช้วิธีการจัดการแบบพึ่งตนเอง จนทำให้ชุมชนไม้เรียงสามารถยืนหยัดต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงในโลกของทุนนิยมได้ด้วยตนเองในที่สุด

ผลงานดีเด่น

  • เป็นผู้นำการก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางตำบลไม้เรียง และเป็นผู้จัดการและประธานกลุ่มเกษตรทำสวนยางไม้เรียง
  • เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง
  • ประธานเครือข่ายยมนา

  • ผู้นำจัดทำแผนแม่บทชุมชนไม้เรียง อ.ฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นผู้นำจัดทำแผนแม่บทการพัฒนายางพาราไทย ฉบับประชาชน

  • เป็นคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยผู้นำชุมชนท้องถิ่น สำนักนายกรัฐมนตรี

  • เป็นที่ปรึกษาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการสมานฉันท์

  • ได้รับตำแต่งตั้งเป็นสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ

ทุนทางวัฒนธรรม

ชาวไม้เรียงมีการบันทึกงานวรรณกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวไม้เรียงในรูปแบบลายลักษณ์อักษรไว้ในสมุดข่อย หรือหนังสือบุด และใบลานจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้โดยพระครูนรากรณ์ วัดทุ่งไหม้ ทั้งวรรณกรรมประเภทนิทาน ตำรายา วรรณกรรมพุทธศาสนา และตำราต่าง ๆ เป็นต้น วรรณกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีบทบาทต่อชุมชนชาวไม้เรียงอย่างมากก่อนที่จะมีการก่อตั้งโรงเรียน อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน เพราะงานวรรณกรรมเหล่านี้นอกจากจะใช้อ่านเพื่อความบันเทิงใจแล้ว ยังมีคติธรรมคำสอน และมีบันทึกบทสวดสำคัญที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมบางอย่างอีกด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แม้ว่าชุมชนไม้เรียงจะเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทว่าชาวไม้เรียงกลับประสบกับปัญหาความยากจน เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ที่มีอยู่เพียง 7.67 ของพื้นที่อำเภอฉวาง ภายหลังการตัดทางรถไฟและถนนหนทางผ่านพื้นที่ไม้เรียงทำให้มีการเคลื่อนตัวของชุมชนภายนอกเข้ามาอย่างรวดเร็วเพื่อแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ไม้เรียง อีกทั้งยังมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) การสัมปทานตัดไม้ และวาตภัยเมื่อปี พ.ศ.2505 ล้วนเป็นเหตุให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ลงอย่างย่อยยับ อีกทั้งป่ายางพาราและสวนผลไม้ก็ถูกทำลายจากวาตภัย มูลเหตุดังกล่าวทำให้ชาวบ้านต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมาสู่ชีวิตใหม่ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนมากขึ้น และเมื่อภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ทำให้เกิดไฟป่าเผาไหม้เป็นวงกว้างอยู่หลายปี ความอัตคัดขาดแคลนจึงกระจายไปทั่วทั้งตำบล ชาวบ้านบางคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว วัฒนธรรมชุมชนที่เก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งเพื่อกินตลอดปีได้ช่วยให้ชาวบ้านประทังชีวิตอยู่ได้พร้อมกับการระดมปลูกพืชอายุสั้นที่ต้องกินต้องใช้กันอย่างเต็มความสามารถ การดิ้นรนต่อสู้กับสภาพความยากจนดังกล่าวได้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม้เรียงเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเป็นแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น ทำให้มีปัจจัยภายนอกเข้ามามีอิทธิพลกำหนดการตัดสินใจเลือกการผลิตของชาวบ้าน ยางพาราได้เข้าสู่ระบบเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่กำหนดวิถีชีวิตชาวบ้านตั้งแต่นั้นมา แต่จากที่การกรีดน้ำยางต้องขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ราคายางที่ขึ้นอยู่กับกลไกของตลาดโลก ทำให้อาชีพการทำสวนยางพาราไม่มีความมั่นคง ผู้มีอาชีพทำสวนยางจึงมีฐานะยากจน และไม่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดกับครอบครัวได้ แม้ว่าจะมียางพันธุ์ดีและทุนค่าแรงงาน ซึ่งกองทุนสงเคราะห์สวนยางพาราได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือภายหลังจากเกิดวาตภัย แต่การดำรงอยู่แบบใช้เงินเป็นหลักโดยพึ่งพิงอาศัยทุกสิ่งทุกอย่างจากองค์กรรัฐและองค์กรภายนอกทั้งหมด ปัญหาเงินไม่พอใช้จ่ายจึงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หนี้สินพอกพูนจนล้นพ้นตัว ครอบครัวอยู่ในลักษณะล่มสลาย รากฐานสำคัญของชุมชนที่สูญเสียอย่างยากที่จะกลับคืน เมื่อหมดสิ้นภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นพื้นฐานการผลิตและนำมาสู่การสูญเสียความเป็นชุมชนในที่สุด จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ชุมชนเกิดการรวมตัวลุกขึ้นมาแก้ปัญหาวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับชุมชน นำโดย “ครูประยงค์ รณรงค์” ผู้นำชุมชนไม้เรียงที่ร่วมกับเพื่อนพ้องในชุมชนลุกขึ้นมากอบกู้สถานการณ์ จนในที่สุดการจัดการแบบพึ่งตนเองของชุมชนนี้ทำให้ชุมชนสามารถยืนหยัดต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงในโลกของทุนนิยมได้ (ชวน เพชรแก้ว, 2547)


ปัจจุบันเกือบทุกหมู่บ้านในชุมชนไม้เรียงล้วนแล้วแต่เป็นที่ตั้งของสถานศึกษา ซึ่งส่งผลให้ลูกหลานของชาวไม้เรียนเกือบทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษา มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษา ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ แต่ในขณะเดียวกันการก่อตั้งระบบโรงเรียนในพื้นที่ชุมชนไม้เรียง ก็ได้ส่งผลให้อิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอกได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน ทั้งนี้เป็นผลมาจากความต้องการพัฒนาชุมชนให้มีความเจริญและทันสมัยทั้งด้ายเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนการติดต่อสื่อสาร ทำให้ชาวบ้านชุมชนไม้เรียงต้องพยายามปรับตัวให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และความทันสมัยจากวัฒนธรรมภายนอกที่ชุมชนพยายามรับเข้ามา 


ผลกระทบของการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมจากภายนอกเข้าสู่ชุมชนไม้เรียง สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิต จิตวิญญาณ ความคิด ความเชื่อ และพิธีกรรมต่าง ๆ คนในชุมชนเริ่มมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวให้ทันตามยุคสมัยนิยม ซึ่งส่งผลให้วัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนไม้เรียงเริ่มเลือนหายไป โดยมีวัฒนธรรมใหม่จากภายนอกเข้ามาแทนที่ และวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นมานั้นมักจะเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ได้ช่วยขัดเกลาสังคมดังเช่นในอดีต 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2560). ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.moac.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566].

ชวน เพชรแก้ว. (2547). ชุมชนไม้เรียง: การจัดการแบบพึ่งตนเอง นวัตกรรมการสร้างสุขภาพจากชุมชน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข. 

ปิติกานต์ จันทร์แย้ม. (ม.ป.ป.). โครงการเภสัชเรียนรู้ชุมชน: สำรวจพื้นที่ตำบลไม้เรียง จ.นครศรีธรรมราช. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.gotoknow.org [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566].

สุธิรา ชัยรักษา. (2553). วัฒนธรรมชาวสวนยางพาท่ามกลางกระแสทุนนิยม: ชุมชนไม้เรียง อำเภอฉวาง จังนครศรีธรรมราช (รายงานการวิจัย). กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.