Advance search

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ขยับขยายพื้นที่เป็นชุมชนกลุ่มเล็ก ๆ กับสังคมพหุวัฒนธรรมและกลุ่มทางความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์

หมู่ที่ 7
บ้านแม่กวางเหนือ
ท่าผาปุ้ม
แม่ลาน้อย
แม่ฮ่องสอน
อบต.ท่าผาปุ้ม โทร. 0-5306-2251
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
29 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 พ.ค. 2024
บ้านแม่กวางเหนือ

ในอดีตพื้นที่ชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์และมีลำห้วยไหลผ่าน ทำให้มีสัตว์อยู่หลายชนิดเข้ามาอาศัยในพื้นที่และมีกวางอยู่โดยรอบบริเวณเป็นจำนวนมาก จึงตั้งชื่อชุมชนว่า บ้านแม่กวาง


การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ขยับขยายพื้นที่เป็นชุมชนกลุ่มเล็ก ๆ กับสังคมพหุวัฒนธรรมและกลุ่มทางความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์

บ้านแม่กวางเหนือ
หมู่ที่ 7
ท่าผาปุ้ม
แม่ลาน้อย
แม่ฮ่องสอน
58120
18.3163875
98.0163362
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าผาปุ้ม

พื้นที่หมู่บ้านแม่กวางเหนือมีการเข้ามาตั้งชุมชนนานนับ 100 ปีมาแล้ว เดิมพื้นที่บริเวณนี้มีสภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีแม่น้ำ 3 สายไหลมาบรรจบกัน เป็นที่ราบลุ่มลำห้วยเล็กๆ ต่อมาได้มี 2 สามีภรรยากับเพื่อนอีก 1 คน ทั้ง 3 คน เป็นชาวปกาเกอะญอได้เดินทางมาจากหมู่บ้านชาวเขาในเขตอำเภอแม่สะเรียง โดยมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนาข้าวของนายทองสุก ขณะนั้นมีบ้านเรือนอยู่ 2 หลังคาเรือน โดยทั้ง 3 คนประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียนและทำนาขั้นบันไดตามที่ราบหุบเขาใกล้บริเวณหมู่บ้าน 3 ปีต่อมา มีชาวบ้านอพยพเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มเติม รวมทั้งหมด 7 หลังคาเรือน ในขณะนั้นมีนายดีโพ เป็นผู้นำหมูบ้าน โดยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "แม่กวางเหนือ" ซึ่งอดีตบริเวณนี้มีลำห้วยไหลผ่านและมีกวางจำนวนมาก พ.ศ. 2483 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณหมู่บ้านแม่กวางเหนือและบริเวณใกล้เคียงเกิดอหิวาตกโรคทำให้ชาวบ้านล้มตายจำนวนมาก จนต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิมขึ้นมาตั้งหมู่บ้านใหม่บนไหล่เขาตำแหน่งที่ตั้งหมู่บ้านถึงปัจจุบัน ขณะนั้นบ้านแม่กวางเหนือเป็นหย่อมบ้านหรือเป็นบ้านย่อยของ หมู่บ้านห้วยผึ้ง หมู่ที่ 2 ตำบลท่าผาปุ้ม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีระยะทางห่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร ต่อมาเมื่อ พ ศ. 2529 ได้มีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านแม่กวางเหนือ หมู่ที่ 7 ตำบลท่าผาปุ้ม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และได้มีการจัดตั้งให้มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกอย่างเป็นทางการ

หมู่บ้านแม่กวางเหนือ หมู่ที่ 7 ตำบลท่าผาปุ่ม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา และที่ราบริมลำห้วย หมู่บ้านแม่กวางเหนือตั้งอยู่ตรงกลางของตำบลท่าผาปุ้ม อยู่ห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลท่าผาปุ้ม ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอแม่ลาน้อยระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณ 152 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่บ้านห้วยผึ้ง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่บ้านแม่กวางใต้
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่บ้านแม่สะกึ๊ด
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่บ้านห้วยหมากหนุน

ลักษณะทางกายภาพ

บ้านแม่กวางเหนือเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาสูงลาดชัน มีภูเขาสูงสลับซับซ้อนและที่ราบริมลำห้วย ด้านหน้าหมู่บ้านมีลำห้วยไหลผ่านมีน้ำตลอดทั้งปี โดยไหลผ่านทางหลังหมู่บ้านไปยังบริเวณนาข้าวของชาวบ้าน และเกิดเป็นน้ำตกขนาดเล็กไหลไปทางด้านหลังหมู่บ้านและไปบรรจบกับแม่น้ำยวม ส่วนหลังหมู่บ้านเป็นพื้นที่ลุ่มระหว่างเขา มีลำห้วยดังกล่าวไหลผ่านเหมาะแก่การทำนาข้าวแบบขั้นบันได บริเวณรอบๆ ตัวบ้านจะปลูกพืชที่มีรากแข็งแรง เพื่อไว้ยึดหน้าดินป้องกันดินถล่ม พร้อมทั้งปลูกพืชที่เป็นอาหารสำหรับบริโภคในครัวเรือน

ลักษณะภูมิอากาศ

  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยในช่วงเข้าจะมีหมอกปกคลุม ช่วงกลางวันมีแสงแดด มีลมหนาวพัดเบาๆ อุณหภูมิประมาณ 10 - 17 องศาเซลเซียส ส่วนช่วงเย็นอุณหภูมิเริ่มลดลงจนถึงกลางคืนและเข้าอุณหภูมิประมาณ 7-15 องศาเซลเซียส
  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยอากาศจะร้อนมากทั้งกลางวันและกลางคืน อุณหภูมิ ประมาณ 20-38 องศาเซลเซียส
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนกันยายนของทุกปี โดยฝนจะตกแทบทุกวันหรือบางวันจะตก 2-3 ครั้ง

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 7 บ้านแม่กวางเหนือ ตำบลท่าผาปุ้ม  อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 171 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 94 คน ประชากรหญิง 77 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 55 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านแม่กวางเหนือมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่เหนียวแน่นเนื่องจากชาวบ้านในหมู่บ้านเป็นญาติพี่น้องที่มีความเกี่ยวดองกันทั้งหมด ถึงแม้จะมีการใช้คนละนามสกุลกัน เนื่องจากในอดีตชาวบ้านยังไม่มีนามสกุลใช้ มีเพียงชื่อเรียกเท่านั้น ภายหลังทางภาครัฐกำหนดให้คนไทยที่ยังไม่มีนามสกุลไปขอตั้งนามสกุล ซึ่งสมาชิกในชุมชนต่างคนต่างไปยื่นขอตั้งนามสกุลเพื่อจัดทำทะเบียนราษฎร ทำให้ในกลุ่มเครือญาติเดียวกันมีนามสกุลที่ต่างกัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่ค่อยเห็นความขัดแย้งกันในหมู่บ้าน เพราะคนในชุมชนต่างมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เปรียบเสมือนครอบครัวขนาดใหญ่

ปกาเกอะญอ

ประชากรชุมชนบ้านแม่กวางเหนือ ตำบลท่าผาปุ้ม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชากรส่วนใหญ่มีการประกอบอาชีพหลักด้านเกษตรกรรม โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ของชุมชนจะทำนาข้าวเป็นหลัก และมีการทำข้าวไร่ เพื่อเลี้ยงชีพ แต่หากเหลือจากการบริโภคก็จะนำไปขายเพื่อนำมาเป็นทุนในการยังชีพต่อไป ส่วนพืชเศรษฐกิจที่ชาวบ้านนิยมปลูกประกอบด้วย ข้าวโพด กะหล่ำปลี ถั่วเหลือง กาแฟ ฯลฯ ในชุมชนยังมีการทำปศุสัตว์ คือ การเลี้ยงวัวกับควาย โดยในช่วงฤดูร้อนจะเลี้ยงแบบปล่อยป่าประมาณ 20-30 วัน แต่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวจะเลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้าน นอกจากนี้ในช่วงที่เว้นจากการทำนาข้าวหรือปลูกข้าวไร่ ชาวบ้านจะเข้าไปทำงานรับจ้างทั่วไปใต่างจังหวัดและในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน

ชุมชนบ้านแม่กวางเหนือเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดเล็ก มีวิถีชีวิตตามแบบชนเผ่าพื้นเมืองทางภาคเหนือของประเทศไทยโดยทั่วไป ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยและอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อยู่อย่างเรียบง่ายและพอเพียง ประกอบกับพื้นที่บริเวณชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำไหลผ่านพื้นที่ชุมชนตลอดทั้งปี และประชากรภายในชุมชนมีทั้งประชากรที่มีการนับถือศาสนาพุทธ และประชากรส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งสมาชิกทั้งสองกลุ่มต่างมีวิถีปฏิบัติตามวัฒนธรรมและความเชื่อของตนเองตามวันสำคัญทางศาสนาตามปฏิทินชุมชนในรอบปี 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทรัพยากรธรรมชาติ

แหล่งต้นน้ำหรือตาน้ำ ป่าบริเวณนี้อยู่บนภูเขาสูง ชาวบ้านในหมู่บ้านช่วยกันอนุรักษ์ดูแลรักษา ป่าบริเวณนี้จะมีต้นไม้ขนาดใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีน้ำไหลจากตาน้ำตลอดปี เหมาะสมในการเจริญเติบโตของต้นไม้พืชผักต่างๆ ตาน้ำทำให้เกิดลำห้วยสะบา ป่าต้นน้ำมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2 ไร่ ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร

ป่าใช้สอย ป่าบริเวณนี้สามารถตัดต้นไม้มาใช้ในการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือใช้งานอื่นๆ ได้ตามความเหมาะสม โดยตัดเฉพาะขนาดที่ต้องการเท่านั้น ป่าใช้สอยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 17 ไร่ ห่างจากหมูบ้านประมาณ 1 กิโลเมตร บริเวณทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน

ป่าช้าหรือป่าอนุรักษ์ ป่าที่ชาวบ้านในหมู่บ้านช่วยกันอนุรักษ์ดูแลรักษาร่วมกัน เพื่อเป็นสถานที่เผาหรือฝังศพมาตั้งแต่อดีต บริเวณป่าช้ามีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก เป็นป่าดิบชื้นรกทึบ มีความอุดมสมบูรณ์มาก ป่าช้ามีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 22 ไร่ อยู่ตรงกันข้ามกับหมู่บ้าน

ลำห้วยแม่กวาง มีลำห้วย 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือ ลำห้วยยาว (ทีทอโกล๊ะ) ไหลมาจากตาน้ำบนภูเขา ลำห้วยที่สอง คือ แม่ควอโกล๊ะ ไหลมาจากหมู่บ้านละอุบ ตำบลห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย ลำห้วยที่สาม คือ ลำห้วยสะบา ไหลมาจากตาน้ำหลังโรงเรียน ระยะทางห่างจากหมู่บ้านประมาณ 500 เมตรซึ่งทั้งสามสายได้มาบรรจบที่กลางหมู่บ้านแม่กวางเหนือ โดยไหลผ่านไปทางหลังหมู่บ้านไปยังบริเวณปลูกข้าวนาดำของชาวบ้าน และเกิดเป็นน้ำตกขนาดเล็ก คือน้ำตกแม่กวาง (ทีทอแถหรือทีลอซู)

น้ำตกแม่กวาง (ทีทอแถหรือทีลอซู) น้ำตกแม่กวางเป็นน้ำตกขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนักห่างออกไปประมาณ 500 เมตร ซึ่งไหลลงไปยังหมู่บ้านแม่ละอุบ ตำบลท่าผาปุ้ม และไหลผ่านไปลงแม่น้ำแม่สะเรียงที่ อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

วัฒนธรรมการแต่งกาย

ปัจจุบันวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านแม่กวางเหนือ ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีความนิยมในการแต่งกายแบบสากลทั่วไป โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ออกไปทำงานที่อื่น หรือที่ทำงานในกรุงเทพฯก็จะนำแฟชั่นเข้ามาในหมู่บ้านด้วย มีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่ใส่ชุดเซซู และเด็กที่ต้องใส่ชุดเซวาไปโรงเรียนทุกวันศุกร์ โดยการใส่ชุดพื้นถิ่นส่วนใหญ่ชาวบ้านจะแต่งเฉพาะโอกาสสำคัญหรือไปร่วมงานพิธีสำคัญต่างๆ การแต่งตัวของชาวปกาเกอะญอมี ดังนี้

  • หญิงที่ยังไม่แต่งงานจะสวมชุดเซวา แสดงถึงความสะอาด บริสุทธิ์ ชุดจะมีลักษณะทรงกระบอกสีขาวยาวถึงข้อเท้า นอกจากนี้ยังมีผ้าโพกศีรษะด้วย อาจจะเป็นสีขาวหรือสีแดงก็ได้
  • หญิงที่แต่งงานแล้วจะสวมชุดเซซู คือ แสดงถึงความรับผิดชอบของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อมีครอบครัว เสื้อจะมีสีน้ำเงินหรือดำกับผ้าซิ่นจะมีสีสดใส เช่น สีแดง สีน้ำเงิน ฯลฯ
  • ชุดผู้ชายทั้งของเด็กและของผู้ใหญ่จะเหมือนกัน คือ เสื้อสีแดง กับกางเกงขายาวสีดำ ซึ่งสีแดง หมายถึง ความพร้อมที่จะดูแลครอบครัว

ภาษาพูด : ภาษาปกาเกอะญอ ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

อัจจิมา วราภรณ์. (2557). ต่าเลอะเปอ(นิทาน) ชาวปกาเกอะญอหมู่บ้านแม่กวางเหนือ ตำบลท่าผาปุ้ม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อบต.ท่าผาปุ้ม โทร. 0-5306-2251