Advance search

ชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาอย่างยาวนานบนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน พื้นที่การค้าสำคัญของเมืองพิจิตรสู่การขยายตัวของชุมชนและพัฒนาการทางสังคมในท้องถิ่น

หมู่ที่ 1
บ้านบุ่ง
เมืองพิจิตร
พิจิตร
ทต.วังกรด โทร. 0-5668-5053
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
27 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 พ.ค. 2024
ย่านเก่าวังกรด

พื้นที่ในบริเวณชุมชนวังกรดเดิมมีชื่อว่า “ชุมชนบ้านท่าอีเต่า” ขึ้นกับตำบลในเมืองหรือตำบลท่าหลวงในปัจจุบัน ก่อนจะกลายมาเป็น “ชุมชนวังกลม” ซึ่งพื้นที่ชุมชนติดกับแหล่งน้ำ ในบริเวณที่เป็นวังน้ำวนหมุนเป็นวงกลมใกล้บริเวณวัดวังกลม ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งสถานีรถไฟวังกลม ในปี พ.ศ. 2450 โดยใช้ชื่อสถานีรถไฟวังกลม แต่ไปซ้ำกับสถานีรถไฟในภาคอีสาน จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีรถไฟวังกรด และเปลี่ยนชื่อชุมชนตามชื่อสถานีรถไฟเป็นชุมชนวังกรดมาจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาอย่างยาวนานบนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน พื้นที่การค้าสำคัญของเมืองพิจิตรสู่การขยายตัวของชุมชนและพัฒนาการทางสังคมในท้องถิ่น

หมู่ที่ 1
บ้านบุ่ง
เมืองพิจิตร
พิจิตร
66000
16.3988393177044
100.388978719711
เทศบาลตำบลวังกรด

ความเป็นมาของย่านเก่าวังกรดนั้นต้องเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อตั้งตำบลบ้านบุ่ง ชื่อตำบลบ้านบุ่งนี้มาจากคำว่า “บุ่ง” เนื่องจากในอดีตตำบลบ้านบุ่งมีห้วย หนอง คลอง บึง ล้อมรอบบ้านเกือบทั้งหมด จึงได้ตั้งชื่อตำบลนี้ว่า “ตำบลบ้านบุ่ง” บ้านบุ่งในอดีตเคยเป็นชุมทางการค้าทั้งทางน้ำและทางบก การตั้งถิ่นฐานพัฒนาการของชุมชนและการขยายตัวด้านเศรษฐกิจของชุมชนเชื่อว่าเริ่มเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงมีการตัดเส้นทางรถไฟสายเหนือ มีการสร้างสถานีรถไฟวังกรด ชุมชนวังกรดในอดีตถือเป็นชุมชนทางการค้าที่สำคัญเนื่องจากชุมชนใกล้เคียงจะนำข้าวมารวมกันที่ชุมชนย่านเก่าวังกรด เพื่อทำการขนส่งสินค้าทางเรือโดยอาศัยลำน้ำน่านและเส้นทางรถไฟส่งสินค้าไปยังกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ชุมชนย่านเก่าวังกรดจึงเป็นเสมือนพื้นที่จุดยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญที่ควบคุมการค้าขายในบริเวณที่ราบลุ่มลำน้ำน่าน เมื่อมีการตัดถนนเชื่อมระหว่างจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร ส่งผลให้ความนิยมการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางน้ำลงความนิยมลงซึ่งมีผลต่อสถานภาพการเป็นชุมชนทางการค้าลดบทบาทลงเศรษฐกิจชุมชนจึงเริ่มซบเซาลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ชุมชนย่านเก่าวังกรดเดิมคือ “บ้านท่าอีเต่า” อยู่ภายใต้การปกครองของตำบลในเมือง หรือตำบลท่าหลวงในปัจจุบัน เมื่อมีกำนันคนแรกคือกำนันเหมา มีภูมิลำเนาอยู่บ้านบุ่ง ทางราชการจึงโอนชุมชนบริเวณบ้านท่าอีเต่า มาอยู่ในเขตการปกครองตำบลบ้านบุ่ง หมู่ที่ 1 ที่มาของชื่อชุมชนวังกรด เดิมชื่อ "วังกลม" เรียกตามการหมุนเป็นวงกลมของกระแสน้ำบริเวณใกล้กับวัดวังกลม ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 มีการสร้างเส้นทางรถไฟ คาดว่าสถานีรถไฟวังกรดน่าจะถูกสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างทางรถไฟสายปากน้ำโพ-พิษณุโลก เดิมเรียกชื่อว่า “สถานีรถไฟวังกลม” ตามชื่อของชุมชนในสมัยนั้น แต่เนื่องจากชื่อไปซ้ำซ้อนกับสถานีรถไฟอีกแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น "สถานีรถไฟวังกรด" ชื่อชุมชน รวมถึงชื่อตลาดชุมชนจึงเปลี่ยนมาเป็น "ชุมชนวังกรด" จวบจนปัจจุบัน     

ในอดีตชุมชนวังกรดเป็นพื้นที่ทางเกษตรกรรมและการค้าขาย เนื่องจากอยู่ติดกับแม่น้ำน่านที่เป็นเส้นทางคมนาคมหลักในสมัยก่อน เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้มีการสร้างทางรถไฟขึ้นในประเทศไทย ทางรถไฟเส้นทางสายเหนือถูกสร้างตัดผ่านชุมชน ทำให้มีสถานีรถไฟวังกรดเกิดขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนมีความเจริญทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าตัวเมือง ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำไปยังตัวเมือง ทำให้ย่านวังกรดกลายเป็นเมืองท่าระหว่างการค้าทางน้ำและทางบก ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เล็งเห็นโอกาสของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และริเริ่มสนับสนุนให้คนในชุมชนสร้างตลาดขึ้นโดย “หลวงประเทืองคดี” คหบดีในชุมชนที่มีอาชีพรับราชการอัยการ ทำให้เกิดการก่อตั้งเป็นตลาดวังกรดขึ้นมาประมาณปี พ.ศ. 2488 เพื่อเป็นชุมชนค้าขายอย่างจริงจัง ก่อนที่จะมีการก่อตั้งเป็นตลาดนั้น การตั้งบ้านเรือนของคนในชุมชนจะเป็นแบบกระจายตัวอยู่บนพื้นที่ ในลักษณะคล้ายหมู่บ้านชาวนาในลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง ที่มีการประกอบอาชีพทั้งค้าขายและเกษตรเกรรม เมื่อหลวงประเทืองคดีริเริ่มให้มีการสร้างตลาด ลักษณะที่อยู่อาศัยก็เปลี่ยนไปเป็นแบบเรือนแถวไม้โดยมีทั้งปลูกให้เช่าและปลูกโดยเจ้าของที่ดิน ในระยะแรกลักษณะตลาดเป็นเรือนไม้ตั้งเรียงต่อๆ กันตามแนวตะวันออก-ตะวันตก จากบริเวณสถานีรถไฟลงไปยังแม่น้ำน่าน ในปัจจุบันเรียกว่า "ซอยกลาง" เมื่อมีรถไฟจึงมีการสร้างต่อเติมตามพื้นที่ว่างที่มีอยู่ จากหน้าสถานีรถไฟมายังซอยกลาง มีลักษณะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวซึ่งยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้พื้นที่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เต็มไปด้วยเรือนแถวไม้อยู่อาศัย และตลาดแผงลอยหน้าสถานีรถไฟ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการซื้อขายอย่างหนาแน่น ตลาดแผงลอยมีลักษณะเป็นแผงลอยไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงปั้นหยา ด้านทิศเหนือ-ใต้ยังมีเรือนแถวและแนวถนนสำหรับผู้คนที่ใช้เกวียนเป็นยานพาหนะ และยังเป็นที่ผูกควายและเกวียน สำหรับผู้ที่มาซื้อของและส่งสินค้า เมื่อถึงเวลากลับบ้านจะได้ยินเสียงกระดึงผูกวัวควายดังก้องไปทั่วตลาด

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลาดวังกรดเป็นพื้นที่สำคัญที่มีสถานีรถไฟและถนนผ่าน จึงทำให้ถูกโจมตีบ่อยครั้งจำเป็นต้องมีการสร้างหลุมหลบภัยไว้ในตลาด และบ้านเกือบทุกหลังจะมีหลุมหลบภัย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การรถไฟไทยได้ทำการรื้อบ้านและตลาดแผงลอยบริเวณหน้าสถานีออกทั้งหมดเพื่อทำการสร้างเรือนแถวไม้สองชั้นบนพื้นที่ของการรถไฟ บริเวณนี้ชาวบ้านเรียกว่า แถวเหนือ-แถวใต้ มาจนถึงปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงทางการคมนาคมและระบบซื้อขายแบบสมัยใหม่ ทำให้เศรษฐกิจของตลาดวังกรดซบเซาลงอย่างรวดเร็ว ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาการค้าที่ซบเซา ทำให้ลูกหลานชาวตลาดส่วนใหญ่ไปหางานทำนอกพื้นที่ บางร้านเลิกกิจการไป หรือย้ายไปเปิดกิจการในตัวเมืองพิจิตร แต่ก็ยังคงเหลือไว้ซึ่งร้านค้าที่ดำเนินกิจการต่อเนื่องกันมาตั้งแต่อดีต และมีชื่อเสียงจนสามารถดึงดูดลูกค้าจากตัวเมืองพิจิตรเข้ามาหาซื้อของได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสูตรโบราณที่หารับประทานได้ยาก ยังมีสถานที่สำคัญในตลาดวังกรด เช่น ศาลเจ้าพ่อวังกลม บ้านหลวงประเทืองคดี โรงหนังมิตรบรรเทิง เป็นต้น อีกทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวของย่านเก่าวังกรด ข้าวของเครื่องใช้ที่เคยใช้ในอดีตยังมีให้เห็นและยังถูกใช้งาน แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม ย่านเก่าวังกรดก็นี้ยังเต็มไปด้วยความผูกพันและอยู่ในความทรงจำของผู้คนชาวพิจิตรและคนทั่วไป

ย่านเก่าวังกรด ตั้งอยู่ในตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร มีระยะห่างจากตัวเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้ทั้งทางรถไฟและรถยนต์ส่วนตัว การเดินทางโดยรถไฟมีบริการรถไฟสายเหนือออกจากสถานีหัวลำโพงขบวนจอดรถที่สถานีวังกรดทุกวัน ชุมชนย่านเก่าวังกรดมีแม่น้ำน่านไหลผ่าน ซึ่งเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานของผู้คนคือเป็นที่ราบ นอกจากจะเหมาะสมในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์แล้ว แม่น้ำน่านยังเป็นเส้นทางการคมนาคมสำหรับติดต่อกับชุมชนอื่นๆ อีกด้วย บริเวณรอบนอกของชุมชนย่านเก่าวังกรดตำบลบ้านบุ่งมีหนองน้ำขนาดใหญ่และลำคลองหลายแห่ง เช่น หนองหันตรา หนองพระนารถ หนองย่านยาว คลองวังตานุ้ย เป็นต้น ประชาชนจึงมีน้ำใช้อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี โดยพื้นที่ชุมชนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลท่าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลหัวดง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลสายคําโห้ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลท่าหลวง และ ตำบลฆะมัง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร

ชุมชนย่านเก่าวังกรดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นภายใต้เขตพื้นที่ความดูและขององค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นคือ เทศบาลตำบลวังกรด โดยจำนวนประชากรในเขตเทศบาลตำบลวังกรด มีจำนวน 2,908 คน แยกเป็นชาย 1,437 คน หญิง 1,471 คน

จีน

ชุมชนย่านเก่าวังกรดตำบลบ้านบุ่งเป็นชุมชนที่มีอาชีพค้าขายเป็นหลัก และมีอาชีพรองคือการทำเกษตรและการประมง แต่ในระยะหลังนี้คนส่วนใหญ่เข้าไปค้าขายในเมือง แต่ยังคงมีพ่อค้า แม่ค้าที่ยังคงขายอยู่ในที่เดิมเพราะยังมีลูกค้าที่เป็นลูกค้าประจำอยู่ การค้าขายในแถบพื้นที่ชุมชน เช่น อาหาร ข้าวเปลือก ข้าวสาร สินค้าเบ็ดเตล็ด ฯลฯ อาชีพด้านเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน เช่น สวนมะนาว มะยงชิด ส้มเขียวหวาน พริกไทย อาชีพทำไร่ เช่น ไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย และอาชีพประมงน้ำจืด นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริมด้านการปศุสัตว์ เช่น เลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ ไก่ชน เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เช่น ปลาสวาย ปลาดุก ปลานิล ฯลฯ

ประเพณีที่สำคัญของชุมชนย่านเก่าวังกรด ตำบลบ้านบุ่ง ได้แก่ ประเพณีทำบุญกลางบ้าน ประเพณีทำบุญเดือนสาม ประเพณีการสรงน้ำพระและแห่ผ้าหลวงพ่อลือ ประเพณีกตัญญูสู่อ้อมกอด ประเพณีการเวียนเทียนวันวิสาขบูชา ประเพณีการทำบุญวันอัฏฐมีบูชา ประเพณีการถวายสลากภัต ประเพณีการแห่เทียนเข้าพรรษา ประเพณีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ ประเพณีแข่งเรือยาวประเพณีเทศกาลสารท ประเพณีทำบุญออกพรรษา ประเพณีการตักบาตรเทโว ประเพณีการตักบาตรข้าวต้ม ประเพณีการทอดกฐิน ประเพณีการลอยกระทง และประเพณีการไหว้เจ้าของชาวจีน

ประเพณีงานบุญกลางบ้าน เป็นประเพณีของชาวย่านเก่าวังกรดที่จัดภายนอกศาสนสถาน ชาวบ้านจะเลือกวันจัดที่เหมาะสม โดยจัดในบริเวณลานกว้างในหมู่บ้านที่เป็นสถานที่ที่เคยจัดกันมาเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นการชุมนุมชาวหมู่บ้านมาร่วมจัดงานประเพณีร่วมกัน โดยมีคติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ในการขอบคุณบรรพบุรุษที่ประทานความอุดมสมบูรณ์จนสามารถมีกินมีใช้และเป็นการสะเดาะเคราะห์คนในหมู่บ้านทั้งหมด และเสริมสร้างสิริมงคลแก่หมู่บ้านและชุมชน

ประเพณีทำบุญเดือนสาม (มาฆบูชา) ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (กุมภาพันธ์) ประชาชนในชุมชนย่านเก่าวังกรดจะใส่เสื้อผ้าสีขาวเพื่อเข้าวัดถือศีล ฟังธรรมร่วมกัน

ประเพณีสรงน้ำพระและแห่ผ้าหลวงพ่อลือ และประเพณีกตัญญูสู่อ้อมกอด ประเพณีการสรงน้ำพระสงฆ์และแห่ผ้าไปห่มหลวงพ่อลือและประเพณีกตัญญูสู่อ้อมกอดจัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายนของทุกปีเพื่อเป็นสิริมงคลต่อตัวเองและครอบครัว และขอขมาผู้มีพระคุณที่อาจเคยล่วงเกินไว้พร้อมทั้งขอพรจากพ่อ แม่และญาติผู้ใหญ่

ประเพณีเวียนเทียน ในวันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ช่วงเช้าประชาชนในชุมชนย่านเก่าวังกรดจะถวายอาหารแด่พระภิกษุพร้อมทั้งดอกไม้สดดอกไม้แห้ง ธูป เทียน ส่วนตอนเย็นจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปวัด ฟังเทศน์ฟังธรรม และเวียนเทียนรอบโบสถ์

วันอัฏฐมีบูชา จัดขึ้นระหว่างวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 (พฤษภาคม) ช่วงเช้าประชาชนในชุมชนย่านเก่าวังกรดก็จะนําอาหารมาทำบุญที่วัด และฟังเทศน์ฟังธรรมในตอนค่ำหลังจากนั้นจะมีการเวียนเทียนรอบโบสถ์เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ประชาชนที่ตั้งใจถือศีลก็จะนอนค้างที่ศาลาฟังธรรม

ประเพณีถวายสลากภัต ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 จัดเพื่อเป็นการสร้างบุญกุศลและเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว ซึ่งการถวายสลากภัตคือถวายภัตตาหาร หรือเครื่องสังฆทานที่ถวายพระตามสลาก โดยประชาชนในชุมชนย่านเก่าวังกรดจะแห่เครื่องจตุปัจจัยไทยทานไปที่วัดอย่างครึกครื้น แล้วให้มัคนายกจับสลากที่เขียนไว้ว่าตรงกับพระองค์ใด เป็นการปฏิบัติเพื่อไม่ให้ผู้ถวายสลากเกิดความรู้สึกยินดียินร้ายแก่ผู้รับทาน โดยทำในช่วงเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระวินัยบัญญัติไว้โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น ประชาชนในชุมชนย่านเก่าวังกรดจะร่วมกันจัดขบวนแห่และตกแต่งเทียนอย่างสวยงามเพื่อนไปถวายวัด

ประเพณีบวงสรวงแม่ย่านาง แม่ย่านาง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าสถิตอยู่ประจำเรือแต่ละลำ ชาวเรือที่ออกเรือต้องบูชากราบไหว้เพราะเชื่อว่าแม่ย่านางจะดลบันดาลให้มีโชคลาภหรือประสบความสำเร็จตามปรารถนาการแข่งเรือของวัดวังกลมนั้นจะแข่งหลังจากผ่านประเพณีการออกพรรษาแล้ว ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ของชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน นอกจากความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับชุมชนแล้วยังมีความสัมพันธ์กับวัดในฐานะที่วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นศูนย์กลางของความร่วมมือ การแข่งเรือช่วยเพิ่มความสนุกสนานสามัคคีให้กับชุมชน

ประเพณีเทศกาลสารท วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 (ตุลาคม) เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ ประชาชนในชุมชนย่านเก่าวังกรดจะนําดอกไม้ธูป เทียน สิ่งของต่างๆ ไปถวายแด่พระสงฆ์พร้อมทั้งนําโกฏิที่บรรจุกระดูกของญาติผู้ล่วงลับไปฟังธรรมด้วย

ประเพณีทำบุญออกพรรษา ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ธันวาคม) ประชาชนในชุมชนย่านเก่าวังกรดจะเตรียมอาหารคาว หวาน จัดอย่างสวยงามแล้วนําไปทำบุญที่วัดช่วงเช้า ช่วงบ่ายฟังเทศน์มหาชาติ

ประเพณีตักบาตรเทโว ตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ประชาชนในชุมชนย่านเก่าวังกรดจะจัดเตรียมอาหารคาวหวานเพื่อรอใส่บาตรบริเวณหน้าบ้านของตน โดยพระภิกษุจะมาเดินบิณฑบาตในช่วงเช้า

ประเพณีทอดกฐิน ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ประชาชนในชุมชนย่านเก่าวังกรดถือว่า พิธีเช่นนี้ได้ทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติเพราะได้บอกบุญแก่ญาติมิตรให้มาร่วมการกุศล เมื่อถึงกําหนดเวลาก็จะร่วมกันแห่องค์กฐินไปถวายพระที่วัดแล้วฟังเทศน์ฟังธรรมจนเสร็จพิธี

ประเพณีลอยกระทง ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ประชาชนในชุมชนย่านเก่าวังกรดจะขอขมาต่อพระแม่คงคาที่ได้ใช้น้ำ ได้ดื่มกินน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ รวมทั้งเป็นการขอบคุณพระแม่คงคาที่ใช้น้ำทั้งอุปโภคและบริโภค โดยการนําดอกไม้ธูป เทียนประดับลงในกระทงเพื่อลอยในแม่น้ำ

ประเพณีการไหว้เจ้าของคนไทยเชื้อสายจีน

การไหว้เจ้า เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนในชุมชนย่านเก่าวังกรดปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่และไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสิริมงคล และนํามาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว ในปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้า หลายครั้ง แต่ปัจจุบันเหลือไหว้ 3 ครั้ง คือ

  • ไหว้ครั้งแรกของปีไหว้เดือน 1 วันที่ 1 คือ เรียกว่า ตรุษจีน “ง่วงตั้งโจ่ย” เป็นเสมือนวันขึ้นปีใหม่ของจีนนั่นเอง นอกจากอาหารคาวหวานแล้ว ในการไหว้ตรุษจีนนั้น จะต้องมีการเตรียมกระดาษเงินกระดาษทอง สำหรับใช้ไหว้ด้วย เพราะคนจีนเชื่อกันว่า เมื่อตายไปแล้วจะไปยังอีกภพโลกหนึ่ง เรียกว่า "อิมกัง" ลูกหลานจึงต้องส่งเงินทองด้วยการเผากระดาษเงินกระดาษทองไปให้บรรพบุรุษได้ใช้เพื่อแสดงความกตัญญู

  • ไหว้ครั้งที่สอง ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานของชุมชนย่านเก่าวังกรดนําอาหารคาว หวานที่เป็นมงคลไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย

  • ไหว้ครั้งที่สาม ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า “ตงง้วงโจ่ย” สารทจีนเทศกาลนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “จงหยวนเจี๋ย” แต่ชื่อทั่วไปนิยมเรียกว่า ชิกงวยปั่ว (แต้จิ๋ว) แปลว่า (เทศกาล) กลางเดือนเจ็ด เป็นวันไหว้ใหญ่ของประชาชนในชุมชนย่านเก่าวังกรด โดยไหว้ทั้งผีบรรพชนและผีไม่มีญาติ

1.หลวงประเทืองคดี

หลวงประเทืองคดีเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2425 เดิมชื่อนายชม ผดุงศิริ มีภรรยาชื่อนางเสงี่ยม เป็นลูกครึ่งไทย-จีน ใช้แซ่โค้ว มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน คือ นางบุญยง กัณฑษา (ผดุงศิริ) นางบุญยิ่ง ผดุงศิริ นางนงเยาว์ ผดุงศิริ นายบุญเยี่ยม ผดุงศิริ หลวงประเทืองคดีมีอาชีพรับราชการเป็นอัยการและต่อมาเป็นนายกเทศมนตรีคนแรกของเมืองพิจิตร เป็นบุคคลที่มีความสำคัญของชุมชนย่านเก่าวังกรด ดังนี้

1) ในฐานะผู้ริเริ่มและให้การสนับสนุนให้ชาวบ้านสร้างตลาดวังกรดท่านได้สร้างโรงสีข้าวโรงแรกของวังกรด สร้างโรงแรมสุขเสมอบริเวณริมน้ำน่าน ซึ่งเป็นบ้านเลขที่ 1 ของหมู่ที่ 1(บริเวณใกล้ศาลเจ้าพ่อวังกลมปัจจุบัน) โดยมอบให้ลูกน้องเป็นผู้ดูแล

2) เป็นผู้นําในการสรางศาลเจ้าพ่อวังกลม

3) เป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารี ช่วยเหลือประชาชนเมื่อมีความเดือดร้อน เช่น เรื่องคดีความ เรื่องอาชีพท่านมีที่ดินว่างอยู่ท่านก็แบ่งให้คนจีนที่ฐานะยากจนมาปลูกผักทำสวน เป็นต้น

2.พระครูวิจิตรธรรมาภรณ์ (เปลี่ยน กัลยาณเสวี)

พระครูวิจิตรธรรมาภรณ์ (เปลี่ยน กัลยาณเสวี) ร่มโพธิ์ร่มไทรของชาวชุมชนย่านเก่าวังกรด มีความสำคัญต่อชุมชนย่านเก่าวังกรด ดังนี้

1) เป็นพระเถระที่ชาวพุทธศาสนิกชนทั่วไปเคารพนับถือ มีจริยาวัตรน่าเลื่อมใส มีความสงบเยือกเย็นและเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ผู้ที่มีโอกาสร่วมสนทนาหรือเข้าไปนั่งใกล้ๆ ย่อมรู้สึกตนเองเสมือนว่าได้นั่งใต้ร่มไม้ใหญ่ที่มีแต่ความร่มรื่นและสงบเยือกเย็น

2) ท่านเป็นผู้ริเริ่มสร้างพระเครื่องหลวงพ่อลือรุ่นแรกจากตำราของหลวงพ่อเงินและหลวงพ่อเดิมจนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในตำบลบ้านบุ่งและตำบลใกล้เคียง

3) เป็นที่พึ่งทางใจของชาวชุมชนย่านเก่าวังกรด

3.นายชัยรัตน์ วงศ์เกียรติ์ขจร

นายชัยรัตน์วงศ์ เกียรติ์ขจร เป็นผู้ประพันธ์และขับร้องเพลงชื่อ “วังกรดก้าวไกล” ให้กับชุมชนย่านเก่าวังกรด นายชัยรัตน์เกิดที่ย่านเก่าวังกรด ได้รับปริญญาบัญชีบัณฑิต (สาขาบัญชีต้นทุน) จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนใจทางด้านการแต่งเพลงและเขียนบทร้อยกรองตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตจุฬา เคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดเขียนบทกลอนของชมรมวรรณศิลป์ เขียนเพลงประกอบละครโทรทัศน์ให้กับไทยทีวีสีช่อง 3 เพลงประกอบภาพยนตร์ละครเวทีเพลงเฉลิมพระเกียรติในโอกาสต่างๆ นายชัยรัตน์วงศ์เกียรติขจร มีความสำคัญกับชุมชนย่านเก่าวังกรดดังนี้

1) สร้างชื่อเสียงให้กับชาวชุมชนย่านเก่าวังกรดอย่างมาก เช่น รางวัลแผ่นเสียงทองคําพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในปี พ.ศ. 2522 รางวัลชนะเลิศโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สามบรมราชกุมารีจากการประกวดเพลงเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2531 รางวัลชนะเลิศ 2 รางวัล ในการประกวดเพลงสถาบันของมหาวิทยาลัยรามคําแหง ปีพ.ศ. 2522 รางวัลชนะเลิศการประกวดเพลง เนื่องในวันครูครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2529 จัดโดยคุรุสภา ฯลฯ

2) ประพันธ์และขับร้องเพลง “ย่านเก่าวังกรด” ให้กับเทศบาลตำบลวังกรด

4.นายดุสิต ปั้นเกิด

นายดุสิต ปั้นเกิด หรือ ช่างสิตช่างทำพาย ที่ผันตัวเองจากอดีตนักกีฬาพายเรือทีมชาติไทยและช่างเฟอร์นิเจอร์ไม้หันมาทำพายไว้สำหรับพายเรือยาวส่งจําหน่ายให้กับทีมแข่งเรือยาวทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้เดือนละกว่า 1 หมื่นบาท

ภูมิปัญญาชุมชน : การขุดเรือยาว

การขุดเรือยาวเป็นการขุดเรือจากต้นไม้ต้นเดียวตลอดทั้งลำพื่อนำไปแข่งขันในประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง การขุดเรือยาวของชุมชนย่านเก่าวังกรดในยุคก่อนนั้นชาวบ้านจะร่วมมือกันขุดที่วัด ใช้ชื่อวัดเป็นชื่อผู้ส่งเข้าแข่งขันเพื่อเป็นมงคลนาม เป็นจุดรวมใจของชาวบ้านและฝีพาย สำหรับวัดวังกลมได้ทุนทรัพย์จากชาวบ้านที่ร่วมแรงร่วมใจกันขุดเรือนี้ใช้ไม้ตะเคียนทองต้นเดียวตลอดทั้งลำมีลักษณะรูปท้องขัน (แบน) และท้องรูปกระทะ ไม้ตะเคียนนอกจากเป็นไม้เนื้อแข็ง มีเนื้อเหนียว ลอยน้ำ และพุ่งน้ำได้ดี มีน้ำหนักพอประมาณ แช่น้ำได้นาน ไม่ผุง่าย ยังมีความเชื่อกันว่ามีนางไม้หรือนางตะเคียนอาศัยอยู่ เมื่อนํามาขุดเป็นเรือยาวก็จะเชิญนางไม้เป็นแม่ย่านางเรือ เชื่อกันว่าจะนําชัยชนะและความสำเร็จมาให้ 

ภาษาพูด : ภาษาไทย

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลมลักษณ์ ธนานันต์เมธี และคณะ. (2563). โครงการศึกษาการท่องเที่ยวเมืองเก่า เล่าอดีต สู่พลวัตใหม่ โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายชุมชนย่านเก่าวังกรด ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร. รายงานฉบับสมบูรณ์. สำนักสนับสนุนกองทุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.

เทศบาลตำบลวังกรด. (2565). ย่านเก่าวังกรด. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.wkmu.go.th/

เทศบาลตำบลวังกรด. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.wkmu.go.th/

ทต.วังกรด โทร. 0-5668-5053