ชุมชนชาติพันธุ์ลัวะในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา สถานที่ที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เสริมสร้างรายได้และเศรษฐกิจเพื่อความอยู่ดีกินดีของคนในชุมชน
ตั้งชื่อตามลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน คือ ห้วยแจรงหลวง
ชุมชนชาติพันธุ์ลัวะในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา สถานที่ที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เสริมสร้างรายได้และเศรษฐกิจเพื่อความอยู่ดีกินดีของคนในชุมชน
บ้านแจรงหลวงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาหลายชั่วอายุคน ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าย้ายมาจากถิ่นฐานใด ทราบเพียงว่าชื่อหมู่บ้านตั้งตามลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน คือ ห้วยแจรงหลวง ในปี พ.ศ. 2510 เกิดภัยสงครามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้ามาคุกคามหมู่บ้าน ส่งผลให้ประชาชนบ้านแจรงหลวงต้องอพยพไปอยู่ที่บ้านป่ากลาง ตำบลป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยมีหน่วยงานราชการเป็นผู้จัดที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินให้ชาวบ้านชั่วคราว ภายหลังเมื่อเหตุการณ์ภัยสงครามสงบลงในปี พ.ศ. 2523 ชาวบ้านจึงเริ่มทยอยกลับมาอาศัยอยู่ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน
ที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อ
บ้านแจรงหลวงตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ห่างจากตัวจังหวัดน่านประมาณ 96 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน มีพื้นที่ราบเพียงเล็กน้อยโดยจะมีพื้นที่ราบอยู่ใกล้บริเวณลำห้วยน้ำปัวซึ่งไหลผ่านทิศตะวันตกด้านล่างของหมู่บ้าน และมีลำห้วยแจรงหลวงไหลผ่านทิศเหนือของหมู่บ้าน บางพื้นที่ของหมู่บ้านจะเป็นภูเขาผา มีถ้ำอยู่หลายแห่ง ไม่สามารถใช้ทำการทำการเกษตรได้ แต่เหมาะที่จะใช้เป็นแหล่งต้นน้ำหรือสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่าการเกษตร สำหรับพื้นที่ทำกินจะใช้พื้นที่ตามไหล่เขาบริเวณแนวขอบเขตที่ตั้งของหมู่บ้าน เนื่องจากสภาพพื้นที่ทำกินของหมู่บ้านมีหน้าดินตื้นเสี่ยงต่อการพังทลายสูง ชุมชนจึงทำการเกษตรแบบบหมุนเวียนเพื่อเป็นการรักษาหน้าดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน บ้านแจรงหลวงมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หน่วยจัดการต้นน้ำปัว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านน้ำปัวพัฒนา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตอำเภอบ่อเกลือ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านกอก-จูน
สภาพอากาศ
ด้วยสภาพพื้นที่หมู่บ้านตั้งอยู่บนเขาสูงและอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และมีภูเขาล้อมรอบหมู่บ้าน ส่งผลให้หมู่บ้านมีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ในฤดูหนาวอากาศจะหนาวถึงหนาวจัด ส่วนในช่วงฤดูฝนฝนตกชุก และในช่วงฤดูร้อนอากาศจะเย็นสบายไม่ร้อนจัดมีลมพัดอยู่ตลอดเวลา
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านแจรงหลวง ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 203 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 106 คน ประชากรหญิง 97 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 43 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567) ประชาชนที่อาศัยอยู่ที่บ้านแจรงหลวงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ซึ่งภายในชุมชนบ้านแจรงหลวงประกอบด้วย 3 ตระกูลใหญ่ ดังนี้
1) ตระกูลทาแปง เป็นตระกูลใหญ่ที่สุดในหมู่บ้าน มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด จึงเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลต่อหมู่บ้านมาก ผู้นำชุมชนส่วนใหญ่จะมาจากตระกูลทาแปง โดยสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
2) ตระกูลใจปิง มีจำนวนสมาชิกรองลงมา ตระกูลนี้อพยพถิ่นฐานมาจากบ้านห้วยปอ อำเภอบ่อเกลือ
3) ตระกูล ณ ชน ตระกูลนี้มาจากบ้านตาน้อย
มีอิทธิพลต่อหมู่บ้านมากที่สุดเนื่องจากมีจำนวนประชากรที่มาก ผู้นำชุมชนส่วนใหญ่จะมาจากตระกูลทาแปง สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและความสัมพันธ์ของคนตะกูลในหมู่บ้านจะรับสายตระกูลตามผีของมารดา
ลัวะ (ละเวือะ)ชาวบ้านแจรงหลวงมีอาชีพหลัก คือ การทำไร่ข้าว รองลงมา คือ การปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ หาของป่า และรับจ้างทั่วไปตามลำดับ มีบางครอบครัวจะขุดไร่เพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกโดยรายได้เฉลี่ยประมาณ 15,000 บาทต่อครอบครัว การปลูกพืชไร่ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวลัวะซึ่งผลผลิตจะเก็บไว้บริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้นไม่สามารถนำไปขายได้ เนื่องจากผลผลิตที่น้อย แม้จะทำไร่หลายแปลงแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค การปลูกข้าวได้จึงเป็นการผลิตเพื่อการบริโภคเท่านั้นไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์ นอกจากนี้ หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวชาวบ้านมักจะไปรับจ้างยังพื้นที่ต่างถิ่น โดยมีนายจ้างเดินทางเข้ามารับถึงหมู่บ้าน เช่น การรับจ้างทำไร่ข้าวโพด รับจ้างปลูกผัก งานก่อสร้าง ค่าตอบแทนที่ได้จะนำมาใช้จ่ายภายในครัวเรือน ปกติแล้วจะไปรับจ้างประมาณ 1-2 เดือนแล้วจึงเดินทางกลับบ้าน โดยอาชีพรับจ้างสร้างรายได้เฉลี่ยครอบครัวละประมาณ 5,000-10,000 บาทต่อปี
ชุมชนบ้านแจรงหลวงนับถือผีเป็นศาสนาแรกของชุมชน เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่มีรากเหง้ามาจากความเชื่อเดิมของชุมชน แต่ต่อมาทางการเข้ามากำหนดการนับถือศาสนา ทำให้ศาสนาพุทธเข้ามามีบทบาทภายในชุมชน เกิดการผสมผสานทางศาสนา ส่งผลให้ชาวบ้านแจรงหลวงในปัจจุบันส่วนใหญ่นับถือผีควบคู่กับศาสนาพุทธ
ด้านประเพณีและวัฒนธรรม ชุมชนบ้านแจรงหลวงยังคงดำรงรักษารวมถึงอนุรักษ์ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ เช่น ประเพณีกินดอกแดง จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว โดยเจ้าของไร่จะต้องเตรียมไก่ เหล้า กรวยดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อให้หมอผีเป็นผู้ประกอบพิธี ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ เป็นพิธีบอกกล่าวต่อวิญญาณบรรพบุรุษให้คุ้มครองรักษาสมาชิกในบ้านหลังใหม่ และประเพณีผูกขวัญ สามารถทำได้หลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการผูกขวัญเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวหายจากการเจ็บป่วย รวมถึงเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตัวบุคคลเอง
แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติบ้านแจรงหลวง
ชุมชนบ้านแจรงหลวงเป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ บริเวณผืนป่ามีความหลากหลายของพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าหายาก รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จากที่กล่าวมาส่งผลให้ชาวบ้านแจรงหลวงเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมชุมชนของตนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยบ้านแม่แจรงหลวงมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสำคัญ ดังนี้
1) ถ้ำเสือดาว เมื่อ พ.ศ. 2529 มีพรรคคอมมิสนิสต์กลุ่มว้าแดงเข้ามาหลบซุ่มเตรียมกำลังพลยังถ้ำแห่งนี้ เมื่อสงครามสงบกลุ่มคอมมิวนิสต์เข้ามอบตัวกับทางการ ชาวบ้านจึงย้ายเข้ามาอาศัยที่ถ้ำเสือดาวแทน ระยะแรกเรียกว่า “ถ้ำดิน” แต่ต่อมามีเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจบริเวณถ้ำ พบว่า ในถ้ำมีลวดลายคล้ายลายเสือดาวจึงเปลี่ยนชื่อว่า “ถ้ำเสือดาว” โดยถ้ำเสือดาวมีระยะทางห่างจากหมู่บ้านแจรงหลวงประมาณ 2 กิโลเมตร
2) ถ้ำยอดวิมาน ภายในถ้ำมีปรากฏการณ์หินงอกหินย้อยตลอดเวลา ซึ่งเป็นที่สนใจให้กับนักท่องเที่ย
3) น้ำตกวังเขียว น้ำตกแอ่งผาขนาดกว้างและลึก สามารถมองเห็นธารน้ำเป็นสีเขียวดั่งมรกต สามารถเดินทางไป-กลับจากบ้านแจรงหลวงประมาณ 2 ชั่วโมง
ภาษาพูด : ภาษาลัวะ ภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษากลาง
ภาษาเขียน : อักษรไทย
ดอยภูคา
ภาพน่าน. (2564). เส้นทางบ้านเต๋ยถึงบ้านแจรงหลวง. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567. จาก https://www.facebook.com/
เสกสรร พิศจาร. (2558). โครงการการศึกษารูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนชุมชนบ้านแจรงหลวง หมู่ 4 ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.