"แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เสน่ห์ชุมชนตามวิถีอิสลาม" จากแนวคิดการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมสู่การเริ่มพัฒนาการท่องเที่ยว โดยสมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วม ภายใต้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าจากวัสดุธรรมชาติ กระทั่งได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 81 ชุมชนท่องเที่ยว New Normal จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ในระยะแรกของการอพยพเข้ามาก่อตั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านมีอาชีพทำนา โดยที่นาของชาวบ้านอยู่บริเวณที่เรียกว่า "ปละตีน" หมายถึง ทิศเหนือของบ้านใหญ่ จึงนำมาเอาเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านเป็น "นาตีน" คือ ที่นาทางทิศเหนือ
"แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เสน่ห์ชุมชนตามวิถีอิสลาม" จากแนวคิดการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมสู่การเริ่มพัฒนาการท่องเที่ยว โดยสมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วม ภายใต้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าจากวัสดุธรรมชาติ กระทั่งได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 81 ชุมชนท่องเที่ยว New Normal จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
"นาตีน" เป็นชื่อหมู่บ้านในตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ เริ่มแรกการก่อตั้งชุมชนผู้คนอพยพมาจากหลากหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่จังหวัดกระบี่และพื้นที่ใกล้เคียงที่อพยพเข้ามาเพื่อต้องการพื้นที่ทำกิน บุกเบิกพื้นที่เพื่อปลูกผลไม้และยางพารา บริเวณบ้านนาตีนเดิมเป็นทุ่งนา ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา และที่นาของชาวบ้านนี้อยู่บริเวณ "ปละตีน" หมายถึง ทิศเหนือของบ้านใหญ่ จึงนำมาเรียกชื่อเป็นหมู่บ้านว่า "บ้านนาตีน" ตั้งแต่นั้นมา
บ้านนาตีน เป็นชุมชนเล็ก ๆ ชาวบ้านอยู่ร่วมกันมาด้วยความผาสุก มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ประกอบอาชีพทำการประมงชายฝั่ง ทำสวนยาง สวนมะพร้าว และสวนผลไม้ บ้านนาตีนมีเอกลักษณ์ของชุมชนที่โดดเด่นในเรื่องของการเรียนการสอนศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิมที่เก่าแก่ที่สุดในพื้นที่ที่ร่ำเรียนกันมาหลายชั่วอายุคนที่ปอเนาะครุเดีย นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่โดดเด่นและวิถีชีวิตชุมชนที่เรียบง่ายตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านนาตีน หมู่ที่ 4 ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองกระบี่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองกระบี่ประมาณ 15 กิโลเมตร นอกจากนี้ บ้านนาตีนยังตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดกระบี่ ได้แก่ เกาะพีพี หาดนพรัตน์ธารา เกาะปอดะ เกาะไผ่ เกาะสามหน่วย เกาะต่อ บ้านาตีนมีอาณาเขตติดต่อพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านหนองทะเล ตำบลหนองทะเล
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 บ้านคลองสน ตำบลอ่าวนาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 บ้านทุ่ง และหมู่ที่ 1 บ้านช่องพลี ตำบลอ่าวนาง
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านนาตีนมีลักษณะเป็นที่ราบ ใช้สำหรับเป็นพื้นที่การเกษตร และบางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขา ซึ่งสามารถแบ่งพื้นที่เป็นพื้นที่ราบอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน พื้นที่ราบเชิงเขาอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านมีภูเขาใช้ประโยชน์ได้ในบริเวณหุบเขา โดยพื้นที่ภูเขาอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านนาตีน
สภาพภูมิอากาศ
บ้านนาตีน มีสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมในเขตร้อน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทำให้ฝนตกชุกตลอดทั้งปี ฤดูกาลมี 2 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนเมษายน
- ฤดูฝน เริ่มเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนธันวาคม
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านนาตีน ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,242 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,087 คน ประชากรหญิง 1,155 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 1,703 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567)
ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการประมงชายฝั่ง ทำสวนยาง สวนมะพร้าว และสวนผลไม้ เช่น ลองกอง เงาะ มะพร้าว ทุเรียน มังคุด สะตอ แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนผ่าน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่บ้านนาตีนและชุมชนใกล้เคียง และเนื่องด้วยบ้านนาตีนเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวในตำบลอ่าวนาง หมู่บ้านจึงได้มีการพัฒนายกระดับให้ตนเองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นำเสนอเรื่องราวภูมิปัญญาของชุมชนมุสลิม โดยเริ่มแรกมีการรวมสมาชิกในหมู่บ้านที่สนใจหารายได้เพิ่มด้วยการผลิตสินค้าที่ระลึกต่าง ๆ เช่น การทำเรือหัวโทงจำลอง การนำกะลามะพร้าว ผ้าบาติก กระดาษใยสับปะรด มาแปรรูปเป็นสินค้าที่ระลึก รวมถึงการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวให้แก่เหล่านักท่องเที่ยวได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวมุสลิมบ้านนาตีน เช่น ประกอบอาหารและรับประทานอาหารร่วมกับชาวบ้าน เดินป่าเที่ยวถ้ำ ดำน้ำดูปะการัง ล่องเรือเที่ยวชมหมู่เกาะต่าง ๆ เช่น เกาะปอเดะ และทะเลแหวก อีกทั้งยังได้มีการจัดสร้างบ้านพักโฮมสเตย์สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาพักค้างแรมในชุมชนด้วย ปัจจุบัน บ้านนาตีนถือเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากเหล่านักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวชมหมู่บ้าน พักค้างแรมในโฮมสเตย์ และทำกิจกรรมการท่องเที่ยวร่วมกับชาวบ้านเป็นจำนวนมาก
ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในปี 2544 มีการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน โดยการดำเนินงานของ 3 กลุ่มเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว คือ กลุ่มแปรรูปผ้าบาติก กลุ่มน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และกลุ่มข้าวซ้อมมือ แต่ในปัจจุบันมีการดำเนินงานใน 8 กลุ่มกิจกรรม ดังนี้
- กลุ่มกะลามะพร้าว
- กลุ่มโฮมสเตย์บ้านนาตีน
- กลุ่มนาตีนบาติก
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงพื้นบ้าน
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรือหัวโทงจำลอง
- บ้านสวนนาตีนฟาร์มสเตย์
- กลุ่มข้าวซ้อมมือ
- วิสาหกิจชุมชนอ่าวนางฟาร์มแพะ
ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ได้มีโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนบ้านนาตีน "นาตีนกรีนวิลเลจเฟสติวัล" หรือ "หลาดประตีน" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนบ้านนาตีนรวมถึงหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลอ่าวนาง ทั้งยังเป็นการส่งเสริมอาชีพ ให้กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในตำบลอ่าวนางได้ออกร้านจำหน่ายสินค้า อาหาร ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ปลูกจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมโดยหันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติในการบรรจุหีบห่ออาหาร เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมของตำบลอ่าวนางให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี ลดปริมาณขยะประเภทพลาสติกและโฟม เปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสร้างรายได้จากการนำทรัพยากรในพื้นที่มาต่อยอดสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่ยังรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนไว้ได้เป็นอย่างดี (องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่, 2563)
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
- ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากกะลามะพร้าวที่ไม่ใช้แล้ว นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ ของที่ระลึก ได้แก่ โคมไฟฟ้า ชุดกาแฟ แก้วน้ำ เข็มขัด กระดุม ต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ สัตว์ชนิดต่าง ๆ
- เรือหัวโทงจำลอง หรือเรือจิ๋ว
- ผลิตภัณฑ์จากผ้าบาติก เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าคลุมไหล่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป
กิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน
- ศูนย์การเรียนรู้กะลาบ้านนาตีน : มีสินค้าที่ระลึกรูปแบบไม่ซ้ำใคร และนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสามารถทดลองทำเครื่องประดับจากกะลามะพร้าวได้
- กิจกรรมสวนไพรวิถี : มีฐานเรียนรู้เดินชมป่าหลายฐาน เช่น เรียนรู้การดักจับปูดำ การลอกใบจาก การเย็บใบจาก และการทำขนมจาก
- กิจกรรมศึกษาการเลี้ยงแพะ : สาธิตการเลี้ยงแพะอย่างถูกหลักอนามัยตามหลักของศาสนาอิสลาม
ชาวบ้านนาตีนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีวิถีชีวิตตามฉบับของชาวมุสลิมแบบดั้งเดิม ที่สำคัญคือเป็นชุมชนเดียวที่ยังคงสืบทอดการสอนศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิมที่ปอเนาะครุเดีย โดยหลักศาสนานี้นับว่าเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ตลอดจนพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวบ้านนาตีนตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น งานแต่งงาน การละหมาด การถือศีลอด มีมัสยิดชุมชนเป็นศูนย์รวมในการทำพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา
1.นายสา บุตรแขก : ผู้รู้ด้านศาสนาอิสลาม
2.นางอาเหร๊ะ คำดี : ผู้รู้ด้านอาหารพื้นบ้าน (เครื่องแกง)
3.นางกอย เครือแก้ว : ผู้เชี่ยวชาญด้านการนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ
4.นายหยาห์ โสภี : ผู้รู้ด้านงานไม้ (ต่อเรือ จักสานไม้ไผ่)
5.นายวิชิต สะมาน : ผู้รู้ด้านงานไม้ (ต่อเรือ สร้างบ้านไม้แบบโบราณ)
6.นางใบ่ด๊ะ บุตรแขก : ผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนบาติก
7.นางฉาว กิ่งหมัน : ครูด้านการขับกลอน
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : อักษรไทย
พัฒนาการการท่องเที่ยวบ้านนาตีน
พัฒนาการการจัดการการท่องเที่ยวบ้านนาตีนนั้นเริ่มขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2544 เริ่มต้นจากแกนนำชุมชนกลุ่มหนึ่งมีแนวคิดที่ว่า พื้นที่ตำบลอ่าวนางเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตของการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความเจริญได้รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านหลายรายขายที่ดินบางส่วนให้กับนายทุนเพื่อปลูกสิ่งก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในรูปแบบสมัยใหม่รองรับธุรกิจการท่องเที่ยว ชาวบ้านชุดแกนนำจึงมีความคิดเห็นว่า หากปล่อยให้ความเจริญเข้ามาในพื้นที่โดยคนในชุมชนละเลยการปฏิบัติตามวิถีวัฒนธรรมที่ยึดมั่นดำรงตนตามหลักศาสนาอิสลาม อาจจะส่งผลเสียต่อชุมชนโดยส่วนรวมได้ จึงหาแนวทางเพื่ออนุรักษ์วิถีชุมชน โดยเริ่มพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนบ้านนาตีน ให้สมาชิกในกลุ่มมีส่วนร่วมทุกกระบวนการในการดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน แล้วกระจายรายได้ให้แก่กลุ่มสมาชิกเชื่อมโยง ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าในชุมชน ผู้ประกอบการรถตุ๊ก ๆ ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว บริษัทนำเที่ยว ชาวบ้านที่ปลูกมะพร้าวนำกะลามะพร้าวมาจำหน่ายยังศูนย์การท่องเที่ยวบ้านนาตีน และอื่น ๆ
ชุมชนท่องเที่ยวบ้านนาตีน ได้รับการสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภายนอกอื่น ๆ ในการสนับสนุนการให้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวในวิถีวัฒนธรรม ชุมชนท่องเที่ยวบ้านนาตีนได้เข้าร่วมเครือข่ายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในหลายหน่วยงาน กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่ ในปี 2563 หลังสถานการณ์ COVID-19 ชุมชนท่องเที่ยวบ้านนาตีนได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 81 ชุมชนท่องเที่ยว New Normal จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) (องค์การมหาชน) และได้รับรองมาตรฐาน SHA (Safety & Health Administration) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นาตีนกรีนวิลเลจเฟสติวัล
นาตีนกรีนวิลเลจเฟสติวัล คือ กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนในตำบอ่าวนาง เพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มช่องทางการค้าให้กับพี่น้องประชาชนหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย โดยการจัดงานภายใต้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใช้วัสดุและภาชนะในท้องถิ่น แบบเรียบง่าย เช่น ใบตอง กระบอกไม้ไผ่ ใบจาก ใบกะพ้อและต้นพืชตระกูลปาล์ม วัสดุธรรมชาติที่มีในท้องถิ่น มาบรรจุอาหาร และเครื่องดื่ม สนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่นของตนเอง นอกจากนี้ ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมของเยาวชน เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตท้องถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมในตำบลอ่าวนาง ตลอดจนยังเป็นการส่งเสริมอาชีพกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน โดยการจัดตลาดสีเขียว หันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติในการบรรจุหีบห่ออาหาร เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมของตำบลอ่าวนางให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีต่อไป
ฐนผการจ คงอินทร์. (2545). การศึกษาศักยภาพของชุมชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน: กรณีศึกษาบ้านนาตีน ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
นาตีนกรีนวิลเลจ. (2561). สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/LamBancha
นาตีนกรีนวิลเลจ. (2563). สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/LamBancha
นาตีนกรีนวิลเลจ. (2566). สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/LamBancha
นาตีนกรีนวิลเลจ. (2567). สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/LamBancha
สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดกระบี่. (ม.ป.ป.). บ้านนาตีน. สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567, จาก http://book.culture.go.th/
บ้านนาตีน กระบี่. (2561). สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/
บ้านนาตีน กระบี่. (2567). สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่. (2564). นาตีนกรีนวิลเลจเฟสติวัล 2021. สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567, จาก https://krabi.prd.go.th/th/
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (2561). ชุมชนท่องเที่ยวบ้านนาตีน. สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567, จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/
องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่. (2563). เปิดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน นาตีนกรีนวิลเลจเฟสติวัล ครั้งที่ 3 6-8 มีนาคม นี้ ณ สวนป่าชุมชนบ้านนาตีน หมู่ที่ 4 ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่. สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567, จาก https://krabipao.go.th/networknews/
องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง. (ม.ป.ป.). หมู่ที่ 4 บ้านนาตีน. สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567, จาก http://www.aonang.go.th/
KRABI LOCAL. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านนาตีน. สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567, จาก https://krabilocal.com/krabi-local-communities/baan-na-teen/