บ้านแม่ลามาน้อย ชุมชนชาติพันธุ์บนดอยสูงของจังหวัดแม่ฮ่องสอน สถานที่ที่ผู้มาเยือนจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่คนอยู่ร่วมกับป่า ชมดอกไม้หลากสีละลานตาในไร่หมุนเวียน
บ้านแม่ลามาน้อย ชุมชนชาติพันธุ์บนดอยสูงของจังหวัดแม่ฮ่องสอน สถานที่ที่ผู้มาเยือนจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่คนอยู่ร่วมกับป่า ชมดอกไม้หลากสีละลานตาในไร่หมุนเวียน
เดิมพื้นที่หมู่บ้านแม่ลามาน้อยตั้งอยู่พื้นที่ทำไร่นา ทางเข้าหมู่บ้านเคยเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนมาก่อน ซึ่งจากคำบอกเล่าของคนในชุมชน ช่วงแรกของการตั้งถิ่นฐานมีเพียง 12 หลังคาเรือน เมื่อวัสดุในการสร้างบ้าน (ไม้ไผ่ซาง) เริ่มหมดลง ชาวบ้านจึงค่อย ๆ ถอยร่นลงมาเรื่อย ๆ ประกอบกับที่ตั้งบ้านเรือนจำเป็นต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อบริโภคและประกอบอาชีพ การเลือกพื้นที่การตั้งหมู่บ้านจึงขึ้นอยู่กับความเชื่อและผู้นำในสมัยนั้นด้วย
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านแม่ลามาน้อยมีชายแดนติดต่อกับประเทศเมียนมาเป็นแนวยาวประมาณ 53 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลามาน้อย ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยทิวเขาสูงสลับซับซ้อน เรียงขนานเป็นแนวเหนือจรดใต้ และมีแนวเขตชายแดนแม่น้ำสาละวินกั้น มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยแห้ง บ้านชิวาเดอ และบ้านเครอะบอ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแม่ตอละ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแม่ลามาหลวง ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านโตแฮ บุญเลอน้อย บุญเลอ และบ้านปู่คำ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของชุมชนบ้านแม่ลามาน้อยแบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว เริ่มในเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ฤดูฝนเริ่มช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ซึ่งจะมีฝนตกชุกส่งผลให้การสัญจรลำบาก และฤดูร้อนเดือนมีนาคมถึงเมษายน อุณหภูมิช่วงกลางวันร้อนจัดและตอนเย็นอุณหภูมิจะลดลง
ทรัพยากรธรรมชาติ
- ป่าไม้ เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ เป็นทั้งแหล่งหาอาหาร พืชผัก สมุนไพร ตัดฟืน ล่าสัตว์ และเป็นที่อยู่อาศัย ชาวบ้านมีความผูกพันกับป่า ทั้งยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นเหตุให้ชาวบ้านแม่ลามาน้อยมีการบวชป่าเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติอยู่เป็นประจำ
- แหล่งน้ำ บ้านแม่ลามาน้อยเป็นหมู่บ้านที่อยู่ปลายน้ำ มีน้ำไหลมาจาก 3 หมู่บ้าน ซึ่งในหมู่บ้านอาศัยประปาภูเขาในการอุปโภคบริโภค ปัจจุบันยังไม่พบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทว่า พบปัญหาเรื่องของความสะอาดของน้ำแทน เนื่องจากเป็นหมู่บ้านปลายน้ำทำให้ระบบน้ำที่ส่งมาถึงยังไม่สะอาดเพียงพอ
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 7 บ้านห้วยกระต่าย ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 329 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 179 คน ประชากรหญิง 150 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 152 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในชุมชน คือ กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีทั้งโปว์และสะกออยู่รวมกันจนแยกไม่ออก กลุ่มเครือญาติกันจะตั้งบ้านเรือนอยู่ในละแวกเดียวกัน ตระกูลของผู้นำทางจิตวิญญาณหรือฮีโข่จะเป็นตระกูลที่ใหญ่ที่สุด ในสมัยก่อนจะให้กำเนิดลูกหลายคน เนื่องจากต้องการใช้แรงงาน แต่ปัจจุบันลดน้อยลงเนื่องจากมีการเข้าถึงยาคุมกำเนิด ลูกที่แต่งงานกันแล้วจะย้ายออกมาตั้งครอบครัวเอง แต่จะอยู่ใกล้เคียงกับบ้านของพ่อแม่
ปกาเกอะญอ, โพล่งประชากรบ้านแม่ลามาน้อยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำไร่หมุนเวียนเป็นหลัก มีการปลูกข้าวไร่ ข้าวนา พริก ฟักทอง มันสำปะหลัง เผือก กล้วย และบุก โดยรายได้หลักของคนในชุมชนส่วนใหญ่มาจากการปลูกบุก บางครอบครัวปลูกได้ผลผลิตจำนวนมากปีละกว่า 300-500 กิโลกรัม โดยสามารถหาพันธุ์บุกได้ในป่าเพื่อนำมาปลูก รายได้อีกอย่างก็มาจากการเก็บพลูขาย ใบพลูที่ผ่านกระบวนการต้มให้สุกแล้วจะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อในหมู่บ้าน ส่วนพืชพรรณที่อยู่ในไร่หมุนเวียนจะปลูกไว้สำหรับบริโภค ได้แก่ ข้าว พริก งาขาว มะเขือ ฟักทอง บวบ ถั่วพู แตง เผือก มัน ผักเผ็ด มะนอย นอกจากนี้มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ หมู ไก่ และปลา เพื่อบริโภคและประกอบพิธีกรรม
ชุมชนบ้านแม่ลามาน้อยมีการนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการนับถือผี และมีบางส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์ โดยปัจจุบันการตั้งบ้านเรือนจะแยกระหว่างพุทธกับคริสต์ โดยมีพิธีกรรมความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ละศาสนาจะมีความเชื่อที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย อยู่ในชีวิตประจำวันและการดำเนินกิจการงานต่าง ๆ เช่น
- ประเพณีมัดมือ ใน 1 ปีจะประกอบพิธี 2 ครั้ง สมาชิกในครอบครัวต้องอยู่พร้อมหน้ากันทุกคน การมัดมือครั้งที่ 1 เสมือนเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของการผลิต จะทำในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน แต่ละบ้านจะมีการเตรียมของที่ใช้ในการทำพิธี ได้แก่ ข้าวต้มมัด ใช้ใบตองกงห่อข้าวเหนียวและมัดด้วยตอกไม้ไผ่ ในภาษาปกาเกอะญอเรียกว่า “เมตอ” โดยพิธีมัดมือจะทำ 1 วันเต็ม สิ่งที่ทุกบ้านต้องใช้ในการประกอบพิธีกรรม คือ เหล้าต้มที่ทุกบ้านนำมาผสมรวมกัน มีข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวดำผสมงา (ข้าวปุก) ขนม ฝ้ายมัดมือ ไก่หรือหมู ซึ่งผู้ที่มาทำพิธีให้ก็เป็นผู้ใหญ่ในหมู่บ้านที่เป็นผู้ชายเท่านั้น พิธีกรรมนี้คนนอกครอบครัวหรือคนอื่นสามารถเข้าร่วมได้
- ประเพณีแต่งงาน ชาวปกาเกอะญอยังคงยึดถือผัวเดียวเมียเดียว หญิงชายหากยังไม่ได้แต่งงานกันตามประเพณีหากอยู่กินด้วยกันถือว่า ผิดผี ต้องมีการทำพิธีขอขมา โดยปัจจุบันด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางสังคม ชายหญิงออกไปทำงานข้างนอกอาจจะต้องอยู่ด้วยกัน เรื่องการผิดผีจึงไม่เคร่งครัดซึ่งพิธีแต่งงานจะมีความแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ ตามความเชื่อของแต่ละตระกูล ตามธรรมเนียมการแต่งงานของคนบ้านแม่ลามาน้อย หญิงชายหากรักกันก็แต่งงานกันได้โดยไม่มีสินสอดใด ๆ สินสอดจากฝ่ายชายไม่ได้เป็นเงินทอง แต่หากใครพอมีกำลังมักจะซื้อแหวน สร้อย มีดพร้าต่าง ๆ ส่วนฝ่ายเจ้าสาวจะต้องทอเสื้อและย่ามไว้ให้ฝ่ายเจ้าบ่าว เมื่อแต่งงานแล้วทั้งสองฝ่ายต้องไปมาทั้งสองบ้านเป็นระยะเวลา 1-2 ปี ก่อนจะแยกออกมาสร้างครอบครัวของตนเอง
- พิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับการเจ็บป่วย ในชุมชนมีพิธีกรรมความเชื่อในการรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชนโดยในปัจจุบันยังมีการใช้สมุนไพรในการรักษาบรรเทาความเจ็บป่วยประกอบกับการทำพิธีกรรมมัดมือ ใช้คาถา และเลี้ยงผี
- พิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับการเสียชีวิต ตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอเมื่อมีผู้เสียชีวิต ลูกหลานจะเก็บข้าวของผู้ตายมารวมกัน นำธูปเทียน เหรียญ ขนม มาวางไว้บนเสื้อผ้า และลูกหลานพรมน้ำมนต์สามครั้ง มีการประกอบพิธีกรรม 3 วัน และเผาเสื้อผ้าใกล้ต้นไม้ที่ตายแล้ว นำหม้อและถ้วยชามไปว่างใกล้หลุมศพ เชื่อว่าผู้ตายจะได้ใช้ทำมาหากินในโลกหน้า ช่วงกลางคืนมีกิจกรรมอยู่เป็นเพื่อนศพ และวันที่ 3 จึงนำศพไปเผาหรือฝังตามความเชื่อ
ปณิชา ปานกลาง (2563). ภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่ลามาน้อย ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ปณิชา ปานกลาง. (2564). เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร เข้าไร่ หาปู ทำแกง คุยภาษาปกาเกอะญอ เรียนรู้ธรรมชาติและความธรรมดาของชีวิตบนดอยสูง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. สืบค้น 19 พฤษภาคม 2567, จาก https://readthecloud.co/