ชุมชนปกาเกอะญอที่ยังคงวิถีชีวิตผูกพันกับป่าเขาตามธรรมชาติ ภายในมีพิพิธภัณฑ์ปกาเกอะญอบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ยึดมั่นในอาชีพเป็นอนุสรณ์สถานให้ชนรุ่นหลังได้รำลึก
"กุยต๊ะ" มาจากชื่อเรียกของแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำของชุมชน คำว่า "กุย" หมายถึง แม่น้ำ หรือวังน้ำ และคำว่า "ต๊ะ" หมายถึง ต้องห้าม "กุยต๊ะ" จึงหมายถึง วังปลาต้องห้าม หรือเขตห้ามจับปลา
ชุมชนปกาเกอะญอที่ยังคงวิถีชีวิตผูกพันกับป่าเขาตามธรรมชาติ ภายในมีพิพิธภัณฑ์ปกาเกอะญอบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ยึดมั่นในอาชีพเป็นอนุสรณ์สถานให้ชนรุ่นหลังได้รำลึก
บ้านกุยต๊ะเป็นชุมชนปกาเกอะญอที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งมานานกว่า 60 ปี โดยที่มาของชื่อหมู่บ้านมาจากอาณาเขตส่วนหนึ่งที่เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำของชุมชน หรือที่ชาวบ้านมักจะเรียกว่า “วังปลา” โดยชื่อ "กุยต๊ะ" มาจากคำว่า "กุย" หมายถึง แม่น้ำ หรือวังน้ำ และคำว่า "ต๊ะ" หมายถึง ต้องห้าม "กุยต๊ะ" จึงหมายถึง วังปลาต้องห้าม หรือเขตห้ามจับปลา
ชาวบ้านในสมัยก่อนมักจะย้ายหมู่บ้านอยู่เรื่อย ๆ เมื่อเริ่มมีเหตุฝืดเคืองในพื้นที่อยู่เดิม อาทิ เกิดโรคระบาด หรือเพื่อแสวงหาพื้นที่ทำการเกษตรใหม่ การอพยพเข้ามายังบ้านกุ๊ยต๊ะครั้งแรกเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2505 โดยชาวบ้านซะเหล่เด 4 หลังคาเรือน จากนั้นจึงได้มีการตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ "หม่อละ" ทว่า ดำรงตำแหน่งได้เพียง 5 ปีก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ผู้ใหญ่หม่อละถึงแก่กรรม ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านว่างอยู่ 5 ปี บุตรชายของหม่อละชื่อ "จอบล๊ะ" ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านแทน
พ.ศ. 2533 เริ่มมีชาวบ้านนำรถไถซึ่งสามารถต่อกับล้อลากใช้เป็นรถสำหรับขนส่งได้ มีชื่อเรียกกันในหมู่บ้านว่า “รถอีต๊อก” ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2537 ได้มีการสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านกุยต๊ะ
พ.ศ. 2547 เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ เกิดเหตุการณ์ประท้วงในหมู่บ้านโดยการอดอาหารของชาวบ้านร่วมร้อยคน หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเกิดอนุสรณ์สถานแห่งเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นพิพิธภัณฑ์รวมงานหัตถกรรม งานจักสานของชาวบ้านกุยต๊ะที่ใช้ในการประท้วงเพื่อรักษาสิทธิเสรีภาพของตนมาจนถึงปัจจุบัน
ที่ตั้งและอาณาเขต
ลักษณะที่ตั้งของบ้านกุยต๊ะเป็นพื้นที่ภูเขา มีที่ราบเล็กน้อย มีลำห้วย 2 สายที่มีต้นสายไหลลงมาจากภูเขา ห้วยสายหลักในหมู่บ้านชื่อแม่จอโกร หรือห้วยแม่จัน มีอาณาเขตส่วนหนึ่งที่เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำของชุมชน หรือที่ชาวบ้านมักจะเรียกว่าเป็น “วังปลา” ส่วนอีกสายหนึ่งเป็นห้วยสายเล็ก ๆ ชื่อว่าทูเป่อโกร การปลูกสร้างบ้านเรือนส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ มีส่วนน้อยมากที่เป็นบ้านผสมซีเมนต์ วัสดุที่ใช้ในการสร้างบ้านส่วนใหญ่จะนิยมใช้ไม้ทั้งไม้เนื้อแข็งและไม้ไผ่ โดยบ้านกุยต๊ะมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ลำน้ำเส้นหลักในหมู่บ้าน คือ ลำน้ำแม่จอโกร หรือห้วยแม่จัน ลำน้ำสายนี้ไปบรรจบสุดทางกับลำน้ำอีกสายหนึ่งที่หมู่บ้านแม่จันทะซึ่งอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านกุยเลอตอ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกุยเคลอะ
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศในพื้นที่ชุมชนบ้านกุยต๊ะมีลักษณะแบบพื้นที่ราบเขาทั่วไป คือมีภูมิอากาศค่อนข้างแห้งยกเว้นช่วงฤดูฝน แบ่งได้เป็น 3 ฤดูกาล ดังนี้
- ฤดูหนาว อยู่ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีลักษณะอากาศเย็น มีหมอกลงหนาในตอนเช้าและหมอกจะหายในช่วงเที่ยงวัน ตอนบ่ายจะมีอากาศอบอุ่นและช่วงหัวค่ำจะเริ่มมีอากาศเย็นอีกครั้ง
- ฤดูร้อน อยู่ในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายน มีลักษณะร้อนและอากาศแห้ง
- ฤดูฝน อยู่ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม มีฝนตกชุกในช่วงกลางฤดูฝน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านกุยต๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,487 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 819 คน ประชากรหญิง 668 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 319 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567) ประชากรในพื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ โดยโครงสร้างครอบครัวและเครือญาติภายในชุมชนบ้านกุยต๊ะมีลักษณะเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ แต่จะอาศัยแยกกันคนละบ้านในบ้านที่มีลูกชายที่มีครอบครัวแล้ว แต่ถ้าในบ้านที่มีลูกสาวจะนิยมให้ลูกเขยย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันประมาณ 1-2 ปีก่อน จึงจะย้ายออกไปตั้งบ้านเรือนเอง ส่วนใหญ่จะนิยมแยกบ้านอยู่ในสถานที่ที่ไม่ห่างกันมากนัก รอบ ๆ บ้านมักจะเป็นเครือญาติกันทั้งสิ้น
ปกาเกอะญอชาวบ้านกุยต๊ะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีบางครัวเรือนที่ประกอบอาชีพอื่น เช่น การค้าขายสินค้าทั่วไป หรือค้าขายรถอีต๊อก พืชที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นข้าว มีทั้งข้าวไร่ ข้าวนา ยาสูบ และข้าวโพด ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้าน โดยแหล่งรับซื้อสินค้าเกษตรกรรมของชาวบ้านส่วนใหญ่จะอยู่ที่เทศบาลแม่จัน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนิยมปลูกพืชไร่อีกเล็กน้อยแซมตามไร่เพื่อเป็นแหล่งอาหารสำหรับเก็บไว้บริโภค โดยพืชไร่ที่ชาวบ้านปลูก อาทิ ฟักทอง พริก ฟักเขียว
อาชีพเสริมที่พบได้ในหมู่บ้านจะมีอาชีพรับจ้างทั้งในและนอกภาคการเกษตร ในกลุ่มชาวบ้านที่รับจ้างจะกระจายตัวออกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่จะกระจายไปที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง กรุงเทพมหานคร และในตัวจังหวัดตาก รวมไปถึงตัวอำเภออุ้มผางด้วย โดยการออกไปรับจ้างนอกสถานที่ส่วนใหญ่มักจะไปรับจ้างเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงที่ว่างเว้นจากงานไร่เท่านั้น ส่วนอาชีพเสริมอื่น เช่น การทอผ้า ซึ่งจะทำในหมู่สตรีที่มีเวลาว่างจากการทำไร่ ทั้งนี้ บ้านที่ทอเพื่อขายมีอยู่น้อยมาก เพราะประเพณีของสตรีชาวปกาเกอะญอจะทอผ้าเพื่อเก็บไว้เป็นของชำร่วยในงานแต่งงานของตนหรือของญาติสนิท นอกจากนี้ ยังมีการตีมีด ซึ่งมักจะมีในช่วงที่ว่างเว้นจากงานไร่ และส่วนใหญ่จะตีขึ้นเพื่อใช้กันในครอบครัวมากกว่า และการตระเวนออกหาของป่าซึ่งจะต้องหาในช่วงเวลาต่าง ๆ ของปี เช่น หาเห็ดโคนในเดือนตุลาคม หาน้ำผึ้งในเดือนมีนาคมถึงเมษายน
ศาสนา คนในชุมชนบ้านกุยต๊ะนับถือสามารถแยกเป็นศาสนาหลักได้ 3 ศาสนา ดังนี้
1.ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ชาวบ้านในชุมชนนับถือมากที่สุด สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่ชาวบ้านนิยมไปเข้าร่วมเป็นประจำในวันพระอยู่ที่บ้านกุยเคลอะซึ่งอยู่ติดกับบ้านกุยต๊ะ ทั้งนี้ ความเชื่อของชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธจะมีการผสมผสานกับความเชื่อในเรื่องของการนับถือผีร่วมด้วย
2.ศาสนาฤๅษี เป็นศาสนาที่แพร่หลายในชุมชนชาวปกาเกอะญอ หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นศาสนานับถือ “ผี” ผู้ชายที่นับถือศาสนาฤๅษีส่วนใหญ่จะมีการไว้มวยผมยาว บางคนจะโพกหัวด้วยผ้า ทั้งนี้ กฎของศาสนาฤๅษีในปัจจุบันยังมีอิทธิพลอยู่มากในชุมชนชาวปกาเกอะญอ และยังผสมผสานกับความเชื่อของชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งศาสนาฤๅษีจะมีข้อห้ามหรือข้อบัญญัติ เช่น ห้ามทำบันไดบ้านหัก ห้ามนั่งเคาะพื้นบ้านของผู้ที่เราขึ้นไปเยี่ยมเยือนให้เกิดเสียงดัง
3.ศาสนาคริสต์ ในช่วงแรกที่ศาสนาคริสต์เผยแผ่เข้ามาในชุมชนบ้านกุยต๊ะ ชาวบ้านจะใช้สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่บ้านของชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ด้วยกัน แต่เมื่อ พ.ศ. 2554 ได้มีการก่อสร้างโบสถ์สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยจะมีการประกอบพิธีกรรมทุกวันอาทิตย์ ซึ่งชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์จะไม่ค่อยมีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีเท่าใดนัก
ประเพณีประจำบ้านกุยต๊ะ
- เดือนมกราคม : บุญข้าวใหม่ (ออบือโค๊ะ)
- เดือนกุมภาพันธ์ : บุญยาฮู่
- เดือนมีนาคม : พิธีมัดมือวัว มัดมือควาย มัดมือช้าง
- เดือนเมษายน : ประเพณีสงกรานต์
- เดือนกรกฎาคม : แห่เทียนพรรษา
- เดือนตุลาคม : ออกพรรษา
- เดือนพฤศจิกายน : ป่อตะกู คล้ายกับประเพณีลอยกระทง
- เดือนธันวาคม : เทศกาลส่งนก (เซอโทะ)
วังปลา
วังปลา เป็นสถานที่ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน เป็นสถานที่ที่ชุมชนเลือกเป็นสถานที่อนุรักษ์ ห้ามให้ชาวบ้านและคนนอกชุมชนจับปลาในบริเวณดังกล่าวโดยเด็ดขาด
ในช่วง พ.ศ. 2555 ได้มีการทำพิธีกรรมสาปแช่งผู้ที่แอบลักลอบจับปลาในบริเวณดังกล่าว ชาวบ้านในหมู่บ้านเชื่อกันว่าถ้าใครลักลอบจับปลาในวังปลาไปรับประทานจะเกิดอาการปวดท้อง ต้องให้หมอผีในหมู่บ้านแก้ไขให้ด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ อาการจึงจะหาย
พิพิธภัณฑ์ปกาเกอะญอ บ้านกุยต๊ะ
ใน พ.ศ. 2547 มีกลุ่มชาวบ้านประมาณสิบกว่าครัวเรือนรวมตัวกันอดอาหารและน้ำประท้วงการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยาน โดยการประท้วงอดอาหารดังกล่าวชาวบ้านได้ร่วมกันทำเครื่องมือจักสานซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเกษตร เพื่อแสดงจุดยืนถึงความต้องการในการประกอบอาชีพต่อไป หลังจากจบเหตุการณ์ชาวบ้านจึงได้รวบรวมอุปกรณ์ที่จักสานในเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อเป็นอนุสรณ์ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยเครื่องจักสานที่เป็นเครื่องมือการผลิตและเครื่องใช้ เช่น ชุดกันฝนที่สานจากตอก กระด้ง กระบุงขนาดต่าง ๆ คบขี้ไต้ เครื่องมือจับปลาประเภทต่าง ๆ สิ่งทอ เช่น ย่าม ผ้าผูกผม ผ้าถุง โสร่ง เสื้อ ผ้าห่ม สิ่งทอเหล่านี้มีหลายลวดลาย แขวนไว้ภายในบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เครื่องปั่นฝ้าย และเครื่องดนตรี เช่น ตะนะ ระนาดเล็ก
ชาวบ้านส่วนใหญ่จะสื่อสารกันด้วยภาษาถิ่น คือ ภาษาปกาเกอะญอ โดยบางส่วนสามารถฟัง พูด และเขียนภาษาไทยได้เล็กน้อย ซึ่งกลุ่มคนที่สื่อสารภาษาไทยได้จะเป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ หรือเป็นกลุ่มที่เคยออกไปทำงานนอกพื้นที่
กิฎาพล ภัทรธรรมา. (2557). การศึกษาเรื่องข้อห้ามของชาวปกาเกอะญอในช่วงวัยที่ต่างกัน: กรณีศึกษาบ้านกุยต๊ะ หมู่ 5 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2555). พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมปกากะญอบ้านนกุยต๊ะ. ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. สืบค้น 21 พฤษภาคม 2567, จาก https://db.sac.or.th/museum/