หมู่บ้านชาวอาข่าบนถนนสาย 1089 ถนนสายวัฒนธรรมที่เรียงรายด้วยหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดสาย หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นทำเลทองของตำบลป่าตึง เพราะพื้นที่บริเวณนี้เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในละแวกแถบนี้
"กิ่วสะไต” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "กิ่ว" หมายถึง ช่องระหว่างหุบเขาที่ตั้งติดกัน เป็นช่องที่ลมพัดผ่าน และคำว่า "สะไต" เป็นคำเมือง ซึ่งหมายถึง ทางที่เป็นส่วนที่ลาดชัน ซึ่งก็ตรงกับลักษณะทางเข้าหมู่บ้านที่เป็นช่องระหว่างเขาและมีทางลาดชันลงไปถึงหมู่บ้าน
หมู่บ้านชาวอาข่าบนถนนสาย 1089 ถนนสายวัฒนธรรมที่เรียงรายด้วยหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดสาย หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นทำเลทองของตำบลป่าตึง เพราะพื้นที่บริเวณนี้เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในละแวกแถบนี้
ชาวอาข่าบ้านกิ่วสะไตเริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2516 โดยการนำของนายเชอก่า เบเชกู่ โดยเริ่มอพยพจากสิบสองปันนามาอยู่ที่เชียงตุง และได้เข้ามาในประเทศไทยมาอยู่ที่บ้านป่าซางหลวง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ก่อนที่จะมาตั้งรกรากที่หมู่บ้านกิ่วสะไตในปัจจุบัน ซึ่งบริเวณนี้มีคนเมืองอาศัยรกรากอยู่ก่อนแล้ว 7-8 หลังคาเรือน แต่ภายหลังก็อพยพออกไปเหลือแต่ชาวอาข่ากลุ่มของนายเชอก่า ระยะแรกการตั้งบ้านเรือนมีประมาณ 10 หลังคาเรือนเท่านั้น ต่อมาเริ่มมีชาวเขาอพยพเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นกลุ่มญาติที่น้องของกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ในระยะแรก การตั้งบ้านเรือนจะตั้งในบริเวณในส่วนที่เรียกว่าบ้านล่าง แต่หลังจากมีการแบ่งกลุ่มการนับถือศาสนามาเป็นศาสนาคริสต์ ชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ก็ได้แยกกลุ่มมาอยู่ในบริเวณที่เป็นบ้านบนในปัจจุบัน
สำหรับชื่อ "กิ่วสะไต” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "กิ่ว" หมายถึง ช่องระหว่างหุบเขาที่ตั้งติดกัน เป็นช่องที่ลมพัดผ่าน และคำว่า "สะไต" เป็นคำเมือง หมายถึง ทางที่เป็นส่วนที่ลาดชัน ซึ่งก็ตรงกับลักษณะทางเข้าหมู่บ้านที่เป็นช่องระหว่างเขาและมีทางลาดชันลงไปถึงหมู่บ้าน
ที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อ
บ้านกิ่วสะไตเป็นบ้านบริวารของบ้านสันติสุข หมู่ที่ 19 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยบ้านกิ่วสะไตอยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่จันประมาณ 30 กิโลเมตร และจากอำเภอแม่จันก็อยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 28 กิโลเมตร
บ้านกิ่วสะไตแบ่งเป็น 2 กลุ่มบ้าน คือ บ้านล่างและบ้านบน โดยแยกตามการนับถือศาสนา ซึ่งบ้านล่างจะนับถือพุทธควบคู่กับนับถือผี ส่วนบ้านบนจะนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านรวมใจ หมู่ที่ 19 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านอาหยี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านโป่งขม หมู่ที่ 17 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านอีก้อหล่อซา หมู่ที่ 19 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านกิ่วสะไตเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1.,500 ฟุต โดยที่บ้านบนจะตั้งอยู่ติดถนนหลวงสาย 1089 ลักษณะการสร้างบ้านจะลดหลั่นกันลงไปตามไหล่เขา ส่วนบ้านล่างจะตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา ซี่งเป็นพื้นที่ส่วนที่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตร โดยที่ทิศเหนือของหมู่บ้านจะมีแม่น้ำจันไหลผ่าน
ลักษณะภูมิอากาศ
- ฤดูร้อน เริ่มในช่วงเดีอนมีนาคมและจะไปสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนเมษายน หรือบางครั้งอาจจะยาวไปถึงต้นเดือนพฤษภาคม ช่วงที่ร้อนที่สุดคือช่วงเดือนเมยายน
- ฤดูฝน เริ่มในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยจะเป็นช่วงที่ชาวบ้านจะเริ่มต้นการปลูกข้าวทำนาไร่ของปี ฤดูฝนจะมีระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนานที่สุด คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปถึงเดือนกันยายน โดยในช่วงปลายเดือนหรือช่วงต้นเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงที่อากาศจะชุ่มชื้นตลอดเวลา
- ฤดูหนาว เริ่มในช่วงปลายเดือนตุลาคม อากาศจะเริ่มหนาวขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงช่วงเดือนมกราคมจะเป็นช่วงที่อากาศหนาวที่สุด ในช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวผลผลิตและมีงานรื่นเริงประจำปีของชาวเขาบนยอดดอย
บ้านกิ่วสะไต เป็นหย่อมบ้านหนึ่งของบ้านสันติสุข หมู่ที่ 19 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 19 บ้านสันติสุข ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 4,542 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 2,225 คน ประชากรหญิง 2,317 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 1,149 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชาชนในชุมชน คือ ชาวอาข่า
อ่าข่าการประกอบอาชีพ
บ้านกิ่วสะไตมีลักษณะเป็นชุมชนชนบทที่ตั้งอยู่บนยอดคอย มีอาชีพหลัก คือ การทำนาปลูกข้าว และมีการใช้แรงงานจากสัตว์หรือคนในการผลิต เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรเป็นที่ลาดชันไม่เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยการปลูกข้าวสามารถปลูกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ข้าวที่ปลูกได้ส่วนใหญ่จะเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน มีการจ้างแรงงานเข้ามาช่วยทำเกษตร โดยการจ้างแรงงานเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แรงงานที่จ้างมาก็จะเป็นคนในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียงกัน นอกจากบ้านที่มีควายจำนวนมากก็จะให้คนที่ไม่มีควายได้เช่าควายทำนา นอกจากนี้ ยังมีผลผลิตอย่างอื่นที่ชาวบ้านปลูกเพื่อขายและสำหรับไว้บริโภค เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ลิ้นจี่ข้าวโพด ขิง เผือก ผักกาด เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว นอกจากนี้ของป่าที่หาได้ก็สามารถนำมาขายให้กับชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงได้ตามฤดูกาล
ระยะหลังนี้การท่องเที่ยวเริ่มเข้ามามีบทบาทในหมู่บ้าน ทำให้อาชีพอีกประเภทหนึ่งที่พบเห็นในหมู่บ้าน คือ การขายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้าน โดยของที่ระลึกบางอย่างชาวบ้านจะทำขึ้นเอง เช่น เชือกผูกข้อมีอ ย่ามสะพาย เป็นต้น ส่วนของที่ระลึกบางอย่างก็จะไปซื้อมาจากตลาดอำเภอแม่สาย เช่น ตุ๊กตาชาวเขา สร้อยเงิน กำไลเงิน รวมไปถึงการถ่ายรูปร่วมกับนักท่องเที่ยวและเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมบ้านที่พักอาศัยอีกด้วย
การรวมกลุ่มทางชุมชน
1) กลุ่มออมทรัพย์ เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นจากการวมตัวกันของชาวบ้านเพื่อประโยชน์ของกลุ่ม โดยที่สมาชิกในกลุ่มจะต้องนำเงินมาฝากไว้กับกลุ่มคนละ 50 บาทต่อเดือน
2) ศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้าน ซึ่งจัดตั้งโดยกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นองค์กรที่เข้ามาจัดตั้งเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติเงินช่วยเหลือที่ได้จากทางราชการร่วมกับคณะกรรมการ
ศาสนา
ชาวบ้านกิ่วสะไตนับถือทั้งศาสนาคริสต์และพระพุทธศาสนาควบคู่กับการนับถือผี โดยแบ่งพื้นที่ชุมชนเป็นบ้านบน คือ กลุ่มชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ โดยศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ ได้เข้ามาเผยแพร่ในหมู่บ้านเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว มีโบสถ์คริสต์สำหรับประกอบพิธีกรรมและสอนหนังสือให้กับเด็กในชุมชน และบ้านล่าง คือ กลุ่มชาวบ้านที่นับถือพระพุทธศาสนาควบคู่กับการนับถือผี จะมีหมอผีและผู้นำหมู่บ้านเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรม ซึ่งก็จะเป็นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดาหรือบรรพบุรุษ
ประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อ
การดำเนินชีวิตของชาวอาข่าจะผูกพันกับประเพณี พิธีกรม และความเชื่ออยู่ตลอดเวลาซึ่งในปีหนึ่งจะมีประเพณีและพิธีกรรม ดังนี้
- ประเพณีส่งผี เมื่อสิ้นฤดูฝนปลายเดือนตุลาคมชาวบ้านว่างจากงานในไร่แล้วจะทำพิธีไล่ผีออกจากหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่า ผีทั้งหลายอาจมากับน้ำฝน เมื่อสิ้นฤดูฝนก็จะต้องขับไล่ผีเหล่านี้ออกไปจากหมู่บ้านพร้อมกับฤดูฝนที่กำลังจะจากไป
- ประเพณีขึ้นปีใหม่ จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี ใช้เวลา 4 วัน ในงานมีพิธีการเซ่นไหวัผีบรรพบุรุษ เลี้ยงฉลอง และงานรื่นเริงต่าง ๆ เช่น การเล่นลูกข่าง พิธีปีใหม่นี้จัดขึ้นเพื่อฉลองการสิ้นสุดงานในไร่และแสดงความขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยให้พืชผลอุดมสมบูรณ์
- ประเพณีกินข้าวใหม่ เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อฉลองรวงข้าวสุกในช่วงเดือนตุลาคม โดยชาวบ้านจะไปเก็บรวงข้าวมาจากไร่ เอาไปเซ่นไหว้ที่หิ้งบูชาผี แล้วนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในปีนั้นมาผสมเป็นข้าวสารเพื่อหุงเซ่นไหว้ผีไร่และผีบรรพบุรุษพร้อมไก่ 1 ตัว เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อดวงวิญญาณที่ช่วยดูแลให้ข้าวและพืชผลทางการเกษตรได้ผลผลิตดี
- ประเพณีหุ้มมี้ เป็นพิธีกรรมที่จะขึ้นในเดือนเมษายนก่อนลงมือเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรเพื่อบูชาผีป่าและผีบรรพบุรุษ
- ประเพณีทำประตูผี ประตูผีถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของหมู่บ้านโดยจะทำประตูใหม่ทุกปี ในการทำพิธีจะไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าร่วม มีความเชื่อว่าประตูผีเป็นสิ่งที่แยกโลกของผีและโลกของคนออกจากกัน
- ประเพณียะอุผิ พิธีเซ่นสรวงผีใหญ่ จัดขึ้นในเดือนเมษายน
- ประเพณีโล้ชิงช้า จุดประสงค์เพื่อระลึกถึงเทพธิดาผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พืชผล โดยจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม โดยทุกคนในหมู่บ้านจะมาร่วมกันโล้ชิงช้าอย่างสนุกสนาน
- ประเพณีเลี้ยงผีบ่อ พิธีกรรมบูชาบ่อน้ำประจำหมู่บ้านจะจัดในช่วงเดือนเมษายนก่อนลงมือเพาะปลูกพืชไร่
- ประเพณีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ จัดขึ้นเพื่อบูชาผีบรรพบุรุษ โดยจะจัดขึ้นหลังจากช่วงปีใหม่
บ้านกิ่วสะไตศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยวชุมชนละแวกใกล้เคียง
บ้านกิ่วสะไตนั้นนับว่าตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นทำเลทอง เพราะสถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของการท่องเที่ยวแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นดอยแม่สลอง น้ำตกห้วยฮาหุ น้ำตกปางสา น้ำตกห้วยต่าง น้ำตกห้วยก้างปลา น้ำตกตาดทอง โดยชาวบ้านกิ่วสะไตเริ่มเปิดหมู่บ้านให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวอย่างจริงจังในช่วง พ.ศ. 2536 เมื่อมีการตัดถนนลาดยางสาย 1089 จากอำเภอแม่จันไปถึงอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
ภาษาพูด : อาข่า ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง
ภาษาเขียน : อักษรอาข่า อักษรไทย
ประยุทธ วรัญญูรัตนะ. (2542). ผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อชุมชน: กรณีศึกษาหมู่บ้านชาวเขาเผ่าอาข่า บ้านกิ่วสะไต. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
องค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง. (2566). สืบค้น 21 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.patueng.go.th/