ย่านเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์นับหลายร้อยปี บนพื้นที่ที่มีความสำคัญทางการค้า เมืองท่า ด่านเก็บภาษี จุดพักสินค้าริมน้ำเจ้าพระยา กับพัฒนาการทางสังคมสู่อัตลักษณ์เฉพาะถิ่น
“ท่าเตียน” หมายถึงที่โล่งเตียน ที่โล่งเตียนนี้มีความเป็นมาจากการที่ยักษ์สองตนคือยักษ์วัดแจ้ง (วัดอรุณฯ) และยักษ์วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ซึ่งเป็นวัดที่ขนาบสองข้างด้านทิศเหนือและใต้ของชุมชนอยู่ ยักษ์สองตนนี้เกิดสู้รบกัน ยักษ์นั้นมีร่างที่ใหญ่โตมโหฬาร เมื่อรบกันแล้วก็ทำให้ผืนดินที่อยู่ระหว่างกลางนั้นกลายเป็นที่โล่งเตียน นี่จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อบริเวณนี้ว่า “ท่าเตียน” เรื่อยมาจนปัจจุบัน
ย่านเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์นับหลายร้อยปี บนพื้นที่ที่มีความสำคัญทางการค้า เมืองท่า ด่านเก็บภาษี จุดพักสินค้าริมน้ำเจ้าพระยา กับพัฒนาการทางสังคมสู่อัตลักษณ์เฉพาะถิ่น
ตลาดท่าเตียนเป็นย่านการค้าที่มีความเก่าแก่ โดยย่านตลาดท่าเตียนเริ่มเกิดขึ้นและถูกพัฒนาในสมัยเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาอยู่ฝั่งพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมหาราชวังเป็นที่ประทับขึ้น เมืองหลวงจึงถูกย้ายไปฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งบริเวณดังกล่าวมีชุมชนชาวจีนและชาวมอญตั้งอยู่ตั้งแต่อดีต และมีท่าเรือถูกตั้งเป็นด่านเก็บภาษี และจุดพักสินค้า
นอกจากนี้ตัวตลาดยังมีสินค้าที่หลากหลายตั้งแต่สินค้าทางการเกษตรของแห้ง ของสด สินค้าอุปโภคบริโภคไปจนสินค้าเกี่ยวกับเครื่องยนต์ ผู้คนมากมายจึงหลั่งไหลเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในตลาด ทำให้ในเวลานั้นตลาดท่าเตียนเป็นพื้นที่ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะที่กรุงรัตนโกสินทร์กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากประเทศล่าอาณานิคม จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มเกิดย่านการค้าในรูปแบบตลาดขึ้นอีกทั้งยังมีการนำวัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลด้านต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง มีการนำสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกมาประยุกต์ใช้ในการสร้างอาคารบ้านเรือน และได้ตัดถนนมหาราชเชื่อมเข้าตรอกซอกซอย แต่เมื่อตลาดสดถูกย้ายไปยังปากคลองตลาดและการพัฒนาของระบบคมนาคมทำให้ทั้งการคมนาคมทางน้ำและการค้าขายที่คึกคักในย่านตลาดท่าเตียนถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงท่าเรือที่ใช้ขนส่งคน 2 ท่า และตลาดที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารแห้งเท่านั้น
ต่อมา พ.ศ. 2544 เกิดกฎหมายควบคุมอาคารบริเวณย่านตลาดท่าเตียนขึ้นอีกทั้งเริ่มมีการอนุรักษ์และปรับปรุงอาคาร และยังมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ย่านตลาดท่าเตียนเริ่มกลับมาคึกคักและมีสีสันอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
ย่านตลาดท่าเตียน ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งด้านตะวันตก โดยมีถนนมหาราชเป็นถนนสายหลักและมีถนนสายย่อยเชื่อมต่อทั่วพื้นที่ ซึ่งลักษณะการวางแนวอาคารจะเป็นไปตามแนวของถนนสายย่อย โดยจะเริ่มตั้งแต่ถนนท้ายวังไปถนนมหาราชและสิ้นสุดที่วังจักรพงศ์หรือซอยปานสุข พื้นที่ย่านท่าเตียนขนาดเนื้อที่ประมาณ 31,061 ตารางเมตร มีจำนวนอาคารทั้งหมด 313 อาคาร มีการวางโครงข่ายถนนเชื่อมต่อกับเมืองที่ขยายตัวขึ้นทำให้การเดินทางสะดวก อีกทั้งบริเวณรอบ ๆ ยังมีทั้งโรงเรียน ตลาด วัด วัง โดยพื้นที่บริเวณย่านตลาดท่าเตียนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนท้ายวัง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ วังจักรพงศ์ทิศ
- ตะวันออก ติดต่อกับ ถนนมหาราช
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำเจ้าพระยา
ย่านตลาดท่าเตียนประกอบด้วยคน 2 ชนชาติ คือ ไทยและจีน ทำให้มีการนับถือศาสนาที่มีทั้งศาสนาพุทธและนับถือพระโพธิสัตว์หรือเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งจะสามารถพบเห็นศาสนสถานได้ภายในบริเวณย่านตลาดท่าเตียนถึง 4 แห่ง กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ศึกษา และศาสนสถานของชาวพุทธอยู่รอบ ๆ พื้นที่ศึกษาอีกจำนวนมาก ได้แก่ วัดอรุณราชวราราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรแขวงพระบรมหาราชวัง เขตพรนคร กรุงทพมหานคร มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,896 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,690 คน ประชากรหญิง 1,206 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 1,195 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
จีนตลาดท่าเตียนเป็นย่านและแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญในอดีต มีสินค้าที่ขายหลากหลาย และรุ่งเรืองที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 รูปแบบกิจกรรมเปลี่ยนแปลงจากที่ขายอยู่ในเฉพาะตลาดเริ่มออกมาขายตามบ้านของตนที่อยู่ในย่านตลาด อีกทั้งยังคึกคักจนแผงที่ตั้งในตลาดไม่พอต้องออกมาตั้งด้านนอก เกิดเป็นตลาดสด แต่เนื่องจากการพัฒนาถนนและการย้ายแผงที่อยู่ด้านนอกตลาดออกไป และย้ายตลาดสดไปที่ปากคลองตลาดทำให้ย่านนี้เริ่มซบเซาลงและเกิดเปลี่ยนแปลง จากเดิมเป็นย่านการค้าหลักที่ภายหลังอาคารบางส่วนปิดกิจการและกลายเป็นที่อยู่อาศัยและกิจกรรมในพื้นที่ดั้งเดิมจึงเหลือเพียงการค้าขายอาหารแห้ง คลังสินค้า ร้านขายสมุนไพร และร้านอาหาร ต่อมาได้รับความสนใจจากทั้งนักท่องเที่ยวและคนที่ต้องการมาซึมซับวัฒนธรรมหรือความเป็นย่านเก่าแก่ หลายอาคารจึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมและถูกพัฒนา แต่ยังคงมีบางส่วนที่เป็นกิจกรรมดั้งเดิม
ในส่วนของบริการที่พบในพื้นที่นั้นจะเป็นบริการโรงแรมขนาดเล็กหรือโฮสเทล ซึ่งเป็นที่พักนักท่องเที่ยวแบบราคาประหยัด ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายสมุนไพรไปจนถึงร้านขายของที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนใหญ่เจ้าของกิจการเป็นคนนอกพื้นที กิจกรรมทางการค้าของย่านตลาดท่าเตียนจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าถึงช่วงค่ำ (04.00 - 17.00 น.) ช่วงเช้าจะเป็นการขายของแห้ง เครื่องเทศต่าง ๆ ในตลาดท่าเตียน ช่วงสายขายสินค้าอุปโภคบริโภค และร้านค้าบริการต่างๆ เปิดบริการตั้งแต่ช่วงสายถึงช่วงค่ำ ซึ่งมีทั้งร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ คือ ขายเครื่องดื่มและขนมโดยเจ้าของกิจการเป็นคนนอกพื้นที่ การเข้ามาใช้บริการจะเป็นนักท่องเที่ยชาวต่างชาติและกลุ่มวัยรุ่นชาวไทย
ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนบทบาทย่านการค้าสำคัญในอดีตไปเป็นย่านประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน สังเกตได้จากการปรับเปลี่ยนกิจกรรม การโฆษณาตามสื่อต่างๆ เพื่อสร้างแรงดึงดูดการเดินทางเข้ามาบริเวณย่านและสนับสนุนการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาในพื้นที่ลักษณะจุดแวะพักเพราะจุดประสงค์หลักคือมาชมวัด วัง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ที่สามารถให้บริการทั้งประชาชนภายในพื้นที่และภายนอกพื้นที่ และเมื่อการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางบกและทางน้ำให้มีประสิทธิภาพและเชื่อมต่อกัน บริเวณโดยรอบเป็นย่านประวัติศาสตร์อีกหลายย่านที่มีความสำคัญ อีกทั้งยังมีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งสามารถสะท้อนวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนในอดีต ทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขึ้น
โดยในพื้นที่นอกจากตลาดท่าเตียนที่มีการค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารแห้ง และเครื่องเทศต่างๆ แล้ว ยังพบร้านค้าและบริการที่หลากหลาย ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ร้านขายของฝาก โดยมีราคาและประเภทอาหารที่ค่อนข้างหลากหลาย ส่วนกิจกรรมประเภทโรงแรม คลังสินค้า นวดแผนไทยกระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนดั้งเดิมต้องมีการปรับตัวด้านการใช้พื้นที่ และยังสะท้อนให้เห็นว่าการรวมกลุ่มกิจกรรมที่มีความหลากหลายทางด้านประเภทและราคาเหล่านี้เป็นแรงดึงดูดหลักให้ประชาชนเข้ามาบริเวณชุมชนตลาดท่าเตียน
ประชนชนที่อาศัยอยู่ในย่านตลาดท่าเตียนส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน จึงมีการนับถือศาสนาพุทธและพระโพธิสัตว์ โดยปรากฏศาสนสถานของศาสนาพุทธจำนวน 8 แห่ง เป็นวัด 4 แห่ง ได้แก่ วัดอรุณราชวราราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และศาลเจ้าจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อกวนอู ศาลเจ้าปึงเถ่ากง ศาลเจ้าพ่อศาสดี และศาลเจ้าพ่อพระภูมิ ปัจจุบันย่านตลาดท่าเตียน จะไม่พบความหลากหลายทางเชื้อชาติมากนัก
เนื่องจากอยู่บริเวณกรุงเทพชั้นในที่เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ทำให้คนที่อาศัยอยู่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจะเป็นประเพณีทั่วไปที่พบเห็นได้ในภาคกลาง คือ ประเพณีสงกรานต์ การหล่อเทียนเข้าพรรษา ประเพณีแข่งเรือยาว การถือศีลกินเจ และการบูชาบรรพบุรุษและงานเทศกาลตรุษจีนของทั้ง 4 ศาลเจ้า
สวนนาคราภิรมย์
สวนนาคราภิรมย์ หมายถึง สวนที่น่ารื่นรมย์ยิ่งของชาวพระนคร ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือถัดจากย่านตลาดท่าเตียน โครงการเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 โดยมีประเด็นยุทธ์ศาสตร์ คือ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนให้มีแหล่งเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วม พื้นที่แห่งนี้ถูกพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเปิดโล่งหรือสวนสาธารณะพร้อมห้องน้ำสาธารณะ โดยภายในพื้นที่จะไม่มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่เนื่องจากเป็นทำเลที่สามารถเปิดมุมมองให้สามารถเห็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ได้หลายแห่ง เช่น พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคราราม ภายในสวนแห่งนี้มีการจัดตกแต่งภูมิทัศน์ที่สวยงามด้วยต้นไม้นานาพรรณ และมีลานกิจกรรมอเนกประสงค์เพื่อประกอบกิจกรรม ทั้งออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมกับคนภายในครอบรัวซึ่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
อาคารอนุรักษ์ท่าเตียน
อาคารอนุรักษ์ท่าเตียน เป็นโบราณสถานตามประกาศกรมศิลปากร เรื่องขึ้นทะเบียนโบราณสถานตึกแถวบริเวณท่าเตียน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 113 ง หน้า 1 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2544 มีลักษณะการจัดกลุ่มเป็นอาคารพาณิชย์แถวขนาดสูง 2 ชั้น มีรูปแบบของการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ ยุคต้นสมัยรัชกาลที่ 5 แบบตึกแถวล้อมรอบตลาดมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ประดับตกแต่งอาคารตามแบบอิทธิพลศิลปะยุโรปสมัยเรอเนสซองส์ (RENAISSANCE) หลังคามุงกระเบื้องว่าว ชั้นบนของอาคารแต่ละห้องมีหน้าต่างบานคู่ เหนือขอบหน้าต่างเป็นช่องไม้ฉลุ ทาสีเขียว กรอบนอกหน้าต่างก่ออิฐถือปูนเซาะร่องเลียนแบบการก่อหิน ขอบช่วงบนทำเป็นวงโค้ง หน้าต่างทุกห้องประดับตกแต่งแบบเดียวกันตลอด ส่วนที่ประดับตกแต่งพิเศษไปกว่าส่วนอื่น คือบริเวณที่เป็นช่องทางเข้าสู่ตลาดท่าเตียน มีทั้งหมด 3 ทาง คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และ ทิศใต้ ชั้นบนซึ่งโดยปกติจะเป็นช่องหน้าต่าง เปลี่ยนเป็นรูปด้านหน้าของอาคารส่วนบน หรือบริเวณหน้าจั่วแทนยอดของจั่วและมุมด้านข้างเป็นปูนปั้นรูปใบไม้
ภายในพื้นที่หน้าจั่วเป็นปูนปั้นลายวงกลมขนาบด้วยลายสามเหลี่ยมใต้จั่วลงมา (บริเวณคอสอง) ประดับปูนปั้นรูปสี่เหลี่ยม บริเวณที่เป็นทางเข้าสู่ตลาดท่าเตียนทำเป็นช่องทางเข้ารูปโค้งเกือกม้า มีเสากลมไม้เซาะร่องรองรับวงโค้ง ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยความร่วมมือกับผู้เช่าอาคารได้ดำเนินการฟื้นฟูกลุ่มอาคารอนุรักษ์ บริเวณตลาดท่าเตียนจนมีสภาพสวยงามเป็นระเบียบ คงคุณค่าและความสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ สถาปัตยกรรม การคมนาคม และการท่องเที่ยว อาคารมีจำนวน 55 คูหา ประกอบด้วย อาคารที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์-พักอาศัย และร้านค้า
ภาษาพูด : ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ปทิตตา สายสากลพานิช. (2560). การเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาคารและกิจกรรมของย่านตลาดท่าเตียน กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มหาวิทยาลัยศิลปากร, หอสมุดวังท่าพระ, ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. (2558). ตึกแถวถนนมหาราช บริเวณท่าเตียน. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2567, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/
มหาวิทยาลัยศิลปากร, หอสมุดวังท่าพระ, ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. (2558). ชุมชนท่าเตียน. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2567, จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/
BKKEAT. (2563). เข้าท่าทริป ชวนไปหลงเสน่ห์ ‘ท่าเตียน’ ย่านกรุงเก่าฝั่งพระนครสุดคลาสสิก. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.bkkmenu.com/