
ชุมชนชาวไทยวน ที่ยังคงรักษาอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษไว้เป็นอย่างดี คือ การทอผ้า การทอผ้าซิ้นตีนจก ผ้าจกต่าง ๆ โดยมีการประยุกต์ใช้วัตถุดิบเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยในปัจจุบันมีลวดลายที่สวยงาม ถักทอด้วยความปราณีตพิถีพิถันและสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และสืบสานความเชื่อและประเพณีที่สำคัญ เช่น การนับถือผีบรรพบุรุษ ประเพณีแล่นมะโห้ และกินข้าวบนสะโตก
ชื่อชุมชนดอนแร่ มาจากลักษณะของพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นที่ดอนและมีกรวดมาก เมื่อมีประชากรมากขึ้นจึงได้มีการจัดตั้งเป็นตำบลตามลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ดอนและมีกรวดทรายมาก เม็ดกรวดภาษา ไท-ยวน เรียกเป็นแร่ จึงเป็นที่มาของชื่อ "ดอนแร่"
ชุมชนชาวไทยวน ที่ยังคงรักษาอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษไว้เป็นอย่างดี คือ การทอผ้า การทอผ้าซิ้นตีนจก ผ้าจกต่าง ๆ โดยมีการประยุกต์ใช้วัตถุดิบเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยในปัจจุบันมีลวดลายที่สวยงาม ถักทอด้วยความปราณีตพิถีพิถันและสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และสืบสานความเชื่อและประเพณีที่สำคัญ เช่น การนับถือผีบรรพบุรุษ ประเพณีแล่นมะโห้ และกินข้าวบนสะโตก
ประวัติการอพยพของชาวไท-ยวนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนดอนแร่นั้นไม่มีใครบอกเล่าได้ก่อนข้างชัดเจนมีแต่อ้างอิงมาจากตำราประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ได้มีการบอกต่อกันมาเพียงอย่างเดียวว่าชาวไทยวนเริ่มอพยพในปี พ.ศ. 2345 และได้ตั้งถิ่นฐานแรกอยู่ที่ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งขวาถัดจากตัวเมืองปัจจุบันไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร ต่อมาขยายครัวเรือนออกไปจากเดิมอีกหลายพื้นที่ อาทิ ในอำเภอเมือง ที่ตำบลคูบัว ที่ตำบลดอนตะโก และที่ตำบลดอนแร่ โดยชาวไทยวนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในเมืองราชบุรี แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ยวนข้าและยวนข้อย ทั้งยวนข้าและยวนข้อยต่างแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานตามความสมัครใจ "ยวนข้า" จะตั้งบ้านเรือนอยู่ในคูบัว เรียกแทนตัวเองว่า "ข้า" ส่วน "ยวนข้อย" จะตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านดอนแร่ ห้วยไผ่ บ้านใหม่นครบาล ดอนแจง ดอนตะโก หนองโพ หนองปลาหมอ บางกระโด หนองอ้อ ฯลฯ เรียกแทนตัวเองว่า "ข้อย"
ชุมชนดอนแร่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดราชบุรี ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 109 ของทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม แยกจากถนนใหญ่จากทิศตะวันตก 4 กิโลเมตร สภาพถนนลาดยางเข้าถึงทุกหมู่บ้าน สภาพพื้นที่เป็นที่ราบระหว่างภูเขา ทิศตะวันออกและตะวันตกติดแนวเขาสลับชับซ้อนสภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย เหมาะแก่การทำนา และปลูกพืชไร่ มีลำห้วยทับใต้ กว้างประมาณ 4 เมตร ไหลผ่านจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปสู่ทิศตะวันออก
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อ ตำบลห้วยไผ่
- ทิศใต้ ติดต่อ ตำบลทุ่งหลวง
- ทิศตะวันออก ติดต่อ ตำบลดอนตะโก และอ่างทอง
- ทิศตะวันตก ติดต่อ ตำบลอ่างหิน และทุ่งหลวง
ประชากรโดยส่วนใหญ่ร้อยละ 96 เป็นคนเชื้อสายไทยวนที่ได้อพยพมาจากเมืองเชียงแสนเดิมและได้กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยและในจังหวัดราชบุรี
ไทยวนประชากรร้อยละ 95 ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ โดยทั่วไปจะปลูกถั่วฝักยาว แตงร้าน มะเขือ มะระ บวบ และดอกกะหล่ำ ส่วนการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัว หมู ไก่ นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และรับราชการ อาชีพเสริมยามว่างจากงานเกษตร ได้แก่ งานจักสาน ทอผ้า และรับจ้างทั่วไป
ประเพณีการกวนกาละแมวัดนาหนอง ในทุก ๆ ปีชาวบ้านในชุมชนดอนแร่จะรวมใจกันเตรียมงานทอดกฐินประจำปีของวัดนาหนอง โดยชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมของในการทำกาละแมเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาทำบุญ สืบทอดต่อมาจากอดีตเจ้าอาวาสที่ได้เคยจัดกิจกรรมไว้ต่อเนื่องมาทุกปีมาจนถึงปัจจุบันนี้ สืบเนื่องหลายสิบปีจนเกิดเป็นประเพณีขึ้น โดยการกวนกาละแม ถือเป็นการสร้างความสามัคคีของชาวบ้านที่ต้องใช้ความร่วมมือหลายอย่าง เช่น การปอกมะพร้าวที่มีจำนวนมาก และจะต้องนำมาคั้นเป็นกะทิ ก่อนจะนำไปผสมกับวัตถุดิบอื่น ๆ นำไปใส่กระทะกวนออกมาเป็นเนื้อกาละแมที่เหนียวหนึบ สำหรับปีนี้ทางวัดได้เตรียมแจกวัตถุมงคล พร้อมหมี่กรอบและกาละแมบรรจุใส่ถุงไว้เพื่อแจกให้กับญาติโยมที่จะเดินทางมาร่วมทอดกฐินที่วัด
ประเพณีทำบุญตักบาตรข้าวต้มมัด เป็นประเพณีโบราณที่ทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือ วันมาฆบูชา ที่มีการจัดกันมาทุกปี ด้วยการตักบาตรข้าวปลาอาหารแห้ง แต่ในชุมชนดอนแร่โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ และเจ้าอาวาสวัดนาหนองได้ร่วมกันฟื้นประเพณีโบราณของไทยยวนที่ได้อพยพมาตั้งรกรากถิ่นฐานในตำบลดอนแร่ และมีการทำข้าวต้มมัดเป็นหลัก จึงได้นำมาเป็นประเพณีการทำบุญตักบาตรข้าวต้มมัด โดยการตักบาตรข้าวต้มมัด พระสงฆ์จะเดินบิณฑบาตลงมาทางบันไดพญานาค จำนวน 130 ขั้น เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ใส่บาตร และในภาคค่ำ มีการแห่ผ้าแดงขึ้นดอยเพื่อห่มรอยพระพุทธบาทจำลอง เพื่อความเป็นสิริมงคล มีการจุดประทีปจาก ต้นเทียนหน้ารอยพระพุทธบาท ฟังพระธรรมเทศนา และพิธีเวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชา
สถานที่สำคัญของชุมชนคือ วัดนาหนอง ได้สร้างขึ้นและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2430 โดยนายหล้า นายตั๋น ร่วมกับชาวบ้านนาหนอง เป็นผู้ริเริ่มสร้าง มีเจ้าอาวาสวัดปกครองมาแล้ว 5 รูป ปัจจุบันมีพระครูสิริคณาภรณ์ (อเนก) เป็นเจ้าอาวาส มีเสนาสนะสมบูรณ์แบบเกิดขึ้นในสมัยพระครูวิธานศาสนกิจ (หลวงพ่อโห้) เจ้าอาวาสรูปที่ 2 ได้สร้างมณฑปบนยอดเขาซึ่งติดอยู่กับวัดไว้เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทและพระพุทธไสยาสน์ โดยคุณหลวงและนางฤทธิ์ศักดิ์ชลเขต อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี คนที่ 6 ซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ติดกับวัดนาหนอง ได้สร้างรอยพระพุทธบาทมาประดิษฐานไว้ในมณฑปบนยอดเขา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 และได้กำหนดจัดงานปิดทองพระพุทธบาทประจำปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จนกลายเป็นงานเทศกาลประจำปีของวัดมาเป็นเวลายาวนานถึง 72 ปี
ตลาดไทยวน หรือ ต๋าหลาดไท-ยวน ตั้งอยู่ที่วัดนาหนอง ตำบลดอนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นตลาดชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เกิดจากการร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในชุมชนช่วยกันรังสรรค์ท้องไร่ท้องนาธรรมดาให้กลายเป็นตลาดขนาดย่อม ๆ ออกแบบแนวพื้นบ้าน ใช้วัสดุธรรมชาติที่มีในท้องถิ่น ตกแต่งอย่างสวยงามโดยดึงเอาวัฒนธรรมของชาวไทยวนออกมาด้วย ประดับประดาทั้งตลาดไปด้วยของตกแต่งพื้นบ้าน เช่น ร่มกระดาษ โคมไฟกระดาษ และตุงสีสันสดใส ภายในตลาดมีสินค้าจำหน่ายหลากหลายทั้งอาหารพื้นเมือง ขนมไทยโบราณ และผ้าทอมือตีนจกซึ่งเป็นสินค้าดีเด่นของชุมชน
ชาวบ้านในชุมชนดอนแร่มีพื้นเพเดิมเป็นชาวไทยวน ภาษาที่พูดจัดอยู่ในภาษายวน แต่ในปัจจุบันมีการใช้ภาษาไทยปนกับภาษายวน
ธีระสุต ยืนยงวนิชกิจ. การพัฒนาวีดิทัศน์เพื่อการเรียนรู้ชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนชาวไทยยวน ตำบลดอนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
กนกอร สว่างศรี. (2561). ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมืองราชบุรี. งานประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 10. นครปฐม: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
วิรัตน์ พงษ์ทอง. (2538). การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีผลกระทบ ต่อการดำรงอยู่และการเสื่อมสลายของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านไทย : กรณีศึกษาหมู่บ้านไทยวน ตำบลดอนแร่ จังหวัดราชบุรี. วิทยานิพนธ์มานุษยวิทยามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.