Advance search

บ้านขุนห้วย หมู่บ้านชนบทเล็ก ๆ ในตำบลนานกกก ทว่ากลับรุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ อันเป็นแหล่งพืชพรรณธัญญาอาหารของผู้คนทั้งในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง

หมู่ที่ 1
บ้านขุนห้วย
นานกกก
ลับแล
อุตรดิตถ์
วิไลวรรณ เดชดอนบม
20 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
31 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
31 พ.ค. 2024
บ้านขุนห้วย


ชุมชนชนบท

บ้านขุนห้วย หมู่บ้านชนบทเล็ก ๆ ในตำบลนานกกก ทว่ากลับรุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ อันเป็นแหล่งพืชพรรณธัญญาอาหารของผู้คนทั้งในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง

บ้านขุนห้วย
หมู่ที่ 1
นานกกก
ลับแล
อุตรดิตถ์
53130
17.7515004591041
100.061920881271
องค์การบริหารส่วนตำบลนานกกก

บ้านขุนห้วย เริ่มก่อตั้งปี พ.ศ. 2445 ในอดีตบ้านขุนห้วยขึ้นอยู่กับตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อมาได้แยกพื้นที่เป็นตำบลนานกกก และในปี พ.ศ. 2450 ได้แยกเป็นหมู่บ้านขุนห้วย โดยพื้นเพผู้คนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่สันนิษฐานว่าเป็นคนลับแลที่อพยพมาจากบ้านฝายหลวง ได้เข้ามาก่อตั้งบ้านเรือนเพื่อทำสวนผลไม้ และมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

บ้านขุนห้วย หมู่ที่ 1 ตำบลนานกกก อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ห่างจากอำเภอลับแลประมาณ 25 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ประมาณ 18 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกล้อมรอบด้วยภูเขา และป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีป่าไม้ขึ้นปกคลุม เป็นป่าดิบแล้ง และมีพื้นที่ระหว่างหุบเขาเล็กน้อย อีกทั้งยังเป็นชุมชนต้นน้ำ มีลำห้วยชายเขาไหลผ่านหมู่บ้าน และมีป่าที่สำคัญเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์  

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบ้านด่านนาขาม อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านชายเขาบก  หมู่ที่ 2
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านนานกกกเหนือ หมู่ที่ 3
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลฝายหลวง 

ทรัพยากรธรรมชาติ

บ้านขุนห้วยเป็นพื้นที่ป่าชุมชนและสวนผลไม้ของชุมชนตำบลนานกกกหมู่ที่ 1 2 และ 5 และละแวกตำบลใกล้เคียง ซึ่งมีรูปแบบการทำสวนผลไม้แบบวนเกษตร คือ การปลูกผลไม้แซมกับป่าไม้หรือต้นไม้ใหญ่ ทั้งนี้ยังมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับสภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าชุมชนอื่นในตำบลนานกกก ส่งผลให้พื้นที่บ้านขุนห้วยสามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิด เช่น กาแฟ ไผ่หวาน มะไฟ มะปราง มังคุด ทุเรียน ลางสาด และลองกอง ซึ่งสร้างอาชีพและรายได้หลักให้กับชุมชน นอกจากนี้ บ้านขุนห้วยยังเป็นชุมชนต้นน้ำ มีลำห้วยชายเขาไหลผ่านหมู่บ้าน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของชุมชนบ้านขุนห้วยทำให้พื้นที่แห่งนี้เกิดเป็นแหล่งพืชพรรณและแหล่งอาหารสำหรับคนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านขุนห้วย ตำบลนานกกก อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 455 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 230 คน ประชากรหญิง 225 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 168 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) 

ชาวบ้านขุนห้วยมีอาชีพทำการเกษตร ได้แก่ ข้าวไร่ ข้าวนาปี ข้าวโพด กาแฟ และถั่วลิสง มีการทำปศุสัตว์สำหรับไว้ในใช้แรงงานและบริโภคในครัวเรือน ได้แก่ เลี้ยงควาย และเลี้ยงไก่ ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2470 เริ่มมีการนำลางสาดและทุเรียนพื้นเมืองมาปลูกในพื้นที่ที่เคยปลูกข้าวไร่ ซึ่งชาวบ้านได้นำผลผลิตลางสาดและทุเรียนพื้นเมืองไปจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง โดยการหาบไปขายที่ตลาดบ้านด่านและตลาดท่าเสาในอำเภอเมือง ต่อมาเริ่มมีการปลูกลางสาด ทุเรียนพื้นเมือง มะไฟ ลองกองเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก เนื่องจากแรงจูงใจจากราคาผลผลิต คือ ข้าวมีราคาตกต่ำส่วนราคาของผลไม้กลับมีราคาสูงขึ้น สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทว่า ภายหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรจึงเริ่มเปลี่ยนชนิดของพืชที่ปลูกอีกครั้ง โดยหันกลับมาปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิกาตามเดิม ทั้งยังมีการปลูกมะปรางและไผ่หวาน เนื่องจากมีราคาสูงกว่าผลไม้หลายชนิดที่เคยปลูกและเริ่มลดความนิยมลงไป ด้วยสาเหตุเรื่องราคาที่ตกต่ำลงอย่างมาก 

การรวมกลุ่มของบ้านขุนห้วย

  • กลุ่มแปรรูปทุเรียนกวน
  • กลุ่มสหกรณ์การเกษตร
  • กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
  • กองทุนหมู่บ้าน
  • กลุ่มสานเข่ง
  • กลุ่มปลาร้า
  • กลุ่มปุ๋ยหมัก
  • กลุ่มทำสวน

ครอบครัวของชาวบ้านขุนห้วยถือเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกครอบครัวประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบางส่วนที่เป็นครอบครัวเล็กมีสมาชิกประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก อย่างไรก็ดี ทุกครอบครัวจะมีวิถีชีวิตใน 1 วันคล้ายกัน คือ ในยามเช้าตรู่พ่อจะออกไปทำสวนใกล้บ้าน ก่อนกลับมารับประทานอาหารเช้า แล้วกลับออกไปทำงานในสวนที่อยู่ห่างออกไป แม่บ้านมีหน้าที่ดูแลงานบ้านงานเรือน ดูแลลูก ลูก ๆ มีหน้าที่เรียนหนังสือและช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ของครอบครัว ส่วนคนเฒ่าคนแก่นิยมอยู่บ้านสานเข่งเพาะต้นกล้าผลไม้ ทั้งนี้บางครอบครัวยังมีสมาชิกที่ออกไปขายแรงงานต่างถิ่นด้วย 

ชาวบ้านขุนห้วยนับถือศาสนาพุทธ แต่บ้านขุนห้วยไม่มีวัด โดยชาวบ้านจะทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกับหมู่อื่น ๆ ที่วัดบ้านนานกกก ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ชุมชนบ้านขุนห้วยมีประเพณีที่สำคัญคือ ประเพณีทำบุญดอยลางสาด ซึ่งจะทำในช่วงขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11 หรือเดือนกันยายนของทุกปี โดยชาวบ้านจะขอเรี่ยไรหรือรวบรวมลางสาดจากทุกหลังคาเรือนในตำบลนานกกกแล้วนำมากองรวมกัน ด้วยปริมาณของลางสาดที่มากจึงเป็นที่มาของคำว่า "ดอยลางสาด" โดยจะทำพิธีกรรมที่วัดนานกกก แล้วจะนำไปจัดประมูลให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่โรงเรียนบ้านนานกกก ส่วนเงินที่ได้จากการประมูลจะนำไปบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่วัดและโรงเรียนต่อไป

ปฏิทินประเพณีของชุมชนบ้านขุนห้วย

  • มกราคม : ประเพณีวันขึ้นปีใหม่
  • กุมภาพันธ์ : ประเพณีวันมาฆบูชา และทำบุญสงเคราะห์หมู่บ้าน
  • มีนาคม : ประเพณีตรุษไทย
  • เมษายน : ประเพณีสงกรานต์ และบวชนาคสามัคคี
  • พฤษภาคม : ประเพณีวันวิสาขบูชา
  • มิถุนายน : สลากภัต
  • กรกฎาคม : ประเพณีวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา
  • กันยายน : ทำบุญดอยลางสาด
  • ตุลาคม : ประเพณีวันออกพรรษา
  • พฤศจิกายน : ประเพณีทอดกฐิน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นเหนือ, ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรไทย


บ้านขุนห้วยไม่มีสถานศึกษาภายในชุมชน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้น แต่ในปัจจุบันชาวบ้านเริ่มตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา จึงนิยมส่งบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาสูงสุดเท่าที่จะทำได้ โดยเด็กเล็กที่อยู่ในระดับก่อนประถมศึกษาจะอยู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประจำตำบลนานกกก ส่วนเด็กที่มีอายุถึงวัยเข้าศึกษาภาคบังคับจะเข้าศึกษาที่โรงเรียนบ้านนานกกก แล้วศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนน้ำริดวิทยา โรงเรียนอุตรดิตถ์ และโรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี ส่วนระดับอุดมศึกษาจะมีทั้งที่เข้าศึกษาในวิทยาลัยอาชีวะศึกษาอุตรดิตถ์ วิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์ วิทยาลัยสารพัดช่าง โรงเรียนอุตรดิตถ์เทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สิงห์ สุวรรณรอด. (2552). โครงการรูปแบบการจัดการน้ำเพื่อการพึ่งตนเองที่เอื้อต่อการพัฒนาอาชีพหลังเกิดภัยพิบัติของชุมชนบ้านขุนห้วย หมู่ที่ 1 ตำบลนานกกก อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

องค์การบริหารส่วนนานกกก. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567, จาก http://www.nanokkok.go.th/

เอนก ดีพรมกุล. (2550). การเปรียบเทียบภูมิปัญญาท้องถิ่นระหว่างการทำสวนวนเกษตรกับสวนไม้ผลเชิงเดี่ยว: กรณีศึกษาสวนลองกองในบ้านขุนห้วย ตำบลนานกกก อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่