ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กูย กับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ มรดกภูมิปัญญาการทอผ้าไหมในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ และเพื่อการเปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการทางสังคม
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กูย กับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ มรดกภูมิปัญญาการทอผ้าไหมในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ และเพื่อการเปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการทางสังคม
ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2445 มีตายายสองครอบครัว ชื่อ ตาสนธ์ และคุณยายจันทร์ งอนสวรรค์ และมีครอบครัว ตามี และยายเกตุ สุดสังข์ ทั้ง 2 ครอบครัวย้ายมาจากบ้านโพธิ์กระสังข์ มาอยู่หัวไร่ปลายนาของตนใกล้บ้านผือ ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่มาก่อน โดยบ้านหนองผือห่างจากบ้านของตาสนธ์และตามี ประมาณ 800 เมตร ต่อมาชาวบ้านผือได้เกิดโรคระบาด นั่นคือ โรคอหิวาตกโรคผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านหนองผือจึงได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่กับตายายสองครอบครัวในขณะนั้นยังคงใช้ชื่อบ้านหนองผือเหมือนเดิม ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 บ้านหนองผือมีผู้ใหญ่บ้านคนแรก ชื่อว่า นายศรี มังคละ ซึ่งขณะนั้นบ้านหนองผือ หมู่ที่ 5 ตำบลขุนหาญ อำเภอห้วยเหนือ เมืองขุขันธ์ ในปี พ.ศ. 2481 มีการเปลี่ยนแปลงและขยายการปกครองระดับอำเภอ จากเมืองขุขันธ์เป็นอำเภอขุขันธ์ บ้านหนองผือจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นบ้านตะตา เดิมทีเป็นชื่อบ้านตาตา แต่นายทะเบียนทำผิดพลาดเลยชื่อว่า บ้านตะตา ในปี พ.ศ. 2501 มีการเปลี่ยนแปลงและขยายการปกครอง เนื่องจากอำเภอขุขันธ์มีพื้นที่กว้าง จึงแยกตำบลขุนหาญ และยกระดับการปกครองเป็นอำเภอขุนหาญ บ้านตะตาจึงอยู่ในเขตการปกครองตำบลขุนหาญ และได้เริ่มก่อสร้างวัดไตรราษฎร์สามัคคีขึ้นในปี พ.ศ. 2521 ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 เริ่มมีสาธารณูปโภค ด้านไฟฟ้าเข้ามาชุมชน
ในปี พ.ศ. 2527 เนื่องจากพื้นที่การปกครองตำบลขุนหาญ อำเภอขุนหาญ มีประชากรเพิ่มขึ้นและมีเขตการปกครองที่กว้าง ทำให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลขุนหาญในขณะนั้นบริหารงานไม่ทั่วถึง จึงได้ขยายการปกครองจากตำบลขุนหาญ ออกมาเป็นตำบลโพธิ์กระสังข์ ในปี พ.ศ. 2529 นายศิวะ แสงมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (ในขณะนั้น) ได้เยี่ยมราษฎร์บ้านตะตา และได้มีการทำประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน จึงได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านให้ถูกต้องเป็น บ้านตาตา
ปี พ.ศ. 2552 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เข้ามาทำวิจัยในพื้นที่บ้านตาตาร่วมกับนักวิจัยชาวบ้าน โดยวิจัยเรื่อง กลุ่มเยาวชนกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมกวย กรณีศึกษา วัดไตรราษฎร์สามัคคี บ้านตาตาและบ้านซำ ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีชาติพันธุ์กวย และเกิดเป็นการสร้างภาพยนตร์หนังสั้น เรื่อง กอนกวย ส่วยไม่ลืมชาติ และได้เผยแพร่ในโรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี จังหวัดศรีสะเกษ ในปี พ.ศ. 2554 และทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยยังได้ทำวิจัยร่วมกับชาวบ้านตาตา ในปี พ.ศ. 2556 เรื่อง ศึกษากระบวนการสร้างระบบตัวเขียนภาษากวยเพื่อสืบทอดวิถีวัฒนธรรมของชุมชนวัดไตรราษฎร์สามัคคี (บ้านซำและบ้านตาตา) ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
ในปี พ.ศ. 2560 ชุมชนบ้านตาตาได้เข้าร่วมโครงการชุมชนน่าอยู่ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการทำโครงการลดละเลิกเหล้าในชุมชน เริ่มตั้งแต่กระบวนการสร้างสภาผู้นำชุมชนเพื่อทำงานและสร้างแกนนำเลิกเหล้า ตลอดจนจัดตั้งธรรมนูญชุมชน เพื่อลด ละ เลิกแอลกอฮอล์
บ้านตาตาตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของเทศบาลตำบลโพธิ์กระสังข์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดกลาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ว่าการอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โดยพื้นที่ชุมชนมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านพอก หมู่ 10 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกันทรอม หมู่ 7 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านซำ หมู่ 13 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหนองขนาน หมู่ 6 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
สภาพภูมิอากาศ มี 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว โดยมีลักษณะอากาศโดยทั่วไปแบบร้อนชื้น สภาพอากาศของชุมชนบ้านตาตา ได้มักได้รับอิทธิพลของลมมรสุม 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมมรสุมฤดูร้อน) และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ลมมรสุมฤดูหนาว)
แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570) เทศบาลตำบลโพธิ์กระสังข์แสดงข้อมูลประชากรบ้านตาตา หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ มีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 683 คน โดยจำแนกเป็นประชากรชาย 358 คน ประชากรหญิง 325 คน และมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 149 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2564)
กูยบ้านตาตาตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพหลักด้านเกษตรกรรม โดยมีการทำการเกษตรในรูแบบต่าง ๆ ทั้งทำข้าวนาปี พืชสวน พื้นไร่ การปศุสัตว์ เป็นต้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
ชาวบ้านตาตาปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่ทนต่อสภาพแวดล้อมที่แล้งและเป็นพืชที่ปลูกแล้วใช้น้ำน้อย เกษตรกรจะนํารถไถนาเพื่อไถดินและปั่นดินให้ร่วนซุย เพื่อให้ง่ายต่อการปักต้นมันสำปะหลัง และจะใช้ต้นมันสำปะหลังเดิมที่เคยปลูกเป็นต้นพันธุ์ ปีไหนที่ต้นมันสำปะหลังไม่เจริญเติบโต เน่า หรือเป็นโรค เกษตรกรในชุมชนจะนิยมไปซื้อต้นพันธุ์มันสำปะหลังที่อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ การปลูกมันสำปะหลังชาวบ้านจะปลูกเป็นแถวแนวตรง เพื่อสะดวกในการบำรุงรักษาและกําจัดวัชพืช โดยใช้ระยะระหว่างแถว 1.20 เมตร ระยะระหว่างต้น 80 ซม. และปักท่อนพันธุ์ให้ตั้งตรงลึกในดินประมาณ 10 เซนติเมตร เกษตรกรในชุมชนบ้านตาตา จะเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม หรือช่วงก่อนที่จะปลูกข้าวตามความเหมาะสมของเกษตรกร ซึ่งการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังจะมีช่วงอายุที่ ประมาณ 6-7 เดือน พร้อมทั้งตัดต้นมันสำปะหลังเก็บไว้เพื่อเตรียมท่อนพันธุ์ในการปลูกครั้งต่อไป
การทำข้าวนาปี ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของคนในชุมชนบ้านตาตา คนในชุมชนทุกหลังคาเรือนจะปลูกข้าว เพื่อใช้ในการบริโภคในครัวเรือนและจําหน่ายให้กับร้านที่รับซื้อข้าว การทำนาของคนในชุมชนจะทำนาปี เนื่องจากในชุมชนบ้านตาตาไม่มีแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการปลูกข้าวและปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำมาก จึงต้องอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูก คนในชุมชนส่วนใหญ่จะปลูกข้าวหอมมะลิ และมีคนในชุมชนบางส่วนที่ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวพันธุ์สังข์หยด ในอดีตคนในชุมชนจะนิยมปลูกข้าวเตี้ยและข้าวสัมพันธ์เพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น เพราะไม่มีร้านรับซื้อข้าวใกล้กับชุมชน การปลูกข้าวนาปีของชุมชนบ้านตาตา จะเริ่มปลูกในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงเดือนต้นเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งชาวบ้านจะปลูกข้าวโดยใช้พันธุ์ หอมมะลิ105 หอมมะลิ กข.15 ข้าวพันธุ์สังข์หยด และปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เมื่อคนในชุมชนเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเสร็จ คนในชุมชนก็จะนําข้าวไปขายและตากข้าวไว้เพื่อไล่ความชื้นในข้าวก่อนที่จะนําไปขายให้กับร้านรับซื้อขาวและเก็บข้าวเข้ายุ้งฉาง การขายข้าวที่คนในชุมชนนิยม มี 2 รูปแบบ คือ ขายข้าวหลังเกี่ยวเสร็จโดยไม่นําข้าวตากแดด เรียกว่า ขายข้าวสด ซึ่งการขายข้าวสดนั้นจะขึ้นอยู่กับราคาข้าวสดในขณะที่เกี่ยวข้าว และการขายข้าวในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การขายข้าวที่ตากแดดไล่ความชื้นไว้ เรียกว่า ขายข้าวแห้ง โดยราคาข้าวแห้งจะสูงกว่าราคาข้าวสด คนในชุมชนจะนําไปขายให้กับร้านรับซื้อ
การทำสวนยางพาราเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากคนในชุมชนบ้านตาตา รองจากการปลูกข้าว เนื่องจากการทำสวนยางเป็นรายได้เสริมที่จุนเจือให้กับคนในครอบครัว เพราะน้ำยางพาราและขี้ยางพาราสามารถขายได้ทุกสัปดาห์ จึงทำให้เกษตรกรที่ปลูกยางพารามีรายได้ทุกๆ สัปดาห์และสร้างรายได้ตลอดระยะเวลา 9 เดือน อีกทั้งยางพาราสามารถเก็บไว้เพื่อรอจำหน่ายในช่วงราคาที่สูงได้ รายได้เฉลี่ยยางพารา อยู่ที่ไร่ละประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน
การทำเกษตรในครัวเรือน เกษตรกรในชุมชนมีการปลูกสวนผสมผสานรอบสระในทุ่งนาของตนเอง โดยการขุดสระได้รับการสนับสนุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยชาวบ้านที่มีสระได้เลี้ยงปลาในสระของตนและปลูกพืชนานาชนิดรอบสระน้ำ ได้แก่ ตะไคร้ ต้นมะพร้าว พืชผักต่าง ๆ ซึ่งสวนผสมนี้ได้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชน และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบจากตลาดมาประกอบอาหาร
อาชีพรับจ้างเป็นอาชีพเสริมของคนในชุมชนบ้านตาตา ในช่วงที่รอเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เช่น ช่วงระหว่างรอเก็บเกี่ยวข้าว ช่วงฤดูร้อนที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ เป็นต้น อาชีพรับจ้างที่คนในชุมชนนิยมทำ เช่น อาชีพรับจ้างก่อสร้าง อาชีพรับจ้างตัดต้นมันสำปะหลัง อาชีพรับจ้างปลูกข้าว เป็นต้น ซึ่งการทำงานรับจ้างชั่วคราวได้ทำให้คนในชุมชนมีเงินใช้จ่ายในครัวเรือน สำหรับคนในชุมชนที่มีพื้นที่ทำการเกษตรน้อย อาชีพรับจ้างชั่วคราวถือเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ทดแทนผลผลิตจากการทำเกษตร และเสริมรายได้ให้กับคนในชุมชนในช่วงที่ไม่ได้ทำการเกษตร
ประเพณีและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กวย (ส่วย) แสดงให้เห็นได้จากประเพณีและวัฒนธรรมใน 1 รอบปี และพิธีกรรม ความเชื่อ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
งานผ้าป่าครอบครัว งานผ้าป่าครอบครัวของบ้านตาตา จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม โดยจัดขึ้น ณ วัดไตรราษฎร์สามัคคี บ้านตาตา โดยในวันสิ้นปีชาวบ้านตาตาทุกหลังคาเรือนจะมีการเตรียมต้นผ้าป่าของครอบครัว โดยนําข้าวสารใส่ถังตักน้ำ เพื่อทำเป็นฐานต้นผ้าป่า จากนั้นจึงนําไม้เสียบเงินแล้วปักลงบนฐาน เมื่อถึงช่วงเวลาเย็นของวันสิ้นปี ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนจะนำต้นผ้าป่าไปแห่รอบโบสถ์วัดไตรราษฎร์สามัคคีจำนวน 3 รอบ แล้วนำไปไว้รวมกันในศาลาวัด เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ชาวบ้านจะรวมตัวกันไปที่วัด เพื่อประกอบพิธีการทางศาสนาถวายต้นผ้าป่าครอบครัวและถวายข้าวเปลือก โดยพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ชาวบ้านทุกครัวเรือนนำต้นผ้าป่าถวายพระสงฆ์และรับพร
บุญข้าวเปลือก เมื่อเสร็จจากการทำนาแล้ว ชาวบ้านจะนำข้าวขึ้นเล้า (ยุ้งข้าว) จะมีการทำพิธีโดยมีการนำเคียวมาเรียกเจ้าแม่โพสพมาอยู่ในเลา และมีการรดน้ำมนต์ เมื่อถึงกำหนดวันทำบุญข้าวเปลือกและมีการนำข้าวเปลือกมาที่วัดเพื่อก่อเจดีย์ข้าวเปลือก มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ สวดคุณข้าวเปลือก พระแม่โพสพ เรียกขวัญข้าว รุ่งเช้าของวันต่อมาจะมีพิธีทำบุญตักบาตร ปัจจุบันยังมีการทำบุญข้าวเปลือกอยู่ แต่ไม่ได้ก่อเป็นเจดีย์ข้าวเปลือกเหมือนสมัยอดีต โดยจะนำข้าวเปลือกใส่กระสอบแทน
งานรำนางอ้อและซะเอง ถ้าหากมีคนเจ็บป่วยก็จะไปนับดูกับอาจารย์ (เจ้าเข้าทรง) ถ้าหากอาจารย์บอกว่าให้ “เล่นลังออ นะ ซะเอง นะ” ก็จะมีการ “ซัดตะกองแกว” (ผูกคอขวด) คําว่าซัดตะกองแกว คือเวลาเราเจ็บป่วยรักษาทางหมอไม่หายก็จะไปดูกับร่างทรง ถ้าร่างทรงบอกว่าเราผิดผีแถนหรือผีปูุย่าตายาย ก็ให้เราซัดตะกองแกว เพื่อเป็นสัญญาว่าเราจะเล่นลังออให้โดยเราจะต้องนําเทียนหนึ่งคู่ หมากพลูหนึ่งคํา ยาสูบหนึ่งม้วน ขวดหนึ่งใบ (สอบถามมาว่าทําไมต้องเป็นขวด ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าไม่ทราบ เพราะพ่อกับแม่พาทำ) แล้วสายสิญจน์เพื่อผูกกับขวดและเวลาผูกชาวบ้านก็จะมีคําพูดว่า “แฮน เดอ กอนเจา ญอม แลว ลับลอง แลว เนิง เกล ลังออ อัน เฮย มะฮแน จี อัน อัย ออ โซะ อัย อีอ์ อัน ออ จี ฮมะ แนเฮย” คําแปล นี่นะลูกหลานยอมแล้ว รับรองแล้วจะเล่นนางอ้อให้แหละจากนี้ไปให้มันดีขึ้น อย่าให้มันเจ็บอีกให้ดีไปหรือหายไปแค่นี้แหละ (พูดไปขณะผูกคอขวด) ไว้ก่อนเพื่อเป็นการทำสัญญาว่าจะเล่นลังออหรือสะเอง พอถึงเดือน 4 ก็จะต้องเล่นลังออหรือสะเอง ปัจจุบันการเล่นลังออหรือสะเองไม่ได้จํากัดว่าต้องเล่นในเดือน 4 เหมือนในสมัยอดีต สามารถเล่นเมื่อไหร่ก็ได้ บางรายเมื่อนับดูกับอาจารย์แล้วเห็นว่าต้องเล่นลังออหรือสะเอง ก็ซัดตะกองแกว (ผูกคอขวด) ไว้ไม่ถึงเดือนก็เล่นได้เลย
เซนญะ ในวันขึ้น 3 ค่ํา เดือน 3 ชาวบ้านจะเตรียมไก่ต้ม (ต้มทั้งตัว) หรือไข่ต้ม ข้าวสุก อาหารคาว อาหารหวาน ก้านกล้วยเสียบด้ายดอกไม้ 1 คู่ เรียกว่า “คลาทอล” เหล้าต้ม เทียน 1 เล่ม ธูป 3 ดอก เมื่อชาวบ้านนำของมาเซ่นครบทุกคนแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนจะเริ่มทำพิธี เซ่นไหว้โดยเรียก “ตาพรหมโดนไต” (เจ้าหน้าที่ประจำศาลปูุตา) และเจ้าแม่โพสพ พระแม่คงคา พระแม่ธรณี ให้มากินของเซ่นไหว้จากชาวบ้าน จากนั้นจะมีการทำนายลมพายุจากธูปโดยดูที่ทิศของควันธูปซึ่งหมายถึงทิศทางของลม ทํานายฝนจากเทียน โดยดูน้ำตาเทียน ถ้าหากมีน้ำตาเทียนไหลยาวแสดงว่า เดือน 3 ปีนี้ฝนจะตก และหากน้ำตาเทียนไม่ไหว แสดงว่าเดือน 3 ปีนี้ไม่มีฝนตก และมีการทำนายความสุขสบายและการเจ็บปช่วยของคนในครอบครัวโดยทํานายจากคางไก่และไข่ต้ม หากคางไก่มี ลักษณะตั้งตรง ขาว อวบ ไม่คดไม่งอ ชาวบ้านเชื่อกันว่าคนในครอบครัวจะสุขสบาย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ถ้าหากคางไก่มีสีแดง สั้น และคดงอ หมายความว่าคนในครอบครัวนั้นจะมีคนป่วย และถ้าหากไข่ต้มมีผิวเรียบไม่ยุบ และตั้งแท่น (บนฝ่ามือ) หมายความว่า คนในครอบครัวจะอยู่สุขสบาย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ถ้าหากไข่ที่ปอกออกมายุบ และไม่ตั้งแท่นหรือล้ม หมายความว่า คนในครอบครัวนั้นจะไม่สบาย ปัจจุบันประเพณีการเซนญะยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้
เซนเลา (เซ่นยุ้งข้าว) ชาวบ้านจะทำนาเสร็จประมาณเดือน 1 หรือเดือน 2 พอนําข้าขึ้นเลาแล้ว จะยังเอาข้าวออกมาไม่ได้จนกว่าจะมีการเซนเลา พอถึงเดือน 3 ชาวบ้านก็จะเซนเลาด้วยการเตรียมไข่ต้ม หมากพลู ยาสูบ ทัพพีที่ทำด้วยกะลามะพร้าว กระบุง น้ำขมิ้น จุดธูปเทียนบอกพระแม่โพสพ และนําไข่ไก่มาต้มและปอกเปลือก ทํานายผลผลิตข้าวในปีต่อไปจากไข่ไก่ และมีพิธีรดน้ำขมิ้นแล้วใช้ทัพพีตักข้าวเปลือกใส่กระบุงไปตําโดยครกกับสากไม้ และฝัดข้าวโดยใช้กระด้งจนได้ข้าวสาร นำไปหุงเพื่อถวายพระก่อนที่จะกินเอง โดยมีความเชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะได้กินด้วย และเป็นสิริมงคล แต่ห้ามมีการตักข้าวออกจากเลาในวันดับ (แรม 15 ค่ำ) และวันอาทิตย์ การเซนเลาจะมีขึ้นในเดือน 3 แต่อาจมีบางครอบครัวที่มีการเซนเลาในเดือน 4 ปัจจุบันการเซนเลายังเหลือเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ยังคงถือปฏิบัติอยู่ แต่การห้ามตักข้าวออกจากเลาในวันดับและวันอาทิตย์ยังคงถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด
บุญผะเหวด (พระเวส) พอถึงเดือน 3 หรือเดือน 4 พระสงฆ์นัดผู้นำหมู่บ้านมาประชุม หารือว่าจะจัดงานบุญผะเหวดในวันที่เท่าไหร่ พอได้วันที่แน่นอน ผู้นําก็จะเรียกชาวบ้านมาประชุม เพื่อจัดแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในงาน เช่น เด็กและเยาวชนจะรับหน้าที่ในการแสดง และจัดสถานที่ และสถานที่จําลองเขาวงกต หรือเขตราชวัฎ ส่วนชาวบ้านบางส่วนจะรับผิดชอบด้านอาหาร ช่วยกันหาต้นกล้วย ต้นอ้อ ทลายมะพร้าว เอามาปลูกข้างทาง ในงานบุญผะเหวด จะมีการแสดงละครจำลองประวัติความเป็นมาของพระเวสสันดร พอแสดงเสร็จจะมีการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง พอกลางคืนจะทำพิธีขอขมาที่แสดงบทบาทสมมติเรียกว่า สึกนักแสดง พอรุ่งสางของอีกวันหนึ่งจะมีการแห่ข้าวพันก้อน และพระสงฆ์ก็จะเริ่มเทศน์กัณฑ์เปิดศักราช แล้วก็จะเทศกัณฑ์พระเวสสันดร มี 13 กัณฑ์ คือ กัณฑ์พระคาถา กัณฑ์มาลัยหมื่น กัณฑ์มาลัยแสน กัณฑ์สังกาด และกัณฑ์ฉลอง พอพระเทศน์เสร็จเรียบร้อยแล้วชาวบ้านจะรับผิดชอบจัดทำกัณฑ์เทศน์โดยการนำต้นเงินต้นทอง มาถวายพระแต่ละองค์ที่ขึ้นเทศน์ เช้าวันรุ่งขึ้นก็จะมีพิธีทำบุญตักบาตร ปัจจุบันบุญผะเหวดยังคงมีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาโดยการคงรักษาพิธีตามแบบดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติ เดิมบ้านตาตาเป็นหมู่บ้านแรกของตำบลโพธิ์กระสังข์ที่จัดงานบุญผะเผวด แต่ปัจจุบันการจัดงานบุญผะเหวดมีการสลับหมุนเวียนวัดที่จะเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้วัดต่าง ๆ ในตำบลโพธิ์กระสังข์ได้มีส่วนร่วม ซึ่งการกำหนดวัน เวลา และสถานที่นั้น จะขึ้นอยู่กับความสะดวกของวัดที่เป็นเจ้าภาพ
วันมาฆบูชา วันมาฆบูชา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 พอถึงช่วงเย็นของวันมาฆบูชา เยาวชนหนุ่มสาวรวมทั้งผู้เฒ่าผู้แก่จะพากันเก็บดอกไม้ไปเวียนเทียนที่วัด และร่วมฟังเทศน์ ฟังธรรม ผู้ที่มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาจะมานั่งสมาทานศีล 8 ทำวัตรสวดมนต์ รุ่งเช้าของอีกวันจะเป็นพิธีทำบุญตักบาตร ปัจจุบันวันมาฆบูชายังมีการเวียนเทียนอยู่ แต่ไม่มีการนั่งสมาทานศีล 8 เหมือนในอดีต
เดือนมงคล เดือน 4 เป็นเดือนแห่งงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ จะนิยมจัดกันในเดือน 4 และงานลังออและสะเอง (นางอ้อ) และเซนเลาของบางคน เพราะเชื่อว่าเป็นเดือนคู่ และอยู่ในฤดูแล้ง ไม่มีฝน สะดวกแก่การจัดงาน ในปัจจุบันชาวบ้านยังคงนิยมจัดงานมงคลในเดือน 4 เหมือนเดิม แต่มีเดือน 6 เป็นเดือนมงคลเพิ่มมาอีกหนึ่งเดือน ซึ่งถือว่าเป็นเดือนคู่กัน
พิธีสรงน้ำพระ เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 หนุ่มสาวชาวบ้านและผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะมาร่วมอัญเชิญพระพุทธรูปลงมาไว้ที่หอสรง เพื่อจะได้ทำพิธีสรงน้ำพระ โดยนำน้ำบริสุทธิ์มาสรงในเวลาประมาณ 11.00 น. – 12.00 น. ของทุกวัน ต่อจากนั้นจะมีการเก็บดอกไม้ 8 ทิศ คือ ทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) ทิศอาคเนย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) ทิศหรดี (ทิศใต้) ทิศปัจฉิม (ทิศตะวันตก) ทิศพายัพ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) ทิศอุดร (ทิศเหนือ) ทิศอีสาน (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) และทิศทักษิณ (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) มาเวียนเทียนรอบหอสรงในเวลาประมาณ 17.00 น. ของทุกวัน และจะมีการขนทรายเข้าวัดในตอนค่ำทีละนิดเพื่อเตรียมก่อเจดีย์ทราย หลังจากที่เริ่มขนทรายเข้าวัดตั้งแต่เดือน 5 แล้ว พอถึงกำหนดวันก่อเจดีย์ทราย หนุ่มสาวเยาวชนจะก่อกองทรายให้เป็นรูปเจดีย์ต่าง ๆ ในตอนเย็นก็จะตัดกระดาษทำเป็นธงรูปคน โดยใช้ทางมะพร้าวเป็นก้าน และติดกระดาษไว้ที่ปลายทางมะพร้าว พร้อมกับนำธูปเทียนดอกไม้ไปเวียนเทียนที่วัด
วันวิสาขบูชา ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันวิสาขบูชา ชาวบ้านจะมีการเวียนเทียนในตอนกลางคืน และเช้าของวันต่อมาก็จะมีพิธีทำบุญตักบาตร และอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นบัลลังก์เดิม
แซงแทร (ลงนา) พอเข้าเดือน 6 ชาวบ้านก็จะเริ่มไถนา แต่ก่อนจะลงไถนาชาวบ้าน จะต้องแซงแทรก่อน โดยนําไก่ต้ม 1 ตัว หมากพลู ธูปเทียน เหล้าต้ม และอาหารคาวหวาน ไปเซ่นบอกพระแม่ธรณีและผีไร่ผีนาที่โพนของนาก่อนลงนา ถ้าหากไม่เซ่นก่อนก็จะมีอุปสรรคในการทำนาเกิดขึ้น เช่น วัว ควายที่ใช้ไถนาจะไม่ยอมเดิน หรือบุตรหลานในครอบครัวจะไม่สบายเจ็บปวดตามร่างกาย ปัจจุบันพิธีการแซงแทรเริ่มหายไป ส่วนมากจะใช้แค่หมากพลู ยาสูบ เหล้าต้ม แล้วนำไปวางไว้ที่โพน เท่านั้น
โซดโทระ (ทำบุญหมู่บ้าน) พอเข้าเดือน 7 พระสงฆ์ ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านจะมีการประชุม กำหนดวันทำหมู่บ้านที่เหมาะสม ชาวบ้านจะสร้างปรัมพิธีขึ้น 4 ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก และกลางหมู่บ้าน โดย ปรัมพิธีนี้จะมี 4 เสา มีความสูงเพียงตาหรือปาก นําสายสิญจน์พันรอบศาลเพียงตาและโยงไปตามบ้านเรือนทุกหลัง และสิ้นสุดที่ปรัมพิธีกลางหมู่บ้าน พอถึงตอนเย็นชาวบ้านจะนำกาบกล้วยสดมาทำเป็นกระทงรูปสามเหลี่ยม ข้างในใส่หมากพลู เทียน 1 เล่ม ธูป 1 ดอก ข้าวดำ ข้าวแดง (ข้าวสุกคลุกด้วยสีธรรมชาติ) ของหวาน หอม กระเทียม พริก ปลาร้า เกลือและอาหารอื่น ๆ แล้วนํากระทงไปวางไว้ที่ปรัมพิธีซึ่งต้องอยู่ที่สะดือบ้าน (กลางหมู่บ้าน) เท่านั้น และนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์อยู่ที่กลางหมู่บ้านจนถึงเวลาประมาณ 24.00 น. ก็จะนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูปไปสวดที่ปรัมพิธีทั้ง 4 ทิศ และในวันต่อมาก็จะเป็นพิธีทำบุญตักบาตร และสะเดาะเคราะห์ให้หมู่บ้าน และมีพิธีรดน้ำมนต์
ปริวาสกรรม (พระอยู่กรรม) พอเริ่มเข้าเดือน 7 ของทุกปี ช่วงวันที่ 22 มิถุนายน ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม ของทุกปี ที่วัดไตรราษฎร์สามัคคีจะมีการจัดงานปริวาสกรรม โดยมีการประชุมปรึกษาหารือกำหนดวันจัดงาน และมีการประกาศให้พระสงฆ์ที่อื่นได้ทราบและมาร่วมปริวาสกรรม ทางชาวบ้านก็จะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในงาน ในอดีตจะมีอาหารแบบโบราณ พระสงฆ์ที่มาร่วมปริวาสกรรมจะมีแต่พระสงฆ์จากวัดที่อยู่ใกล้เคียงเท่านั้น ในสมัยอดีตจะจัดขึ้นในเดือน 1 ปัจจุบันเปลี่ยนมาจัดงานในเดือน 7 และมีการประชาสัมพันธ์ออกไปได้ไกลกว่าแต่ก่อน ทำให้มีพระสงฆ์ทั้งในและต่างจังหวัดมาร่วมมากกว่าอดีต และยังมีผู้มีจิตศรัทธามาเป็นเจ้าภาพถวายอาหาร
วันเข้าพรรษา ในวันก่อนเข้าพรรษา 1 วัน ชาวบ้านจะนำกรวย ขันธ์ 5 ขันธ์ 8 ธูป 13 คู่ เทียน 13 คู่ และดอกไม้ 13 คู่ไปนิมนต์พระสงฆ์มาเข้าพรรษา ในอดีตชาวบ้านจะพากันออกไปหาขี้ผึ้งมารวมกันเพื่อหล่อเป็นต้นเทียน หรือเทียนพรรษา พอถึงวันเข้าพรรษาชาวบ้านจะร่วมกันประดับต้นเทียนด้วยดอกไม้ เตรียมข้าวสาร มะละกอ มะพร้าว พริก หอม กระเทียม และร่วมบริจาคเงินเพื่อทำเป็นต้นเงิน แห่รอบหมู่บ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน (บ้านซำและบ้านตาตา) แล้วแห่ไปวัดพร้อมกัน ส่วนในตอนกลางคืนก็จะมีการฟังเทศน์ฟังธรรม และในตอนเช้าจะมีการถวายต้นเงินและเทียนพรรษา และมีการทำบุญตักบาตร
วันอาสาฬหบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 จะมีการจัดขบวนแห่ต้นเงิน ดอกไม้ธูป เทียน ไปเวียนเทียนที่วัด และในตอนกลางคืนของวันอาสาฬหบูชาจะมีการนิมนต์พระสงฆ์ออกพรรษา โดยทำจวย และขันธ์ 5 ขันธ์ 8 ไปที่วัดเพื่อทำพิธีนิมนต์พระออกพรรษา
สลากภัตร สลากภัตรของชาวบ้านซำและบ้านตาตาจะมี 2 ครั้งคือ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 และแรม 14 ค่ำ เดือน 9 พอถึงวันที่กำหนด ชาวบ้านก็จะเตรียมทำปิ่นโต ขนมและข้าวต้มมัดไปวัด พร้อมด้วยเงินปัจจัยใส่ซองตามศรัทธาเพื่อนําไปถวายพระสงฆ์ ในปัจจุบันประเพณีสลากภัตรยังคงมีอยู่ แต่มีการเปลี่ยนแปลง คือ จะมีการจับสลากเพิ่มมาด้วย ซึ่งในอดีตไม่มีการจับสลาก โดยพระสงฆ์จะนั่งประจำหมายเลขที่เขียนไว้ และคณะกรรมการวัดจะทำสลากให้ครบตามจำนวนชาวบ้าน แล้วให้ชาวบ้านจับสลาก ถ้าชาวบ้านจับได้หมายเลขไหน ก็จะนำปิ่นโต ขนม และข้าวต้มมัด พร้อมด้วยปัจจัยที่เตรียมมาไปถวายพระตามหมายเลขสลากที่ตนจับได้
บุญข้าวสาก พอถึงขึ้น 5 ค่ำ เดือน 10 ในกรณีลูกคนไหนที่ได้แต่งงานออกไปอยู่กับภรรยา พอถึงเดือน 10 ฝ่ายผู้หญิง (ภรรยา) ก็จะจัดทำเครื่องเซ่นไปส่งบ้านย่า โดยจะมีไก่ย่าง หมูย่าง ปลาย่าง ขนม ข้าวต้ม เหล้า เบียร์ ผลไม้ พอไปถึงบ้านย่าก็จะรับไปรวมกับญาติคนอื่น ๆ ที่เอามาส่งบ้านแม่ พอรวมกันหมดแล้ว พ่อแม่ก็จะเริ่มเซ่นผีบรรพบุรุษ พอเซ่นเสร็จก็จะเอาของที่เซ่นมากินร่วมกันทั้งครอบครัว ในปัจจุบันประเพณีบุญข้าวสากยังมีการปฏิบัติอยู่ในชุมชน โดยยังคงรูปแบบดั้งเดิมไว้
ประเพณีทำบุญข้อกระดูก หรือ ทำบุญฉลองกระดูก ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า ในเดือน 8 เป็นเดือนที่ผีออกหากินหรือ เดือนปล่อยผี จึงเตรียมของเซ่นให้ผีปู่ยาตายาย หรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้วให้มารับส่วนบุญ โดยจะเริ่มทำตั้งแต่วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 10 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 และทำเป็นตระกูล พอกำหนดวันที่เหมาะสมแล้ว ก็จะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ที่ป่าช้า เป็นการสวดเรียกวิญญาณให้มารับส่วนบุญส่วนกุศลที่ลูกหลานได้อุทิศไปให้ และให้มากินอาหารที่ลูกหลานหรือญาตินำมาเซ่นไหว้ ในปัจจุบันประเพณีทำบุญชักกระดูกจะทำที่วัด
ประเพณีการเล่นกันหลอน ในการเล่นกันหลอนจะใช้เครื่องดนตรีโบราณ เช่น แคน พิณ กลองยาวที่ทำเอง โดยเอาเจาะรูตรงกลางลำต้นของต้นมะพร้าว ทำหน้ากลองด้วยหนังสัตว์ และมีคนร้องเพลงร้องหมอลำ ลำกลอน ลำคู่ และเดินไปเล่นตามบ้านเรือนทุกหลังในหมู่บ้าน รวมทั้งเล่นในหมู่บ้านใกล้เคียงด้วย จะมีผู้ถือพานดอกไม้เดินนำ และชาวบ้านจะบริจาคปัจจัยใส่พานดอกไม้ตามศรัทธาและจะมีการเขียนรายชื่อผู้บริจาคไว้ แล้วรวบรวมเงินบริจาคทำเป็นต้นเงินแล้วแห่ไปที่วัดในวันอาสาฬหบูชา ปัจจุบันประเพณีการเล่นกันหลอนเริ่มหายไปบ้าง แต่ยังคงมีให้เห็นอยู่ ถ้าหากไม่มีการเล่นกันหลอน ชาวบ้านก็จะนำปัจจัยไปบริจาครวมกัน และนำเงินไปบริจาคเข้าวัด
บุญกฐิน บุญกฐินจะมีอยู่ 2 แบบ คือ กฐินจองและกฐินร่วม กฐินจอง คือ กฐินที่มีผู้มีจิตศรัทธามาจองเป็นเจ้าภาพล่วงหน้า ส่วนกฐินร่วม คือ กฐินที่ชาวบ้านร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ในอดีตชาวบ้านจะมีความเชื่อที่ว่า บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 50 - 60 ปี ห้ามสร้างองค์กฐิน เพราะจะทำให้อายุสั้น เนื่องจากอานิสงส์ของบุญกฐินนั้นมีมาก และถ้าสร้างองค์กฐินไม่ครบจะทำให้คนในครอบครัวไม่สบาย และจะไม่ให้มีคนเดินนำหน้าองค์กฐินในวันแห่องค์กฐินเข้าวัด เพราะจะทำให้มีอาการชัก องค์กฐินมีทั้งชิ้นใหญ่และชิ้นเล็ก เช่น ไม้กวาด จอบ เสียม มีด ขวาน ถ้วย ชาม หม้อ ของทุกอย่างที่อยู่ในครัวเรือน (องค์กฐินเป็นเครื่องที่ยังไม่ได้ใช้) รวมถึงผ้าไตรจีวรและฆ้อง ปัจจุบันบุญกฐินส่วนใหญ่จะเป็นกฐินจอง องค์กฐินจะไม่ครบเหมือนในอดีต และจะมีของชิ้นใหญ่ เช่น ฆ้อง ตู้ โต๊ะ เป็นต้น
ทุนทางภูมิปัญญา
ภูมิปัญญาการทอผ้าไหม การทอผ้าไหมเป็นอาชีพเสริมอีกอย่างหนึ่งของทางชุมชนบ้านตาตา ช่วงหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จและช่วงที่ว่าง ชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงจะทอผ้าไหม โดยเริ่มจากการนำตัวไหมไปต้มแล้วสาวเอาเส้นไหมเก็บไว้ จากนั้นจึงนําเส้นไหมที่ได้ไปฟอกสีขาว จากนั้นชาวบ้านจะสร้างลวดลายบนผ้าไหม ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ
รูปแบบที่ 1 เมื่อได้เส้นไหมที่ฟอกสีขาวแล้ว ชาวบ้านจะนำเส้นไหมไปย้อมกับแม่สี โดยแม่สีที่ใช้ในการย้อมผ้าไหมนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 สี ได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีเขียว เมื่อย้อมสีเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านจะนำเส้นไหมมาสาวอีกรอบเพื่อให้เส้นไหมเป็นระเบียบ จากนั้นนำเส้นไหมสองสีพันเข้าด้วยกันด้วยเครื่องกรอ แล้วจึงนำเส้นไหมที่ได้ไปทอ
รูปแบบที่ 2 เป็นการสร้างลวดลายผ้าไหมด้วยการมัดหมี่ ซึ่งทำโดยการนำเส้นไหมที่ได้ไปมัดด้วยเชือกฝางแล้วย้อมทีละสีตามต้องการ เพื่อสร้างเป็นลวดลาย
ผ้าไหมที่ได้จากการทอ ชาวบ้านจะนําไปตัดเป็นผ้าซิ่น ผ้าโสร่ง และผ้าคาดเอว ผ้าที่เหลือจากการนําไปตัด ชาวบ้านจะนําไปจําหน่ายให้กับร้านตัดเย็บเสื้อผ้าหรือจําหน่ายให้กับผู้ที่ต้องการซื้อ ในราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500–2,500 บาท โดยผ้าที่มีลวดลายสวยงามจากวิธีการมัดหมี่นั้น ชาวบ้านจะจําหน่ายในราคาที่สูงขึ้นกว่าผ้าที่ทอแบบปกติ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการขายผ้าไหมตามตลาด จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาผ้าไหมได้ชัดเจน การทอผ้าไหมของคนในชุมชนจึงเป็นอาชีพเสริมที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง
ทุนทางเศรษฐกิจ
กองทุนหมู่บ้าน (เงินล้าน) ชุมชนบ้านตาตาได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เมื่อปี พ.ศ. 2544 เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่รัฐบาลให้ชุมชนมาดำเนินการ กู้ยืมและจัดให้เป็นทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน โดยไม่เรียกคืน แต่ชุมชนต้องมีการบริหารจัดการกับเงินอุดหนุนอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ชุมชนประชุมเลือกคณะกรรมการในการดำเนินงานเอง
กองทุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ชุมชนบ้านตาตาได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เมื่อปี พ.ศ. 2542 เริ่มแรก 280,000 บาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการส่งเสริมการประกอบอาชีพของคนในชุมชน โดยให้กู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ย แต่ต้องชําระคืนภายใน 1 ปี
กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2541 มีวัตถุประสงค์ เพื่อปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับสมาชิกกลุ่มเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะมีปันผลดอกเบี้ยคืนให้กับสมาชิก เริ่มแรกมีสมาชิก จำนวน 50 คน ปัจจุบัน มีสมาชิก จำนวน 53 คน ส่วนระเบียบกองทุนสมาชิกจะต้องส่งเงินสัจจะออมทรัพย์ทุกเดือน เดือนละ 20 บาท โดยคณะกรรมการจะรวบรวมเงินแล้วนำไปฝากที่ธนาคาร
บ้านตาตา หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ชาวบ้านชุมชนตาตาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกวย (ส่วย) การสื่อสารแบบไม่เป็นทางการหรือการสื่อสารทั่วไปจะใช้ภาษากูยเป็นหลัก การสื่อสารกับบุคคลภายนอกและการสื่อสารแบบทางการจะใช้ภาษาไทยถิ่นอีสาน และภาษาไทยกลาง
ชนาธิป พรมมี. (2560). คุณค่าผ้าไหมกับวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ชาวกูย กรณีศึกษา: บ้านตาตา หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ. ประกาศนียบัตรบัณฑิต วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เทศบาลตำบลโพธิ์กระสังข์. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2567, จาก https://phokrasang.go.th/