เดิมชื่อ “บ้านโคกครม” คนในพื้นที่ออกเสียงว่า “ครึม” และได้เพี้ยนมาเป็น “ตรึม” เหมือนในปัจจุบัน
เดิมชื่อ “บ้านโคกครม” คนในพื้นที่ออกเสียงว่า “ครึม” และได้เพี้ยนมาเป็น “ตรึม” เหมือนในปัจจุบัน
เดิมชื่อ “บ้านโคกครม” คนในพื้นที่ออกเสียงว่า “ครึม” และได้เพี้ยนมาเป็น “ตรึม” เหมือนในปัจจุบัน
ในอดีตบริเวณที่ตั้งบ้านตรึมเป็นที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่า ชาวบ้านเล่าว่า เขตบ้านตรึมในอดีตเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์มีสัตว์หลายชนิดที่อาศัยอยู่ เช่น เสือ เก้ง หมูป่า ตะกวด บริเวณหนองน้ำก็จะมี ปู ปลา กุ้ง หอย รวมไปถึงของป่าไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ ผักป่า ผักบุ้ง ผักกระเฉด เป็นต้น ลักษณะที่ตั้งของบ้านตรึม ตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงหรือเนินดิน ทำให้บ้านตรึมน้ำท่วมไม่ถึง สภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายเหมาะกับการเพาะปลูก ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงทำการเกษตรเป็นหลัก เช่น ทำนา ทำสวนผัก นอกจากนี้ยังมีสระน้ำและหนองน้ำเป็นแหล่งใช้ผลิตน้ำประปา สภาพอากาศของบ้านตรึมไม่ได้จากอากาศจากภาคอีสานทั่วไป จะมี 3 ฤดู ในช่วงฤดูร้อน จะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม มีอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม มีฝนตกชุก บางปีจึงทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในที่ลุ่ม ข้าวที่ชาวบ้านปลูกได้รับความเสียหาย ส่วนในฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีอากาศหนาวจัด
สถานที่สำคัญ
วัดตรึม เป็นวัดประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านจะนับถือพุทธศาสนา ภายในวัดมีหินเสาโบราณที่ได้พบในหมู่บ้านได้เก็บไว้ในวัดเพื่อให้ชาวบ้านได้สักการะบูชา ในพิธีกรรมทางศาสนาและวันสำคัญต่าง ๆ ต้นมะขามใหญ่กลางหมู่บ้านที่มีศาลปู่ ตา ไว้ต้นมะขามที่เป็นที่อยู่ของตะกวด
ปัจจุบันหมู่บ้านตรึมมีจำนวน 200 ครัวเรือน และจำนวนประชากรทั้งหมด 1,045 คน แบ่งเป็นชาย 505 คน และหญิง 540 คน ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว โครงสร้างครอบครัวของสังคมบ้านตรึมมีการสืบเชื้อสายทางฝ่ายหญิง คือ หลังจากแต่งงานแล้ว คู่สมรสจะไปอาศัยอยู่ที่บ้านพ่อแม่ของผู้หนึ่งระยะหนึ่งเพื่อเป็นแรงงานแก่ครอบครัวฝ่ายหญิง และรับการอบรมในเรื่องของการปฎิบัติตนการครองเรือนในครอบครัว เมื่อสร้างบ้านเสร็จเป็นของตนจึงจะย้ายเข้าไปแต่ส่วนใหญ่บ้านที่สร้างมักจะอยู่บริเวณเดียวกันกับบ้านของฝ่ายหญิง
ลักษณะการตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่ บ้านเรือนส่วนมากมุงหลังคาด้วยหญ้าคา แต่สำหรับเจ้าของบ้านที่มีฐานะมักใช้ไม้มุงหลังคา ซึ่งตัดมาเป็นแผ่นสั้น ๆ นำมาเรียงซ้อนกัน ฝาบ้านนิยมใช้ไม่ไผ่สานทำเป็นฝาขัดลายหรือใช้ไม้มาทำ เช่น ไม้กรุง ไม้สะแบง มาเรียงต่อกันแล้วใช้ไม้ไผ่สารอีกอันมาวางทับแล้วมัดให้แน่น ปัจจุบันนิยมสร้างด้วยไม้ทั้งหลังเพราะมีความทนทาน และใช้สังกะสีมุงหลังคา บางบ้านที่มีฐานะนิยมสร้างครึ่งปูนครึ่งไม้ก่ออิฐมีประตูมิดชิด ทาสีสวยงาม
การสืบทอดมรดกส่วนใหญ่ชาวบ้านมีอาชีพทำนา มรดกส่วนมากจะเป็นอุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตรและที่นา บ้าน เงิน โค กระบือ รวมไปถึงงานหัตถกรรมที่ประดิษฐ์เอง ส่วนใหญ่พ่อแม่มักจะแบ่งให้ลูกสาวคนเล็กที่จะต้องเลี้ยงดูยามแก่เฒ่า
ชาวกูยบ้านตรึมมีความเชื่อของคนในหมู่บ้านจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับผีและพุทธศาสนา โดยความเชื่อเกี่ยวกับผีมีมาตั้งแต่เริ่มตั้งหมู่บ้านตรึม มีความเชื่อเกี่ยวกับผีปู่ย่าและผีบรรพบุรุษ ชาวบ้านตรึมมีความเชื่อว่าตะกวดเป็นตัวแทนของผีปู่ย่า และผู้ที่มีหน้าที่สื่อสารกับผีปู่ย่าคือ จ้ำ หรือร่างทรง และผู้ที่ทำหน้าที่ติดต่อผีบรรพบุรุษคือ มอและออ มีการทำพิธีเซ่นทุกปี พิธีเซ่นไหว้ปู่ตาตะกวดในเดือน 3 และเดือน 6 โดยในความเชื่อเรื่องปู่ตาตะกวดยังเป็นพื้นฐานที่ยังเชื่อมโยงไปเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวบ้านทุกขั้นตอนตั้งแต่เกิดจนตาย
ชาวบ้านกูยในบ้านตรึมมีการนับถือพุทธศาสนา เดิมทีชาวกูยมีความเชื่อและนับถือผีเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ภายหลังได้รับความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามา ผสมสานเข้ากับความเชื่อเรื่องตะกวดการเข้ามาของพุทธศาสนาในหมู่บ้านในช่วงราวปี พ.ศ. 2450 มีพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินมาปักกลดใกล้ ๆ กับหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงนำข้าวปลาอาหารมาถวาย และต่อมาได้นิมนต์พระธุดงค์มาอยู่ประจำหมู่บ้าน ได้สร้างวัดขึ้นมาในเนื่อที่ประมาณ 3 ไร่ โดยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของต้นมะขามใหญ่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และตั้งชื่อวัดว่า “วัดพรหมวิหารเจริญ” แต่ชาวบ้านใกล้เคียง เรียกว่า วัดบ้านตรึม ปัจจุบันมีพระจำพรรษาอยู่จำนวน 15 รูป
พิธีกรรมเซ่นผีปู่ตาประจำปี หรือชาวบ้านเรียก “พิธีแซนอาหย่ะ” มีการจัดพิธีทุกปี ปีละ 2 ครั้ง คือก่อนจะเอาข้าวขึ้นยุ้งฉางจะจัดพิธีในเดือน 3 และก่อนเริ่มการดำนา ต้องจัดพิธีในเดือน 6 โดยมีข้อกำหนดในการจัดพิธีว่าต้องเป็นวันพุธ และเป็นวันข้างขึ้น 8 ค่ำขึ้นไปเท่านั้น ทั้งนี้การเซ่นผีปู่ตาในเดือน 3 ทำพิธีขึ้นเชื่อว่าเพื่อให้มีข้าวเต็มยุ้งฉางและมีข้าวไว้บริโภคตลอดปี ส่วนพิธีในเดือน 6 คือการขอความอุดมสมบูรณ์ของอาหารการกิน ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พิธีเซนอาหย่ะ สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวกูย ต่อระบบโรงสร้างทางสังคมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน จึงสร้างกฎระเบียบแบบแผนในการกำหนดบทบาทสถานภาพ และความสัมพันธ์ในสังคมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน ภายหลังจากเสร็จพิธีมักมีการละเล่นในพิธีกรรม การละเล่นสาดน้ำ ผู้เริ่มเล่นสาดน้ำก่อนคือกลุ่มผู้นำชุมชน จากนั้นชาวบ้านเอาน้ำที่เตรียมไว้มานำมาสาดที่แท่นอาหยะ เพื่อแสดงถึงความชุ่มชื้น ให้อาหยะได้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาทำให้ชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร
ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านตรึมจะเป็นภาษาอีสานแต่จะมีติดสำเนียงเขมร ส่วนชาวกูยบ้านตรึมส่วนใหญ่ใช้ภาษากูย หรือภาษาส่วย เป็นหลักในการสื่อสาร ซึ่งภาษากูยเป็นภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียนที่เป็นตัวอักษรอย่างเป็นทางการ