Advance search

บ้านบ่อล้อเป็นหมู่บ้านที่ปรากฏหลักฐานร่องรอยประวัติศาสตร์ อารยธรรมโบราณ ตำนาน และเรื่องราวการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชที่ 5 แห่งเมืองนครศรีธรรมราช 

บ่อล้อ
แม่เจ้าอยู่หัว
เชียรใหญ่
นครศรีธรรมราช
อบต.แม่เจ้าอยู่หัว โทร. 0-7580-3762
ธำรงค์ บริเวธานันท์
21 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 เม.ย. 2023
บ้านบ่อล้อ

ในบ้านบ่อล้อมีบ่อน้ำแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ปัจจุบันตั้งอยู่ในวัดบ่อล้อ เป็นบ่อที่ทำจากล้อเกวียน จึงเรียกว่า บ่อล้อ


ชุมชนชนบท

บ้านบ่อล้อเป็นหมู่บ้านที่ปรากฏหลักฐานร่องรอยประวัติศาสตร์ อารยธรรมโบราณ ตำนาน และเรื่องราวการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชที่ 5 แห่งเมืองนครศรีธรรมราช 

บ่อล้อ
แม่เจ้าอยู่หัว
เชียรใหญ่
นครศรีธรรมราช
80190
8.110602564
100.0991
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เจ้าอยู่หัว

จากคำบอกเล่าของบอกชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า ที่มาของหมู่บ้านบ่อล้อ เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชเดินทางมาจัดบำเพ็ญกุศลพระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัว แล้วโปรดให้ขุดเพื่อหาน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคของไพร่พล การขุดบ่อมีปัญหาเพราะเป็นดินทราย เมื่อขุดแล้วทรายจะกลบทับใช้การไม่ได้ พระเจ้าศรีธรรมโศกราชและพ่อท่านขรัวจึงได้โปรดให้ใช้ล้อเกวียนจำนวนหลายล้อมาซ้อนทับเป็นขอบบ่อ จนสามารถใช้การได้ในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ บ่อล้อ หมายถึง บ่อที่ทำด้วยล้อเกวียน ซึ่งปัจจุบันบ่อล้อแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตที่ดินวัดบ่อล้อ และให้ชาวบ้านเช่าอยู่อาศัย ซึ่งอยู่ติดกับถนนสายบ่อล้อ-เชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (มานะ ขุนวีช่วย นฤมล ขุนวีช่วย และเย็นฤดี หนูเพชร, 2561: 32)

ในอดีตพื้นที่บ้านบ่อล้อเดิมมีลักษณะเป็นเกาะ จนเมื่อประมาณ 150-200 ปีที่ผ่านมา เกิดการปิดกั้นของสันทรายเชียรใหญ่ และสันทรายนอกฝั่งทะเลสทิงพระ ประกอบกับการถดถอยของน้ำทะเล ทำให้ช่องแคบทางตอนเหนือถูกปิดกั้นและตื้นเขินกลายเป็นที่ราบและป่าพรุ การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในเวลาดังกล่าวจะตั้งอยู่บริเวณริมคลองเพื่อสะดวกต่อการคมนาคมทางน้ำ แต่เมื่อมีถนนสาย 408 นครศรีธรรมราช-สงขลา สภาพชุมชนเกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายกับสังคมภายนอก การย้ายถิ่นบานของสังคมยุคใหม่จึงเกิดขึ้น การตั้งชุมชนเริ่มขยับขยายจากพื้นที่ริมน้ำมาตั้งอยู่บริเวณสองฝั่งถนน ส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านถูกปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะการเคลื่อนย้ายที่ตั้งบ้านเรือนที่เห็นได้จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน 

ลักษณะทางภูมิศาตร์

ชุมชนบ้านบ่อล้อเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่าพรุคลองค็อง บริเวณที่ราบลุ่มระหว่างสันทรายชะอวดและสันทรายเชียรใหญ่ (บางครั้งเรียกสันทรายริ้วกลางหรือสันทรายนครศรีธรรมราช) พื้นที่บางส่วนมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี สภาพภูมิอากาศอยู่ในประเภทลมมรสุมเขตร้อน โดยทั่วไปจึงมีอากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรด้านตะวันออกของคาบสมุทร และในหนึ่งปี บ้านบ่อล้อต้องรับฝนถึง 2 ฤดูกาล คือ ฝนจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ด้านทะเลอันดามัน ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม เมฆฝนจะมาปะทะกับเทือกเขานครศรีธรรมราช ส่วนบ้านบ่อล้อซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางด้านตะวันออกจะอยู่ในเขตเงาฝน มีฝนตกน้อย ฝนอีกฤดูกาลหนึ่ง คือ ฝนจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือด้านอ่าวไทย เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม ช่วงนี้ฝนจะตกต่อเนื่องข้าววันคืน และตกหนักที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม

ทรัพยากรธรรมชาติ: ป่าพรุคลองค็อง

บ้านบ่อล้อเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่าพรุคลองค็อง ซึ่งป่าพรุบริเวณนี้จะมีลักษณะเป็นที่ราบและที่ดอน ชาวบ้านสามารถนำในพื้นที่ดังกล่าวสำหรับทำนาและเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ เช่น บัวบก แตงโม ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย และผลไม้ บางพื้นที่มีหญ้าขึ้นเหมาะแก่การทำปศุสัตว์

ป่าพรุคลองค็องเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ ชาวบ้านสามารถนำเอาพืชพรรณต่าง ๆ ในป่าพรุออกมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน จนป่าพรุกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน สำหรับพันธุ์พืชสำคัญที่พบในปาพรุคลองค็อง เช่น สะเตียว สักน้ำ หว้าหิน เสม็ดชุน มังค่า เนียน สิเพายุ้ง หญ้าแห้วหมู คุระเปีย และลำเท็ง เป็นต้น นอกจากพันธุ์พืชกว่าร้อยชนิด ในป่าพรุคลองค็องยังมีพันธุ์สัตว์มากมายหลายชนิด เนื่องจากในอดีตป่าพรุคลองค็องเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ท้งในเรื่องทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรดิน ทำให้มีสัตว์ป่านานาชนิดเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว เช่น ไก่เถื่อน ค่าง ชะมด กวาง หมูป่า เต่าดำ เต่าหับ เต่าขี้ผึ้ง ปลา นก ผึ้ง และหอย เป็นต้น

สถานที่สำคัญ

วัดแม่เจ้าอยู่หัว

ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวัดที่พระนางเลือดขาวทรงสร้างไว้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 1775 (ขณะพระชนมายุ 30 พรรษา) ปัจจุบันภายในวัดแม่เจ้าอยู่หัวยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์ศรีธรรมโศกราช และรูปปั้นพระนางแม่เจ้าอยู่หัว หรือพระนางเลือดขาวอีกด้วย 

วัดกุฏิ

ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ชาวบ้านเชื่อว่าในอดีตวัดกุฏิเคยเป็นสำนักพ่อท่านขรัวพี่ชาวยแม่เจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดบ่อล้อ ภายในมีน่องรอยสระน้ำโบราณ คาดว่าอาจสร้างขึ้นมาตั้งแต่พร้อมการสร้างวัด นอกจากนี้ชาวบ้านยังเชื่อว่าวัดกุฏิเป็นสถานที่ตั้งบำเพ็ญกุถศลพระนางแม่เจ้าอยู่หัวก่อนที่จะนำไปฌาปนกิจ ณ บริเวณบ่อล้อในปัจจุบัน ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ได้ถูกอุทิศให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนวัดบ่อล้อ สังกัดสำนักงานประถมศึกษาอำเภอเชียรใหญ่ 

วัดบ่อล้อ

วัดบ่อล้อเป็นวัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้านหมู่บ้านบ่อล้อ และมีประวัติศาสตร์ควบคู่กับตำบลแม่เจ้าอยู่หัวมาอย่างยาวนาน โดยปรากฏหลักฐาน คือ พระอุโบสถเก่าวัดบ่อล้อ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างมาแล้วมากกว่า 100 ปี 

ข้อมูลประชากรเมื่อปี พ.ศ. 2564 ระบุว่า บ้านบ่อล้อ ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว มีประชากรทั้งสิ้น 965 คน 

การประกอบอาชีพ

อาชีพหลัก:  ทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกมะพร้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ ฯลฯ

อาชีพรอง:   ประมง รับจ้าง และแปรรูปกระจูด

การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายนอกชุมชน: ส่วนใหญ่จะเป็นปลา และผลผลิตทางการเกษตร โดยจะนำมาเร่ขาย หรือวางจำหน่ายในร้านค้าชุมชน หรือหากได้ผลผลิตในปริมาณมาก นอกจากจะส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางแล้ว ชาวบ้านบางรายมักจะนำสินค้าไปขายด้วยตนเองในตลาดชุมชนบ่อล้อ หรือตลาดในตลาดในตัวอำเภอเชียรใหญ่ 

กลุ่มชุมชน

กลุ่มคนหาปลาในพรุ: ชาวบ้านบ่อล้อร่วมกับชาวบ้านอื่นในเขตพื้นที่แพรุคลองค็องที่มีอาชีพหาปลา ได้มีการรวมตัวก่อตั้งกลุ่มนามว่า กลุ่มคนหาปลาในพรุ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่มสมาชิกผู้หาปลา การรวมกลุ่มดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะปริมาณปลาและสัตว์น้ำในพรุคลองค็องเริ่มลดน้อยลง ตลอดจนมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำให้คงอยู่กับป่าพรุคลองค็องไปตลอด นอกจากนี้กลุ่มคนหาปลาในพรุยังช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสผู้จับปลาและสัตว์น้ำไม่ถูกวิธี ตลอดจนใช้เครื่องมือจับปลาผิดประเภทให้แก่ผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มคนหาปลาในพรุได้ลดจำนวนลง เนื่องจากปริมาณปลาและสัตว์น้ำในพรุลดน้อยลงอย่างมาก ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ต้องหันไปประกอบอาชีพอื่นทดแทนการหาปลา 

ประเพณีชุมชน

ประเพณีสำคัญของชุมชนบ่อล้อที่มีความเกี่ยว้องสัมพันธ์กับตำนานชุมชน คือ การแห่ผ้าขึ้นธาตุวัดแม่เจ้าอยู่หัว และประเพณีแข่งเรือเพรียวพระราชทาน ซึ่งเป็นประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องสมัพันธ์กับสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งชุมชน

  • ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุศรีธรรมโศกราช

การแห่ผ้าขึ้นธาตุศรีธรรมโศกราชที่วัดแม่เจ้าอยู่หัว จัดขึ้นในวันเวลาเดียวกันกับการแห่ผ้าขึ้นธาตุที่วัดพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช โดยประเพณีการแห่ผ้าขึ้นธาตุศรีธรรมโศกราชที่วัดแม่เจ้าอยู่หัวนี้เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน คือ เกิดขึ้นภายหลังการสร้างเจดีย์ศรีธรรมโศกราชแล้วเสร็จ โดยชาวบ้านที่ไม่สะดวกไปแห่ผ้าขึ้นธาตุที่วัดพระมหาธาตุ ก็จะมาแห่ผ้าขึ้นธาตุที่พระธาตุศรีธรรมโศกราชวัดแม่เจ้าอยู่หัวแทน

  • การแข่งเรือเพรียวประจำปี

การแข่งเรือเพรียวหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าการแข่งเรือยาว เป็นประเพณีสำคัญของชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โดยทุกปีจะมีการจัดการแข่งขันเรือเพรียวที่อำเภอเชียรใหญ่ ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิยมเล่นกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม- 1 มกราคม ของทุกปี โดยแบ่งเป็นเรือขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และเรือท้องถิ่น 7 ฝีพาย การแข่งขันเรือเพรียวนี้นอกจากจะเป็นกีฬาสร้างความสามัคคีแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมกีฬาพื้นบ้านแห่งลุ่มน้ำปากพนังอีกด้วย

เรือเพรียวหรือเรือยาวถือเป็นยานพาหนะคู่วิถีชีวิตของชาวบ้านมาตั้งแต่ในอดีต ใช้สำหรับการเดินทาง ขนส่งสินค้า และศึกสงคราม แต่เมื่อความเจริญก้าวหน้าและความทันสมัยของวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาถึงพื้นที่ชุมชน เรือเพรียวหรือเรือยาวจึงลดบทบาทเป็นเพียวกีฬาประจำท้องถิ่นชนิดหนึ่งเท่านั้น

นอกจากการแห่ผ้าขึ้นธาตุศรีธรรมโศกราชที่วัดแม่เจ้าอยู่หัว และการแข่งเรือเพรียวประจำปีแล้ว ชุมชนบ้านบ่อล้อยังมีประเพณีสำคัญเช่นเดียวกับชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่นับถือศาสนาพุทธ เช่น ประเพณีวันสารทเดือนสิบ ประเพณีวันว่าง ปละประเพณีสำคัญทางศาสนาอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ทั่วไปในจังหวัดนครศรีธรรมราช 

แม่เจ้าอยู่หัว (พระนางเลือดขาว)

ชาวบ้านในพื้นที่ป่าพรุตำบลแม่เจ้าอยู่หัวมีเรื่องเล่าว่า พระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัวเป็นคนงามด้วยเบญจกัลยาณี มีเลือดสีขาวแต่กำเนิด จนเป็นที่ร่ำลือถึงพระกรรณพระจ้าศรีธรรมโศกราชที่ 5 แห่งนครศรีธรรมราช จึงได้ขอพระนางไปเป็นพระนางมืองรับสถาปนาเป็นแม่เจ้าอยู่หัว หรือพระนางเลือดขาวอัครมเหสี พระนางเลือดขาวทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ มากมายทั้งในในเมืองนครศรีธรรมราช และนครใกล้เคียง โดยเริ่มจากการสร้างวัดแม่เจ้าอยู่หัวเป็นวัดแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1775 ทั้งยังได้ออกเดินทางปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระเจย้าศรีธรรมโศกราชผู้เป็นสวามีจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต พระนางเลือดขาวสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 1814 ระหว่างการเดินทางไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เมืองทะรัง (ตรัง) แต่ก่อนสิ้นพระชนม์พระนางเคยทูลขอต่อพระสวามีว่าหากสิ้นพระชนม์ลง ขอให้นำศพกลับไปยังบ้านเกิด ซึ่งพระเจ้าธรรมศรีโศกราชก็ได้ทำตามคำขอของพระนาง โดยอัญเชิญพระศพมาถวายพระเพลิง ล้ำนำพระอัฐิและพระอังคารมาประดิษฐานในเจดีย์วัดแม่เจ้าอยู่หัว จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของพระนางเลือดขาว 

พ่อท่านขรัว

ชาวบ่อล้อเชื่อว่าพ่อท่านขรัวคือพี่ชายของพระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัว ผู้ถือศีลเป็นชีปะขาวและอุปสมบทอุทิศตนใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ภายหลังมีสำนักเรียกว่า วัดกุฏิ แต่ภายหลังร้างไปแล้ว 

พระครูสิริธรรมพิทักษ์

พระครูสิริธรรมพิทักษ์ หรือพระมหาบัญญัติธมฺมสาโร เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องประวัตความเป็นมาของหมู่บ้านบ่อล้อ (ผู้ร่วมวิจัย ประวัติแม่เจ้าอยู่หัว) และเป็นบุคคลผู้ได้รับความเคารพนับถือจากชาวบ้านบ่อล้อ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลแม่เจ้าอยู่หัว

นายเขียน สุขขนาน

นายเขียน สุขขนาน หรือลุงเขียน เป็นปราชญ์ชุมชนผู้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมชุมชน เช่น การร้องเพลงบอก การตีกลองยาว และนวดแผนโบราณ 

ทุนทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรม

  • การสานกระจูด

กระจูด เป็นต้นไม้ที่ขึ้นในป่าพรุ มีลักษณะลำต้นกลม ขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อ แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ จูดใหญ่ และจูดหนู โดยทั่วไปชาวบ้านบ่อล้อและชาวบ้านในพื้นที่ป่าพรุคลองค็องจะใช้กระจูดในการจักสานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เสื่อ ใบเรือ เชือก และกรอบสอบบรรจุสินค้าทางการเกษตร และสิ่งของอื่น ๆ ส่วนที่เหลือจากใช้เองก็จะนำออกไปขายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน การสานกระจูดเพื่อทำเครื่องมือเครื่องใช้นั้นมีมาตั้งแต่อดีต กระทั่งในปี พ.ศ. 2537 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงฯ ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดตั้งโครงการศิลปาชีพบ้านเนินธัมมังขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้ให้แก่ชาวบ้านบริเวณป่าพรุคลองค็องรวมถึงชาวบ้านบ่อล้อ ทำให้แม่บ้านมีรายได้จากการสานกระจูด จนได้รับการยอมรับว่าผลิตภัณฑ์กระจูดของศูนย์ศิลปาชีพเนินธัมมังเป็นสินค้าที่มีความปราณีตและสวยงาม ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับ 5 ดาว ซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากคนนอกพื้นที่เป็นอย่างมาก 

ภาษาพูด:  ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน:  ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มานะ ขุนวีช่วย นฤมล ขุนวีช่วย และเย็นฤดี หนูเพชร. (2561). คนพรุ: การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทรัพยากรป่าพรุโรงเรียนวัดบ่อล้อ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (รายงานการวิจัย). สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช.

วัดแม่เจ้าอยู่หัว. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thailandtourismdirectory.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566]

Auz U. (2555). ตลาดสดชุมชนบ่อล้อ. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://th.foursquare.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566].

อบต.แม่เจ้าอยู่หัว โทร. 0-7580-3762