"ตลาดวิถีป่า สมัชชาคนจน ชุมชนโคกอีโด่ย" จากชุมชนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวในเขตชนบทจังหวัดสระแก้ว นำมาซึ่งแนวคิดในการจัดระบบต่าง ๆ ด้วยตนเองเพื่อความอยู่รอดโดยไม่รอคอยความช่วยเหลือ สู่การก่อตั้งตลาดวิถีป่าชุมชนโคกอีโด่ย ตลาดชุมชนจำหน่ายผลิตผลจากป่าที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสระแก้ว
"ตลาดวิถีป่า สมัชชาคนจน ชุมชนโคกอีโด่ย" จากชุมชนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวในเขตชนบทจังหวัดสระแก้ว นำมาซึ่งแนวคิดในการจัดระบบต่าง ๆ ด้วยตนเองเพื่อความอยู่รอดโดยไม่รอคอยความช่วยเหลือ สู่การก่อตั้งตลาดวิถีป่าชุมชนโคกอีโด่ย ตลาดชุมชนจำหน่ายผลิตผลจากป่าที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสระแก้ว
บ้านโคกอีโด่ย เป็นกลุ่มบ้านของบ้านใหม่ไทยถาวร หมู่ที่ 5 ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว สมาชิกของชุมชนโคกอีโด่ยประกอบไปด้วยชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านในตำบลทัพราช ได้แก่ บ้านตะลุมพุก บ้านหนองปรือ บ้านหนองติม ซึ่งเดิมทีอาศัยอยู่บริเวณเขาช่องตะโก-ลำห้วยสะโตนจนขยายบริเวณไปถึงดงเต็งหมาก (ต่อมาชาวบ้านเรียกทัพช้าง) แต่ผ่านไประยะหนึ่งภาครัฐได้มีการนําทหารเขมรเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อฝึกยุทธการ ชาวบ้านต้องอพยพย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ภายหลังทหารเขมรย้ายออกไปชาวบ้านจึงได้กลับเข้าไปยังที่อยู่อาศัยและที่ทำกินบริเวณดงเต็งหมากอีกครั้ง ทว่า ผ่านไปไม่นานก็เกิดข้อพิพาทเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินกับตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องเข้าร่วมกับกลุ่มสมัชชาคนจนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งชาวบ้านขอกลับเข้าไปยังพื้นที่ทำกินเดิมของตนในบริเวณดงเต็งหมาก (ทัพช้าง) และกลุ่มสมัชชาคนจนได้มีการเจรจากับทางรัฐบาลและมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาให้กับผู้เดือดร้อนจำนวน 88 ครอบครัว โดยให้ทางจังหวัดสระแก้วเป็นผู้ดำเนินการให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหากับกลุ่มผู้เดือดร้อนร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องดำเนินการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมาย โดยที่ประชุมมีมติให้จัดหาพื้นที่ทำกินทำกินใหม่เพื่อทดแทนพื้นที่เดิมที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตอุทยานในปี พ.ศ. 2539 ประกอบกับพื้นที่บางส่วนถูกใช้เป็นแปลงปลูกป่าถาวรของทางราชการ
อีกทั้งสภาพที่ทำกินเดิมของชาวบ้านอยู่กระจัดกระจายกันออกไป ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้เห็นว่ามีความยากลำบากในการควบคุมและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าของชาวบ้านอีก จึงเห็นควรว่าให้ชาวบ้านกลุ่มผู้เดือดร้อนเข้ามาอยู่รวมกันในพื้นที่ใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางรัฐได้จัดสรรเอาไว้จำนวน 1,632 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของบ้านใหม่ไทยถาวร หมู่ที่ 5 ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับทางเจ้าหน้าที่ของป่าไม้ เนื่องจากพื้นที่ที่ถูกจัดสรรให้นั้นเดิมทีมีเจ้าของที่เขาทำกินอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว เกรงว่าจะมีความขัดแย้งกันเกิดขึ้น อีกทั้งส่วนใหญ่ก็เป็นพี่น้องในหมู่บ้านเดียวกันที่เคยถูกอพยพมาด้วยกัน
นอกจากนี้พื้นที่บางส่วนได้มีนายทุนเข้ามาซื้อที่ไว้แล้ว จากปัญหาเรื่องของสิทธิในที่ทำกินนำมาสู่การรวมตัวกันของชาวบ้านเพื่อจัดตั้งเป็นชุมชน และมีมติของที่ประชุมจัดตั้งเป็นชุมชนใหม่ขึ้นมา โดยชาวบ้านเรียกตัวเองว่า “ชุมชนโคกอีโด่ย” ซึ่งมีการให้ความหมายว่า "เป็นชุมชนที่โดดเดี่ยว" ในที่นี้ คือ การโดดเดี่ยวไร้การดูแล ไม่ได้รับการพัฒนาจากภาครัฐ ทำให้สมาชิกในชุมชนมีแนวคิดในการจัดระบบต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ไม่รอรับความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาเพื่อบริหารงานด้านการพัฒนา มีการสร้างข้อตกลงสำหรับการอยู่ร่วมกันเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน มีการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ให้กับสมาชิกอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง รวมไปถึงความสามารถในการจัดการดูแลระบบภายในเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้งการจัดสรรเรื่องของระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนที่เป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชน ซึ่งก็คือ ตลาดวิถีป่าชุมชนโคกอีโด่ย ที่ปัจจุบันตลาดแห่งนี้กลายเป็นตลาดที่มีมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างสูง ตลอดจนการจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ ด้วยความสมัครสมานสามัคคี ถ้อยทีถ้อยอาศัย อันจะนํามาสู่การเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีความสุข ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ ต่อไป (สุมนทิพย์ ก๋าวงค์, 2559 : 21-25)
บ้านโคกอีโด่ย เป็นชุมชนที่ยังไม่ถูกรับรองอย่างเป็นทางการ แต่ถูกยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของบ้านใหม่ไทยถาวร หมู่ที่ 5 ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว บริเวณที่ตั้งของชุมชนเป็นที่ราบ ติดแหล่งน้ำ สภาพเป็นป่าไม้สลับกับที่ราบ มีภูเขาล้อมรอบ 3 ทิศ ได้แก่ ทางด้านทิศเหนืออยู่ระหว่างเทือกเขาบรรทัดก่อนถึงช่องตะโก กั้นระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสานใต้) กับภาคตะวันออก มีถนนหมายเลย 348 ตัดผ่าน ทิศใต้มีเทือกเขาสะแกกรองกั้นกลางระหว่างบ้านโคคลาน และทิศตะวันตกมีเทือกเขาพรานนุชกั้น ส่วนทางด้านทิศตะวันออกนั้นไม่มีเทือกเขากั้น ติดกับบ้านทับทิมสยาม 03 ตำบลทัพไทย พื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบ โคก ดอน มีทั้งพื้นที่นา ไร่มันสำปะหลังและที่อยู่อาศัย มีถนนศรีเพ็ญคู่ขนานไปจนถึงเส้นแนวชายแดนประเทศกัมพูชา บริเวณภูเขาที่ล้อมรอบชุมชนอยู่นั้นเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยสะโตนที่ไหลมาจากเทือกเขาบรรทัดและเขาสวายสอ ซึ่งเป็นลำน้ำสายเดียวที่ไหลจากเทือกเขาบรรทัดลงมาทางทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกและไหลเข้าสู่ทะเลสาบเขมรในประเทศกัมพูชาต่อไป ลักษณะของภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม มี 3 ฤดู ฤดูร้อน สภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัด ส่งผลให้เกิดสภาวะแห้งแล้งได้ในบางพื้นที่ ฤดูฝน ปริมาณน้ำฝนไม่แน่นอน บางปีมากบางปีน้อย และฤดูหนาวซึ่งได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณนี้มีอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 18-22 องศาเซลเซียส โดยพื้นที่ชุมชนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติตาพระยา โดยมีเทือกเขาบรรทัดกั้นระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคตะวันออก
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านใหม่ไทยถาวร (ชุมชนหลัก) หมู่ที่ 5
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลทัพไทย อำเภอตาพระยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เทือกเขาสะแกกรอง ตำบลโคคลาน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านใหม่ไทยถาวร ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1192 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 586 คน ประชากรหญิง 606 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 350 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยอาศัยการหมุนเวียนของฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงของสภาพดิน น้ำ อากาศตามธรรมชาติ ในรอบปีของการทำการเกษตรจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชแต่ละชนิด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านก็เลือกปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองและสามารถทำรายได้ให้กับครอบครัว ชุมชนโคกอีโด่ยมีชาวบ้านที่มีอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้วจึงมีการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ตามที่ตนเองหรือครอบครัวต้องการ อีกทั้งยังมีตลาดรองรับอยู่เสมอ ทำให้ง่ายต่อการนำไปจำหน่าย ซึ่งมีราคาดีกว่าการนำไปส่งให้พ่อค้าขายส่งที่มารับ พืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีการปลูกกันมาก คือ มันสำปะหลังและข้าว เนื่องจากมีสถานที่รับซื้อสินค้าทางการเกษตรทั้งสองชนิดนี้ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน จึงทำให้เป็นที่นิยมปลูกในกลุ่มเกษตรกรทั่วไป ทั้งชุมชนโคกอีโด่ยและชุมชนใกล้เคียง
นอกจากการทำเกษตรกรรมแล้ว ยังมีการเก็บหาของป่าและค้าขาย โดยตลาดซึ่งเป็นแหล่งเงินหมุนเวียนสำคัญของชุมชน คือ ตลาดโคกอีโด่ย ตลาดชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสระแก้ว ตลาดแห่งนี้นอกจากจะเป็นตลาดที่วางขายเครื่องอุปโภคบริโภคทั่วไปแล้ว ยังมีการขายของป่า อาทิ พืชผักตามฤดูกาล อาหารพื้นบ้าน เช่น หนังควายจี่ กบ เขียด แมลง น้ำผึ้ง ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นของหายากและมีราคาสูง ตลาดชายแดนโคกอีโด่ยจึงได้ชื่อว่าเป็นตลาดวิถีป่า ชุมชนวิถีป่า โดยแม่ค้าส่วนใหญ่ในตลาดโคกอีโด่ยคือสมาชิกในชุมชน และมีญาติที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนำสินค้าเข้ามาขายด้วยบ้างจำนวนหนึ่ง ชาวบ้านบางรายมีการเก็บขายเป็นรายได้หลัก แต่มีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากว่าปัจจุบันของป่าที่ชาวบ้านเก็บหามาจากป่าสามารถเพาะปลูกเองได้ และสินค้าหรือพืชผักบางชนิดมีให้เลือกซื้อได้ตลอดปี ในด้านของแรงงานคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสมากกว่าก็ไปเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในเมืองหลวงเป็นจำนวนมาก ทำให้ขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร จึงมีการจ้างแรงงานชาวกัมพูชาเข้ามาทดแทนแรงงานคนไทย เช่น ขุดมัน เกี่ยวข้าว เลี้ยงสัตว์
การเกิดขึ้นของตลาดวิถีป่าชุมชนโคกอีโด่ย เกิดจากแนวคิดที่ชุมชนต้องการจะมีเงินเป็นกองทุนสำหรับใช้ในการบริหารจัดการชุมชน แต่เดิมการเก็บหาของป่าเป็นเพียงเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง แล้วเกิดกลายเป็นการรวมตัวตั้งเป็นตลาดชุมชนขึ้นบริเวณข้างทางริมถนนหมายเลข 348 ละหานทราย-ตาพระยา
วิถีชีวิต
แต่เดิมวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อดั้งเดิมต่าง ๆ ชาวบ้านจะมีงานบุญประเพณีประจำปีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เช่น งานบุญสงกรานต์ จะมีการขนทรายเข้าวัด ความเชื่อหลักของชุมชนเชื่อในตาปู่ (ปู่ตา) และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในท้องที่ ในอดีตเวลามีงานบุญ งานบวช งานแต่ง ชาวบ้านจะหาคณะเพลงโคราชมาเล่นให้ความสนุกสนานบันเทิงแก่ชาวบ้าน ไม่มีการเลี้ยงสุรา ไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน ที่วัดจะมีพิธีกรรมงานบุญอย่างหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า “เข้ากรรม” หรืองานปริวาส เป็นเวลา 7-15 วัน ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนและชาวบ้านจะไปรวมกันที่วัด ฝึกปฏิบัติธรรมนั่งกรรมฐานโดยมีความเชื่อว่าหากผู้ใดไม่ไปแล้วจะเกิดฟ้าผ่าจึงกลายเป็นกุศโลบายให้ผู้คนเข้าวัดทำบุญ สถานที่สำคัญด้านประเพณีวัฒนธรรมชุมชน ได้แก่
- วัดหนองติม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ผู้ดำเนินการก่อสร้างวัด คือ นายจวน หอมทิพย์ นายอุย เพชรโกมล นายหลง วงศ์ทำเนียบ นายพูน หาญการ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2529
- วัดเขาช่องตะโก ตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามทางเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติตาพระยา
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน
การตั้งบ้านเรือนของชุมชนโคกอีโด่ยเป็นลักษณะของการปลูกเป็นกระท่อมอยู่ ยังไม่มีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีอยู่ทั่วไป ชาวบ้านในชุมชนยังคงใช้ตะเกียง ขี้ไต้ เทียน ไฟฉาย เครื่องปั่นไฟ และโซลาเซลล์ ระบบของน้ำประปาเป็นการจดสร้างเองโดยมีการนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ไปตั้งยังแหล่งน้ำธรรมชาติและสูบขึ้นมายังถังพักแล้วปล่อยให้แต่ละบ้าน โดยมีการติดตั้งมิเตอร์เพื่อเก็บค่าน้ำสำหรับเอาไว้ใช้ในกองทุนน้ำต่อไป
ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ
บ้านอีโด่ยเป็นชุมชนขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณริมเทือกเขาบรรทัดกันระหว่างจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสระแก้ว ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขาสลับกับที่ดอนหรือภาษาถิ่นอีสานเรียกว่าโคก บริเวณที่ตั้งชุมชนถูกรายล้อมไปด้วยภูเขาและผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณที่ตั้งชุมชนนี้อีกอย่างว่า ดง ซึ่งคนทั่วไปจะเรียกว่า โคกอีโด่ย โดยในบริเวณของชุมชนมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตที่หล่อเลี้ยงคนโคกอีโด่ยและชุมชนใกล้เคียง ได้แก่
- เทือกเขาบรรทัด อุทยานแห่งชาติตาพระยา เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 82 ของประเทศไทย เขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์ สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง
- ห้วยลำสะโตน เป็นลำห้วยสายใหญ่ที่มีแหล่งต้นน้ำมาจากเขาสวายสอ ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติตาพระยา เป็นลำห้วยสายหลักของชุมชน น้ำจะไหลลงไปรวมที่แก้มลิงลำสะโตน ก่อนจะไหลไปยังประเทศกัมพูชาต่อไป
- แก้มลิงลำสะโตน (หนองแค) เป็นแหล่งรับน้ำธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของชุมชน ปัจจุบันทางองค์การบริหารส่วนตำบลทัพราช ได้ขยายพื้นที่กักเก็บน้ำให้มากขึ้น และสร้างคันกั้นน้ำแบบน้ำล้น เพื่อเป็นการระบายน้ำช่วงฤดูฝน และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง
- ป่าชุมชนโคกอีโด่ย เป็นป่าของชุมชนที่สมาชิกในชุมชนร่วมกันแบ่งสรรให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อเป็นแหล่งฟื้นฟูและแหล่งเพาะพันธุ์พืช สัตว์ป่าบางชนิด โดยตั้งอยู่ด้านหลังของชุมชน มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่
ทุนทางเศรษฐกิจ
- กองทุนสัจจะออมทรัพย์ ปี 2559 มีสมาชิกจำนวน 132 คน จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในชุมชน
- กองทุนกลางของชุมชน เพื่อใช้บริหารกิจการต่างๆ ของชุมชน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากกองทุนเงินมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) โดยมีคณะกรรมการคอยดูแลเรื่องการใช้จ่าย
- กองทุนตลาด (เงินกะบั้ง) มีกรรมการในการจัดการดูแลความสะอาดและควบคุมคุณภาพของสินค้า ตลอดจนการเก็บรวบรวมเงินค่าแผงที่แม่ค้าผู้เป็นเวรในการเก็บเงินนำมาส่ง
- กองทุนน้ำ มีคณะกรรมการดูแลจัดการเรื่องของระบบสูบน้ำ การจ่ายน้ำตลอดจนซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำและท่อประปาในชุมชนและตลาด ผู้ดูแลการสูบน้ำในแต่ละครั้งจะได้รับค่าตอบแทน ซึ่งมาจากการเก็บค่าน้ำตามมิเตอร์และค่าน้ำบริเวณตลาดที่แม่ค้าซื้อไว้สำหรับใช้ภายในร้าน โดยมีคณะกรรมการคอยดูแล
ภาษาอีสาน : ภาษาไทยสำเนียงโคราช ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาเขมร และภาษากลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ตาพระยา
ตลาดวิถีป่าชุมชนโคกอีโด่ย สมัชชาคนจนชุมชนโคกอีโด่ย. (2567). สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/
สุมนทิพย์ ก๋าวงค์. (2559). การจัดการตลาดวิถีป่าชุมชนโคกอีโด่ยสู่การพึ่งตนเอง กรณีศึกษา: ชุมชนโคกอีโด่ย บ้านใหม่ไทยถาวร หมู่ที่ 5 ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว. ประกาศนียบัตรบัณฑิต วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Pchalisa. (2565). รีวิว เที่ยวเมืองรอง สระแก้ว โคกอีโด่ย ตลาดใกล้ฉัน เด็ดสุดในย่านนี้. สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2567, จาก https://travel.trueid.net/