วิถีชีวิตปกากะญอผ่านการสร้างพื้นที่ของตนท่ามกลางธรรมชาติ ด้วยการทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียนเพื่อเศรษฐกิจและการยังชีพ
บ้านปิตุคี หรือเรียกตามภาษาพูดชาวบ้านว่า "เดอะปี๊ตุ๊คี" โดยคำว่า "เดอะ" หมายถึง บ้าน คำว่า "ปิตุ๊" หมายถึง บ้านหลังเล็ก ๆ ทำจากไม้ไผ่ และคำว่า "คี" หมายถึง ต้นน้ำ ดังนั้นจึงหมายถึง ครอบครัวที่สร้างบ้านอาศัยอยู่ใกล้แหล่งต้นน้ำ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยจะตั้งเรือนใกล้บริเวณแหล่งน้ำและตัวเรือนสร้างมาจากไม้ไผ่
วิถีชีวิตปกากะญอผ่านการสร้างพื้นที่ของตนท่ามกลางธรรมชาติ ด้วยการทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียนเพื่อเศรษฐกิจและการยังชีพ
บ้านปิตุคี หมู่ 11 ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรในหมู่บ้านเป็นชาวไทยภูเขาชนเผ่าปกากะญอ (สะกอ) ได้มีการตั้งถิ่นฐานรกรากมาประมาณ 150 ปี เดิมชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธ (ถือผี) เป็นส่วนใหญ่ และได้เริ่มนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา ในอดีตนั้นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เรียกชื่อเป็นภาษาถิ่นปกากะญอว่า "กะว่าเว่โก" (กะว่า หมายถึง คนลัวะ เว่ หมายถึง เมือง โก หมายถึง ลำห้วย) พื้นที่ที่คนชนเผ่าลัวะเคยมาอาศัยอยู่สร้างวัดและสร้างเจดีย์ พร้อมกับตั้งรกรากการทำมาหากินอยู่นาน แต่ภายหลังย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานอื่น ชาวปกาเกอะญอกลุ่มอื่นจึงเข้ามาอาศัยอยู่แทนที่ แต่อยู่ได้ไม่นานก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น เนื่องจากคนเมืองเข้ามาขุดเหมืองแร่อยู่ใกล้หมู่บ้าน จึงย้ายพื้นที่อาศัยตั้งบ้านเรือนเป็น 2 หย่อมบ้าน หย่อมแรกมีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 6 หลัง เรียกว่า "หย่อมบ้านเคอะโก" (เคอะ หมายถึง ชื่อของต้นไม้ขนาดใหญ่ โก หมายถึง ลำห้วย) ตามสภาพพื้นที่อาศัยอยู่ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ มีลำห้วยไหลผ่าน ชาวบ้านที่อยู่อาศัยหย่อมบ้านเคอะโกอยู่ได้ประมาณ 4 ปี ก็ย้ายกลับมาอยู่พื้นที่บ้านปิตุคีปัจจุบัน ส่วนอีกหย่อมบ้านย้ายไปตั้งที่อยู่อาศัยบนดอยและเรียกเป็นภาษาถิ่นว่า "หย่อมบ้านซิโยเซะแทะ" (ซิโยเซาะแทะ หมายถึง การฟันตันไม้แล้วเว้นพื้นที่ตรงกลางไว้เพื่อใช้สอย) มีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 9 หลัง อยู่ได้ประมาณ 2 ปี ก็ย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านปิตุคี เหตุที่ย้ายเนื่องจากพื้นที่ชิโยเซาะแทะเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนดอยสูงทำให้การสัญจรไม่สะดวก
บ้านปิตุคี หรือเรียกตามภาษาพูดชาวบ้านว่า "เดอะปี๊ตุ๊คี" โดยคำว่า เดอะ หมายถึง บ้าน คำว่า ปิตุ๊หมายถึง บ้านหลังเล็ก ๆ ทำจากไม้ไผ่ และคำว่าคี หมายถึง ต้นน้ำ หมายถึง ครอบครัวที่สร้างบ้านอาศัยอยู่ใกล้แหล่งต้นน้ำ จากนั้นประชากรเพิ่มขึ้นก็ขยับขยายพื้นที่โดยรอบให้พอปลูกบ้านอาศัยอยู่และทำมาหากินจนถึงปัจจุบัน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยโค้ง ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเขียงใหม่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแม่แฮน้อย ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัด
- ทิศตะวันใต้ ติดต่อกับ บ้านขุนสอง ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านขุนหาด ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านปิตุคีตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นหุบเขา และเทือกเขาสลับซับซ้อนโดยรอบ มีลำห้วยไหลผ่านกลางหมู่บ้านทำให้บริเวณโดยรอบมีความขึ้นตลอดทั้งปี มีพื้นที่ 2 ส่วน ดังนี้
- ส่วนที่ 1 พื้นที่ภูเขาและป่าไม้ เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านประกอบด้วยป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ติดกับบริเวณพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน
- ส่วนที่ 2 พื้นที่ราบระหว่างหุบเขาและพื้นที่ระหว่างไหล่เขา เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน
สภาพภูมิอากาศ
ค่อนข้างหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปีภายใต้อิทธิพลลมมรสุม 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังมีลมประจำถิ่น คือ ลมภูเขาและลมหุบเขาที่ช่วยส่งผลต่อการหมุนเวียนของอากาศและส่งผลให้มีสภาพอากาศหนาวเย็น
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 11 บ้านปิตุคี ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 629 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 335 คน ประชากรหญิง 294 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 195 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567) ประชากรในหมู่บ้านปิตุคีเป็นชาวไทยภูเขาชนเผ่าปกากะญอ (สะกอ) ความสัมพันธ์ภายในชุมชนเป็นลักษณะเครือญาติ นามสกุลที่มีอยู่ในหมู่บ้านมากที่สุด คือ สุขเงินนอน และชนกฤต
ปกาเกอะญออาชีพหลักของชาวบ้านปิตุคีคือการทำเกษตรกรรม ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ เพื่อยังชีพและเพื่อขาย การทำเกษตรเพื่อยังชีพ คือ การทำไร่หมุนเวียน การทำนาเลี้ยงสัตว์ ส่วนการทำเกษตรเพื่อขาย ได้แก่ การปลูกมะเขือเทศ การปลูกกะหล่ำปลี นอกจากนี้ยังมีอาชีพรับจ้างทั่วไป และค้าขาย
การทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ
การทำไร่หมุนเวียนเพียงปีละ 1 ครั้ง ปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ ให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอสำหรับการบริโภคตลอดทั้งปี เน้นปลูกพันธุ์ข้าวท้องถิ่น ซึ่งตามปกติในไร่แต่ละจะปลูกข้าวอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ผสมกันระหว่างพันธุ์ข้าวเจ้าและพันธุ์ข้าวเหนียว ส่วนการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพที่ทำตลอดทั้งปีและทำกันเกือบทุกครัวเรือน จำนวนสัตว์แต่ละครัวเรือนจะมีตั้งแต่ ไก่ วัว ควาย หมู เป็ด เป็นต้น โดยจะมีคนมารับซื้อถึงหมู่บ้านวัวราคาประมาณ 4,000-6,000 บาท ควายราคาประมาณ 10,000-12,000 บาท หมูราคาประมาณ 4,000-6,000 บาท ไก่ราคาตัวละ 100 บาท เป็ดราคาตัวละ 100 บาท วัวและควายจะเลี้ยงในลักษณะการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติในบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์และต้อนกลับเข้าคอกในตอนเย็น หรือปล่อยไว้นานเป็นสัปดาห์ จึงไปดูสักครั้ง หากเป็นช่วงหลังฤดูการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะต้อนไปกินตอข้าวที่เหลืออยู่ในไร่นา
การทำเกษตรกรรมเพื่อเศรษฐกิจ
การทำไร่มะเขือเทศและการทำไร่กะหล่ำปลี ผลผลิตที่ได้ไปส่งตลาดที่ตัวอำเภออมก๋อย ลักษณะการทำไร่จะทำตามไหล่เขาไล่เป็นชั้นกันลงมาเป็นลำดับ มีทั้งการทำซ้ำในพื้นที่เดิมและหมุนเวียน
หมู่บ้านปิตุคีมี 2 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธที่นับถือผีควบคู่ไปด้วย และนับถือศาสนาคริสต์
ศาสนาพุทธ ชาวบ้านจะทำกิจกรรมเป็นประจำ เช่น ทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรมทุกวันพระและหยุดทำงานทุกอย่างเมื่อเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ มีการทำบุญใหญ่ในวันขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านนำอาหารมาทำบุญร่วมกันที่สำนักสงฆ์ อนึ่ง ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธจะนับถือผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติควบคู่กันไปด้วย เพราะเชื่อว่าผีจะให้ความคุ้มครองป้องกันจากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายได้
ส่วนศาสนาคริสต์ ชาวบ้านมีรูปแบบกิจกรรมเช่นเดียวกันกับขนบธรรมเนียมประเพณีของศาสนาคริสต์โดยทั่วไป ได้แก่ งานเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส งานขึ้นปีใหม่ งานแต่งงาน งานศพ ตามปกติผู้นับถือศาสนาคริสต์ในหมู่บ้าน จะหยุดทำงานทุกอย่างในวันอาทิตย์เพื่อเข้าโบสถ์นมัสการพระเจ้า
ภาษาพูด : ปกาเกอะญอ, ไทยถิ่นเหนือ, ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน, อักษรไทย
ณัฐาพร อุดมรัตน์. (2552). จือเกอะแว เคาะเกอะแว เครื่องมือเครื่องใช้แห่งภูมิปัญญาวิถีชีวิตปกฺากะญอ (สะกอ): กรณีศึกษาบ้านปิตุคี หมู่ที่ 11 ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
องค์การบริหารส่วนตำบลยางเปียง. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.yangpiang.go.thcontent/generalinfo