หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยวิถีชีวิตค่อนข้างเรียบง่าย
หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยวิถีชีวิตค่อนข้างเรียบง่าย
บ้านหนองอึ่งเหนือเป็นหมู่บ้านชาวโพล่ง (กะเหรี่ยงโปว์) ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าก่อตั้งขึ้นเมื่อใด แต่มีการบอกเล่าจากบรรพบุรุษว่าการก่อตั้งหมู่บ้านเริ่มโดยมีนายมือลอย (ยูรวย) พยุงกรรณิกา ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองอึ่งเหนือพร้อมกับชาวบ้านอีก 6 ครัวเรือน โดยอพยพมาจากที่ดอยสูงแต่ไม่ปรากฏชื่อดอยแห่งนั้น ในอดีตนั้นชาวบ้านได้อพยพไปอยู่ที่บ้านห้วยบงแต่ด้วยเหตุที่บ้านห้วยบงอยู่บนภูเขาสูง มีเส้นทางลาดชันไม่สะดวกต่อการประกอบอาชีพและการคมนาคม จึงได้ย้ายลงมาอยู่ที่บ้านหนองอึ่งเหนือ ในระยะแรกที่ย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมชุมชนนั้นมีสัตว์ที่พบหลายชนิดทั้งกบเขียดและอึ่งอ่างเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้นำมาตั้งเป็นชื่อของหมู่บ้านและเรียกต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และมีชื่อเรียกท้องถิ่นของบ้านหนองอึ่งเหนือว่า "น๊องเอิงกล้อง"
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านหนองอึ่งเหนือ ตั้งอยู่ที่หมู่ 19 ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 882 เมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภออมก๋อยประมาณ 24 กิโลเมตร สภาพถนนเป็นถนนดิน มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยบง ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านผาปูน ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันอก ติดต่อกับ บ้านมะกอกน้อย ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหนองอึ่งใต้ ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
ลักษณะภูมิประเทศ
ด้านลักษณะภูมิประเทศของบ้านหนองอึ่งเหนือโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นภูเขา ชาวบ้านมักจะตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณไหล่เขา และหุบเขาแอ่งกระทะใกล้แหล่งน้ำ มีพื้นที่ราบเป็นส่วนน้อย มีลำห้วยหนองอึ่งไหลผ่านกลางใช้ในการอุปโภคและบริโภค แต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์น้ำจะแห้ง สภาพการเดินทางลำบากเนื่องจากเป็นถนนและทางลาดชันและสูง
ลักษณะภูมิอากาศ
มีสภาพอากาศ 3 ฤดูได้แก่ ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาวอยู่ในระหว่างปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม
ทรัพยากรธรรมชาติ
ชาวบ้านบ้านหนองอึ่งเหนือได้พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ในการดำรงชีวิต ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือป่าไม้ เนื่องจากในป่าไม้มีทั้งออกซิเจน มีน้ำ อาหารเพียงพอต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และในป่ามีสัตว์ พืช และน้ำ และเนื่องจากชาวบ้านไม่มีอาชีพที่แน่นอน จึงมักจะใช้เวลาว่างในการออกไปหาอาหารในป่า ซึ่งสัตว์ที่ชาวบ้านออกหาเป็นประจำทุกฤดูกาลมีทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ เช่น หนู นก ปลา ส่วนพืชชาวบ้านมักจะออกไปหาที่พืชผักผลไม้จากป่าธรรมชาติบริเวณใกล้หมู่บ้าน เช่น หน่อไม้ เห็ด ผักกูด มะเขือพวง แตง เป็นต้น และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับชาวบ้านคือ ฟืน เป็นสิ่งสำคัญที่ชาวบ้านไม่อาจขาดได้ เนื่องจากต้องนำไปใช้ก่อไฟ เพื่อประกอบอาหารหรือก่อไฟผิงให้ความอบอุ่นในหน้าหนาว ชาวบ้านจะหาฟืนประมาณเดือนพฤศจิกายนเรื่อยมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 19 บ้านหนองอึ่งเหนือ ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 264 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 133 คน ประชากรหญิง 131 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 100 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567) ประชากรในชุมชนคือชาวโพล่ง หรือ กะเหรี่ยงโปว์
โพล่งการประกอบอาชีพชาวบ้านหนองอึ่งเหนือส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือการปลูกข้าวไร่ การทำนา ทำสวนพริกและมะเขือเทศ ชาวบ้านบางคนนิยมปลูกฟักทองไว้รับประทาน และในช่วงเดือนพฤศจิกายนบนดอยจะมีเห็ดลมขึ้นตามตอไม้ที่ตายแล้วชาวบ้านจะเก็บมาขายโดยจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน และวันที่ว่างจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วผู้หญิงมักจะนิยมทอผ้า ส่วนผู้ชายก็จะออกไปรับจ้างตามร้านอาหารในตัวเมืองเชียงใหม่บ้างหรือไปรับจ้างเกี่ยวข้าวในหมู่บ้านอื่น รับจ้างเก็บหอมแดง เก็บลำไย แต่บางคนที่ไม่ได้ออกไปรับจ้างก็จะออกไปหาอาหารในป่า
ชาวบ้านหนองอึ่งเหนือมีความเชื่อและนับถือในเรื่องวิญญาณซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ บ้านหนองอึ่งเหนือจึงมีประเพณี วัฒนธรรม และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงผีอยู่เสมอ เช่น หากมีผู้ใดเจ็บป่วยก็จะมีพิธีมัดมือให้กับคนนั้นเพื่อให้อาการเจ็บป่วยหายไป หรือถ้าหากอาศัยอยู่ในบ้านแล้วสมาชิกในบ้านเกิดเจ็บป่วยก็จะมีการสร้างบ้านหลังใหม่แล้วย้ายเข้าไปอยู่ ส่วนบ้านหลังเก่าก็จะรื้อทิ้ง
ชาวบ้านหนองอึ่งเหนือนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับศาสนาผี และศาสนาคริสต์ แต่ส่วนใหญ่จะนับถือพุทธและผีมากกว่า ซึ่งบ้านหนองอึ่งเหนือจะไม่มีวัดอยู่ในหมู่บ้าน พิธีกรรมส่วนใหญ่จึงไม่มีพระมาเกี่ยวข้องและหากมีวันสำคัญเกี่ยวกับศาสนาพุทธ เช่น ประเพณีกินสลากชาวบ้านจะรวมตัวกันในหมู่บ้านแล้วไปทำบุญที่วัดผาปูนซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านหนองอึ่งเหนือมากที่สุด ส่วนชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ก็จะประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในโบสถ์ มีการนมัสการพระเจ้า และเข้าโบสถ์เป็นประจำทุกวันอาทิตย์
ภาษาพูด : โพล่ง, ไทยถิ่นเหนือ, ไทยกลาง
ภาษาเขียน : ลิวา, ลิโรเหม่, ไทย
รวิสรา เปียขุนทด (2555). การจัดการศึกษาสำหรับเด็กเล็กโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานของบ้านหนองอึ่งเหนือ หมู่ที่ 19 ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
องค์การบริหารส่วนตำบลนาเกียน. (ม.ป.ป.). ข้อมูลทั่วไป. สืบค้น 21 พฤษภาคม 2567, จาก http://nakian.go.th/
ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านหนองอึ่งเหนือ. (2565). สืบค้น 21 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/