บนถนนหมายเลข 1256 ปัว-บ่อเกลือ บ้านน้ำแพะ ชุมชนแห่งนี้ยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเรือนลัวะโบราณ กับการดำรงลักษณะของที่อยู่อาศัยในอดีตที่สามารถประยุกต์รูปทรงผสมผสานให้เหมาะสมกับการใช้สอยในปัจจุบัน และยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่นของลัวะปรัย
บนถนนหมายเลข 1256 ปัว-บ่อเกลือ บ้านน้ำแพะ ชุมชนแห่งนี้ยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเรือนลัวะโบราณ กับการดำรงลักษณะของที่อยู่อาศัยในอดีตที่สามารถประยุกต์รูปทรงผสมผสานให้เหมาะสมกับการใช้สอยในปัจจุบัน และยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่นของลัวะปรัย
บ้านน้ำแพะได้ประกาศจัดตั้งหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยมีนายผาย ใจเปิง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ขณะนั้นได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง จุดประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมเด็กชาวเขาที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้เรียนภาษาไทย
จากคำบอกเล่า บ้านน้ำแพะเดิมอาศัยบ้านห้วยปอมาก่อน ต่อมาค่อยย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่บ้านป่ากำ ตำบลดงพญา โดยมีนายหมื่นเป็นผู้นำหมู่บ้าน ภายหลังได้เป็นผู้นำในการอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหมู่บ้านในพื้นที่ปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยการเพิ่มขึ้นของประชากร ส่งผลให้พื้นที่ทำกินไม่เพียงพอ จึงได้อพยพมายังพื้นที่บริเวณขุนน้ำแพะ ซึ่งมีป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังใกล้กับเขตอำเภอและติดกับเส้นทางคมนาคมที่สะดวก ภายหลังจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นบ้านน้ำแพะจึงขยายครอบครัวไปยังหย่อมบ้านหนึ่งเรียกว่า บ้านกลางหรือบ้านน้ำแพะนอกในปัจจุบัน
ที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อ
บ้านน้ำแพะ หมู่ที่ 13 ตั้งอยู่ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ระยะทางห่างจากตัวอำเภอบ่อเกลือประมาณ 3-4 กิโลเมตร โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างหุบเขาและตามไหล่เขาที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีแม่น้ำสายหลักไหลผ่านระหว่างหุบเขา คือ ลำน้ำแพะ และห้วยหลวง ชาวบ้านน้ำแพะใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่ออุปโภคและบริโภค รวมถึงใช้ในภาคการเกษตร มีป่าชุมชนบ้านน้ำแพะสำหรับใช้ประโยชน์ในการหาของป่า เช่น พืชสมุนไพร รวมถึงการล่าสัตว์ป่าเพื่อดำรงชีวิต มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านก่อก๋วง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านบ่อหลวง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
สภาพภูมิอากาศ
บ้านน้ำแพะมีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงต่ำสลับกัน มีป่าหนาทึบล้อมรอบ ทำให้มีอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว โดยจะเริ่มในเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศค่อนข้างเย็นมีหมอกปกคลุมหนาแน่น ฤดูร้อนมีระยะเวลาสั้น เริ่มในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน และฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ซึ่งฤดูฝนจะมีช่วงระยะเวลานานที่สุด ฝนจะตกชุกส่งผลให้การคมนาคมไม่สะดวกและเกิดปัญหาดินถล่ม
ทรัพยากรธรรมชาติ
1. ป่าไม้ ป่าไม้ในพื้นที่บ้านน้ำแพะเป็นป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากชุมชนได้มีโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชน เพื่อให้สมาชิกในชุมชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของป่าไม้ นอกจากนี้ยังมีพืชพรรณที่ขึ้นตามธรรมชาติเพื่อให้ชาวบ้านได้เก็บไว้เพื่อบริโภคและขายบางส่วน เช่น หวาย ปลี ต๋าว สะค่าน หน่อไม้ นอกจากนี้ยังพบสัตว์ป่าหลายชนิดในบริเวณป่าไม้บ้านน้ำแพะด้วย
2. ทรัพยากรน้ำ มีน้ำไหลมาจากภูเขา 2 สายหลัก คือ ลำน้ำแพะและห้วยหลวง สามารถจับปลาและปูหินเพื่อทำอาหารได้ในบริเวณลำน้ำ บางช่วงยังมีผักกูดขึ้นในลำน้ำ ซึ่งเป็นลำน้ำนี้เป็นลำน้ำสายหลักที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์แหล่งอาหารตามธรรมชาติของชาวบ้าน อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในการทำเกษตรกรรม
3. สัตว์ป่า ด้วยสภาพพื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ส่งผลให้บริเวณป่าชุมชนและพื้นที่รอบชุมชนบ้านน้ำแพะพบสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น หมูป่า นก ไก่ป่า ชาวบ้านเล่าว่าในอดีตสามารถพบเห็นสัตว์ป่าจำนวนมากทั้ง กวางป่า หมูป่า และลิงป่า แต่สัตว์ป่าเหล่านี้สร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงสร้างกับดักและล่าสัตว์เหล่านี้มาประกอบอาหาร แต่ในปัจจุบันชาวบ้านน้ำแพะได้ตั้งกฎเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อให้ระบบนิเวศของป่าชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 13 บ้านน้ำแพะ ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 289 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 152 คน ประชากรหญิง 137 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 63 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2567)
ลัวะ (มัล, ปรัย)ประชากรบ้านน้ำแพะในมีรายได้หลักมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ การทำไร่หมุนเวียนโดยอาศัยการทำไร่ข้าวตามแนวเทือกเขา นอกจากนี้ ยังนิยมปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด เผือก มัน งา โดยจะนำมาบริโภคภายในครัวเรือนและใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของในละแวกหมู่บ้านใกล้เคียง ส่วนอาชีพที่รองลองมา คือ การเลี้ยงสัตว์ การหาของป่าตามฤดูกาล รับจ้างทั่วไป การค้าขายและรับราชการบางส่วน
การทำไร่
การทำไร่เป็นวิถีการประกอบอาชีพที่มีความผูกพันกับคนในชุมชนเป็นอย่างมาก ทุกหลังคาเรือนจะทำข้าวไร่เพื่อบริโภคในครัวเรือน ไม่นิยมนำมาขายเนื่องจากจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่มากและปริมาณผลผลิตที่ไม่แน่นอน นอกจากการปลูกข้าวไร่แล้วชาวบ้านยังปลูกพืชชนิดอื่นไว้บริโภคแทนข้าวไร่ มีการปลูกพืชผักหลากหลายชนิดรวมอยู่ด้วย เช่น เผือก มัน ถือเป็นการทำไร่แบบผสมผสานและเป็นการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามวิถีสังคมชนบท
การเลี้ยงสัตว์
โดยทั่วไปชาวบ้านจะเลี้ยงสัตว์ไว้ทุกหลังคาเรือนสำหรับบริโภคและประกอบพิธีกรรม โดยจะเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินตามธรรมชาติใกล้กับบริเวณบ้านเพื่อสะดวกต่อการดูแล สัตว์ที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ หมู ไก่ วัว และควาย
การรวมกลุ่มสมาชิกภายในชุมชน
1.กลุ่มเยาวชน เกิดจากการรวมกลุ่มร่วมกันของเยาวชนภายในชุมชนเพื่อร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านการเรียนรู้ การช่วยเหลือ การแบ่งปัน ตลอดจนเกิดความสามัคคีภายในชุมชน
2.กลุ่มธนาคารข้าวบ้านน้ำแพะ การร่วมกลุ่มมีปัจจัยหลักเพื่อช่วยชาวบ้านที่ได้ผลผลิตข้าวไร่ที่ไม่เพียงพอในการบริโภคภายในครัวเรือน สามารถยืมและฝากข้าวไว้กับธนาคารข้าวได้ โดยมีผู้ใหญ่บ้านน้ำแพะเป็นผู้รับผิดชอบ และเมื่อมีการยืมข้าวชาวบ้านยืม 1 ถัง ต้องใช้คืนจำนวน 2 ถัง เป็นต้น
ชาวลัวะบ้านน้ำแพะมีความเชื่อเกี่ยวกับผีที่นับถือ หรือที่เรียกว่า “ปร็อง” ผีที่ชาวลัวะนับถือ เช่น ผีบ้านผีเรือน ผีหมู่บ้าน ผีไร่ โดยจะมีข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่แตกต่างออกไปตามแต่จะกำหนดว่าจะต้องบูชาผีประเภทใด ผีแต่ละประเภทที่นับถือจะให้ทั้งคุณและโทษแก่ชาวบ้านที่กระทำตามจารีตที่นับถือ ดังนี้
1.ผีบ้าน (ปร็องงวล) เป็นผีที่มีความสำคัญที่สุดของหมู่บ้าน ทุกปีจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีบ้าน เพื่อให้ประชากรในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุขและสามารถทำมาหากินได้ผลดี
2.ผีบ้านผีเรือน (ปร็องเจิง) เป็นผีบรรพบุรุษของแต่ละหลังคาเรือน เชื่อว่าผีในเรือนสามารถให้ทั้งคุณและโทษ หากทำผิดจารีตของตระกูล ผีเรือนจะลงโทษ และหากบ้านใดเชิญบุคคลภายนอกขึ้นเรือนและได้กระทำสิ่งอันถือว่าไม่ดีไม่งาม ก็อาจส่งผลให้คนในเรือนได้รับความเจ็บป่วยซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะการกระทำของผีในเรือน ดังนั้น ชาวบ้านจึงไม่นิยมเชิญแขกหรือบุคคลภายนอกขึ้นเรือนเท่าใดนัก
3.ผีไร่ (ปร็องแซ) เป็นผีที่ชาวบ้านในชุมชนให้ความสำคัญ ก่อนการทำไร่ชาวบ้านจะต้องมีพิธีเลี้ยงผีไร่เพื่อให้ได้ผลิตตามความต้องการของตน
ทั้งนี้ ชาวบ้านน้ำแพะจะให้ความสำคัญในการเคารพนับถือผีเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่าผีสามารถทำให้เจ็บป่วย จึงจำเป็นต้องประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่ชีวิตของตน โดยมีศาลผีแคว่น (ผีที่ดูแลหมู่บ้านให้สงบร่มเย็น ไม่ทำให้คนในหมู่บ้านเกิดอาการเจ็บป่วย) เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรม ฉะนั้น เมื่อจะทำข้าวไร่หรือรื้อบ้านเพื่อสร้างใหม่จะต้องมีการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีที่บริเวณศาลผีแคว่นก่อนเสมอ ซึ่งการดำรงชีวิตของชาวลัวะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังแฝงไปด้วยความเชื่อจนเกิดเป็นข้อปฏิบัติเพื่อเป็นแบบแผนให้กับสังคมโดยยังยึดถือและปฏิบัติสืบมา
ประเพณีการกินดอกแดง
ประเพณีการกินดอกแดง เป็นการเลี้ยงผีครั้งใหญ่ของหมู่บ้าน จัดขึ้นภายหลังเสร็จฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว เพื่อต้อนรับฤดูกาลใหม่ โดยปกติจะอยู่ในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม จึงมีลักษณะคล้ายการฉลองปีใหม่ของคนไทยที่จะมีการเฉลิมฉลอง ดื่มกินกันอย่างสนุกสนาน ในการกินดอกแดงนี้ ชาวบ้านจะนำข้าวใส่ตะกร้าขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "ลอบ" บนกองข้าวจะมี "ตาแหล๋ว" 6 อัน ใส่ดอกแดง (ดอกหงอนไก่) และข้าวสาร เพื่อเรียกขวัญข้าวที่ไร่ให้กลับมาอยู่บ้านอยู่เรือน นอกจากนี้ยังมีการเฉลิมฉลอง และการละเล่น "โยนดอกเหลา" (คล้ายโหวดของอีสาน) อย่างสนุกสนานในช่วงนี้ด้วย
ภูมิปัญญาการสร้างบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะมีภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษในการปลูกเรือน โดยจัดสรรวัสดุที่พบในธรรมชาติมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างบ้าน เช่น เครือเข้าดิน มีคุณสมบัติที่เหนียวและรับน้ำหนักได้ดี และอยู่ได้นาน ต้นเขื่อง ต้นไม้ที่มีความทนทานเมื่อโดนน้ำจะแห้งเร็ว ไม้ไผ่ นำมาทำเป็นฝาเรือนและจักสานเครื่องใช้ภายในบ้าน และหญ้าคานำมามุงเป็นหลังคา เป็นพืชที่พบเห็นได้มาสุดในหมู่บ้าน
การสร้างบ้านของชาวลัวะใช้ภูมิปัญญาโบราณเพื่อให้บ้านตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาสามารถอยู่ได้นานประมาณ 3-5 ปี ก่อนที่จะรื้อและสร้างบ้านหลังใหม่ โดยมีขั้นตอนการสร้างบ้าน ดังนี้
1.การปรับพื้นที่ปลูกบ้าน ชาวบ้านจะเตรียมปรับพื้นเพื่อง่ายต่อการขุดเสาบ้าน โดยจะใช้ไม้ลากสำหรับปรับพื้นดินให้เรียบ
2.การขุดหลุมตั้งเสาเรือน ชาวลัวะจะขุดหลุมจำนวน 8 หลุม ซึ่งจะมีความลึกประมาณ 1.5 เมตร เพื่อรองรับน้ำหนักของบ้าน ไม้ที่นำมาสร้างจะเป็นที่แข็งแรงและสามารถรับน้ำหนักได้ดี
3.การทำพื้นบ้านและชานบ้าน โดยจะนำไม้จำนวน 8 แผ่น ใช้เสาคู่ละ 2 แผ่น ประกบเข้ากันให้ครบทั้ง 4 คู่ เพื่อที่จะสามารถปูพื้นบ้านได้และจะนำไม้ที่แข็งแรงจำนวน 2 ท่อน โดยเอาไม้ที่คัดไว้ตัดเป็นแผ่นมาเรียงเป็นแนวยาวให้ชิดกันแล้วนำเครือเข้าดินมาผูกมัดให้แน่นโดยจะไม่ใช้ตะปูตอก
4.การตั้งคานและโครงหลังคาบ้าน คานบ้านจะใช้ไม้ 4 ท่อนเพื่อเป็นแนวยึดกับโครงสร้างหลังคา กลางบ้านจะทำเป็นรูปทรงกากบาทเพื่อค้ำโครงสร้าง ส่วนด้านบนจะทำเป็นปั้นลมเป็นลักษณะเรือนกาแล
5.การมุงหลังคา นำหญ้าคาจำนวน 100 พับในการมุงหลังคาบ้าน
6.การทำฝาบ้านและฝากั้นห้อง โดยจะนำไม้ไผ่มาสานในลักษณะขัดไขว้ไปมาและนำไม้ไผ่อีกแผ่นเป็นแกนยึด สาเหตุที่ใช้ไม้ไผ่มาทำฝาบ้านเนื่องจากไม้ไผ่มีคุณสมบัติในการระบายอากาศได้ดี
7.การสร้างประตูบ้าน จะทำประตูลักษณะง่าย ๆ สูงประมาณ 150 เซนติเมตร สร้างจากแผ่นไม้เนื้อแข็ง
ภาษาพูด : ภาษาลัวะ, คำเมือง, ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ดาว ขุนหาร. (2552). ภูมิปัญญาการสร้างบ้านลัวะ: กรณีศึกษา บ้านน้ำแพะใน หมู่ที่ 13 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.